Baby Blues (2008)
จิตหลอน ฆาตกรโหด
Director: Lars Jacobson, Amardeep Kaleka
Genres: Drama | Horror | Thriller
Grade: C+
ปัญหาอย่างหนึ่งที่หลายคนดูหนังเรื่องนี้แล้วไม่เข้าใจคือมันเกิดอะไรขึ้นกับผู้เป็นแม่กันแน่ ซึ่งว่ากันตามตรงชื่อหนังได้ระบุแน่ชัดกันอยู่แล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องคืออะไร และทำไมต้องเกิด บางคนคงสงสัยไม่น้อยว่า "Baby Blues" มีความหมายอื่นนอกจากเด็กสีฟ้าด้วยอย่างงั้นเหรอ ใช่แล้วมีความหมายอื่นแฝงอยู่ และใช้ได้กับคนที่เป็นแม่คนเท่านั้น โดยเฉพาะหลังจากคลอดลูกมาใหม่ๆ ซึ่งผลของอาการนี้เป็นภาวะทางอารมณ์อย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบทางจิตใจ หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดยปกติแล้วมักเป็นการมากหลังจากคลอดลูก เพราะทั้งนี้เดิมเป็นหน้าที่ของคุณแม่ ที่ต้องยอมทนทุกอย่างในการตั้งครรภ์ อะไรที่คิดว่าดีต่อลูกจะหาสิ่งนั้นมาให้ เพื่อที่ภายหลังคลอดลูกจะได้มีชีวิตที่สมบูรณ์ตามต้องการ ทว่าอาการนี้หลังคลอดจะเป็นความรู้สึกที่เหนื่อยล้า อ่อนแรง หมดหวัง ท้อแท้อย่างไม่ทราบสาเหตุ รวมถึงปัจจัยการมีระดับฮอร์โมนเพศลดลงทันที จนเมื่อหลังคลอดก็กลายเป็นปัญหาอีกระดับหนึ่งที่ค่อนข้างยุ่งยากพอตัวกับภาระหน้าที่ที่ต้องเลี้ยงดูลูก ทำให้เรื่องการพักผ่อนไม่เพียงพอ ความอ่อนเพลียจากการเลี้ยงดูจะยิ่งทำให้อาการที่เป็นอยู่หนักขึ้น ทำให้ซึมเศร้ามากกว่าเดิม และเกิดภาวะเครียด สำหรับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีอยู่ด้วยกันสองแบบ คือ อารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues) และโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression)
กลับที่ตัวหนัง Baby Blues ที่เล่าเรื่องของครอบครัวหนึ่งในทุ่งไร่ที่ประกอบด้วยความอบอุ่นครบถ้วนพร้อมหน้าพร้อมตาที่มีแม่ (Colleen Porch) ,พ่อ (Chip Lane) และลูกๆที่มีจิมมี่ (Ridge Canipe) 10 ขวบเป็นพี่ใหญ่สุด ตามด้วยน้องแซมมี่ (Holden Thomas Maynard) 7 ขวบ น้องเคธี่ (Kali Majors) 4 ขวบ และเด็กน้อยวัย 3 เดือน เมื่อพ่อต้องออกไปข้างนอกทำงานขับรถบรรทุกรับจ้างส่งของ ในขณะที่แม่ต้องทนเหนื่อยในการเลี้ยงดูลูก และงานบ้านต่างๆ จนตัวแม่เริ่มมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น เมื่อเริ่มได้ยินเสียง และเห็นภาพแปลกๆที่ไม่มีอยู่จริง จนเริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังประสาทอยู่หรือเปล่า อาการนี้เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งตอนที่พ่อไปทำงาน เหลือเพียงแม่กับลูกอยู่ที่บ้านเพียงลำพัง ดูเหมือนเป็นครอบครัวที่รอคอยหัวหน้าครอบครัวกลับบ้าน ทว่าตัวแม่นี้ได้เปลี่ยนไปกลายเป็นอีกคนที่รักลูกมากจนอยากฆ่า
เป็นหนังส่งตรงลงแผ่นจึงไม่คิดมากกับความบันเทิงที่ได้เท่าไหร่ แต่คงต้องคิดผิดที่เกิดตัวหนังเอาจริงเอาจังค่อนข้างมากกับการอิงเรื่องจริงมาใช้ เพราะตลอดทั้งเรื่องจะมีกันไม่กี่ตัวละครที่ต้องเล่น และแน่นอนว่าหลักคือบทแม่ กับลูกที่มีอยู่ด้วยกันทั้ง 3 คน โดยช่วงแรกจะเป็นการแสดงให้เห็นชีวิตครอบครัวที่ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด แม้กระทั่งเรื่องเงิน การเลี้ยงดู หรือความสุขที่มี จะว่าก็เหมือนปัญหานี่จะเกิดขึ้นกับตัวแม่อยู่คนเดียวที่เกิดเป็นว่าเริ่มมีประสาทหลอนอย่างเห็นได้ชัด ประสาทสัมผัสเริ่มชวนให้ไขว้เขว้ เริ่มเห็นภาพหลอนจากแรงกดดันจากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ที่ดูเป็นนัยๆคือพฤติกรรมของแม่ที่เริ่มมีอาการที่ซับซ้อนมากขึ้น และเริ่มคิดมากจากสิ่งที่ไม่เคยถาม เช่น การถามพ่อถึงความสัมพันธ์ที่ฟังดูแล้วไม่น่าจะถามได้อีก เพราะต่างก้าวระดับมาไกลเกินจะบอกถึงความระแวงแก่กันได้ โดยหนังได้กำหนดเอาไว้ดีเหมือนกันในการสร้างปมด้อยที่เกิดในตัวแม่ทีละเล็กทีน้อยให้ซึมความเสียใจให้กลายเป็นเรื่องเกินควบคุม ซึ่งตอนที่แซมมี่กับเคธี่กำลังแย่งตุ๊กตาเล่นนั้น ถ้าว่ากันตามปกติเป็นเรื่องของเด็กที่แย่งของเล่นกันเท่านั้น ก็ไม่แปลกว่าจะเป็นเรื่องน่ารำคาญอะไร นอกจากบอกให้เบาๆลงน้อย แต่ด้วยอารมณ์ที่ห้ามไม่อยู่จึงกลายเป็นการระบายอารมณ์ด้วยเสียงร้องกับความรุนแรงที่ขว้างจานแตก เป็นการกระทำที่ผิดอย่างมากโดยเฉพาะการแสดงให้เห็นต่อหน้าเด็ก ไม่สิ ต่อหน้าลูก แรกๆเป็นการอาการอารมณ์เศร้าหลังคลอดที่เป็นไม่กี่วันน่าจะหาย ทว่าหนังดำเนินเรื่องไปนานเท่าไหร่ความสับสนในตัวยิ่งมาก ตอนนี้กลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดไปแล้ว
อารมณ์เศร้าหลังคลอดคืออาการของความหมดหวัง หดหู่ และอีกหลายอย่างที่เป็นด้านลบทางจิตใจ ซึ่งสามารถหายได้อย่างไม่น่าเป็นห่วงมากนักถ้ามีการดูแลรักาาอย่างดี กับโรคซึมเศร้าหลังคลอดนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับอารมณ์เศร้าหลังคลอด เพียงแค่ทวีคูณความเป็นด้านลบมากขึ้นจนเกาะกินจิตใจจนไปถึงขั้นทำให้เกิดอาการวิตกจริต อยากฆ่าตัวเองหรือคนรอบข้างได้ ซึ่งอาการเหล่านี้ค่อนข้างอยู่ระดับเกินควบคุมได้ในเวลาสั้นๆ จำเป็นต้องรักษาด้วยการบำบัดหากเป็นมาก ถ้าเกิดเป็นระยะแรกๆอยากให้ครอบครัวหัดมาใส่ใจ ปรับความเข้าใจ หาเรื่องคุย เพื่อให้เจ้าตัวมองโลกในแง่ดีมากกว่าจะคิดเอาเองตัวคนเดียวอย่างเช่นเรื่องนี้ที่หาคนทำความเข้าใจได้ยาก แม้จะมีลูกหลายคนแต่ด้วยวัยที่ห่างกันแล้ว คนที่ต้องรับผิดชอบกลับเป็นแม่มากกว่า ที่เห็นได้ชัดมีอยู่ฉากที่แม่ต้องคุยกับตัวเองหน้ากระจกเป็นการหาคนคุยด้วย แต่การคุยเองเออเองก็มีแต่จะซ้ำร้ายกว่าเก่า เพราะความวิตกที่เกิดกับตัวเองมีแต่จะพาแย่กว่าเดิม
Baby Blues เป็นหนังที่สร้างได้กดดัน และหดหู่อย่างหนัก ด้วยภาพลักษณ์ของครอบครัวที่เป็นใครคงทำใจไม่ลง แถมตัวละครที่ลงมือฆ่าคือแม่ และคนที่ต้องหนีคือลูกที่เด็กเกินไปจะมีไหวพริบที่ดี นับว่าเป็นเรื่องที่ทำใจยากทั้งเนื้อเรื่อง และผู้ชมที่ต้องเอาใจช่วยเด็กน้อยที่ยังอ่อนต่อโลก คงจะบอกได้ยากเหมือนกันว่าหนังไม่ค่อยน่าดูนักเวลาต้องมีตัวละครตาย แถมเป็นเด็กอีกด้วย แม้จะใช้มุมกล้องเข้าช่วยในการฆ่าก็อดคิดไม่ตกไม่ได้ว่าเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจอย่างมาก และที่น่าสะเทือนอย่างมากนั้นต้องเป็นความจริงที่รู้กันอีกต่อด้วยว่าหนังเรื่องนี้มีประวัติจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอ้างอิงคดีของนาง Andrea Yates อายุ 36 ชาวเทกซัส ฆาตกรรมลูกทั้ง 5 คนในขณะที่สามีไม่อยู่บ้านเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2001 โดยหลังการพิสูจน์ทำให้รู้ว่าตอนแรกเธอจับลูกชาย 3 คนชื่อ John อายุ 5 ขวบ, Paul อายุ 3 ขวบ และ Luke อายุ 2 ขวบ กดน้ำในอ่างอาบน้ำจนเสียชีวิต จากนั้นก็นำลูกสาวคนสุดท้อง Mary ซึ่งอายุแค่เพียง 6 เดือนกดน้ำเป็นรายที่สี่ แล้วเอาศพ Mary มาวางไว้บนที่นอนปล่อยให้ศพลูกชายทั้ง 3 ลอยอยู่ในอ่างอาบน้ำ เมื่อ Noah ลูกชายคนโตอายุ 8 ขวบเข้ามาเห็นเหตุการณ์น้องสาวนอนตายบนเตียง และพยายามวิ่งหนีแต่หนีไม่พ้น โดนจับมากดน้ำตายเป็นคนที่ห้า รวมทั้งหมดแล้วใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง แล้วเธอก็อุ้มศพลูกๆ ไปวางเรียงกันบนเตียง จากนั้นเธอก็โทรแจ้งตำรวจและสามีด้วยตัวเอง เธอให้การกับคณะลูกขุนว่าลูกๆเธอได้ยินเสียงสั่งให้ทำ ซึ่งเธอก็ห้ามไม่ได้ ถ้าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่งคงยังไม่เท่าไหร่ พอได้รู้ความจริงเข้าบางคนคงตระหนักได้ถึงความน่ากลัวของหนังเรื่องดี และคงสะเทือนใจที่แม่สามารถฆ่าลูกของตัวเองได้ลงคอจากอาการเบบี้บูล
ในปี 2006 คณะลูกขุนซึ่งเป็นตัวแทนของชาวเทกซัสก็ตัดสินว่า เธอไม่ผิดเพราะตอนนั้นเธอวิกลจริต และตอนนี้ก็ได้รับการบำบัดแล้ว ด้านชาวเมืองส่วนใหญ่พร้อมที่จะให้อภัยและให้โอกาสเธอ หลังจากนั้นเธอได้บอกอยากมีลูกต่อ งานนี้คงต้องเอาใจใส่กันมากๆ เพราะไหนจะเรื่องในอดีตกับอาการเบบี้บูลอีก ถ้าดูแลไม่ดีอาจกลับมาอย่างเคยก็ได้ แต่ยังไงสรุปว่าตอนนี้ไม่มีข่าวคราวว่าเป็นเช่นนี้อีกแล้ว
ย้อนมาที่ตัวหนังกับการสร้างบรรยากาศที่ค่อนข้างชวนอึดอัด ไม่สดใหม่ ปราศจากผู้คน เป็นเหมือนสถานที่ที่ไม่มีใครรู้หรือได้ยินเสียง เป็นสถานที่เปิดกว้าง แต่มีลักษณะปิดตาย ด้านตัวละครเองก็เล่นกันไม่กี่ตัว จึงไม่มีความแปลกใหม่กับตัวละครเดิมๆที่เห็นจนชินหน้าตากลายเป็นข้อผูกมัดระหว่างผู้ชมกับตัวละครที่เข้าใกล้ได้ดี การกระจายบทอาจมีไม่เท่ากันบ้างเนื่องจากตัวหลักคือแม่ที่เสียสติกลายเป็นนักฆ่ากับจิมมี่พี่ใหญ่สุดที่ต้องหาทางช่วยน้องคนอื่นๆหนีให้พ้น ด้วยตัวละครที่เป็นแค่เด็กจัดว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อยในเนื้อเรื่อง
ส่วนการแสดงจัดว่ามีแข็งไปบ้างกับเหล่าเด็กๆที่แสดงสีหน้าไม่ค่อยเต็มเปี่ยม ก็คือว่าโอเคระดับหนึ่ง ตอนที่แสดงสีหน้างงลังเลต้องเลือกข้างระหว่างแม่กับจิมมี่นับว่าฉากนั้นชวนเอาคิดหนักเหมือนกัน แต่ในใจความเป็นลูกคงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากแม่
เพราะตัวละครเป็นเด็กแทบทั้งสิ้นจึงหลีกเลี่ยงฉากที่เห็นได้ชัดเป็นมุมกล้องแทน ซึ่งจัดว่าเหมาะและเสียวดี ปล่อยให้ผู้ชมคิดกันเอาเองว่าจะเป็นยังไงเวลาโดนแทง จัดว่าสยองไม่มากนักจะหนักที่การให้ความน่ากลัวกับสะเทือนใจมากกว่า อีกอย่างดูก็รู้ว่าแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากจริงๆ เพราะตัวหนังแทบไม่มีอะไรที่ต้องใช้เงินเลย เป็นหนังทุนต่ำที่เล่าเรื่องได้ดี มีความสมจริงพอตัว การดำเนินเรื่องไปแบบเรื่อยๆในช่วงแรกให้เห็นท่าทีของสมาชิกครอบครัวกันก่อน ประกอบกับบุคลิกของแม่ไปในตัวว่าเริ่มเป็นยังไง รวมถึงบ่งบอกฐานะการใช้ชีวิตคู่ของสามีภรรยาที่ดูจะเหินห่างเพราะเรื่องงานเป็นหลัก โดนเฉพาะฝ่ายพ่อที่ต้องออกไปข้างนอกในการทำงาน จัดว่ามาเรื่อยๆพอตัวละครแม่สติหลุดเท่านั้นแหละอาการจึงเกิดทันที ซึ่งหนังไม่รีรอให้ยืดยาว มีโอกาสก็ใส่ไปตามนั้น เป็นหนังที่สนุกได้กลางๆ แต่ความน่าลุ้นกับการเอาใจสูงค่อนข้างสูง
Baby Blues ให้แง่คิดที่ดีไม่น้อยในเรื่องการใส่ใจชีวิตครอบครัวที่ต้องดูแลเอาใจกันทั้งครอบครัว แม้ประเด็นนี้จะบอบบางไปหน่อย เพราะหนักไปทางเอาโหดสยอง แต่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าโรคซึมเศร้ามีความน่ากลัวมากแค่ไหน แล้วพวกคุณล่ะใส่ใจครอบครัวกันมากพอหรือยัง