Fight Club (1999) ดิบดวลดิบ

Fight Club (1999)
ดิบดวลดิบ
Director: David Fincher
Genres: Drama

"มีสปอยล์แน่ๆทั้งเรื่อง(ไม่รวมการหักมุม) เตือนก่อนเพื่อความหวังดีจากใครที่ปานนี้ยังไม่ได้รับชมหนังเรื่องนี้ รีวิวแปลกๆหน่อยนะ"

"โรคนอนไม่หลับมันเหมือนฝัน ทุกสิ่งทุกอย่างลางเลือน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นก๊อปปี้ ของก๊อปปี้ ของก๊อปปี้"


เริ่มเรื่องที่ Fight Club ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ Chuck Palahniu ที่ว่าด้วยเนื้อเรื่องหลากหลายรูปแบบในตัวเอง แต่ที่น่าตะหงิดใจคือกำลังบอกถึงยุคสมัยบริโภคนิยมอันแสนสะดวกสบายตามด้วยสิ่งของที่ไม่รู้ว่าจะซื้อมาเพื่ออะไรกันนักหนา เรื่องนี้กำกับโดย David Fincher ผู้ที่เคยมีผลงานก่อนหน้านี้อย่าง Seven (1995),The Game (1997) ที่ล้วนเป็นหนังระดับแนวหน้าจนต้องหยิบมาชมให้ได้ทั้งสิ้น แต่ผู้ชมมักจดจำงานที่เขาไม่ปลื้มซะมากกว่ากับ Alien³ (1992) ใช่เลยกับภาคต่อที่ทั้งอืดทั้งยาวนาน ไม่ได้สยองพาวิตกผวาอย่างภาคแรก หรือภาคสองที่กลายเป็นแอ็คชั่นระห่ำฝ่าดงเอเลี่ยนนับร้อยจนกลายเป็นที่น่าจดจำในหมู่หนังเอเลี่ยนสมชื่อ กระนั้นไม่ได้แปลว่าเขาจะรู้สึกเสียดายเพราะผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาดูแย่แค่ไม่อาจสร้างความพอใจให้ผู้ชมได้ และเพราะแบบนั้นตอนจบของของเอเลี่ยนเรื่องนี้ก็ทำให้ทุกคนจำได้ดีกว่าสองภาคแรก แต่ที่ทำให้ทุกคนต้องเลือกจดจำได้ดีเห็นจะเป็นหนังเยี่ยมขาดทุนเรื่องนี้ที่เสนอหลักการคิดแบบกัดจิกดึงหัวกันเลยทีเดียว ก็ไทเลอร์ เดอร์เด้นไงที่ทุกคนจำติดตาได้ยิ่งกว่าตัวคนเล่นจริงๆซะอีก(หมายถึงนามธรรมไม่ใช่รูปลักษณ์ แต่อีกกรณีก็อีกอย่าง)


ไม่รู้จริงๆเลยนะว่าการรับชมเรื่องนี้จะเจออะไรบ้างนอกจากความบ่งบอกถึงชื่อของตัวหนังที่ระบุเอาไว้ชัดเจนถึงการต่อสู้สักอย่าง หรือบางทีคงหมายถึงการได้ดูหนังแอ็คชั่นมันส์ๆสักเรื่องที่มีสบู่เกี่ยวข้อง?! แต่กระนั้นการได้ผู้กำกับ David Fincher มาทำหนังเรื่องนี้คงคิดว่าไม่ธรมดาแน่ๆ เพราะต้องมีอะไรบางอย่างที่มืดมนประมาณการแผ่ซ่านของจิตใจออกมาให้รับฟังไม่ทางการกระทำก็ความคิดแฝงอุดมการณ์ กระนั้นตัวเองยังหวังเอามันส์เพราะชื่อที่อย่างน้อยอาจจะชกต่อยกันอย่างดุเดือด

ทว่าพอเอาเข้าจริงๆความคิดที่วางคาดเดาเอาไว้ต้องคิดใหม่แบบไม่ทันตั้งตัวจนต้องปล่อยความคิดก่อนชมเป็นเตรียมเนื้อที่เอาไว้รับชมให้ตัวเองเข้าใจเนื้อเรื่องมากขึ้นจากความซับซ้อนของหนังเรื่องนี้ และแอ็คชั่นอะไรที่หวังไว้ก็โยนความคิดนั้นทิ้งไปไกลๆจากสมองได้เลย เพราะเมื่อมาพิจารณาตัวเองกับสิ่งที่หนังเรื่องมากับสาระแล้วยิ่งไม่อยากถูกมองเป็นประเภทอยากได้อะไรต้องได้ เหมือนอย่างตอนซื้อของที่เห็นเพียงรูปภาพตัวเองนึกอยากได้จนต้องสั่งซื้อเพราะแค่ความต้องการในสิ่งที่ตัวเองอยาก โดยไม่ได้คิดเผื่อเอาไว้เลยว่าบางทีสิ่งของนั้นอาจไม่มีคุณสมบัติตามที่ตัวเองคิดเอาไว้ เสมือนของในครัวที่เอามาใช้ทำอาหารโดยที่เราไม่รู้เลยว่ายังเอามาทำระเบิดได้สบายๆ ไม่มีใครคิดหรอกเพราะของในครัวก็คือในครัว มีใครบอกคุณไหมว่าของใช้ในครัวเอามาทำระเบิดเสิร์ฟถึงโต๊ะได้ ไม่มีหรอกเว้นแต่...


กำลังคิดว่า Fight Club คือหนังประเภทไหนต้องเริ่มที่หนึ่งก่อน ไม่ใช่เริ่มที่ศูนย์เพราะศูนย์หมายถึงคนที่คิดจะปฏิวัติตัวเองซะใหม่ที่ไม่เหมือนเก่า แต่หนึ่งคือการวางเท้าก้าวไปรอยเดิม หนทางเดิม รูปแบบเดิม เพียงผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับที่มี งั้นหนังเรื่องคงมีคำอธิบายพอจะกล่าวให้เราเข้าใจโดยคิดว่าทุกคนมีพื้นอยู่ก่อนแล้ว นั้นคือสภาพสังคมที่เป็นไปได้ทุกกรณีตั้งแต่ความดิบป่าเถื่อนชกต่อยเพื่อเรียกเลือดอุ่นๆของตัวเองตลอดจนพวกทำงานนั่งโต๊ะในบริษัทที่เพรียกพร้อมถูกใช้งานจากเจ้านายที่วางตัวได้ราวกับเด็กใหม่ไฟแรง ไม่มีใครที่บอกว่าการกระทำของหนังเรื่องนี้มีความรุนแรงที่ส่งผลต่อการรับรู้ เพราะอย่างแรกคือเราเลือกจะเสพสื่อได้ตามใจชอบที่แล้วแต่ตัวเองจะคิด เวลาเราจะเข้าบ้านคนอื่นเราจะไม่เข้าทันทีเพราะรู้ว่าไม่ใช่บ้านของตัวเอง เนื่องจากถ้าไม่ได้รับอนุญาติให้เข้าก็เข้าไม่ได้ สิ่งแรกที่ทุกคนพึงกระทำคือการรอคอยคนในบ้านจากหน้าประตูพร้อมกับความหวังที่ว่าเมื่อไรจะได้ขยับขาไปเหยียบพื้นในบ้านสักที นี่คือความอดทนที่มีอดกลั้นเป็นพื้นฐาน เมื่อกลั้นได้ควรจะได้รางวัลด้วยการขยับขา จะว่าแล้วคนเราถ้าไม่รับรู้อะไรเลยจะเข้าใจความเจ็บปวดได้ยังไงถ้าไม่คิดเผชิญสิ่งนั้นตรงๆ ความรุนแรงเป็นสูตรสำเร็จของชีวิตทุกเส้นสาย ไม่มีใครหลีกเลี่ยงการปฏิเสธได้จนกว่าเราจะหนีหรือยอมแพ้ซะเอง ดังนั้นสิ่งที่พวกเราทุกคนต่างมุ่งหน้าตั้งหน้าตั้งตาทำไปคือรูปแบบแห่งความสำเร็จที่ได้มากน้อยแค่ไหนเท่ากับเรายังมัวแต่ก้มหน้าไม่ลองเข้าไปสู้สักหมัดกับเข้าสู้ไม่กังวลเรื่องต้องเจ็บตัว


"กฎข้อแปดและข้อสุดท้าย ถ้าหากคุณมาไฟท์คลับเป็นคืนแรก คุณต้องต่อสู้"

"ข้อเจ็ด ให้สู้ต่อไปเรื่อยๆถ้ายังไหว"

ไฟท์คลับคือสถานที่ที่จากสายตาคนอื่นเรียกในทำนองมวยใต้ดิน ที่นี้มีข้อแตกต่างจากคำใต้ดินตรงที่มีกฎระบุอย่างชัดเจนและทุกคนต้องเข้าถึงรายละเอียดของกฎดีว่าต้องทำอะไรบ้างจึงจะไม่เป็นการฝืนกฎดังกล่าวทั้งหมด แต่ก่อนจะเข้าถึงไฟท์คลับที่ชุ่มด้วยเลือดอุ่นๆต้องย้อนไปหาชายคนหนึ่งที่ทำหน้าที่เล่าเรื่อง (Edward Norton) ให้พวกเราฟัง เอาตั้งแต่เริ่มเรื่องจากปัญหาโรคนอนไม่หลับอันเป็นปัญหาที่ตัวเองอยากจะพักผ่อนแบบเต็มอิ่ม เขานอนหลับได้แค่สะลึมสะลือ ไม่ได้แปลว่าจะหลับสนิทเหมือนเด็กน้อยที่วันหนึ่งกินเวลาหลับมากกว่า 8 ชั่วโมง

นั่นคือสิ่งที่อยากเขาอยากขจัดออกไปมากที่สุดอย่างแรก เพราะว่ามันรบกวนการตื่นของเขา ใช่การตื่นไม่ใช่นอนหลับ เนื่องจากเวลาเราตื่นในภาวะที่เต็มอิ่มจากการนอนจะมีความรู้สึกที่โล่งสบาย ไม่รู้สึกเหนื่อยง่ายหรือเบื่อเร็วแถมไม่ต้องมาคิดกังวลว่าตัวเองมีปัญหากลายเป็นพวกนอนไม่หลับ ซึ่งปัญหาของมันคือการรบกวนความแน่ไม่ใจของตัวเองเพราะอาการสะลึมสะลือเป็นปัญหาการดำเนินชีวิตอันแสนเรียบง่ายของเขา เวลาจะนอนก็ไม่เต็มอิ่มเท่าความกระหายที่ได้หลับ โดยตัวการคือจังหวะสะลึมสะลือที่ไม่รู้ว่าทำอะไรไปบ้างหรือเปล่า

ช่วงที่เราหลับไปบนเตียงกลับต้องตื่นขึ้นมาอีกครั้งในที่ทำงาน บางครั้งคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มักจดจำรายละเอียดในชีวิตประจำได้ไม่หมดตอนที่สมองยังจัดองค์ประกอบวันใหม่ไม่เสร็จ แต่ที่น่าใจหายเห็นจะกลายเป็นช่วงเวลาที่สะลึมสะลือว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง ก่อนเราหลับบนเก้าอี้นุ่มๆในเครื่องบินต้องตื่นมาพร้อมอาหารที่ไม่ได้สั่ง บางทีอาจเป็นหน้าที่ของแอร์โฮสเตสที่ต้องเสิร์ฟก็เป็นได้ แล้วจะรู้สึกยังไงบ้างที่ตัวเองต้องตื่นมาอยู่อีกที่หนึ่งแบบนี้หลายหนจนเหมือนตัวเองกลายเป็นอีกคน คงรู้สึกแย่เวลาต้องตื่นมาพบอีกที่หนึ่งกลายเป็นอีกคนอยู่ผิดที่ผิดทาง ด้วยเหตุนี้เขาจึงอยากนอนให้หลับ แล้วทำไมถึงนอนไม่หลับล่ะ ไปแก้ปัญหาที่ปลายทางมันไม่ได้สมหวังอะไรถ้าคุณยังค้นต้นสายไม่เจอเสียก่อน


"ไปเคี้ยวรากวาเลอเรียน และออกกำลังกายให้มากขึ้น"
"เฮ้ โธ่หมอ ผมป่วยนะ"
"อยากเห็นการป่วยไหม คืนอังคารไปร่วมกลุ่มบำบัดบ้างสิ พบคนที่เป็นมะเร็งลูกอัณฑะ นั้นสิป่วย"

นี่คือปัญหาอย่างหนึ่งที่ตัวหนังกำลังอธิบายผ่านชายคนนี้ว่าเป็นคนนอนไม่หลับ แต่วิธีดังกล่าวแก้ได้เมื่อหมอแนะนำให้ลองไปสถานกลุ่มบำบัดอัณฑะ ก็น่าแปลกที่มันได้ผลกว่าที่คาดเอาไว้มากจนตัวเขาที่ฟังคนที่พบปัญหานี้เหมือนนิทานกล่มเด็ก นั้นจึงเป็นครั้งแรกที่เขาเจอบ๊อบ (Meat Loaf) ก่อนจะลงเอยด้วยการถูกจับมือดึงเข้าสู่อ้อมกอดอันแสนนุ่มนวลจากอกอันเบอเร้อเบอราเพราะแอบโด้ปยาเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เมื่อก่อนบ๊อบเคยเป็นแชมป์เพาะกาย พอเป็นมะเร็ง ทำงานไม่ได้ ฐานะล้มละลาย เมียขอหย่า ลูกๆที่โตแล้วอีก 2 คนไม่อยากรู้จักจนกลายต้องอยู่คนเดียว และสถานที่แห่งนี้คือสิ่งที่ช่วยให้เขาปลดปล่อยอารมณ์ออกมา ตอนนี้การถูกดึงเข้าแนบหน้าอกของบ๊อบไม่ต่างกับการได้หมอนนุ่มๆยิ่งกว่าขนนกที่ซุ่กอยู่ภายใน รู้สึกไม่ดีเวลารับฟังการระบายอารมณ์ของบ๊อบเสมือนกับว่าตัวเราเองแตกต่าง แต่คงไม่อย่างนั้นเมื่อตอนนี้สามารถร้องไห้ได้โดยไม่พะวงว่าตัวเองต้องแตกต่างอีกต่อไป และหลังจากนั้นอาการนอนไม่หลับต้องหายไปจากตัวเองแล้วกลายเป็นเด็กน้อยนอนบนเตียงที่เพ้อฝันจากจินตนาการของตัวเองอย่างยาวนาน เผลอๆขนาดเด็กอาจหลับไม่ได้ขนาดนี้ ทว่าผลของการเข้ากลุ่มบำบัดได้ส่งผลชวนเชิญให้ติดการเข้าร่วม

สุดท้ายเขากลายเป็นผู้เสพติดกลุ่มบำบัดเข้ากลุ่มวัณโรคบ้าง มะเร็งผิวหนังบ้าง ไตวายบ้าง และอีกหลายกลุ่มที่ทำให้เขาได้เจอคนแปลกหน้าจนคุ้นชินตา การบำบัดแต่ละครั้งรู้สึกเป็นการรับฟังความเห็นที่น้อยคนจะบอกมาซื่อๆตรงๆแล้วทุกคนจะเชื่อ แต่นี่คือสถานที่ปลอบใจที่ทุกคนรับฟังแล้วเชื่อว่าคนนี้มีปัญหาจริง หลายคนอาจทึกทักเอาว่าอาการหนักถ้าไม่พูด ดังนั้นเมื่อเราเริ่มพูดก็เหมือนยอมรับความจริงในอาการของตัวเองแล้วพร้อมใช้ชีวิตเช่นคนปกติโดยไม่คิดจะย้อนกลับไปพูดเรื่องที่ตัวเองบำบัดมาว่าเจออะไรบ้าง ที่ไม่คิดย้อนไปเนื่องจากก่อนเราจะทำใจพูดต้องคิดหนักว่าจะทำยังไงให้พูดได้เศร้าที่สุด ในความเป็นจริงทุกคนยังมีการแสแสร้งให้ออกมาดูฉลาด แต่นั้นไม่แปลว่าเขาจะดูฉลาดหรือน่าสงสารถ้าอีกฝ่ายยังมองไม่ออกว่าคือการแสร้งทำ ฉะนั้นจงอย่าแปลกใจว่าทำไมนักการเมืองถึงโกงกินประเทศได้โดยปากบอกว่าเปล่า


การบำบัดมีหลายวิธีแต่มีอยู่วิธีที่ทำให้รู้สึกดีคือการระลึกถึงความสงบชื่นจากถ้ำที่ตัวเองนึกถึงในความคิดตื้นๆ ในตอนที่ทุกคนหลับตาไม่ใช่ทุกคนจะหลับไปกับความว่างเปล่าจริงๆเพราะทุกคนยังตระหนักในความมืดเกินกว่าจะยอมอยู่คนเดียว ไม่งั้นทำไมเด็กตัวเด็กๆจึงมักระแวงกลัวที่ต้องเข้านอนถ้ายังไม่ฟังนิทานเพื่อให้โลกนี้ไม่มีอะไรมาสู้พวกเขาได้ตอนเวลาฝันอย่างฮัศวินขี่ม้าไปช่วยเจ้าหญิงให้รอดพ้นจากมังกร ฟังดูเหลือเชื่อแต่ฮัศวินก็ช่วยเจ้าหญิงได้แถมจบได้แฮปปี้จนเด็กๆต้องฝันยิ้ม แต่เด็กยังไม่รู้จักนิทานจนกว่าเขาจะจินตนาการให้เห็นก่อน เช่นเดียวกับผู้บรรยายที่ต้องครุ่นพินิจถ้อยคำให้ออกมาดูง่ายและสบาย จากเรื่องเราเห็นว่าคนผู้นี้ที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องได้เห็นถ้ำของตัวเอง เป็นถ้ำน้ำแข็งที่ไม่รู้สึกถึงความเย็น เพราะถ้ามันเย็นจริงการใส่เสื้อพนักงานผูกเนคไทไม่น่าจะทนความหนาวเหน็บได้เว้นแต่ในความคิดเขาเปล่าจะพะวงว่าถ้ำนี้หนาวแค่ไหนแค่อยากรู้ว่าต้องเจอกับอะไรมากกว่า ซึ่งสิ่งที่เจอคือนกบินไม่ได้ เป็นเพนกวินท่าทางกำลังจะไปโดยเห็นเขาเป็นเพียงสิ่งที่อยู่ข้างทาง ในขณะที่การบำบัดบอกเขาว่าจะเจอพลังงานบางอย่างถ้ำนั้น เพนกวินงั้นเหรอ พร้อมกระนั้นหันมาพูดด้วยถ้อยคำที่สั้นเกินกว่าจะฟังถ้าไม่ตั้งใจ "Slide"


"ทุกๆคืนผมตายไป และทุกๆคืนผมเกิดมาใหม่อีกครั้ง ฟื้นคืนชีพ"

ทุกอย่างกำลังไปได้สวยราวกับชีวิตใหม่ที่ฟื้นคืนชีพประดังว่าทุกๆคืนไปแล้วจบ มีที่สิ้นสุดแต่คงอยู่ต่อไป ตอนนี้เขารักการบำบัดเช่นเพื่อนที่ดี เพราะสิ่งนี้ช่วยให้เขาหลับได้ตามที่ต้องการ เวลาให้กอดกันเพื่อระบายอารมณ์เสมือนตัวเองได้พักผ่อน แต่เหมือนมีบางอย่างให้ตัวเองเป็นไปอย่างก่อนอีกครั้งเช่นตอนที่ยังร้องไห้ไม่ได้ นอนไม่หลับ อาการเดิมกลับมาอีกครั้งเพราะผู้หญิงคนหนึ่ง มาล่า ซิงเกอร์ (Helena Bonham Carter) เธอมากลุ่มบำบัดไม่ต่างอะไรกับเขา ขนาดกลุ่มมะเร็งลูกอัณฑะยังไปเข้าร่วมด้วยทั้งที่เป็นผู้หญิงแปลกเพศ ไม่ใช่ว่าดูเป็นพิษเป็นภัยอะไรหรือแตกต่างเพียงมันทำให้เขารู้สึกกลับมาเป็นคนเดิมที่มีปัญหากับชีวิต จนเป็นไปได้อยากตั้งชื่อมาล่าในฐานะเนื้องอก ก็ตอนให้นึกถึงถ้ำของตัวเองยังอุตส่าห์ติดภาพมาล่าไปด้วยแถมยังพูดประโยคเดียวกับเพนกวินก่อนหน้านี้ราวกับคือสิ่งเดียวกัน และนั้นทำให้เขาต้องคุยกับมาล่าเพื่อเคลียร์ปัญหาส่วนตัวมากกว่าจะมองว่าเกี่ยวอะไรกับเธอ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวทำให้ทั้งคู่รู้จักกันด้วยเหตุ คล้ายกับปัญหาจะแก้โดยง่ายด้วยการคุยในคืนเดียวทั้งที่ความจริงมันฟังไม่ขึ้นด้วยซ้ำ สุดท้ายตัวเองต้องกลับบ้านที่พร้อมด้วยสิ่งของมากมายในห้อง

ใช่เลยเพราะเขาผู้เล่าเรื่องนี้ชอบซื้อของใช้ตกแต่งบ้านเป็นว่าเล่นราวกับต้องมนต์ของมัน ทุกครั้งที่เห็นอะไรในหนังสือสวยๆสไตล์หยินหยางต้องสั่งซื้อมัน ทุกวันเขาอยู่คอนโดที่อีกหน่อยคงต้องย้ายเพราะข้าวของเต็มไปหมดจากชุดตกแต่งภายใน ทว่าวันนั้นต้องกลับมาแบบมือเปล่าไร้ที่อยู่ ห้องคอนโดที่อาศัยถูกระเบิดจนข้าวของเครื่องใช้กระเด็นออกทางหน้าต่างพร้อมกับไฟที่ลุกระยิบในความมืด ในใจได้แต่คิดว่าใครจะช่วยได้บ้างสำหรับคนไร้ที่อาศัย คนแรกคือมาล่าแต่อย่าดีกว่า คนที่สองคือไทเลอร์ เดอร์เด้น (Brad Pitt)


ไทเลอร์ เดอร์เด้น คือผู้ชายเพียงคนเดียวที่รู้จักในฐานะเพื่อนที่น่าสนใจจากเพื่อนเที่ยวเดียวในเครื่องบิน เพื่อนเที่ยวเดียวคือคนที่จะนั่งข้างๆเราอย่างคนแปลกหน้าแต่ไม่แปลกใจ ง่ายๆคือเวลาคุณเดินทางไปที่ไหนสักที่แต่ไม่รู้เส้นทางจำต้องขอความช่วยเหลือจากคนท้องถิ่นถามข้างทาง นั่นแหละเพื่อนเที่ยวเดียวเพราะเราจะไม่ได้เจอคนนั้นอีก หรือถ้าเจอคงเป็นคนแปลกหน้ามากกว่าจะตีความเอาว่าจะเป็นเพื่อนตลอดไป และแบบนี้จึงไม่ต่างกับเที่ยวเดียวที่ไปแล้วกลับของเครื่องบินในขณะที่คนนั่งข้างๆไม่ใช่คนเก่าอีกต่อไป และเหมือนไทเลอร์คือเพื่อนเที่ยวเดียวที่น่าสนใจที่สุด ไม่ใช่ว่าพิสดารจากคนอื่นแต่ความคิดของเขาน่าทึ่งอย่างมาก อย่างเรื่องออกซิเจนในเครื่องบินรวมถึงใบหน้าในคู่มือเครื่องบินเวลาฉุกเฉิน โดยไทเลอร์ทำธุรกิจขายสบู่ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นยังไง และตอนนี้ไทเลอร์คือคนเดียวที่น่าจะช่วยได้บ้าง อย่างน้อยก็ดีกว่านางมาล่าที่ยึดปรัชญาปุบปับอาจตายได้ ที่น่าเศร้าคือไม่ยักตายสักที ภายหลังห้องที่ตัวเขาอยู่พังทลายด้วยการระเบิดก็หวังว่าไทเลอร์จะช่วยเขาได้ ซึ่งเขาช่วยได้ในยามยากจริงๆ แต่ต้องขอช่วยอะไรสักอย่างซึ่งตอบตกลงไปโดยไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาอะไรนัก ทว่าไทเลอร์ขอช่วยให้อัดเต็มๆแรง


"ข้อหก ถอดเสื้อ ถอดเกือก"

ผู้เล่าเรื่องต้องประสบปัญหาครั้งสำคัญในชีวิตกับคอนโดอันพร้อมด้วยสิ่งของจากฟอนิเจอร์อันหรูหรา ทุกอย่างหมดไปกับการระเบิดที่น่าจะมาจากการสะสมของแก๊ส ซึ่งไทเลอร์ได้เข้ามาปลอบใจในส่วนนี้ในเชิงละเลิกซะยังดีกว่า "ของของคุณเป็นเจ้านายตัวคุณ" ในช่วงสนทนานี้ทำให้ตระหนักได้กับยุคสมัยบริโภคนิยม หรือจะเรียกว่าทุนนิยมก็ได้ เพราะมันมีอิทธพลกับชีวิตมากเกินไปจนทุกคนอยากกระหายกันถ้วนหน้า แต่จะมีสักกี่คนที่ไม่ขอยุ่งกับสมัยใหม่ที่มีแต่การบริโภคแบบยึดติดบ้าง จะมีสักกี่คนที่เลิกสนว่าเมื่อไรจะมีขนมเลย์ยี่ห้อใหม่หรือคนที่แค่อยู่ในจอก็กลายเป็นดาราดัง

เมื่อคิดได้เช่นนี้ทำให้สิ่งหนึ่งที่คาใจแต่ไม่ยักกะถามคือเราหลงใหลกับสิ่งของเหล่านั้นได้ยังไง ทำไมของที่เก็บจึงกลายเป็นที่น่ารักน่าหวงได้ทั้งที่บางครั้งมันไม่จำเป็นต้องซื้อของชิ้นนี้ด้วยซ้ำ ไทเลอร์ช่วยกระจ่างให้คิดได้คือเวลาที่มีของกับไม่มีของอย่างไหนควรมองค่าสิ่งนั้นมากกว่ากัน ตอนที่มีสิ่งของทุกอย่างดีง่ายมีความสุข แต่เมื่อสิ่งของเหล่านั้นหายไปเรามัวแต่กระวนกระวายว่าจะทำยังไง โดยๆแล้วสมควรจะคิดเสมอว่าสิ่งของหายไปใช่ว่าจะจำเป็นต้องเป้าหมายของชีวิตตัวเอง เครื่องใช้ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่ได้เกิดมากพร้อมแต่เราอยากได้พร้อมหลังจากเกิด ดูได้จากคนรวยที่มากทรัพย์สินที่พอล้มละลายทุกอย่างสิ่งของล้วนจากเขาไปหมด แต่ไม่ยักคิดว่าตัวเองไม่ได้ถูกริบทรัพย์ไปซะหน่อย เพราะแบบนี้จึงคิดได้ว่ากายที่ยังเดินอยู่ราวกับคนสิ้นหวังคือพวกไร้ใจที่โดนควบคุมจากสิ่งของให้รักจนเกินเหตุ แต่ไม่ผิดอะไรถ้าจะเสียใจกับของที่รักถ้ามันไม่มากจนเกินไป


"ข้อห้า สู้กันทีละคู่เท่านั้น"
"ข้อสี่ สู้กันได้ทีละสองคน"

ว่าแล้วตัวหนังได้รังสรรค์ที่มาของไทเลอร์ได้อย่างน่าสนใจไม่ต่างกัลผู้เล่าเรื่องเพียงแค่แตกต่างกันราวฟ้าดินที่อีกคนนึงทำงานนั่งโต๊ะกินเงินเดือนกับรับจ้างทั่วไปในวงเงินอิสระ ไทเลอร์เป็นคนกลางคืนฉะนั้นไม่แปลกที่ตัวหนังไม่ทำให้เราเห็นตอนเวลากลางวันมากนัก สำหรับตัวเขาแล้วทุกสิ่งจะอยู่รอดได้เมื่อตัวเองรู้จักคำว่าดิ้นรนเข้าสู้ จึงเป็นสาเหตุหลักๆของชีวิตที่ไม่เป็นดั่งคนปกติแบบสามัญชนเพราะเขาเชื่อว่าไม่มีอะไรไปทุกอย่างเว้นแต่เราจะสร้างมันขึ้นมาให้ดีกว่า ในโลกที่ถูกคุกคามจากสิ่งของให้ต้องซื้อเป็นสาเหตุแรกๆที่มองออกว่าทำไมเราถึงรู้สึกเสียหายเวลาสิ่งของเหล่านั้นหายหรือถูกทำลาย

ไทเลอร์ยังบอกอีกด้วยว่าเราทุกคนเป็นผลิตผลแห่งการยึดติดไลท์สไตล์ จะบอกว่าทุกคนมีจุดเชื่อมเล็กๆบางอย่างที่ความนิยมชมชอบ โทรทัศน์ที่มีรายการโชว์จนละสายตาไม่ได้ ชุดชั้นในที่ต้องการใส่เพราะสีสันแทนที่จะห่วงเรื่องขนาด ตลอดการกินที่ไม่สนว่าจะอร่อยแค่ไหนถ้าคนน้อยเราไม่เข้า ในสมัยแห่งการบริโภคต้องเรียกว่าเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงมากกว่าจะบอกว่าคลุกคลามเพราะประเด็นแรกคือมันไม่ได้ทำลายหรือบังคับต้องทำ สองทุกคนเข้าหาสิ่งของ ไม่ใช่สิ่งของเข้าหาตัวคุณ นั้นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนเราจึงอยากได้บ้านหลังใหญ่ๆมีที่จอดรถหรูๆทั้งที่ความจริงเราอยู่ได้ในที่เล็กๆ ไม่ต้องร่ำรวยด้วยสิ่งของ


ปัญหาของสมัยนี้คือการปลูกฝังให้เชื่อง่ายกว่าไม่ให้เชื่อ เริ่มตั้งแต่โทรทัศน์ที่มีรายการถ่ายทอดไม่ต่ำกว่า 100 ช่อง ทุกๆช่องเป็นไปตามปัจจัยความสามารถของตัวเองว่าจะแสดงอะไรให้ชม ซึ่งจะแยกให้เป็นหมวดใหญ่ๆจะได้ 2 จำพวกคือ ให้เนื้อหาสาระกับให้ความเพลิดเพลิน สำหรับพวกมีสาระคือกลุ่มที่มอบหมายความจริงอย่างเช่นข่าวสาร ใครฆ่าใคร มีการปล้น หรือใครโดนจับ แน่นอนว่าเป็นเรื่องน่าสนใจแต่เรามักมองเอาว่าแค่ส่วนหนึ่งที่พบเจอเท่านั้น เราไม่สนเราไม่แคร์ว่าจะเป็นยังไงตราบเท่าที่เราดูโทรทัศน์แล้วยังไม่เป็นข่าวซะเอง แล้วพวกไร้สาระเอาสนุกอย่างเดียวล่ะทำไมติดงอมแงมกันจังทั้งที่ดูจบแล้วจบกัน

มันง่ายมากที่จะนิยามสั้นๆเกี่ยวกับความเพลิดเพลินคือความสนุกที่ได้รับ งั้นถามหน่อยว่าเวลาเปิดหนังโป๊ทั้งที่คาดเอาตอนจบได้ มีทุกอย่างคล้ายกันหมดยกเว้นนักแสดงทำไมถึงชอบดูกันนัก เพราะมันสนุกยังไงล่ะ หนังโป๊ของความเพลิดเพลินของการปลดเปลืองอารมณ์ เวลาเครียดสิ่งที่อยากได้คือการหัวเราะ ซึ่งบางครั้งไม่เข้าใจกับสภาพสังคมว่าเป็นแบบนี้ทั้งหมดได้ยังไงถ้าไม่ใช่ได้รับการยอมรับจากส่วนหนึ่งก่อน ก็เหมือนการเลือกตั้งถ้าไม่ถูกโหวตให้มากที่สุดก็ไม่มีทางครองตำแหน่ง ดังนั้นชีวิตคือการดิ้นรนต่อสู้เพื่อค้นหาอิสรภาพของตัวเอง ไม่ใช่ยึดติดกับการบริโภค


เพราะแบบนี้ไฟท์คลับจึงเกิดขึ้นหลังจากที่ไทเลอร์ขอให้อัดเขา และเขาถูกอัดจากผู้เล่าเรื่องจนทั้งคู่เปลี่ยนจากผลัดกันอัดเป็นต่อสู้กันด้วยหมัดเปล่าๆอย่างสะใจ น่าแปลกที่ทีแรกควรเป็นความงุนงวงว่าทำเพื่ออะไร แต่เป็นคิดว่าจะใช้หมัดข้างไหนต่อยไปดี ช่วงแรกเป็นการต่อกันของทั้งสองก่อนจะขยับขยายกลายเป็นวงที่ให้มาสู้กันได้ข้างถนนราวกับมวยที่ได้รับอนุญาติให้ต่อย ซึ่งหลังจากนั้นจุดเริ่มต้นของไฟท์คลับก็เกิดขึ้นพร้อมกับกติกากฎของตัวเอง 8 ข้อเพื่อรักษาไฟท์คลับให้คงอยู่ อย่างที่ชมเข้าใจถึงสถานะภาพของเหตุการณ์คือเกิดกลุ่มไฟท์คลับ การเข้าบำบัดงดเข้าเพราะได้กลุ่มใหม่ที่ปลดปล่อยยิ่งกว่า นั้นคือการระบายอารมณ์ในตัวตนที่มีอยู่ และไฟท์คลับไม่ต่างกับการชกต่อยเพื่อระบายอารมณ์อย่างมีสติกับสมัยบริโภคนิยมอันแสนเบื่อหน่ายกับสิ่งประโลมทั้งหลายแหล่ ข้อแตกต่างของไทเลอร์กับผู้เล่าเรื่องคือจุดชี้คำนึงของถ้ำที่เดินไปเจอเพนกวิน สัตว์เพนกวินเปรียบเสมือนตัวแทนของการกระทำกับนัยนะการมีตัวตนในรูปแบบของขาวและดำหรือผู้สร้างกับทำลาย ไทเลอร์คือส่วนที่ดำ ขณะที่ผู้เล่าเรื่องคือขาว เหมือนหยินหยางที่ไม่อาจรวมตัวกันได้แต่ต้องอยู่ด้วยกันในตัวตนหนึ่ง สำหรับตัวเพนกวินก็คือภาระหน้าที่ที่ต้องทำไม่ต่างกับการดูแลไข่ที่ต้องอยู่ภายใต้เหล่าตัวพ่อทั้งหลาย ซึ่งก็กลายเป็นภาระอันหนักหน่วงและจะต้องดูแลไข่จนกว่าจะมีการสลับเปลี่ยนกับตัวเมียที่หายไปเพื่อหาอาหาร ในเรื่องจะเห็นเพนกวินกำลังเดินก่อนจะถะไหลไปกับพื้นน้ำแข็งแต่ก่อนน่านั้นได้กล่าวประโยค"Slide"ที่ตรงกับกิริยาถัดไปคือถะไหลกับพื้น ซึ่งคงจะเปรียบเทียบอะไรได้ยากถ้าจะมองว่าการยอมรับของธรรมชาติที่ต้องไปหากินกับเป็นมุขขำๆที่กำลังล้อประเด็นแรงโน้มถ่วงที่ขอสไลด์ไปกับพื้นยังดีกว่า ทว่าพื้นที่ลู่ไปกับตัวนั้นอาจขุรขระไม่แตกต่างไปจากตัวไทเลอร์ที่ไม่ง่ายก็เป็นได้ หรือมีอะไรที่เกี่ยวกับมาล่าก็ได้

ที่สำคัญคือไฟท์คลับไม่ได้เป็นแค่ไฟท์คลับที่มาชกต่อยเพื่อระบายความอดกลั้นจากสังคมเท่านั้น เพราะหลังจากไฟท์คลับคือโปรเจกต์เมย์เฮมที่ผู้ชมมองว่าเป็นการบ้านของผู้ก่อการร้ายให้ทำ แต่อันที่จริงคือการใช้ความรุนแรงยุติยุคสมัยใหม่จากเงินตรา เมื่อเราทำลายบริษัทที่รวมข้อมูลเงินจากเครดิตได้ตึกหนึ่งเท่ากับเราสามารถยับยั้งการเกิดหนี้นับล้านได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้คืน ที่น่าฉงนก็คือการกระทำความรุนแรงเป็นวิถีขของชีวิตที่ไม่เคยประสบความรุนแรงให้อยากทำได้แบบไม่ลังเลว่าต้องทำ ดูจากกลุ่มไฟท์คลับที่มีไม่กี่คนและไม่น่าให้ความสนใจได้ แต่กลับภายหลังมีจำนวนมากขึ้นทั้งที่มีกฎวางไว้ สำหรับโปรเจกต์เมย์เฮมคือการก้าวต่อเนื่องจากไฟท์คลับด้วยการปลดปล่อยไปสู่ข้างนอก ไปทำในสิ่งที่ปกติไม่ให้ปกติ ให้คนที่อยู่เฉยๆไม่อยู่เฉยๆ เราจะไม่ทำความเดือดร้อนแก่ประชาชน แต่เราจะทำให้ทุกคนรู้จักอีกด้านของตัวเอง

"กฏข้อสามไฟท์คลับ ใครขอให้หยุด ปวกเปียก หมดสติ การต่อสู้สิ้นสุด"


Fight Club คงเป็นหนังเฉพาะกลุ่มด้วยอย่างหนึ่ง เพราะความรุนแรงที่แผ่ซ่านผ่านอุดมการณ์คือเครื่องหมายชี้ชัดถึงความคิดที่มีต่อยุคสมัยทางบริโภคนิยมในเชิงที่ต่อต้าน และพร้อมจะปฏิวัติให้กลับไปสู่จุดเริ่มต้นซะใหม่ด้วยโปรเจกต์เมย์เฮม ทางด้านเนื้อหาของหนังนับว่าเฉียบในการลงรายละเอียดต่างๆพร้อมให้ผู้ชมเก็บเกี่ยวอย่างเต็มอิ่ม รวมไปถึงการแสดงมิติของตัวละครแบบเข้าเส้นกันเลยทีเดียว และคนที่เล่นในเรื่องได้โดดเด่นที่สุดคือสามคนนี้ Edward Norton,Brad Pitt และ Helena Bonham Carter ซึ่งจะยังไงนั้นไม่ขออธิบายเพราะรู้ว่าใช่ตั้งแต่บุคลิกแรกที่เห็น โทนของบรรยากาศ การเล่าเรื่อง มุมมอง ทุกอย่างดูกลมกลืนเป็นอันหนึ่งเดียวกันไม่ต่างกับมีเป้าหมายมาเพื่อสู้ แต่หนังมีข้อเสียเฉพาะคนที่มองโลกสวยเห็นสิ่งงามๆจำต้องชื่นชม ซึ่งในหนังไม่มีอะไรนอกจากด้านลบที่เป็นจริง ฉะนั้นแม้แต่เด็กก็ควรไว้การพิจารณาในการรับชมด้วยยิ่งดี นับว่าเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จของผู้กำกับ David Fincher ที่สร้างหนังเรื่องนี้ด้วยความเจ๋งและแจ๋วไม่แพ้ผลก่อนๆ เผลอจะเหนือกว่าด้วยซ้ำไป ทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์ในด้านบวกแบบไม่มีข้อกังขาใดๆจนเกิดกระแสสำหรับเรื่องนี้ อีกทั้งยังเป็นการแจ้งเกิดแบบเต็มๆของ Edward Norton,Brad Pitt ที่ทำให้ทั้งคู่ได้รับอานิสงฆ์เพราะเอกลักษณ์ความโดดเด่นของเรื่องไปโดยปริยาย จึงไม่แปลกใจที่ Edward Norton จะดูเหมือนพนักงานบริษัทไม่ก็พวกมีความรู้มีความรู้สึก ในขณะที่ Brad Pitt ดูเหมือนพวกเพลย์บอย ห้าว ชอบความรุนแรง สุดท้ายนี่บอกได้เลยว่า"อย่าพลาดหนังเรื่องนี้เด็ดขาด ยิ่งตอนจบหักมุมได้ใจ และไม่อยากเชื่อว่านี้คือหนังรักโรแมนติกกับเขาด้วย"


"กฎข้อแรกของไฟท์คลับคือห้ามผู้ใดผู้หนึ่งคุยเรื่องไฟท์คลับ"
"กฎข้อที่สองของไฟท์คลับคือห้ามผู้ใดผู้หนึ่งคุยเรื่องไฟท์คลับ"

ปล.ที่จริงอยากจะเขียนไปเลยให้จบๆ แต่ไม่ดีกว่า เพราะถ้าคุณกำลัง อาจจะ กระทำ แม้แต่ คิด หรืออะไรก็แล้วแต่โปรดคำนึงถึงกฎข้อแรกเอาไว้ด้วย แค่นี้แหละเหตุผล

"The first rule of Fight Club is you do not talk about Fight Club"

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)