Final Destination 5 (2011) โกงตายสุดขีด

Final Destination 5 (2011) | โกงตายสุดขีด
Director: Steven Quale
Genres: Horror | Thriller

สงสัยจังว่าหนังโกงความตายจะจบลงที่ภาคอะไร เพราะยิ่งสร้างก็ยิ่งหมดความน่ากลัวลงทีละนิด(โดยเฉพาะภาค 4 ที่ส่วนตัวไม่ค่อยรู้สึกว่าจะสนุกเทียบภาคก่อนๆได้เลย เพราะดันไปสร้างเป็น 3D ความสดจึงดร็อปไปพอสมควร) กลับมาคราวนี้ไม่รู้จะงัดอะไรให้เซอร์ไพร์สอีกแต่คงจะปฏิเสธไม่ได้ทุกภาคว่ายังรักษาพล็อตเรื่องเดิมๆเอาไว้หมดทุกภาคจนหลายคนคิดว่าเป็นการลอกเลียนแบบไปเกือบหมด ซึ่งอันที่จริงมันก็ไม่ใช่เสมอไปแค่ต้องหาจุดเริ่มต้นที่เหมาะแล้วกระจายเข้าหาตัวละครแต่ละตัว ปัญหาเรื่องพล็อตเรื่องยังคงเป็นปัญหาที่ขาดความสดใหม่และผู้ชมที่ติดตามาอย่างดีสามารถเดาล่วงหน้าได้อย่างสบายๆโดยไม่ต้องไตร่ตรองว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เว้นแต่ไอเดียเท่านั้นที่แต่ละภาคต้องหยิบมุกมาใช้ให้แหวกแนวไม่ซ้ำเพื่อเรียกความสะใจของผู้ชมจากนั้นกลบเกลือนด้วยเหตุผลของคำว่า"ความประมาท" และภาคนี้ยังทำหน้าที่ย้ำคำว่าความประมาทให้กลายเป็น"อุบัติเหตุ"ไม่ต่างจากภาคก่อนๆที่ดำเนินเรื่องแบบไม่ต้องพึ่งฆาตกรหรือสัตว์ประหลาด แม้กระทั่งเรื่องผีๆมาเกี่ยวข้อง แค่ปล่อยไปตามกรรมเท่านั้น


เนื้อเรื่องยังวางพล็อตเรื่องใหญ่ๆที่ต้องหาตัวละครสักตัวมาทำหน้าที่โวยวายด้วยความหวาดกลัวแล้วบอกทุกคนว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเรื่องนั้นจะทำให้ทุกคนที่นี่ตายหมด และคนนั้นไม่ใช่ใครแต่เป็นแซม ลอว์ตัน (Nicholas D'Agosto) พ่อครัวหนุ่มที่พึ่งถูกมอลลี่ ฮาร์เปอร์ (Emma Bell) บอกเลิกมาหยกๆ แต่เหมือนว่าความสัมพันธ์ที่กำลังเลวร้ายยังไม่แย่ไปกว่าการที่แซมเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าในอนาคตที่จะเกิดสะพานถล่มพังทลายราบเป็นหน้ากองและทุกคนจะต้องตายไปทีละคนจนหมด ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นเพียงนิมิตรที่เขาเห็นเท่านั้น แต่มันช่างดูคล้ายคลึงกับความจริงเหลือเกิน ไล่ตั้งแต่โดนบาดนิ้ว เพลงที่ดังขึ้นจากรถ จนตอนนี้แซมเริ่มประสาทเสียกับความวิตกกังวลของตัวเองแล้วว่าถ้าปล่อยเวลาไปอีกสักหน่อยจะเป็นอย่างที่คิดหรือเปล่า ไม่ๆแซมบอกทุกคนว่าจะเกิดอันตราย"รีบลงจากรถตอนนี้" แม้ว่าเหมือนจะไม่มีใครเชื่อในคำพูดของเขาสักเท่าไหร่ทำให้มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ลงจากรถแล้วเห็นความผิดปกติ สุดท้ายคือเกิดอุบัติเหตุชุดใหญ่คนตายเพียบเพราะสะพานถล่ม อันสาเหตุหลักมาจากลมกระชากแรง และมีคนตายอีกหลายคนยกเว้นแซมกับคนอื่นๆที่เดินมาถึงฝั่งก่อนจะเกิดวินาศสะพานถล่ม แล้วทำไมแซมถึงรู้ล่ะว่าสะพานจะพังจริงๆขึ้นมา เขาไม่รู้อะไรเลยนอกจากว่าตอนนี้เขารอดแล้ว

หลังจากเหตุการณ์สะพานถล่มทำให้สร้างความแปลกใจให้กับจิม (Courtney B. Vance) เจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่สงสัยว่าทำไมพวกเขาถึงรอดจากเหตุการณ์นั้นได้ และแซมรู้ได้ยังไงว่าจะมีเรื่องร้ายๆกำลังมา ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไรแค่มันแวบเข้ามาในหัวเหมือนเห็นภาพล่วงหน้าเท่านั้น ทว่าหลังเหตุการณ์ช็อกที่สะพานเหมือนจะจบลงด้วยดีที่ทุกคนไม่ได้ตายและยังมีชีวิตยืนยาวต่อไป แต่จะใช่หรือไม่เมื่อมีคนในกลุ่มที่รอดมาตาย และตายอีกเพราะอุบัติเหตุราวกับโดนจองตัวให้ต้องตายยังไงอย่างนั้น ซึ่งคนที่ตายล้วนมาจากคนที่รอดเพราะการเตือนของแซมแทบทั้งสิ้น และยังเป็นการตายแบบวางระดับที่แซมเห็นอีกด้วย ดังนั้นแล้วความตายคืออะไร ทำไมพวกเขาจึงถูกความตายตามล่าด้วย แล้วพวกเขาจะรอดพ้นจากความตายได้นานแค่ไหนเมื่อทุกสภาวะล้วนจงใจให้กลายเป็นอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อทุกเวลา


ถ้าถามว่าสิ่งที่ทำให้นึกถึง Final Destination มากที่สุดที่ไม่ใช่เรื่องความตายแบบอุบัติเหตุคงต้องบอกว่าเป็นนักแสดง Tony Todd ที่โผล่มาเป็นตัวปริศนาและให้คำปรึกษาแบบหลอนๆตั้งแต่ภาคแรก(แม้ว่าจะไม่ปรากฎในภาค 3 แต่อย่างน้อยก็มาในรูปของเสียง) ซึ่งถามว่าการมีตัวตนของสัปเหร่อคนนี้มีไว้เพื่ออะไรนั้นคงตอบได้ไม่ยาก เนื่องจากทิศทางของหนังถูกวางเอาไว้แค่ดูว่าตัวเองต้องตายในเหตุการณ์ใหญ่ๆสักเหตุการณ์แต่เกิดไม่ตายแล้วเป็นว่าต้องมาตายทีละคน พูดง่ายๆคือเป็นการเช็คบัญชีที่ติดหนี้ว่างั้น และถ้าเนื้อเรื่องเป็นแบบนี้ทั้งดุ้นความแปลกใหม่จะมีได้แค่เรื่องการตายเท่านั้นที่ว่าหลากหลาย ในขณะที่เนื้อเรื่องดูง่ายและไร้ทิศทางพอจะหาความสมเหตุสมผลได้ ฉะนั้นการมีอยู่ของสัปเหร่อไม่ได้มีความหมายแค่เป็นผู้เก็บศพหรือจัดการศพเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงผู้อยู่ใกล้ชิดเห็นความตายมานักต่อนักและเป็นไปได้ว่าเขาคนนี้มีประสบการณ์ความรู้จะอธิบายว่าเกิดอะไร และควรจะทำยังไงให้ความตายยังไม่มาพรากชีวิต ถ้าไล่ตั้งแต่ภาคแรกก็คือการเกริ่นรูปแบบความตายอย่างมีลำดับ มีทิศทางเป้าหมายที่ชัดเจนว่าใครคือรายต่อไปจากรูปแบบเหตุการณ์ตัวหลัก และความตายไม่ได้มาแบบไร้สามัญสำนึกที่จะให้ตายก็ตาย แต่มันมีเหตุผลในตัวเองหรือจะบอกว่าการตายที่เกิดขึ้นล้วนถูกจัดแจงมาในรูปของอุบัติเหตุจนน่าเชื่อถือและเกิดขึ้นจริงได้ทุกเมื่อที่เราประมาท ดังนั้นเมื่อความตายได้ย่างเข้ามาแต่เรารู้ทันและรอดไปได้จะช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นมาอีกหน่อย แต่สุดท้ายการคิดบัญชียังคงมีต่อไปเพื่อรักษาสมดุลย์ความเป็น-ความตาย

ภาคแรกเป็นการบ่งบอกให้ผู้ชมเริ่มทำความเข้าใจในแง่ความตายมากขึ้น และรู้วิธีรับมือด้วยมาตราการความปลอดภัยที่ต้องรู้จักป้องกันและรอบคอบอย่างที่สุด เนื่องจากความตายมาในรูปแบบของความประมาท พอมาภาคสองยังคงวิธีการเดิมอยู่แต่เพิ่มมิติการไล่ลำดับความตายด้วยการคาดคะเนจากการเดาสมมติว่าคนนี้จะตาย อย่างการเห็นเงา หรือกระทั่งการสานต่อจากภาคแรกแบบไม่ตั้งใจด้วยการที่ว่าตัวละครในภาคที่สองจะมีความเกี่ยวโยงในภาคแรกที่เข้ามาช่วยชีวิตหรือเห็นเหตุการณ์ในภาคแรกแบบกระชั้นชิด เท่านี้ยังไม่หมดเมื่อเพิ่มมิติเงื่อนไขความตายเกี่ยวกับชีวิตใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยต้องพยายามช่วยไม่ให้ความตายมาพรากเพื่อให้ชีวิตใหม่ได้สร้างลำดับยืดเวลาการตายออกไป ฟังดูเป็นไอเดียที่เสริมกฎความตายเข้ามาจากภาคแรกที่ยังไม่ค่อยมีอะไรมากนอกจากรู้จักความตายอย่างมีรูปแบบได้อย่างดี ชวนให้เนื้อหนังดูเข้มข้นมากขึ้นและยังเป็นการทำให้ตัวละครเกิดความสามัคคีร่วมมือกัน สำหรับภาคสองช่วยอธิบายความตายได้ว่ามันมีรูปแบบที่เชื่อมโยงกันได้อยู่แต่เราจะโยงถูกหรือไม่นั้นก็แล้วแต่จะพิจารณา


ก็เหมือนว่าภาคสองจะทำเนื้อเรื่องให้เข้มข้นมากขึ้นจนภาคสามเองก็ใช่ย่อยใช้รูปภาพที่ถ่ายเป็นการบอกลางได้ชวนให้น่าหวาดระแวงนึกแล้วกลัวว่าตัวเองจะต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งคอนเซ็ปต์ยังคงเป็นการนำความประมาทของตัวละครมาใช้ไม่ได้แตกต่างจากภาคก่อนๆ แต่ภาคนี้ได้สร้างความสัมพันธ์ของตัวละครให้จิกกัดกันเอง จะบอกว่าไม่ค่อยลงรอยสามัคคีอย่างภาคสองเท่าไหร่นักว่างั้น ส่วนทางด้านเนื้อเรื่องยังคงเพิ่มประเด็นกฎความตายเข้ามาเช่นเคยเพื่อให้เนื้อเรื่องดูเป็นมากกว่าการหนีความตายเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ภาคสี่ที่กลายเป็นภาคแรกที่นำเสนอในแบบ 3D นั้นดูจะไม่ค่อยพัฒนาทางเนื้อเรื่องเท่าไหร่เลยซ้ำยังตั้งใจแปลกแยกทำเป็นภาคแยกของตัวเองด้วยโดยเนื้อเรื่องไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาคก่อนใดๆทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงไม่ใช่คำว่าภาคต่อ แต่ยังไงก็เลี่ยงคอนเซ็ปต์ไม่ใช่ชื่อภาคต่อก็ถูกว่าเป็นภาคต่ออยู่ดี พอมาภาคนี้ที่ดำรงอยู่ได้ถึงภาคที่ห้าก็ยังเป็นอีกภาคที่นำเสนอในรูปแบบของ 3D ที่จัดแจงได้ดีกว่า แม่นกว่า และจังหวะการใช้ดูจะคุ้มค่ามากกว่าภาคก่อนหน้านี้คนละเรื่อง(ภาคสี่ไม่ได้แย่แต่เหมือนจะใช้เอฟเฟคมากเกินไป)

ในภาคห้าถือเป็นภาคที่น่าสนใจในการให้ปมประเด็นเกี่ยวกับความตายตั้ง 2 กรณี อย่างแรกคือการแทนตำแหน่งคนตาย โดยนำคนที่สมควรยังมีชีวิตอยู่ต่อไปมาแทนคนที่กำลังจะถูกความตายเล่นงานเพื่อเสียบแทนที่บัญชีความตาย กรณีที่สองมาจากผลพวงการแทนตำแหน่งจะทำให้ได้ชีวิตของคนที่ตายมาเพิ่ม พูดง่ายๆคือดูดเวลาชีวิตเพื่อไม่ให้ตัวเองตายแต่คนๆนั้นจะต้องตายแทน จะว่าประเด็นกฎข้อนี้แหละที่พิสูจน์ความเป็นมนุษย์ได้ดีอย่างถี่ถ้วนว่าเราจะยอมรับความตายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทุกคนล้วนเกิดมาต้องตายเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่เหมือนกันคือเรื่องเวลาว่าจะเร็วจะช้าเท่านั้น  ในเรื่องเราจะเห็นว่ากฎข้อนี้คือเครื่องหมายแห่งการท้าทายว่ามีความเป็นคนมากแค่ไหนและเราควรไตร่ตรองกับเวลาได้ดีแค่ไหน ดูได้จากความแตกต่างระหว่างแซมกับปีเตอร์ (Miles Fisher) ที่ล้วนมีจุดการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เริ่มจากปีเตอร์ที่สูญเสียคนรักไปจนตัวเองรู้สึกผิดและกลายเป็นคนหมดอาลัยอาวรจนใช้ชีวิตไปวันๆอย่างไร้ค่า ซ้ำเมื่อได้ยินเรื่องกฎแทนตำแหน่งทำให้ตัวเองนึกอยากลองฆ่าคนเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตาย แต่เขายังไม่ทำเพราะยังเกรงความเป็นคนอยู่บ้าง แต่ลึกๆแล้วเขาเองก็ทนต่อไปไม่ได้เช่นกัน ผิดกับแซมที่เห็นว่าความตายยังคงเป็นเรื่องปกติแม้จะรู้ว่าตัวเองต้องเผชิญสิ่งนั้นจึงจัดการกับชีวิตของตัวเองกับมอลลี่ด้วยการคืนดีต่อกันพร้อมกับมอบความสุขเพื่อให้ชีวิตความรักมีความหมายมากขึ้น เห็นได้ชัดว่าการปลงต่อความตายไม่ได้ดูแย่หรือน่ากลัวแต่อย่างใด เพราะเมื่อรู้ว่าเวลามีน้อยเท่าใดการจะทำในเรื่องที่ควรคือความหมายที่คุ้มค่าที่สุด อย่างน้อยก็ดีกว่าการทำเวลาให้ตายไปวันๆแล้วบอกว่ายังไม่พร้อมจะตาย


สิ่งที่ Final Destination ยังคงเอาไว้คือความสยองที่เสิร์ฟขนแบบเซอร์ไพร์สว่าตัวละครจะตายกันยังไง โดยเฉพาะภาคนี้โดนใจมากในเรื่องความลุ้นชวนเสียวที่จะตายแหล่มิตายแหล่ ซึ่งที่พูดกันมากคือฉากยิมนาสติกที่กินเวลาความเสียวอยู่พักใหญ่แถมยังมีลูกเล่นแอบลุ้นอยู่หลายครั้ง แต่เห็นว่าสยองอย่างเดียวอาจยังไม่พอเพราะมุขตลกร้ายคือปัจจัยช่วยให้หนังแสดงลูกบ้าเพิ่มไปอีกในฉากฝังเข็มที่เอาลุ้นยาวพอๆกับฉากยิมนาสติกที่ไม่ได้จบลงง่ายๆ แต่พอมันจบลงก็ทำเอาช็อคได้เหมือนกันราวกับว่าความตายไม่มีคำว่าปราณีซ่อนอยู่สักเสี้ยวนาที ทว่าการจัดฉากในช่วงๆแรกถือว่าเจ๋งจริงลุ้นจริงพอมาช่วงระยะหลังดูกลับตรงกันข้ามที่ไม่ค่อยได้ลุ้นจนเหนื่อยอย่างที่คิดคล้ายกับหมดมุขในการตีโจทย์เพราะใช้ในช่วงแรกๆไปซะมาก อย่างน้อยภาคนี้ความโหดยังคงความแรงไม่แพ้ภาคก่อนๆที่โชว์เครื่องใน กระดูกหัก หัวแบระ ได้สมใจคอหนังสยองได้อย่างดี ฉะนั้นความสยองไม่ต้องคิดเลยว่าจะหมดความสนุกเพราะภาคนี้จัดได้เหี้ยมใช่ย่อย แถมบางครั้งยังมาแบบไม่ทันตั้งตัวทำเอาใจหายก็มี

เนื้อเรื่องอาจยังซ้ำๆซากๆแต่พอมีมิติอยู่บ้างแต่กับนักแสดงบางรายยังเล่นได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักโดยเฉพาะพระเอก Nicholas D'Agosto ที่ไม่ค่อยแสดงหน้าแสดงตาตื่นตระหนกในความตกใจเท่าไหร่เลย แถมบางครั้งยังรู้สึกว่าโดน Miles Fisher แย่งซีนอยู่บ่อยครั้งทั้งที่คาแรกเตอร์ก็แยกออกว่าใครเป็นใคร ที่น่าชื่นชมคือนางเอกที่เล่นโดย Emma Bell ได้พอเหมาะแม้ว่าบทของเธอจะไม่โดดเด่นอะไรนัก แต่ที่น่าสนใจคือ Jacqueline MacInnes Wood เล่นเป็นโอลิเวีย ว่าในเรื่องสวยดีดูมีเสน่ห์แบบคมๆ ก็เล่นได้เรื่อยๆ แต่ชอบจริงในฉากทำตาที่แสดงความวิตกกังวลได้แรงราวกับหวาดกลัวขึ้นสมอง แต่เห็นจะชื่นชมใครไม่ได้อีกนอกจาก Ellen Wroe ในเรื่องเป็นแคนดิสแฟนของปีเตอร์ที่โชว์ความพริ้วไหวในฉากยิมนาสติก ซึ่งเธอได้ขอเวลาไปรื้อฟื้นความสามารถทางนี้ของตัวเองเพื่อเล่นฉากนี้ด้วยตัวเองแบบสดๆ ในทางด้านนักแสดงอื่นๆยังคงราบรื่นดีไม่มีปัญหา ติดอย่างเดียวคือหน้าตานักแสดงล้วนดูใหม่หมด มีอยู่ไม่กี่คนที่คุ้นหน้ากันดี ช่วงแรกๆก็เลยรู้สึกไม่ค่อยจะไปกับหนังเท่าไหร่ แต่พอเข้าที่เข้าทางก็ถือว่าการนำคาแรกเตอร์ตัวละครต่างๆมาใช้ทำได้ดูเหมาะสมดี


รู้กันไหมว่าชื่อของตัวละครมีที่มาที่มาจากชื่อผู้กำกับกับนักแสดงหนังสยองขวัญ อาทิเช่น ปีเตอร์ ฟรีด์กิน มาจากชื่อ วิลเลียม ฟรีด์กิน ผู้กำกับเรื่อง The Exorcist (1973) ตัวละครแคนดิซ ฮูเปอร์ มาจาก โทบี ฮูเปอร์ ผู้กำกับ The Texas Chain Saw Massacre (1974) และโอลิเวีย แคสเซิล มาจากชื่อนักแสดง นิก แคสเซิล ผู้เล่นเป็นไมเคิล ไมเยอร์ในเรื่อง Halloween (1978)

Final Destination ภาคนี้ทำได้ดีไม่เลว ความต่อเนื่องยังคงมาได้เรื่อยๆเสิร์ฟความสยองเป็นพักๆแม้จะรู้สึกแอบโล่งๆอยู่บ้าง ก็นับเป็นอีกหนังภาคต่อที่ทำได้สนุกไม่ได้ดร็อปลงไปเลยในเรื่องคอนเซ้ปต์ความน่ากลัว ที่ชอบมากคือเครดิตเปิดกับสารพัดข้าวของอุปกรณ์ที่เหวี่ยงเข้าหน้าจอผู้ชมอย่างเมามันส์และแอบสยองไปตามๆกัน และยังเครดิตปิดอีกที่รวมฉากการตายตั้งแต่ภาคแรกมามิครวมกันอย่างจุใจ แต่ใครเป็นแฟนพันธุ์หนังเรื่องนี้รับประกันว่าเซอร์ไฟร์สตอนจบของหนังแน่นอน จะใบ้ให้ว่า"เที่ยวบิน 180"


รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)