The Conjuring (2013)
คนเรียกผี
Director: James Wan
Genres: Horror | Mystery | Thriller
Grade: A
"พล็อตเรื่องเดิมๆ เนื้อเรื่องงั้นๆ หนังผีก็ยังคงเป็นหนังผีวันยังค่ำ มันจะมีอะไรใหม่ได้ถ้าไม่แหวกธรรมเนียมเดิม"
นี่คงเป็นประโยคสั้นๆเกี่ยวกับหนังผีที่ไม่ค่อยมีความสดใหม่อะไรนักนอกจากการทำให้ผู้ชมเกิดอาการตกใจกลัวประกอบกับเนื้อเรื่องที่สไตล์ใครสไตล์มันจะผีเฮี้ยน คำสาปแช่ง หรือตำนานอะไรก็แล้วแต่ล้วนหนีไม่พ้นการแหกกฎหลักวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงการมีอยู่ที่นอกเหนือการควบคุมและเหลือเชื่อเพราะเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่อยู่เหนือการหยั่งรู้ด้วยความสมเหตุสมผล ฉะนั้นความน่ากลัวของหนังผีอย่างหนึ่งคือวิธีต่อกรที่ไม่รู้ว่าจะรับมือสิ่งที่ไม่รู้จักต่อหน้าได้ยังไง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือเหล่าภูติผีวิญญาณต่างไม่มีสสารในตัว ความสามารถอย่างหนึ่งของผีคือไร้รูปทรงให้สัมผัสหรือจะบอกว่าหายตัวก็ไม่เชิง จึงไม่แปลกว่าทำไมมีความรู้สึกคล้ายถูกจ้องมองตลอดเวลารวมถึงรู้ด้วยว่าเราจะทำอะไรต่อไปทั้งที่พยายามแอบแล้วก็ตาม ด้วยสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้มากมายประหนึ่งเวทมนต์ชั้นสูงที่ทำให้คนเรากลัวได้แม้จะมองไม่เห็นหรือโดนเล่นงานก็ตาม กระนั้นด้วยจิตใต้สำนึกยังคงบอกว่าอะไรคือสิ่งที่เรากำลังประสบอยู่และสมควรจะกลัวสิ่งนั้นหรือไม่เพื่อหนีต่อสิ่งที่ไม่ควรประสบ หลักการทำงานก็เหมือนกับสัตว์ที่รู้จักชนชั้นว่าใครอยู่เหนือกว่าก็ควรหลบหนีเพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้าที่สูญเสีย ทว่ากับมนุษย์ที่คิดได้ด้วยสำนึกนั้นดูจะต่างจากการใช้สัญชาตญาณมากนัก เมื่อเจอสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จักจะเกิดข้อสงสัยกับรู้สึกไม่มั่นใจว่านี้คืออะไร กรณีกับผีคือสิ่งที่ไม่เห็นต้องไม่ได้ มันคือสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ นั้นเองจึงทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อสิ่งที่ไม่อาจรับรู้ได้ สุดท้ายต่อสิ่งนี้เองทำให้เราเกิดอาการกังวลหวั่นไหวต่อสิ่งรอบข้างกลายเป็นถูกรุกรานอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ยกตัวอย่าง The Exorcist (1973) หนังผีที่กลายเป็นความน่ากลัวแสนผวาที่ขึ้นหิ้งของชาวอเมริกันที่สะท้อนถึงการดูแลเอาใจใส่ของความเป็นแม่บนเส้นทางที่กำลังโด่งดังก่อนจะมาวิตกกับอาการของลูกที่ประหนึ่งผีเข้าผีออกอยู่บ่อยๆจนไม่ใช่แค่อาการทางจิตที่น่าจะอิงตามหลักแพทย์ศาสตร์ตลอดจนถึงขั้นหลักของวิทยาศาสตร์ที่น่าจะหาคำอธิบายมาได้บ้าง ทว่ายิ่งหาคำตอบก็ยิ่งไม่ได้อะไรกลับมานอกจากอาการที่คลุ้มคลั่งยิ่งกว่าจนสุดท้ายมันไม่ใช่อาการที่ผิดแปลกวิตกจริตเสียแล้ว เนื่องจากมีการทำอะไรหลายอย่างที่ผิดธรรมชาติหรือคนปกติจะสามารถทำได้จนต้องเรียกว่าในที่สุดเป็นภาวะเกินทนต้องกักบริเวณขังไว้ในห้องแล้วตามคนที่น่าจะช่วยได้ ซึ่งในที่นี้ไม่มีใครเลยนอกจากบาทหลวงที่เสมือนตัวแทนของพระเจ้าที่เข้ามาปัดเป่าไล่วิญญาณร้ายให้ออกจากร่างเด็กสาวที่เสื่อมสภาพไปเรื่อยๆตามเวลา เฉกเช่นสไตล์หนังผีทุกเรื่องที่มักจะเป็นเช่นนี้เสมอที่เริ่มจากสิ่งที่น่าสงสัยก่อนจะลงหนักขึ้นตามสภาพเหตุการณ์ที่แสดงถึงการรุกรานจนผู้ประสบต้องออกอาการความกลัวต่อสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอะไรจะชัดเจนเป็นไปไม่ได้เมื่อมองย้อนกลับหาผลงานก่อนหน้านี้ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันของ James Wan อย่าง Insidious (2010) หนังผีเกี่ยวกับครอบครัวนึงที่ย้ายบ้านใหม่แล้วเจอเรื่องอกขวัญสั่นประสาทเพราะหารู้ว่าบ้านหลังนี้มีวิญญาณที่จ้องเขมือบคนเป็นนับไม่ถ้วน พล็อตเรื่องย้ายบ้านใหม่ได้บ้านอาถรรพ์คือหนึ่งสูตรตายตัวที่ยังใช้ได้เสมอเพราะมันตรงกับชีวิตจริงที่มักจะไม่คุ้นเคยกับสิ่งใหม่จนออกอาการระแวงกลายเป็นจิตตกไปชั่วครู่
ตัวอย่างเด็กที่มักจะไม่ชอบสถานที่ใหม่หรือมีอะไรบางอย่างทำให้สะดุดใจก่อนเสมอ ในขณะที่ฝั่งผู้ใหญ่จะรู้สึกช้าเพราะมองข้ามความรู้สึกนี้ไปเป็นเรื่องปกติสามัญแล้วพยายามหาคำอธิบายบอกอย่างนู้นอย่างนี้อย่างไม่สงสัยว่ามันควรจะใช่เรื่องที่เกินธรรมชาติหรือเปล่า ไม่ว่ายังไงตัวละครที่ประสบการณ์น้อยมักพบเคราะห์ก่อนประจำและเป็นเรื่องฝังใจจนฝ่ายพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ต้องเข้ามาควบคุมในจุดนี้ก่อนจะพบความจริงที่หลังว่าสิ่งที่มองข้ามนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะพูดได้ด้วยเหตุและผลเสมอไป กรณีเดียวกับ The Conjuring ที่ค่อยแทรกซึมตัวละครไปทีละนิดละหน่อย ทว่าเรื่องนี้แตกต่างตรงที่มีกลวิธีการเข้าซึมถึงตัวละครจากการใช้บรรยากาศรอบข้างที่เริ่มหนักหน่วงยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในเรื่องก็ต่างประสบเจอเหตุการณ์สุดช็อกกันทั้งนั้นอย่างไม่ปราณีและไม่เรียงลำดับตัวละครว่าใครควรโดนน้อยโดนหนักแต่ต้องโดนให้ได้ทุกคนเพื่อให้เชื่อว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญอีกต่อไป เช่นเดียวกับ Insidious ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างเอาไม่อยู่ ซึ่งสุดท้ายตัวละครเอกที่ทำหน้าที่ขี่ม้าขาวจากฝ่ายพระเยซูก็เข้ามาในฐานะผู้ไล่วิญญาณที่ชั่วร้าย ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวง คนทรง แม้กระทั่งนักมารวิทยา เพื่อขับไล่วิญาญาณผีร้ายให้ออกไปในท้ายที่สุด
"Infestation = พัวพัน ได้ยินเสียงกระซิบ เสียงเดิน หรือรู้สึกว่ามีคนอื่นอยู่ด้วย ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นการคุกคาม"
เริ่มแรกตัวละครที่ประหนึ่งกุญแจสำคัญได้ถูกปูเรื่องให้ผู้ชมเข้าใจแต่เริ่มด้วยกลวิธีว่าพวกเขาคืออะไรและทำงานกันยังไงผ่านช่วงระยะเวลาสั้นๆอย่างเชี่ยวชาญ อย่างเรื่องแรกเกี่ยวกับตุ๊กตาแอนนาเบลที่กลายเป็นความสะพรึงกลัวเมื่อตุ๊กตาตัวนี้ได้สร้างความหลอนเอาไว้ผ่านข้อความ "Kiss Me" ที่เหมือนจะขยับได้เองซะดื้ออย่างน่าฉงนจนเป็นความผวาที่ใครประสบยังต้องมองกลับไปแล้วถามว่ามาได้ไงกันทั้งที่มันควรจะตั้งวางอยู่ตรงนั้นแท้ๆ การอยู่ผิดที่ผิดทางกับมุขตุ๊กตาผีสิงอาจคุ้นเคยกันมาบ้างในผลงานเก่าๆอย่าง Dead Silence (2007) ที่นำเรื่องเข้าสู่การหาความจริงเกี่ยวกับตุ๊กตาไม้ที่ถูกส่งมาที่บ้านอย่างไรสาเหตุก่อนจะเป็นการชักนำไปสู่หายนะใหญ่หลวง เอาจริงเลยเกี่ยวกับตุ๊กตาหรือไม่ก็สิ่งของก็ล้วนเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เรียกความวิตกแก่ตัวละครตลอดจนถึงผู้ชมที่เริ่มระแวงตั้งแต่แรกพบว่าต้องมีอะไรแอบซ่อนอยู่แน่ๆ ทั้งนี้อาจรวมถึงมุมกล้อง เสียง หรืออะไรก็แล้วที่เกินเรื่องปกติจะเป็นจนเป็นเหตุสู่ความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ มันจึงเข้าคอนเซ็ปต์หลัก Infestation ที่แสดงถึงการรบกวนอันก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ทว่าความรำคาญนี้มักเป็นเรื่องไม่น่าพอใจเสียมากกว่าในขณะที่ในแง่ความสยองขวัญมันคือการประสบเรื่องเหนือจริง และเมื่อมองมาที่ตัว The Conjuring เราจะเห็นการทำงานนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมยังสร้างเอกลักษณ์เกี่ยวกับตระกูลหนังผีอย่างมีเหตุผลขึ้นมาได้อย่างเชิงวิชาการ
กลับมาเข้าเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งที่พึ่งย้ายบ้านมาอยู่ได้สักพักก็เจอแต่เรื่องราวชวนหลอนขนลุกกันทุกวันไม่เว้นแม้แต่เวลากลางวันที่ประสบแต่เรื่องที่ทำให้ร้องกรี๊ดได้ทุกเมื่อ จนสุดท้ายด้วยความที่ครอบครัวเพอร์รอนถูกรังควานไม่หยุดทำให้คาโรลีน (Lili Taylor) ผู้ที่รับประสบการณ์นี้ถี่มากที่สุดต้องไปขอความช่วยเหลือจากเอ็ด วอร์เรน (Patrick Wilson) และลอรีน วอร์เรน (Vera Farmiga) ที่กำลังโด่งดังในฐานะผู้ล่าหรือผู้ที่ทำหน้าที่ขจัดสิ่งแปลกปลอมเหนือธรรมชาติ ทีแรกก็คิดว่าอาจเป็นเรื่องเล็กๆมีเข้าใจผิดไปเอง ทว่าเมื่อลองไปสำรวจบ้านตั้งแต่ไม่ทันได้เข้าประตูก็พบสิ่งประหลาดหลายอย่างที่บ่งบอกว่าสถานที่แห่งนี้มีความอาถรรพ์ที่ยิ่งกว่าจะมีอยู่เพราะเป็นคำสาปที่มีมาเนิ่นนาน และเชื่อว่านี้จะเป็นเคสที่รุนแรงที่สุดเท่าที่ทำมาของครอบครัววอร์เรนที่ไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญหรือการรบกวนธรรมดาๆหากหมายถึงการพยายามทำให้เหยื่อมีสภาพจิตใจทรุดโทรมเพื่อยึดครองเข้าสิงร่าง โดยเฉพาะกับคาโรลีนที่โดนบั่นทอนจิตใจยิ่งกว่าใครๆและไม่ช้าก็ใกล้จะถูกครองร่างในที่สุด
เห็นได้ชัดว่าพล็อตเรื่องก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากขนบธรรมเนียมเดิมๆที่ยังมีสูตรตายตัว เช่น ย้ายบ้านใหม่ที่ไปเจอบ้านพาหลอนเพราะไม่รู้ว่าบ้านหลังนี้เคยมีประวัติที่น่าสะพรึงซ่อนอยู่ ความสัมพันธ์เรื่องตัวละครที่ผูกพันฉันท์ครอบครัวที่แบ่งออกมาชัดเจนเป็นพ่อแม่ลูก จังหวะที่เยือกเย็นกับการตกใจถึงขีดสุดสไตล์หนังผีตุ้งแช่ หรือกระทั่งท้ายเรื่องที่กลายเป็นศึกคนกับผีที่มักจะมีมือปราบมาร่วมจัดการ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความจำเพาะที่เกิดขึ้นในรูปแบบหนังผี อาทิ กลุ่มบ้านผีสิงที่สื่อนัยยะของความไม่คงเดิม เมื่อเราเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เป็นอยู่ก่อนจะบอกถึงการไม่สามารถอยู่อย่างเดิมได้ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ก็ตาม กรณีกับเรื่องนี้ที่มีปัญหาจนต้องมาซื้อบ้านหลังใหม่ก็บอกอยู่นัยๆแล้วมีปมกันอยู่ก่อน ซึ่งนั้นเองทำให้ผู้ชมเริ่มจับมิติตัวละครมาทีละนิดทีละน้อยจากการพัฒนาไปตามเวลาคล้ายเรื่องเก่าเล่าใหม่จนผู้ชมเกิดรู้สึกเข้าถึงตัวละครได้ง่ายขึ้นเพราะไม่ได้ถูกเล่าข้ามแต่อย่างใดเรื่องความสัมพันธ์นี้ แต่ถ้าให้พูดถึงตัวละครที่มาเด่นที่สุดของงานคือคาโรลีนที่มักจะโดนหลอกอยู่บ่อยครั้งและหนักกว่าคนอื่นๆในบ้านจนเรียกว่าโดนเข้าอย่างจัง
กระนั้นตอนแรกก็คงเป็นแค่ความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ตามหลักของมนุษย์ที่จะตั้งคำถามเมื่อไม่รู้ และประเด็นก็สร้างได้ดีอย่างเรื่องทำไมคาโรลีนถึงรอยช้ำตามจุดต่างๆของร่างกายจากนั้นคำตอบที่ได้คือการขาดธาตุเหล็ก จะว่าแล้วการสร้างความสงสัยให้มีคำตอบรองรับอย่างมีคำอธิบายถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างเช่นฉากที่เอ็ดกับลอรีนไปสำรวจบ้านอยู่เคสหนึ่งเพราะเจ้าของบ้านได้ยินเสียงแปลกๆจนไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไงจนกลายเป็นความระแวงที่หวาดกลัวเกิดเข้าใจผิดหลงไปกับสิ่งเหนือธรรมชาติ แล้วเมื่อได้สำรวจจุดที่น่าจะเกิดเสียงปริศนาก็กลายเป็นเสียงที่เกิดจากสิ่งของอย่างเสียงพื้นที่ผุพัง ถ้าว่ากันตามน้ำนี่อาจเป็นสัญญาที่บ่อให้เกิดการคุกคามก็ได้เพื่อรบกวนสมาธิให้ต้องทนทุกข์ในความไม่ปกติ หรือบางทีการไม่ยอมซ่อมแซมบ้านอาจเป็นปัญหารบกวนอย่างนึงถ้าไม่รู้จักตรวจสอบให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
"Oppression = คุกคาม ในขั้นนี้เหยื่อซึ่งปกติแล้วมีสภาพจิตที่อ่อนแอจะตกเป็นเป้าโจมตีจากพลังงานภายนอก ทำให้เหยื่ออ่อนแอ ทำลายความกล้า พออ่อนแอจนเข้าขั้นแล้วก็เข้าสู่ขั้นที่สาม ขั้นสุดท้ายเข้าสิงสู่"
แอนนาเบลคือตุ๊กตาตอนเปิดเรื่องที่มือปราบอย่างเอ็ดกับลอรีนไปรับหน้าที่จัดการปัญหานี้ ถ้าถามว่าขั้นตอนไปถึงไหนแล้วก็จะบอกว่ากำลังเริ่มการคุกคามเพราะเหยื่อที่กำลังโดนเล่นงานอยู่นั้นมีสภาพจิตใจที่แสดงถึงความกลัวอย่างชัดเจนและเกิดอาการต่อต้านอยู่ลึกๆจนอยากจะหนีไปไกลๆด้วยการโยนทิ้งตุ๊กตาแอนนาเบลทิ้งไปก่อนจะกลับมาที่บ้านแล้วพบว่าตุ๊กตายังคงอยู่ที่เดิมทั้งที่ควรจะอยู่ในถังขยะเรียบร้อยไปแล้ว ส่งเหล่านี้กลายเป็นความกลัวที่กำลังกัดกินจิตใจทีละน้อยและค่อยคุกคามเริ่มมีอทธิพลถึงขั้นควบคุมชีวิตได้
กลับมาที่ครอบครัวเพอร์รอนกับสิ่งที่เจอนั้นดูจะไม่ถึงกับเหมือนไปซะทีเดียวเนื่องจากมีการแสดงถึงการเตือนเป็นระยะๆด้วยสัญลักษณ์และท่าทีของการไม่ยอมรับหรือไม่เป็นมิตร กระนั้นแน่นอนว่าไม่มีใครเข้าใจในจุดประสงค์นี้ดีนักเพราะต่างมองว่าบ้านหลังนี้สมควรเป็นเจ้าของตามสิทธิ์กฎหมายโดยชอบธรรม แต่หารู้ไม่สิทธิ์ข้อผูกมัดนั้นยังคงอยู่กับเจ้าของเดิมที่ตายไปแล้วที่ไม่ใช่แค่บ้านหลังเดียวหากจะรวมถึงที่ดินผืนนี้ที่เป็นเจ้าของเดิมทั้งหมด สิ่งที่น่าสนใจเวลานำเรื่องราวเก่าๆมาเล่าหรืออะไรที่ดูเหมือนจริงนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าเรื่องนี้จะบอกตั้งแต่แรกว่าสร้างจากเหตุการณ์จริงที่อิงสถานการณ์จากเคสหนึ่งของครอบครัววอร์เรนผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหนือธรรมชาติ แน่นอนว่าการสร้างจากเรื่องจริงนั้นช่วยให้น้ำหนักของ The Conjuring เพิ่มทวีความน่ากลัวมากขึ้นเพราะเมื่อเกิดจากเหตุการณ์จริงย่อมทำให้หลายคนผวาเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นใน The Exorcist ที่กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวไปซะดื้อๆ
ที่ขาดไม่ได้คือการเกริ่นเรื่องราวเพื่อให้ผู้ชมได้กลิ่นอายของความไม่ไว้ใจด้วยบทบาทฝ่ายครอบครัววอร์เรนที่เข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างละเอียดอ่อนก่อนจะหายไปยาวๆกับครอบครัวเพอร์รอนที่เข้ามามีบทบาทในฐานะตัวช่วยสุดท้ายอย่างที่ผู้ชมรู้แต่แรก สิ่งเหล่านี้บอกอะไรไปไม่ได้นอกจากว่าพวกเขาสามารถไว้ใจได้และเสมือนเป็นมิตรที่ดีที่ช่วยเหลือผู้คนด้วยความตั้งใจ นั้นเองทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงการเอาใจช่วยอยู่ลึกๆอีกทั้งยังรู้สึกสงสารกลุ่มละครเหล่านี้ที่ต่างมีปมและสิ่งที่ต้องเผชิญด้วยความโหดร้าย อย่าว่าแต่คาโรลีนและลูกๆที่ต้องเจอเรื่องร้ายเลยเพราะตัวละครที่น่าจะเชี่ยวชาญทางด้านนี้ยังต้องรู้สึกไม่พอใจเท่าไหร่นักเช่นกันที่มีปูมหลังเจ็บปวดซ่อนอยู่ทั้งยังมีคนทางบ้านคอยกลับบ้านอีกด้วย อย่างแรกที่ชอบมากคือหนังมีเงื่อนงำการเล่นแบ่งเพศออกอย่างชัดเจนระหว่างแม่กับลูกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคาโรลีนที่อยู่กับลูกหรือจะลอรีนที่โทรไปที่บ้านเพื่อเช็คว่าลูกที่บ้านยังสบายดีใช่ไหมหลังจากโดนเล่นงานทางจิตใจจนสัญชาตญาณของความเป็นแม่ต้องแรงกล้าอยากปกป้องโผล่ออกมา ถ้าพูดเรื่องมิติตัวละครความหนาบางลึกบอกได้เลยว่าครบถ้วน
นึกแล้วก็ชวนให้นึกถึง Insidious เพราะในแง่การแบ่งเป็นพล็อตไม่ว่าจะมิติตัวละครเอย ปมตัวละครเอย ก็ล้วนมีความใกล้เคียงกันที่ยังคงเข้าถึงตัวละครให้มากที่สุดและให้ตัวละครไม่ตายเพื่อเรียกความหลอนต่อไปเรื่อยๆโดยใช้การพัฒนาตามลำดับขั้นตอนไปตามเวลาจนถึงจุดพีคของตัวมันเอง โดยเส่วนตัวชอบตัวผู้กำกับ James Wan ค่อนข้างมากที่ทำให้ตัวละครที่อาจจะตายก็ไม่ถึงกับตายไปอย่างไร้เงื่อนงำหรือตัวละครที่น่าจะเป็นตัวประกอบก็มีความหมายเก็บซ่อนอยู่ ไอ้วิธีทำให้ทุกอย่างมีความลับซ่อนอยู่เห็นจะทรงพลังสุดคงเป็น Saw (2004) ที่หักมุมในแบบที่ไม่มีทางให้ออกกันเลยทีเดียว แต่กับ Insidious หรือ The Conjuring มันมีทางออกอยู่นะ แต่เราต้องช็อกกันก่อนนี่สิ
"Possession = สิงสู่"
อนึ่งการดูหนังผีสิ่งที่หาได้เปลี่ยนแปลงหรือแปลกแยกคือจังหวะตุ้งแช่หรือการทำให้ผู้ชมเกิดภาวะหน้าเหวอร้องกรี๊ดลั่นตกใจอกสั่นไหว มันคือสไตล์ที่หนังแต่ละเรื่องต้องคิดต้องหาไอเดียมาสร้างภาพลักษณ์ตัวเองให้ทำยังไงไม่ให้ออกมาซ้ำซากจำเจหรือถูกเดาทางได้ถูกต้องเสมอไป เนื่องจากเมื่อไหร่ที่ผู้ชมที่กำลังดูบอกว่าฉากนี้ต้องมีอะไรแน่ๆก็ไม่ต่างกับที่ตัวเขารับรู้แล้วว่ามันเคยเกิดขึ้นแล้วจะให้รู้สึกสดใหม่ได้เช่นไรในเมื่อครั้งแรกคืออารมณ์ที่ดีที่สุดในความสด ทว่าถึงจะเหยียบรอยเดิมแค่ไหนถ้าการเรียงจังหวะที่ถูกต้องย่อมได้ผลเสมอ
เดิมที The Conjuring ไม่ใช่แค่พล็อตเรื่องจะลงหลักเส้นทางเดิมๆแล้วจะรวมถึงจังหวะที่ยังเช่นเคยกับสไตล์หนังผีที่รู้อยู่แล้วแหละว่าต้องมีอะไรให้เซอร์ไพรส์ กระนั้นข้อแตกต่างที่ทำให้ดีกรีของเรื่องจังหวะที่ถูกปรับแต่งได้อย่างสมดุลคือต่อให้รู้อยู่ก่อนยังตกใจและสร้างความหวั่นไหวแก่ผู้ชมได้อย่างไม่มีข้อกังขา อย่างแรกคือบรรยากาศที่สร้างไว้ผ่านจุดต่างๆตามรอบบ้านตลอดจนภายในบ้านที่รวมถึงใต้ถุนที่เต็มไปด้วยข้าวของเก่าแก่มากมายจนน่าจะบอกเป็นอย่างดีเกี่ยวกับเจ้าของเดิมที่ทำไมไม่เอาไปด้วย ทั้งบรรยากาศเอยตัวละครเอยกลายเป็นหนึ่งเดียวกันหมดอย่างละเอียดอ่อนไม่มีอะไรให้หวือหวาเกินไปหรือชักช้าจนน่าเบื่อ การเรียบเรียงตัดต่อฉากนี้ไปฉากนี้ทำได้ค่อนข้างดีมากที่สามารถสร้างความหลอนได้ถึงขีดสุดด้วยความเยือกเย็นบวกกับดนตรีประกอบอันแสนคลาสสิคไม่ว่าจะเสียงประตู เสียงหัวเราะ ที่ต่างช่วยเติมเต็มได้อย่างน่าสะพรึง
ทั้งนี้ต้องยกให้กับการแสดงที่เหมือนจะดึงเข้าหากันได้อย่างลงตัวพอดีคำไม่ล้นเกินไปแถมยังแจกบทบาทให้แก่กันได้จนผู้ชมจดจำตัวละครนั้นๆได้โดยที่ไม่รู้ว่าตัวละครตัวอื่นจะกลายเป็นที่หลงลืมแต่อย่างใด ที่สำคัญที่นอกจากจังหวะพอตกใจแบบเน้นหนักมาทีเอาสะดุ้งไปข้างหนึ่งคือความนิ่งของฉากที่คล้ายกำลังหลอกล่อผู้ชมให้รอบ้างสิ่งก่อนจะลงเอยตามคาดที่เล็งเอาไว้ซึ่งจะมาเมื่อไรช้าเร็วแค่ไหนสิ่งนี้มากพอทำให้เราใช้สมาธิจดจ่อไปกับฉากนั้นๆได้ก่อนจะขวัญกระเจิงถูกคุกคามด้วยการทำให้สะดุ้งกลายเป็นคนจิตใจอ่อนแอตามทฤษฎีตามเนื้อหาในหนังไปเลย และอะไรจะยิ่งไปกว่านั้นคือการสิงผู้ชมให้อยู่กับเรื่องกับราวตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อเอาใจช่วยตัวละครให้พ้นภัย แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเพราะวิญญาณร้ายในเรื่องก็รู้เชิงไม่ใช่น้อยทำให้เป็นความโดดเด่นที่แตกต่างจากหนังผีเรื่องอื่นที่กัดกร่อนจิตใจได้แม้กระทั่งมือปราบที่ยังโดนเล่นงานได้ กระนั้นสิ่งที่จัดว่าเด่นชัดเจนที่สุดคือมิติของเนื้อเรื่องที่ไม่ได้ลงหลักปักฐานตายตัวด้วยเนื้อหาซ้ำกับรายละเอียดใหม่ๆอย่างเช่นการสะท้อนมุมมองของฝั่งผีมายังตอนคราวยังมีชีวิต บางครั้งเหตุผลที่ไม่ยากเย็นของการยังเป็นผีที่เต็มไปด้วยความเครียดแค้นคือปมตอนยังมีชีวิต เราฝังจิตฝั่งใจด้วยความหมกหมุ่นจนลืมการปล่อยว่างจนสุดท้ายความจริงคืออะไร บางทีก็มาจากปมปัญหาที่ถูกยัดเหยียดด้วยความเชื่อจนกลายเป็นผู้รับบาปที่คับเคืองต่อคนเป็น สุดท้ายการเกิดเป็นวิญญาณที่เต็มไปด้วยความร้ายกาจนี้ไม่ใช่เพราะอยากเป็นตั้งแต่แรกหากมาจากตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เราแค้นเราเคืองด้วยเหตุประการใดเราทำเราอาศัยเพราะอะไร ทุกอย่างมีเหตุผลของตัวเองยิ่งกว่าที่เรารู้ บางทีการสะท้อนของผีไม่ใช่แค่ก่อนตายเท่านั้นหากจะรวมถึงการใช้ชีวิตตลอดทั้งชีวิตจนถึงคนรอบข้างอีกด้วย
นับเป็นหนังผีที่หาได้ยากที่สามารถทำอะไรที่น่าจะตายด้านกลับมามีความรู้สึกขนลุกได้อย่างน่ากลัวกว่าที่ควรจะเป็น ยิ่งการเปิดในเวลากลางคืนในวันที่สงบไร้เสียงรบกวนจากภายนอกจะช่วยเพิ่มอรรถรสได้อย่างถึงขีดสุดกันเลยทีเดียว นับว่าเป็นหนังผีที่น่าจะขึ้นหิ้งได้อย่างสบายๆด้วยชั้นเชิงที่แฝงเหตุผลมีเรื่องวิชาการเข้ามามีส่วนผสมเพื่อเข้าหาหลักวิทยาศาสตร์ที่ไม่น่าจะมองหน้าเข้าหากันได้ ขณะเดียวกันก็ตามสไตล์จิตวิทยาด้วยกันในเรื่องการปลูกฝังที่เริ่มแรกด้วย Infestation ในการทำให้น่าดึงดูดสนใจและกลายเป็นเรื่องสะดุดตาสะดุดใจ แต่อะไรนั้นคงไม่ต่างกับการฝังความคิดเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติว่าต้องกลัว ตามด้วย Oppression ที่ลงลึกถึงขั้นรุกล้ำจนจากที่หวาดกลัวต่อการถูกกระทำกลายเป็นกำลังโดนเล่นงานโดยมิอาจตอบโต้ได้ตามต้องการเพียงเพราะสำนึกมีความกลัวและต้องการจะหนีมากกว่าเผชิญหน้า สิ่งที่น่าฉงนใจคือผีมีอยู่จริง? วิญญาณเหล่านั้นคือพลังงานเพียงน้อยนิดที่หลุดมาจากร่างกายที่ภายหลังพบว่ามีส่วนเอี่ยวทำให้น้ำหนักหายไป ความเชื่อหลังความตายเกี่ยวกับทำดีได้สวรรค์ทำชั่วลงนรก มิติคู่ขนานไม่จำเป็นต้องเป็นโลกที่เดินไปด้วยกันเพราะอาจสวนทางเป็นโลกความเป็นกับความตาย สัญชาตของผีแต่ละเชื้อชาติต่างกันไม่ใช่เพราะภูมิแต่อาจคล้ายคลึงกันเพียงแค่เป็นโลกที่บิดเบี้ยวปะปนด้วยการหลอกล่อและหลอกลวง ทฤษฎีหาคำตอบมาอธบายอย่างเข้าใจคงหากันไม่ได้บนโลกคนเป็นแต่อาจมาในรูปแบบยืมชีวิตด้วย Possession เพราะไม่ว่าจะอยู่หรือเป็นก็ล้วนอยากมีเวลาใช้ชีวิตอีกครั้งทั้งนั้น จะแตกต่างกันที่เราพอดีหรือยังหรือไม่สมหวังจนโกรธแค้นเท่านั้นเอง ชีวิตจะใช้คุ้มค่าแค่ไหนไม่ได้อยู่ที่เพื่อตัวเองเสมอไป บางครั้งต้องรู้จักเผื่อให้คนอื่นกับช่วงเวลาต่างๆ หลังจากนั้นจะกลายเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต อย่างน้อยการได้ใช้ชีวิตกับคนที่รักมันไม่ได้ยาวนานอะไรแต่การมีความทรงจำ ณ ขณะนั้นคือเรื่องที่หาทดแทนไม่ได้อีกแล้ว