Full Metal Jacket (1987)
เกิดเพื่อฆ่า
Director: Stanley Kubrick
Genres: Drama | War
Grade: S
สำหรับหนังสงครามที่คุ้นเคยอย่างมากเห็นจะเป็นสงครามเวียดนามหรือไม่ก็สงครามโลกครั้งที่สองแต่เหมือนอย่างหลังดูค่อนข้างแน่นอนในชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรในขณะที่อย่างแรกคือความพ่ายแพ้ด้วยรอยแผลที่ตัวเองสร้างขึ้น ข้อได้เปรียบของทหารเวียดกงคือยุทธศาสตร์บ้านเกิดปะปนกับธรรมชาติแฝงตัวกลมกลืนกับชาวบ้านที่บางทีไม่อาจแยกออกระหว่างชาวบ้านกับทหารได้อย่างชัดเจน สิ่งหนึ่งที่ทำให้อเมริกาแพ้ไม่ใช่ความทันสมัยหรือจำนวนคนแต่เกิดจากความไม่รู้เรื่องรู้ราวในขณะที่ทหารฝ่ายอเมริกาเดินบนดินก็ไม่รู้เลยว่าข้าศึกได้ซุ่มอยู่ทุกที่ที่มีดิน จะบอกก็คือการสร้างอุโมงค์ใต้ดินลัดเลาะไปไหนมาไหนโดยไม่มีใครเห็นซึ่งเป็นเอกลักษณ์การทำสงครามของเหล่าเวียดกงที่มาก็หายไปซะเฉยๆ ทว่ากับ Full Metal Jacket ไม่ใช่หนังสงครามที่เรามีโอกาสได้มันส์กับกลิ่นดินปืน เลือดนองพื้น เสียงปืนไม่ขาดสายหรือการวางกำลังต่อสู้เพราะนี้คือหนังสงครามที่สู้โดยไม่ต้องสัมผัสปืนก็ยังได้ นี้ไม่ใช่การเล่าเรื่องแบบสงครามเย็นที่ประชันด้วยจิตวิทยาแต่เป็นการเล่าเรื่องด้วยปัจจัยผ่านมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างก่อนเป็นทหารที่ตั้งเป้าหมายสูงสุดคือเกิดมาเพื่อฆ่าข้าศึกกับหลังเป็นทหารเพื่อสู้รบไม่มีวันถอยหนี ฟังดูแล้วทหารคือผู้เข้มแข็งไม่กลัวต่อความตายหรือข้าศึกต่อหน้า บุคคลเหล่านี้น่าเชิดชูเกียรติเพราะรบเพื่อชาติและยอมตายเพื่อชาติ แต่หารู้ไม่ก่อนจะมีทหารได้นั้นบุคคลเหล่านี้ก็คือประชาชนไม่แตกต่างจากทุกคนในสังคม จึงเกิดคำถามว่าจะมีสักกี่คนอยากเป็นทหารเพื่อไปรบที่มีโอกาสตายสูงกว่าใช้ชีวิตตามปกติถ้าไม่นับรวมพวกกระหายสงครามตั้งใจเป็นทหารอยู่ก่อน คำตอบที่ได้เห็นจะเป็นตอนเปิดเรื่องด้วยอารมณ์เด็กวัยรุ่นที่รู้สึกเซ็งกับชีวิตที่แสนสุขแต่ดันต้องเข้ารับเกณฑ์ทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งที่ไม่ใช่สงครามของเราก็ตามแต่
ด้วยอารมณ์ตอนเปิดเรื่องก็เข้าใจทันทีว่าไม่มีใครสักคนอยากเป็นทหารขนาดแค่เริ่มต้นโกนผมออกยังรู้สึกเสียดายบ่งบอกความไม่ยอมจะสละเส้นผมที่ตัวเองไว้ซะยาวต้องสั้นจนเหลือเป็นทรงรูปร่างหัว ในฉากเปิดเรื่องเราจะได้เห็นการแสดงสีหน้าแสนน่าเบื่อทีละคนขณะกำลังตัดผมแบบม้วนเดียวจบโดยไร้การบรรจงเพียงขอเอาให้สั้นที่สุดแค่นั้นพอ ไม่มีความรู้สึกนึกอยากเป็นทหารเลยสักคนเดียวเพราะแต่ละคนแสดงอัปกิริยาหน้านิ่งเหมือนโดนทอดทิ้งแล้วส่งต่อไปยังที่มีกฎระเบียบอันแสนเคร่งครัดและมีวินัยยิ่งกว่าทุกอาชีพที่เคยมีมา
สถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งเพาะบ่มชั้นเยี่ยมที่ฝึกให้ทุกคนฆ่าคนเป็น มีทักษะในการอยู่รอด และโดนด่าทุกวัน อาจจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของทหารที่ก่อนจะเป็นทหารจริงๆจังๆต้องทนต่อการถูกทำโทษหรือถูกด่าต่อหน้าเพื่อนทั้งกองอย่างไม่อาจหลบหน้านับเป็นความอับอายที่ไม่รู้จะเป็นการฝึกอีกแบบด้วยหรือไม่เพื่อฝึกการถูกจ้องมองจากทุกสายตาทกุคู่ให้เกิดความเคยชินแทนที่จะรู้สึกหดหู่ปราศจากใครช่วยได้เนื่องจากต้องช่วยตัวเองเท่านั้นถึงไปต่อได้ และเป็นอีกครั้งที่ไม่ทันไรก็ต้องรู้สึกอึดอัดนิดๆกับฉากสั่งยืนตรงหน้าเตียงนอนที่ดูเป็นระเบียบแต่แสดงถึงความน้องใหม่ ในระหว่างนั้นเองเห็นจะไม่มีใครเทียบได้เมื่อจ่าฮาร์ทแมน (R. Lee Ermey) ปริปากออกมาชนิดปล่อยไม่หยุดราวกับกระสุนที่บรรจุอยู่เต็มแม็กซ์และไม่มีทีท่าจะหมดลงอย่างง่ายๆด้วยการตวาดใส่ทหารหน้าใหม่ทีละคนทั้งที่เป็นการถามไถ่แนะนำตัว(แต่เชื่อได้เลยว่าการถูกตะโกนต่อหน้าไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เลยสักนิดเพราะมีแต่ถูกบีบเท่านั้น) และในฉากนี้เองทำให้เราเห็นใครบางคนที่แตกต่างกว่าทุกคนในห้องซึ่งนั้นคือลีโอนาร์ด ลอว์เรนซ์ (Vincent D'Onofrio) เพียงเพราะเขาทำหน้ายิ้ม
ลีโอนาร์ด ลอว์เรนซ์คือชื่อจริงๆแต่เนื่องจากไม่เป็นที่ถูกใจจ่าฮาร์ทแมนจึงถูกกล่าวขานชื่อเสียใหม่เป็นโกเมอร์ พายล์ให้เหมาะกับทหารบกเนื่องจากชื่อนั้นทหารเรือชอบใช้กัน ก็ไม่รู้จะบอกยังไงดีแต่จะลักษณะคนที่โดนหนักสุดคือพายล์ที่ทำหน้ายิ้มแทนที่จะทำหน้านิ่งสมความหนักแน่นของทหารจนผลที่ตามมาคือถูกบีบคอในแบบเชิงกึ่งบังคับ(สั่งให้เอาคอมาให้มือบีบแต่ไม่ใช่ใช้มือมาบีบคอ)จนหน้าหมดอารมณ์ยิ้มแย้มในทันทีที่พูดไม่ออกเพราะถูกบีบคอ แล้วฉากต่ออีกหลายฉากต่อมาเราจะได้เห็นนายทหารพายล์กลายเป็นจุดเด่นของเรื่องที่แสนน่าอับอาย
จากความผิดหลายต่อหลายครั้งจากความไม่ตั้งใจและหวาดกลัวทำให้พายล์คือตัวอย่างของคนที่ถูกทำโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนน่าสงสาร ทั้งสะพายปืนผิดข้างเพราะไม่คุ้นชิน กลัวความสูง ดึงข้อไม่ขึ้น แล้วจะอะไรอีกที่พายล์ทำได้แม้แต่การวิ่งไปด้วยกันยังถูกให้ทอดทิ้งข้างหลังโดยมีเพื่อนประคับประคองหนึ่งคนกับอีกคนที่ไม่ช่วยแล้วยังตะโกนด่าเป็นว่าเล่นซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นจ่าฮาร์ทแมนที่บรรจงคำพูดถี่เป็นกระสุนคอยแทงปมด้อยตลอดเวลา แต่ต้องยอมรับอย่างสุดซึ้งจริงๆว่าจ่าฮาร์ทแมนคือตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ตัวเองสูงและน่าหงุดหงิดที่สุดในเรื่อง คำว่าน่าหงุดหงิดในที่นี่ไม่ใช่น่าเบื่อหรือเป็นตัวละครที่ไม่น่าจดจำแต่ต้องเรียกว่าจำไม่มีวันลืมมากกว่าเนื่องจากต้องทนคำพูดไม่หยุดหย่อนที่ไม่รู้ไปสรรหาคำมาจากไหนเยอะแยะและทุกคำทุกประโยคคือการด่าเป็นหลัก ดังนั้นจะไม่ชอบก็มีส่วนแต่โดยส่วนตัวชอบตัวละครนี้อย่างมากและดีอย่างมากที่ R. Lee Ermey ตีบทจ่าโหดแตกกระจุยได้อย่างน่าเหลือเชื่อ นั้นแหละที่ทำให้ตัวละครจ่าฮาร์ทแมนคือจ่าฮาร์ทแมนที่ไม่เหมือนใครและหาใครเหมือนได้ง่ายๆ
โจ๊กเกอร์ (Matthew Modine) คือเพื่อนพายล์คนสุดท้ายที่ยังเป็นมิตรเนื่องจากความอ่อนแอของพายล์ทำให้คนทั้งหมวดต้องพบความยุ่งยากหลายครั้งและที่หนักหนาสาหัสที่สุดเมื่อถูกจับได้ว่าแอบซ่อนโดนัทจนต้องถูกสั่งให้ยืนกินต่อหน้าเพื่อนๆที่กำลังถูกทำโทษเพียงเพราะไม่ยอมดูแลพายล์ สำหรับโจ๊กเกอร์ก็ไม่ต่างอะไรกับพายล์มากนักเพียงเขาทำได้ดีกว่าในหลายเรื่องจนได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากลุ่มเพราะมีความมั่นใจในตัวเอง แน่นอนว่าโจ๊กเกอร์คือคนที่ดูแลพายล์มากกว่าใครๆทั้งสอนทั้งฝึกจนสามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้มาก่อน ทว่าจากเหตุการณ์แอบซ่อนโดนัทก็กลายเป็นจุดชนวนถึงความแตกแยกระหว่างโจ๊กเกอร์กับพายล์ที่ทำไปเพราะคนส่วนมากทำ แต่โจ๊กเกอร์ไม่มีเจตนาคิดร้ายหรือหวังแกล้งพายล์ใดๆทั้งสิ้นเพียงเป็นเรื่องของสถานการณ์ที่ต้องทำเพื่อไม่ให้ถูกมองเป็นพวกเดียวกับพายล์ จุดนี้เองที่ทำให้พายล์กลายเป็นอีกคนหนึ่งไปตลอดกาลจากที่เคยอ่อนแอเป็นไอ้อ้วนที่ถูกทิ้งท้ายก็เริ่มทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้เองดีกว่าคนอื่นซึ่งก็คือการยิงปืนจนจ่าฮาร์ทแมนสนใจอยากให้เป็นหน่วยซุ้มยิง ทว่าบางอย่างก็เริ่มซับซ้อนมากขึ้นเมื่อโจ๊กเกอร์เห็นความผิดปกติของพายล์ที่พูดคุยกับกระบอกปืน แม้บางทีไม่ใช่เรื่องแปลกแต่กับพายล์ที่สภาพจิตใจย่ำแย่จนไม่เหลือใครดูจะเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดในชีวิตและมันก็แย่มากๆในคืนที่โจ๊กเกอร์ต้องเฝ้าเวรกลางคืน
ตลอดของการนำเสนอการฝึกทหารหรือพาร์ทแรกของเรื่องคือการได้เห็นสงครามในรูปแบบหนึ่งในสภาวะกดดัน อาจจะมาจากการด่า ทำโทษหรือฝึกก็ล้วนเป็นส่วนน้อยที่ยังไม่ขนาดทำคนเป็นอีกคนได้อย่างสมบูรณ์แค่เสริมเปลือกด้านนอกให้ดูหนาขึ้นในขณะที่ภายในยังคงสภาพเช่นเดิมแต่บอบบางกว่าเท่านั้น เฉกเช่นพายล์ที่ได้รับการฝึกจนสามารถสร้างเปลือกของตัวเองได้สำเร็จแม้จะช้ากว่าคนอื่นกตามแต่ภายในยังคงเป็นคนอ่อนแอที่ไม่เคยรับการสนับสนุนในทางที่ดีโดยเฉพาะเพื่อนที่เป็นตัวการกระตุ้นอารมณ์เก็บกดให้กลายเป็นอีกคนอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะจ่าฮาร์ทแมนหรือเหล่าพองเพื่อนของพายล์ก็ล้วนคือคนอเมริกันที่ตอบสนองด้วยอารมณ์ อีกคนอาจต้องการให้ได้ดีแต่อีกคนกลับตรงกันข้ามให้รับความเจ็บปวดเสียแทน สุดท้ายก็ไม่ต่างกับสงครามขนาดเล็กที่ว่าด้วยคนอเมริกันฆ่าคนอเมริกันด้วยกันเองซึ่งสงครามนั้นเริ่มตั้งแต่ในค่ายฝึกแล้ว และนี่เองที่ทำให้พาร์ทแรกจบลงอย่างน่าหดหู่ใจไม่มีอะไรดีนอกจากเห็นทหารฝึกร่างกายไปวันๆเพื่อทำสงครามที่ไม่ใช่ของตัวเองแล้วที่เลวร้ายจริงๆคือทำให้คนธรรมดากลายเป็นนักฆ่าไร้สติเหมือนถูกป้อนคำสั่งให้ทำอย่างไร้สามัญสำนึก ดังนั้นเมื่อพาร์ทแรกจบลงอย่างน่าสะใจแบบน่าน่าหดหู่ก็ถึงคราวแตกประเด็นเข้าสู่สงครามของจริงกับพาร์ทที่สองที่ให้มุมมองต่อต้านสงคราม
สำหรับพาร์ทสองจะมีโจ๊กเกอร์เป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่องหลังจากที่ตั้งใจลงตำแหน่งหน่วยข่าวกองก็ถึงเวลาทำข่าวในสมรภูมิรบไปยังเมืองฮิว แต่ก่อนไปเมืองฮิวเราได้เห็นข้อแตกต่างในตัวโจ๊กเกอร์อยู่สองสามอย่างคือความเชื่อมั่นที่จะขอเลือกเส้นทางของตัวเอง ถนัดทำข่าวมากกว่าฆ่าคน และมองว่าเวียดนามคือประเทศที่งดงามดุจเพชรเม็ดใหญ่ในแถบเอเชีย จากสงครามที่อเมริกาไม่มีเกี่ยวที่เป็นการขัดแย่งของเวียดนามเหนือและใต้ก็กลายเป็นที่น่าถกเถียงที่สื่อต้องการถามทหารที่ออกรบถึงสิ่งที่ทำไปเพื่ออะไร คำตอบที่ได้คงไม่เท่ากับความเชื่อของทหารอเมริกาที่สุดท้ายฝ่ายตัวเองต้องคว้าชัยชนะอย่างแน่นอน ซึ่งจากภาพลักษณ์ก็ดูเป็นเช่นนั้นไม่ว่าจะจำนวนที่มุ่งไปทางทหารอเมริกาจนไร้วี่แววของทหารเวียดกง อาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมเต็มอัตราทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิด รถถัง และยุทธวิธีในการรบ ชัดเจนมากถึงการรำเอียงที่สื่อถึงใครเหนือกว่าใครและชัดมากขึ้นที่พาร์ทได้เห็นการฝึกเปรียบจะบอกว่าฝ่ายตัวเองเอาจริงและมีประสิทธิภาพมากกว่า(แต่สุดท้ายคำว่าประสิทธิภาพก็ต้องมีบางคนรับจุดนั้นไม่ไหวจนเป็นสิ่งที่น่าหดหู่ในท้ายพาร์ทแรก)
การประจักษ์ในอำนาจไม่ใช่เพื่อแสดงตนเป็นมหาอำนาจยักษ์ใหญ่เท่านั้นแต่รวมถึงความสามารถที่จะยุ่งเกี่ยวได้อีกด้วย ซึ่งเดิมทีอเมริกามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นซะที่ไหนแถมเป็นชนวนสงครามเองก็เป็นได้ เริ่มจากการประชุมเจนีวา (Geneva Conference) ปี 1954 ทำให้ฝรั่งเศสต้องถอนกำลังออกจากเวียดนาม แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองและผลประโยชน์ระหว่างต่างประเทศบางประการ จึงเข้าไปดูแลเวียดนามใต้โดยอ้างว่าไม่ให้เวียดนามเหนือที่คอมมิวนิสต์มาครอบครองในส่วนนี้ได้ ไม่เช่นนั้นอำนาจนี้จะกระจายไปทั่วเอเชียแล้วกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งอเมริกาไม่ยอมรับเพราะตัวเองเป็นประเทศประชาธิปไตย กระนั้นสุดแท้แต่สงครามเวียดนามก็จบลงอย่างไรนั้นก็รู้กันดีเพียงแค่ฝ่ายที่แพ้ไม่เคยบอกว่าแพ้นอกจากไม่ชนะเท่านั้นเอง
Full Metal Jacket คือหนังต่อต้านสงครามอีกเรื่องที่อธิบายกันตั้งแต่เปิดเรื่องตามด้วยการเผชิญสถานการณ์สุดคาดเดา ต้องยอมรับว่าทุกฉากมีการเล่าเรื่องได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนเก็บได้ครบทุกสัดส่วนจนสัมผัสได้ถึงความหนักแน่นแม้เอาเข้าจริงจะไม่มีฉากสงครามยิงปะทะเป็นตายกันอย่างจริงจังก็ตาม อย่างหนึ่งที่พิสูจน์ได้คือเรื่องนี้มีเนื้อหาเสียดสีเกี่ยวกับสงครามที่ซับซ้อนได้อย่างมีนัยยะโดยเฉพาะการได้เห็นโจ๊กเกอร์สวมหมวกที่เขียนว่า"Born to Kill"หรือ"เกิดมาเพื่อฆ่า"แต่ที่ตัวดันติดเครื่องหมายสัญลักษณ์"สันติภาพ"ที่ดูขัดแย่งกันเองอย่างมาก หรือจะบอกเป็นนัยๆคือ"ฆ่าเพื่อให้เกิดสันติภาพ" สรุปแล้วการฆ่าจะเกิดสันติหรือการมีสันติจะทำให้เกิดการฆ่า จะไม่ว่ากรณีไหนท้ายที่สุดมนุษย์ต้องฆ่าห่ำหั่นกันเองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ซึ่งนั้นเป็นเหตุให้เวียดกงกับอเมริกาต้องทำสงครามที่ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายแพ้ ทำนองเดียวกันไม่ว่าฝ่ายใดก็แล้วแต่ทั้งสองฝ่ายต้องแลกด้วยการสูญเสียที่อาจเป็นใครก็ได้ไม่เว้นเพื่อนใกล้ตัวที่มีโอกาสตายเท่ากัน แม้ในสนามรบหลายคนจริงจังในการมีชีวิตรอดและเครียดตลอดเวลาแต่ก็มีบางคนไม่น้อยที่ยังคิดเป็นเรื่องสนุกไม่ซีเรียสกับสงครามเกินไปแค่พร้อมที่ต้องสูญเสียก็พอ
ในนิยามของสงครามคือการปลดปล่อยอารมณ์อย่างหนึ่งเนื่องจากได้กระทำในสิ่งที่หมดสงครามก็ไม่อาจทำได้อีกแล้ว เช่นการได้ถ่ายรูปกับศพเวียดกงเก็บไว้อวดถึงตัวเองว่าเก่ง ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์ที่มีฉากหลังเป็นบ้านเมืองเละเทะจากการปะทะ ได้เล่นสนุกกับอีตัวอย่างเปิดเผยกับเพื่อนๆ รวมไปถึงฉากที่ถูกตัดทิ้งในหนังที่ให้เห็นทหารเล่นฟุตบอลคลายเครียดที่เกิดเป็นว่าไม่ใช่ลูกบอลแต่เป็นศีรษะคน อะไรที่ได้ทำในสงครามคือความวิปริตอย่างหนึ่งที่หาไม่ได้หลังสงคราม เนื้อแท้ของคนเราคืออะไรไม่สามารถบอกได้แต่ที่แน่ๆสงครามกับสันติภาพไม่ใช่ของคู่กัน
การจะหาผู้กำกับสักคนเก็บงานได้ละเอียดเท่า Stanley Kubrick นับว่าหาจับตัวยาก สังเกตได้แต่ละเรื่องจะมีมุมกล้องไม่แตกต่างกัน ลักษณะการเล่า ตลอดจนเทคนิคต่างๆล้วนมีความตายตัวที่สามารถดึงจุดแข็งออกมาได้เต็มอรรถรส ขนาดฉากเล็กๆยังเป็นฉากใหญ่ของเรื่องได้ เช่นฉากถูกซุ่มมือปืนยิงที่แสดงออกมาได้จัดจ้านถึงการยิงและผู้ถูกยิงด้วยเลือดที่กระเซ็นกับการรับมือมือปืนปริศนารายนี้ว่าควรลงมือจัดการอย่างไรก่อนที่จะถูกยิงเพิ่มอีกคน ซึ่งนี้ก็คือฉากที่ตื่นเต้นและแปลกใจที่สดในเรื่องเมื่อทหารพยายามเข้าหามือปืนทีละก้าวก่อนจะรู้ว่าทหารเวียดกงรายนี้เป็นผู้หญิง จากการแต่งตัวไม่อาจบอกถึงความเป็นทหารได้นอกจากเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาแถมเป็นผู้หญิงตัวเล็กคนหนึ่งที่พร้อมจะเผชิญกับข้าศึกกี่คนก็ได้เท่ากับใครๆก็พร้อมจะถือปืนยิงก็ได้ไม่เว้นเด็กเล็กคนแก่ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่โจ๊กเกอร์ไม่น้อยทั้งยังรู้สึกกับคำเกิดมาเพื่อฆ่าก็เพื่อสิ่งนี้จริงๆงั้นรึ สรุปแล้วสงครามนี้รบเพื่อใครและอะไรยังเป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวแต่ยังคงทำต่อไปในเมื่อถูกฝึกมาเพื่อฆ่าไม่ใช่เพื่อสันติภาพ ด้วยเหตุนี้เองที่ตัวหนังเล่าเรื่องระหว่างเหตุการณ์ในสงครามเวียดนามไม่บอกจุดเริ่มต้นหรือจุดจบของสงครามว่าควรมีผลลัพธ์เช่นไร ภาพสุดท้ายที่เห็นคือทหารเดินหน้าลุยต่อในความมืดที่มีกองไฟตามทางที่ถูกเผาไหม้จากระเบิดพร้อมกันนั้นทหารยังคงร้องเพลงไปด้วยกันอย่างชื่นบานแม้สงครามจะทำให้ปวดใจเวลาต้องเสียเพื่อนหรือยิงผู้หญิงก็ตาม