The Babadook (2014)
บาบาดุค ปลุกปีศาจ
Director: Jennifer Kent
Genres: Horror | Mystery
Grade: B+
"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"
นี้คือหนังผีที่ลึกๆแล้วเป็นผีที่มีตัวมีตนมีเลือดเนื้อแบบคนอย่างเราๆเว้นบางสิ่งที่ถูกตีแยกออกไปกลายเป็นการกระทำเหนือธรรมชาติบนพื้นฐานความหลอกลวง หลายสิ่งหลายอย่างมาจากการเพาะบ่มจนเกิดด้านมืดในจิตใจจากผลกระทบต่างๆมากมายเช่นเดียวกับหนังสยองขวัญจากออสเตรเลียเรื่องนี้ที่แสดงถึงแล้วว่าความน่ากลัวจริงๆไม่ได้เกิดจากวิญญาณผีร้ายเป็นหลักแต่เริ่มที่บรรยากาศโดยรวมจนไม่จำเป็นที่ว่าผู้ชมจะเห็นหน้าตาของผีเพียงไม่กี่วินาทีก็สามารถหลอนได้เพราะเกิดจากความไม่ไว้ใจ หวาดระแวง และสงสัย ทว่านอกจากความกลัวที่ตัวหนังพยายามกัดกินผู้ชมนั้นยังเสริมด้วยความตึงเครียดจากสองแม่ลูกระหว่างเอมิเลีย แวเน็ค (Essie Davis) แม่ผู้ซึมเศร้าต่อการตายของสามีจนรู้สึกหน่ายต่อสังคมกับแซมเมล แวเน็ค (Noah Wiseman) เด็กที่มีนิสัยก้าวร้าวต่อต้านในหลายๆสิ่งที่ตัวเองไม่ยอมรับ สิ่งแรกของการเล่าเรื่องคือความสัมพันธ์แม่ลูกอันแสนหม่นหมองและย่ำแย่ในแง่คนในครอบครัวเนื่องจากทั้งแม่ทั้งลูกก็ล้วนไม่มีความเข้าหาด้วยความจริงใจกันเลย ราวกับทั้งสองมีเรื่องบาดหมางไม่พอใจเก็บซ่อนเอาไว้แล้วพูดออกมาและเมื่อไม่บอกกันตรงๆก็สะสมอาการมาเรื่อยๆจนเป็นที่น่าขัดข้องใจว่าเพราะอะไร อีกทั้งงานวันเกิดของแซมเมลก็ดูจะเป็นวันธรรมดาเช่นทุกวันไม่มีอะไรพิเศษแบบที่ในวันเกิด ซึ่งเอมิเลียไม่เคยสักครั้งที่จะฉลองงานวันเกิดให้ลูกตัวเอง นั้นทำให้แซมเมลไม่พอใจในความเอาใจใส่ของแม่และหาหนทางเรียกร้องความสนใจ ในทางกลับกันยิ่งกลายเป็นกระตุ้นเรื่องอดีตอันแสนเลวร้ายของเอมิเลียเพราะวันเกิดของลูกตรงกับวันที่เสียสามีของเธอไป
ความสัมพันธ์แม่ลูกเป็นสิ่งแรกที่ผู้ชมให้ความสนใจเป็นพิเศษแบบเดียวกับที่ตัวหนังให้ความสำคัญเรื่องปัญหาของแซมเมลที่ดื้อซนไม่ฟังคำสั่งจนเป็นเหตุให้ถูกพักการเรียนเพราะพกปืนหน้าไม้ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ในขณะเดียวกันเอมิเลียก็เริ่มจะทนต่อสิ่งที่แซมเมลทำต่อไปไม่ไหวแต่ต้องทำเนื่องจากเป็นหน้าที่รับผิดชอบของคนเป็นแม่ที่ต้องดูแลลูก ทุกวันผ่านไปจะต้องมีเรื่องเกิดขึ้นไม่เล็กก็น้อยอยู่เสมอโดยอย่างยิ่งการกล่าวถึงคนตายที่เป็นสามีของเอมิเลียและพ่อของแซมเมล
คนแรกไม่ได้คิดมากจนถึงขั้นต่อต้านแต่ก็เก็บกดเรื่องนี้อยู่เสมอ ทว่าคนหลังไม่ได้เก็บเอาไว้และมักระบายออกด้วยความไร้เดียงสาและความแตกต่างจากคนอื่นจนเป็นเหตุให้ถูกแซวเรื่องพ่อราวกับตัวเองนั้นเป็นที่น่ารังเกียจ เป็นเหตุให้แซมเมลไม่อาจเข้ากับเด็กคนอื่นที่เพรียกพร้อมได้ในขณะเดียวกันเขาเองก็ขาดความอบอุ่นที่ต่อให้แม่จะตามใจหรือช่วยเหลือแค่ไหนยังรู้สึกขาดบางอย่างไป ซึ่งสิ่งนั้นไม่ต่างกับความจริงใจในมุมมองความรักไม่ใช่เพื่อความรับผิดชอบหรือทำเพื่อรักษาหน้า ในใจของแซมเมลจึงครุ่นคิดเสมอในวันเกิดว่าทำไมจึงไม่จัดวันเกิดมีเค้กมีคนอวยพรแบบที่ใครได้รับอย่างมีความสุขหรือเพราะตนเองเป็นคนไม่ดีไม่มีใครชอบเลยต้องแตกแยกจากทุกคน พฤติกรรมแบบนี้เกิดจากอะไรคงไม่อาจโทษใครนอกจากคนที่เลี้ยงดูหรือจะกล่าวตรงๆเป็นเพราะเอมิเลียเลี้ยงดูลูกของตัวเองแบบขาดๆเกินๆ ทั้งนี้จะกล่าวหาเอมิเลียเพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่ถ้าเป็นเพราะอยู่ในสภาวะซึมเศร้าคิดถึงคนรักที่เสียไปแม้จะผ่านมานานหลายปีแล้วก็ตาม ด้วยความซึมเศร้าไม่เบิกบานเต็มที่จึงไม่แปลกอย่างยิ่งที่แซมเมลรู้สึกขาดการเห็นอกเห็นใจที่แท้จริง
เริ่มเรื่องก็เปิดมาด้วยความงุนงงสภาพเหมือนตกไปสักแห่งหนึ่งอย่างหาไม่ได้ของเอมิเลียก่อนที่ภายหลังจะค่อยๆเผยเรื่องราวจนเริ่มตีความได้ถึงความทรงจำไม่เลือนลางเกี่ยวกับการสูญเสียสามีอันที่รักไป เราจะได้เห็นเอมิเลียมีความยึดติดมากแค่ไหนต่ออดีต มีความเหงาเข้าแทรกอยู่เสมอและหน่ายต่อชีวิตที่ขาดการเติมเต็ม ทุกอย่างสำหรับเอมิเลียไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกสุขล้นได้เลยสักเรื่องเพราะลูกของเธอที่มักก่อปัญหาอยู่เสมอ ขนาดที่ว่าการนอนในห้องคนเดียวที่แบ่งแยกแม่กับลูกที่น่าจะปกติก็กลายเป็นความรู้สึกถูกขัดจังหวะ
ชีวิตของเอมิเลียเต็มไปด้วยความเหงาที่เก็บกดจากการสูญเสียไม่ใช่เหงาที่เดี่ยวดายต้องการใครสักคน ก็ดูเหมือนว่าชีวิตที่น่าจะสุขไม่ได้สุขเป็นแบบนี้มาสักระยะจนกระทั่งได้หนังสือเล่มหนึ่งที่ต้องการเอามาเป็นนิทานก่อนนอนให้แซมเมลที่ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกถึงความแปลกประหลาดยิ่งอ่านยิ่งสะพรึงกลัว หนังสือเล่มนี้ชื่อ"มิสเตอร์ บาบาดุค"เล่าเรื่องเกี่ยวกับปีศาจตนหนึ่งจากเสียงเรียกขาน"บาบาดุค ดุค ดุค ดุค" ซึ่งในจุดนี้เรียกความสนใจและน่ากลัวได้พอประมาณเลยทีเดียวโดยเฉพาะรูปแบบหนังสือ เนื่องจากเป็นหนังสือสามมิติหรือหนังสือป๊อปอัพที่มีกลไกทำให้ขยับได้เล็กน้อยและภาพก็นูนออกมาเสมือนจริงแถมแต่ละหน้ามีเพียงสีขาวดำที่จัดแจงไม่เหมาะเป็นนิทานก่อนนอนสำหรับเด็กและเมื่อยิ่งอ่านทีละนิดก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงความลึกลับจากประโยคสั้นๆที่ลงเอยด้วยความตาย ที่น่าสนใจคือแทนที่จะน่ากลัวมากขึ้นกลับตัดเป็นตลกร้ายที่ฉากถัดมาเป็นแม่อ่านการ์ตูนสำหรับเด็กจริงๆให้ลูกที่ร้องไห้ซะอย่างงั้นราวกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้เป็นเพียงเรื่องโจ๊ก
การเล่าเรื่องหาหนทางหลีกเลี่ยงความน่ากลัวจากบาบาดุคแทนด้วยชีวิตแม่ลูกทั้งสองก่อนหนังสือดังกล่าวจะมามีส่วนพัวพันจนต้องลงมือด้วยการฉีกหนังสือเพื่อตัดปัญหาให้สิ้นซาก บาบาดุคในเรื่องกลายเป็นเรื่องเล็กทันทีเนื่องจากแทบไม่มีการกล่าวอะไรในเรื่องนอกจากการทวีคูณความน่ากลัวมากขึ้นจนกลายเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตตามลำดับทีละเล็กน้อย แต่จุดพีคก็เกิดอีกรอบกับหนังสือที่ฉีกทิ้งไปมาโผล่อยู่หน้าประตูในภาวะอารมณ์ไม่คงที่พร้อมกับเนื้อหาในเล่มที่ยังไม่ได้อ่านแสดงถึงด้านมืดอย่างเต็มเปี่ยม จากช่วงแรกที่เคยอ่านคือความน่ากลัวของบาบาดุคเสมือนภัยคุกคามหลอกเด็กจากที่มืดเช่นใต้เตียง ทว่าหนหลังเพิ่มความน่ากลัวมากกว่าเดิมหลายเท่าจนทำเอาเอมิเลียหวาดผวาต่อเนื้อหาที่กำลังบอกว่าตัวเองจะเป็นคนทำลายครอบครัวของเธอและจบชีวิตลงด้วยตัวเองอย่างสยดสยอง แม้ไม่รู้การมาของหนังสือเล่มนี้ว่ามายังไงแต่ที่แน่ๆคือเอมิเลียไม่ปล่อยให้อยู่รบกวนจิตใจจึงเผาเพื่อเป็นการจบความกลัวนี้ออกไป กระนั้นเนื้อแท้แล้วการรับรู้ถึงภัยบางอย่างและขจัดภัยไม่ได้แปลว่าความกลัวในจิตใจจะจบลงเนื่องจากผลที่ตามว่าคือมันจบจริงๆรึ? นั้นเองที่ทำให้ฉากต่อมาเอมิเลียไม่อาจไว้ใจใครได้อีกและไม่รู้ว่าเรื่องร้ายมันจบลงจริงๆหรือไม่เพราะที่ทำไปแค่เผาหนังสือเท่านั้น ในส่วนของก้นบึ้งจิตใจยังคงหวาดกลัวรับไม่ได้แม้แต่สายตาที่มองมาที่ตัวเองจากแทนที่เฉยๆกลายเป็นถูกจ้องคล้ายจะทำร้ายเธอยังไงอย่างงั้น สุดท้ายคนที่เธอไว้ใจได้ก็มีเพียงแซมเมลลูกของเธอที่ลึกๆในใจยังมีส่วนที่เกลียดชังลูกตัวเอง
จากเหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียวสามารถทำให้ใครบางคนเปลี่ยนไปโดยเริ่มจากการเติบโตภายในใจกลายเป็นปีศาจ ในบางแง่บาบาดุคคือปีศาจในความมืดที่ก่อกำเนิดจากหนังสือด้วยการเอยประโยคบาบาดุคสามคำแล้วตามรบกวนชีวิตเอมิเลียและแซมเมล แต่ปีศาจตนนี้มีอำนาจมากพอในการทำลายชีวิตทั้งคู่ด้วยการเข้าสิงคนที่อ่อนแอที่สุดซึ่งก็คือเอมิเลียที่มีอาการผูกพันกับอดีตคนรักอันเป็นแผลในใจทำให้อ่อนแอได้ง่าย เนื้อเรื่องคงจะธรรมดาถ้าเป็นแบบกรณีแรกที่ไม่มีอะไรมากนอกจากผีสิง สำหรับ The Babadook มีอะไรที่มากกว่าผีสิงที่มีความซับซ้อนและละเอียดกว่านั้นมากเสมือนผีสิงผีที่เป็นคนอีกที ผีสิงหรือปีศาจคือบาบาดุคหรืออีกด้านที่อยู่ตรงข้ามด้านความดีเต็มไปด้วยความเกลียดชังริษยาไม่ให้การอภัยสิ่งเหล่านี้คือตัวเอมิเลียอีกรูปแบบหนึ่งที่เติบโตเป็นกาฝากในใจเพื่อรอวันควบคุม ผีที่เป็นคนคือคนรักของเอมิเลียที่ตายไปแล้วที่ยังมอบความทรงจำที่ดีแก่เธอ ผีสิงผีที่เป็นคนคือการถูกครอบงำด้วยบุคลิกที่แตกแยกหรือด้านที่น่ารังเกียจจากความทรงจำที่ก่อกำเนิดจากเรื่องสูญเสียคนรัก นี้แหละคือสิ่งที่ตัวหนังต้องการจะเล่าให้เห็นความซับซ้อนเสมือนความร้ายกาจของคนเราไม่ต่างจากผีหรือปีศาจตนใดที่ทั้งน่ากลัวและสัมผัสได้ ถ้ากล่าวถึงการตีความด้วยมุมมองมากกว่าหนังผีนับว่าพิเศษมากทีเดียวในการใช้ประโยชน์กึ่งจริงกึ่งหลอนจนบางครั้งต้องพิจารณาฉากบางฉากว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม ตัวอย่างฉากเอมิเลียจะเข้าไปหาแซมเมลแต่กลายเป็นว่าแซมเมลกระเด็นคล้ายถูกผลักทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรจึงเกิดเรื่องน่าสนใจคือเอมิเลียในโลกความจริงผลักแซมเมลด้วยการกระทำ ส่วนในโลกภายใต้จิตใจเป็นการไม่ยอมรับแซมเมลจึงเกิดต่อต้านผลักไสออกไป กระนั้นการผลักแซมเมลมีความเหมือนกันตรงที่ไม่ได้เกิดจากด้านที่ดีของเอมิเลียแต่เกิดจากด้านที่รังเกียจหรือที่เราเรียกว่าบาบาดุคผู้แอบซ่อนในความมืดและคอยการเติบโตภายในร่างกายซึ่งคือจิตใจ
กว่าจะเติบโตได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายต่อหลายอย่างและหนึ่งในปัจจัยคือการเก็บความทรงจำในรูปแบบจับต้องได้ ในที่นี่คือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆเกี่ยวกับสามีของเอมิเลียและน่าสนใจมากขึ้นเมื่อข้างผนังมีเสื้อผ้าตัวโปรดแขวนเอาไว้เป็นรูปร่างคนซึ่งมองจากลักษณะรูปทรงเสื้อผ้าคงเดาไม่น่ายากถ้าสิ่งที่เห็นจะคล้ายๆกับบาบาดุคหรืออีกนัยคือภาพสะท้อนอคติออกมาแทนที่จะเป็นเรื่องดีกลับเป็นเรื่องร้ายเสียแทนเพราะสิ่งที่เอมิเลียจดจำมากที่สุดกลายเป็นวันสุดท้ายของที่รักที่เผอิญตรงกับวันที่แซมเมลเกิดพอดี จึงไม่แปลกเลยที่เมื่อไรวัดเกิดแซมเมลมาถึงก็หมายถึงวันครบรอบการตายของสุดที่รักเอมิเลีย ยิ่งแซมเมลให้ความสนใจกับวันเกิดตยเองมากเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มแผลในใจของเอมิเลียด้วยเช่นกัน และไคล์แม็กซ์คือจุดปรอทแตกเสียการควบคุมด้วยสติสัมปชัญญะแทนที่ด้วยความโกรธและอคติในชีวิตโดยเฉพาะลูกตัวเองที่มีแต่จะสร้างปัญหาซ้ำร้ายยังเพาะบ่มให้มองลูกตัวเองเป็นต้นเหตุจากทุกสิ่งสร้างความสะเทือนใจของคนเป็นลูกเมื่อเอยปากจะฆ่าลูกของตัวเองพร้อมลงมือทำอย่างสุดฤทธิ์เพื่อคว้าตัวให้ได้ จนเกิดเป็นสิ่งที่ชอบขึ้นมาคือแทนที่ตัวละครผู้ลูกจะกลัววิ่งหนีออกพ้นบ้านแต่เลือกอยู่ในบ้านเพื่อช่วยแม่ให้หลุดพ้นจากด้านมืดของตัวเอง ซึ่งผลลัพธ์เป็นยังไงนั้นคงพอเดาๆทางกันได้แต่ใช่ว่าทุกอย่างจบลงอย่างหมดจดเสียทีเดียวเพราะสุดท้ายหนังก็เลือกจบแบบหลงเหลือหรือสลัดสิ่งนั้นออกแต่ไม่ทำลายยังคงให้บาบาดุคอยู่ต่อไปเพียงอยู่ในสภาพที่แตกต่าางจากเดิมเท่านั้น
ความประทับใจสั้นๆที่ได้จากเรื่องนี้เห็นจะเป็นส่วนของนักแสดง Essie Davis กับ Essie Davis เล่นเป็นแม่ลูกได้อย่างสมบทบาทไม่ข้อกังขาและต่างมีจุดเด่นอย่างมากทำให้ตลอดทั้งเรื่องเรามองไม่เห็นตัวละครอื่นเลยซึ่งเป็นผลดีช่วยให้มิติตัวละครทั้งสองแคบอย่างมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ อีกอย่างที่ชอบคือโทนของหนังที่ให้อารมณ์ไปทางหดหู่สิ้นหวังทั้งยังมีกลิ่นอายของเสน่หาจากความเหงาแสนเดี่ยวดายของเอมิเลีย อีกทีคือการเล่าเรื่องอย่างบรรจงมีผสมตลกร้ายบ้างเล็กน้อยแต่ไม่ถึงขั้นกลายเป็นตลกไปเสียทีเดียว
ในขณะที่ความสยองนั้นเทียบจะเป็นศูนย์เว้นช่วงท้ายที่ดูน่ากลัวขึ้นมาหน่อย ดังนั้นใครอยากได้แนวกรี๊ดแตกสะดุ้งได้ใจต้องให้ผ่านเรื่องนี้ไปเลยเพราะ The Babadook เน้นการสำรวจจิตใจตัวละครเสียมากกว่าโดยที่ใช้สัญลักษณ์ปีศาจร้ายนามบาบาดุคเป็นอคติด้านชั่วร้ายหรือจะให้กล่าวมาทั้งหมดเป็นฝีมือของคนอย่างเราๆนี่เอง ไม่ได้เกิดจากภูติผีตนใดทั้งสิ้นแต่ก็เป็นที่น่าสนใจในตอนจบที่ถ้าบาบาดุคคือเรื่องสมมติจริงทำไมยังอยู่อีกทั้งที่จิตใจเอมิเลียดีขึ้นจากเดิม เอาง่ายๆบาบาดุคเสมือนตัวแทนด้านที่เลวร้ายก็จริงแต่เกิดขึ้นได้ด้วยสำนึกถึงคนรักที่สูญเสียไป ดังนั้นเอมิเลียจึงไม่อาจตัดใจจากเรื่องนี้ได้และบาบาดุคยังคงอยู่ต่อไปแต่ก็ไม่สามารถคุกคามเธอได้ด้วยเช่นกัน ก็ตรงกับที่ฉากเลี้ยงอาหารด้วยไส้เดือนในห้องใต้ดินอันเป็นห้องเก็บของสามีคนรักไว้ดูต่างหน้าเปรียบเหมือนยังคงคิดถึงคนรักไม่ตัดใจแต่ตอนนี้สามารถทำใจยอมรับได้แล้วทำให้บาบาดุคไร้อำนาจอย่างที่เป็นในตอนแรก ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่ชี้ชัดว่าด้านเลวร้ายยังมีอยู่สังเกตได้จากไส้เดือนที่เปรียบดังสิ่งสกปรกโสมม แม้ยังด้านที่เลวร้ายเก็บเอาไว้แต่ความหมายนั้นคนละอย่างจากเดิมคือเจ็บปวดและเกลียดชังกลายเป็นความจริงและยอมรับ ในนัยหนึ่งเช่นกันเมื่อเอมิเลียยอมรับการสูญเสียก็ยอมรับเรื่องวันเกิดลูกตัวเองด้วยเช่นกัน ถ้าคิดว่าเรื่องนี้สนุกมากน้อยแค่ไหนใครที่ชอบแนวสยองขวัญเดิมๆก็อยากให้ลองเปลี่ยนเป็นแนวนี้ดูบ้างเพราะบางทีอาจได้อรรถรสที่ถูกใจไม่มากก็น้อย