Creed (2015) | ครีด
Director: Ryan Coogler
Genres: Action | Drama | Sport
Grade: A+
อโดนิส จอห์นสัน (Michael B. Jordan) เด็กหนุ่มที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักมวยขนาดที่ว่ามีเวลาว่างจากการทำงานจะลองไปขึ้นชกมวยที่ไม่เป็นทางการเพื่อทดสอบฝีมือตัวเอง แต่ก่อนที่จะมาถึงขั้นนี้ได้ต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่ทันลืมตาดูโลก ตอนที่พึ่งรู้ว่าตัวเองคือลูกนอกสมรสของอพอลโล ครีด (Carl Weathers) อดีตแชมป์โลกที่เสียชีวิตจากการชกมวย รวมถึงการเสียแม่แท้ๆจนต้องไปอยู่ศูนย์เด็กกำพร้า ซึ่งที่นั้นทำให้เขาเป็นเด็กมีปัญหาแม้จะเป็นคนดีเพราะชอบหาเรื่องชกต่อยตลอดเวลา หลังจากนั้นคือตอนที่แมรี่แอน ครีด (Phylicia Rashad) เข้ามาขอเลี้ยงดูประหนึ่งลูกในไส้ ส่งเสริมเลี้ยงดูอย่างดีจนสามารถหางานทำในบริษัท ทว่าชีวิตที่ต้องการไม่ใช่แบบนี้ ทุกวันที่เลิกงานจะเปิดวีดีโอย้อนหลังการชกมวยเพื่อเก็บท่าทางการชก พยายามเก็บข้อมูลให้มากที่สุดเพราะไม่มีเทรนเนอร์แนะนำ จนกระทั่งตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อไปเป็นนักมวย แต่ก่อนจะถึงตอนนั้นต้องไปฟิลาเดลเฟีย ไปหาคนที่ช่วยปลุกปั้นได้ ซึ่งเขาคือร็อคกี้ บัลบัวร์ (Sylvester Stallone)
Creed เสมือนภาคต่อจาก Rocky Balboa (2006) ที่ใช้ช่วงเวลาหลังจากร็อคกี้ได้ปลดปล่อยอดีตที่ฝังใจ แน่นอนว่า Sylvester Stallone เองก็เหมือนได้ปลดปล่อยตัวละครร็อคกี้ที่สร้างชื่อให้เขาและเสมือนตัวของเขาเองอีกด้านนึงให้เป็นอิสระ การจะให้คนแก่ชราลุกขึ้นสู้บนสังเวียนไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญอีกต่อไปเพราะทุกอย่างสิ้นสุดลง แต่ถ้าจะให้ลุกขึ้นชกอีกครั้งจะดูเป็นการทรมานคนแก่ ตลอดชีวิตร็อคกี้ไม่จำเป็นต้องต่อสู้ด้วยหมัด ขอแค่กล้าเผชิญกับปัญหาและแก้ไขก็นับเป็นการต่อสู้เหมือนกัน แม้ว่าการชกมวยจะเป็นเอกลักษณ์ของหนัง Rocky ที่ขาดไปไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคำตอบสำหรับทุกสิ่ง ฉะนั้นเอกลักษณ์จริงๆไม่ใช่เกี่ยวกับมวยเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการสู้ชีวิต การเปิดโอกาส และอิสรภาพ ในแต่ละภาคจะสื่อนัยยะออกมาเป็นการทบทวน เช่น ชีวิตก่อนเป็นคนดัง การมีครอบครัว การยอมรับความจริง การต่อสู้ ชีวิตคนธรรมดา และอีกมากมาย ทุกอย่างกลายเป็นบทเรียนให้ร็อคกี้ทบทวนว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ยังยืนหยัดสู้ต่อไป
Sylvester Stallone จบเรื่องราวของร็อคกี้ไปแล้วด้วยตัวเอง ทว่าในมุมมองของคนอื่นยังมีเรื่องราวให้สานต่อ สำหรับ Ryan Coogler ที่เป็นทั้งผู้กำกับและคนเขียนบทยังมองว่ามันยังไม่จบลงและต้องการขยายเรื่องราวของร็อคกี้ให้กว้างขึ้นเพื่อแสดงตัวละครอื่นที่มีใจสู้ไม่ต่างกับร็อคกี้ การกลับมารับบทร็อคกี้นั้นส่วนหนึ่งก็เพราะ Sage Stallone ลูกชายของเขาที่จากไปในปี 2012 ซึ่งการแสดงในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเพื่ออุทิศให้กับลูกชายที่ต้องจากไปเพราะอาการหัวใจวาย ฉะนั้นไม่แปลกใจที่การแสดงจะดีขนาดที่ว่าได้รางวัลถึง 2 สถาบันในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จาก Golden Globe Awards และ Critics' Choice Movie Awards ที่สำคัญยังติดโผล่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาเดียวกันอีกด้วย แม้ว่ารางวัลหลังจะไม่ได้แต่การได้เห็นเข้ารอบชิงออสการ์ถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่ยาวนานมาก เนื่องจากครั้งสุดท้ายก่อนเข้าชิงในเรื่อง Creed คือ Rocky (1976) หนังแจ้งเกิดในฐานะนักแสดงและคนเขียนบท
ประเด็นหลักจะมุ่งเน้นไปที่ตัวอโดนิสหลังจากตัดสินลาออกจากงานเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะนักมวยตามที่ใจต้องการ แน่นอนว่าแม่ของเขาปฏิเสธการเป็นนักมวยเพราะไม่อยากให้ประสบเคราะห์แบบเดียวกับพ่อ ในจุดนี้จะแสดงให้เห็นมาตั้งแต่ต้นเรื่องอยู่ก่อนเกี่ยวกับสภาพครอบครัวของอโดนิสที่ไม่พร้อมเรื่องการเลี้ยงดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงดูจากพ่อที่ไม่มีโอกาสได้เห็นใบหน้าหรือสัมผัสตัวตนตอนยังมีลมหายใจ ดังนั้นสำหรับอโดนิสจะไม่ถือว่าเขาเป็นลูกมีพ่อแม้ว่าจะยอมรับว่าใครคือพ่อตัวจริง จึงเป็นเหตุผลที่เหมือนต่อต้านแต่ไม่ใช่เพราะทำในสิ่งที่ใจต้องการ ไม่ใช่เพราะอยากเป็นนักมวยเหมือนคนอื่น ด้านร็อคกี้ถึงจะรู้ว่าคือลูกของอพอลโลเพื่อนรักก็ไม่อาจยืนยั่นว่าจะเป็นเทรนเนอร์ให้เลยทันที ส่วนหนึ่งมาจากความแก่ที่ไม่สามารถเป็นตัวอย่างให้ดูได้ และอีกส่วนมาจากไม่รู้ตัวตนที่แท้จริงของอโดนิสว่ามาดีหรือมาร้าย ยิ่งกับคนที่พึ่งรู้จักด้วยแล้วยิ่งต้องคิดหนัก ยิ่งคิดถึงสมัยที่แขวนนวมเป็นเทรนเนอร์หวังปลุกปั้นเด็กใหม่แต่ถูกหักหลังจนไม่เหลืออะไรแบบใน Rocky V (1990) ต้องรอบคอบกว่าเดิมเพราะถ้าสูญเสียอีกครั้งเท่ากับเสียทุกอย่าง โอกาสไม่ได้เอื้อสำหรับคนแก่เสมอไป
ทว่าอโดนิสมีความมุ่งมั่นเกินกว่าจะบังคับใคร ฉะนั้นแนวทางการซ้อมคือขอแค่คำแนะนำก็เหลือเฟือแล้ว ที่เหลือจะปฏิบัติเองตามเมนูการฝึก ในฉากขอให้ร็อคกี้ช่วยเทรนเนอร์แต่ถูกปฏิเสธกลับไม่รู้สึกสิ้นหวังไปในทันที อย่างน้อยช่วยเขียนรายการฝึกว่าทำอะไรบ้างอย่างเท่าไรก็นับว่าคุ้มค่าสำหรับเขา การพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ร็อคกี้เชื่อมั่นไม่ได้เกิดจากการแสแสร้งเลยสักนิด ที่สนคือจะเป็นนักมวยก้าวสู่วงการด้วยชื่อเสียงของตัวเองโดยไม่สนใจเรื่องนามสกุลที่อาจผลักดันให้ตัวเองเข้าสู่วงการมวยเร็วขึ้น สุดท้ายร็อคกี้เห็นอกเห็นใจช่วยเทรนเนอร์ให้โดยตั้งความหวังว่าอาจเป็นโอกาสเดียวที่เขาจะปั้นนักมวยได้สำเร็จอีกครั้ง ในการเล่าเรื่องจะเห็นความดั้งเดิมบางอย่างของการฝึกซ้อมตามฉบับหนัง Rocky ในภาคแรกอย่างการจับไก่ นับเป็นมุมเรียกรอยยิ้มที่มองเป็นเรื่องง่ายแต่การจับไก่ที่ไม่เชื่องใช่ว่าจะจับกันได้ซะเมื่อไร
ตลอดการฝึกซ้อมแสดงถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองมากกว่าครูกับลูกศิษย์เสมือนพ่อกับลูก อารมณ์ความสัมพันธ์นี้เคยมีให้เห็นในภาคแรกระหว่างร็อคกี้กับมิคกี้ (Burgess Meredith) ที่พยายามขอให้ช่วยซ้อมมวยแต่ไม่เคยได้รับโอกาสนั้นเลย จนกระทั่งร็อคกี้ได้ขึ้นชกครั้งสำคัญทำให้ทั้งสองปรับความสัมพันธ์จากเกลียดกันกลายเป็นรักกันราวพ่อลูกที่ต่างมั่นใจและเชื่อใจของกันและกัน เนื้อเรื่องราวคราวนี้จะไม่มีร็อคกี้ขึ้นชกเพราะเปลี่ยนจากบู๊เป็นบุ๋นหรือจากนักมวยเป็นเทรนเนอร์ให้คำแนะนำอย่างเดียว ทว่าการต่อสู้ของร็อคกี้ไม่หมดเพียงเท่านั้นหลังจากพบอาการผิดปกติ ซึ่งนั้นทำให้รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งแบบเดียวกับโรคที่เคยพรากชีวิตคนรักของร็อคกี้ ในมุมนี้เองที่เห็นร็อคกี้เริ่มปลงต่อชีวิตที่เหลืออยู่เพราะคิดว่าตัวเองแก่เกินกว่าจะสู้ได้อีกและเต็มใจยอมรับต่อการเป็นมะเร็งแทนที่จะลองเสี่ยงรักษา แน่นอนว่าการเห็นร็อคกี้ยอมรับชะตากรรมไม่ได้แปลว่าจะยอมแพ้ซะทีเดียว ส่วนหนึ่งยังคงต่อสู้กับมะเร็ง แตกต่างที่ยอมรับว่าถึงเวลาของตัวเองเสียที
ทั้งนี้การรู้ว่าร็อคกี้เป็นมะเร็งทำให้อโดนิสไม่ยอมให้อยู่เฉยๆเพื่อยอมรับชะตากรรม จึงให้ร็อคกี้ไปทำคีโม แต่ร็อคกี้ยืนยันปฏิเสธเพราะเคยพรากคนรักไปเนื่องจากต้องทนทุกข์ทรมานกับการรักษา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหายจากมะเร็งด้วยวิธีการรักษาที่กินระยะเวลานานและเจ็บปวด แต่จะอะไรนั้นสิ่งสำคัญของการรักษาคือกำลังใจ ร็อคกี้ไม่ยอมรักษาเพื่อให้อโดนิสสามารถฝึกซ้อมได้ต่อเนื่องให้มีความมุ่งมั่นกับการขึ้นชกมวย แต่เมื่ออโดนิสรู้ข่าวทำให้ร็อคกี้ต้องยอมรับการรักษาเนื่องจากได้รับแรงใจจากอโดนิสให้เข้มแข็งให้ยังสู้ชีวิตต่อไปแม้ร่างกายจะแก่แค่ไหนก็ตาม ในฉากนี้ดูเป็นช่วงเวลาที่น่ายิ้มไม่น้อยเพราะการฝึกซ้อมจากในค่ายมวยถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นในห้องพยาบาลเพื่อให้ร็อคกี้คอยดูการฝึก แต่อะไรนั้นก็ยิ่งทวีคูณความจริงจังมากขึ้นเพราะไม่ว่าจะอโดนิสต้องซ้อมอย่างเข้มงวดหรือร็อคกี้ที่กำลังอ่อนแอลงเพราะทำคีโม เราจะได้เห็นการต่อสู้ของทั้งสองไปพร้อมๆกัน ได้เห็นความไม่ย่อท้อ ความพยายาม และสิ่งสุดท้ายคือการเอาชนะ
Long Take คือฉากที่ใส่มากับการชกครั้งแรกของอโดนิสจนเรียกว่าเซอร์ไพรส์พอสมควร ไม่ว่าจะบรรยากาศบนสังเวียน ลีลาการออกหมัด การเคลื่อนมุมกล้อง การแสดง เรียกว่าน่าทึ่งยิ่งกว่าการชกในไคล์แม็กซ์เสียอีก แต่ถ้าเอาลุ้นใจช่วยต้องฉากชกในไคล์แม็กซ์เท่านั้น เพราะแทบแยกไม่ออกเลยว่าใครเหนือกว่าใคร ในภาคนี้จะได้เจอกับแพตตี้ ริคกี้ คอนแลน (Tony Bellew) แชมป์โลกที่มักมีปัญหาเรื่องควบคุมอารมณ์ ตลอดทั้งเรื่องดูเหมือนคนชอบหาเรื่องไม่เว้นแม่แต่ก่อนชก ทว่าหลังการชกจบลงกลับแสดงท่าทางด้วยการขอบคุณและการชกที่สมศักดิ์ศรี เป็นการให้เห็นว่านี่แหละน้ำใจนักกีฬา นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นการยอมรับความจริงของอโดนิสเรื่องนามสกุลครีด แม้ว่าจะสร้างชื่อด้วยชื่อและนามสกุลตัวเองที่ได้จากแม่จะเป็นเรื่องดี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากพ่อของเขาด้วยส่วนหนึ่งและสมควรยอมรับในตัวตนของพ่อ ด้านร็อคกี้ได้สอนอโดนิสถึงการยอมรับตัวตนว่าไม่สามารถแก้ไขในสิ่งที่ผ่านไปแล้วได้ การเป็นนักมวยไม่ใช่เพื่อความสนุกแต่ต้องรู้ว่าตัวเองทำเพื่ออะไร ยอมรับว่าตัวเองเป็นใคร สิ่งเหล่านี้คือโอกาสค้นหาตัวตน
Creed เป็นภาคต่อลำดับที่ 7 ที่น่าจดจำในแง่การสร้างเรื่องราวใหม่ที่ขยายต่อจากชีวิตร็อคกี้ อีกทั้งยังมีความเคารพในต้นฉบับที่ยังรักษาคอนเซ็ปต์ของการให้โอกาส ความรักระหว่างพ่อลูก และกำลังใจต่อคนรักที่ช่วยเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับอโดนิสที่ได้แรงใจจากคนรอบข้างที่ศรัทธาในตัวเขา ไม่ว่าจะเบรนด้า (Tessa Thompson) คนที่อยู่ห้องใกล้ๆที่พึ่งรู้จักแต่ตกหลุมรักกัน แม่ที่ตอนแรกไม่เห็นด้วยแต่กลับเชื่อมั่นในตัวลูกเกี่ยวกับสิ่งที่ทำคือความถูกต้อง และร็อคกี้คนที่ให้โอกาสกับการชนะ โดยเฉพาะการเอาชนะตัวเอง หนึ่งในฉากการฝึกซ้อมที่สำคัญของเรื่องนี้คือการที่ร็อคกี้ได้สอนบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่เกี่ยวกับตัวเอง การให้อโดนิสยืนหน้ากระจกแล้วให้ชกใส่เงาของตัวเองพร้อมทำท่าทีเหมือนกับคู่ชกจะทำอะไรต่อไป คนในเงาคืออโดนิสที่ต้องเอาชนะ คือตัวเองที่ต้องสู้เพราะไม่มีใครเอาชนะหรือแพ้ได้นอกจากตัวเราเท่านั้น ในการแข่งขันอาจแพ้ เพียงแค่นั้นไม่เท่าการชนะตัวเองที่ไม่ยอมแพ้หรือหมดกำลังใจ สิ่งนั้นเป็นทั้งโอกาสและชัยชนะที่แท้จริง
ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีของหนัง Rocky ในแง่ภาคต่อหรือภาคเสริมเรื่องราวร็อคกี้ ทั้งเป็นภาคหลักของอโดนิสที่มีเลือดนักสู้นามสกุลครีด ต้องบอกว่าหลายอย่างทำได้เทียบเท่าภาคแรกและสมบูรณ์มากๆในการจัดเนื้อเรื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยกนิ้วให้กับความละเอียดที่เก็บได้หมดทั้งการเล่าเรื่อง ปมตัวละคร และที่สำคัญสุดคือการหามุมมองใหม่โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับตัวละครร็อคกี้มากเกินไปเพราะไม่ใช่ตัวละครหลักอีกแล้ว การแจกบททำให้มองตำนานคือตำนานที่มีชีวิตที่กำลังผลักดันให้คนรุ่นหลังได้ใช้โอกาสต่อไป การกำกับของ Ryan Coogler ทำได้ดีตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง ซึ่งนี้เป็นผลงานลำดับที่ 2 โดยผลงานแรกคือ Fruitvale Station (2013) ที่เล่าประเด็นชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ถูกจบชีวิตลงมองว่าเป็นผิวสี แน่นอนว่า Creed ก็มีเรื่องผิวสีมาเกี่ยวข้องแม้จะไม่พูดตรงๆ แต่การกระทำบางอย่างทำให้ผิวสีคือความแตกต่างและเป็นจุดเด่น อโดนิสอาจชนะใจตัวเองได้และมันยิ่งใหญ่สำหรับเขา ทว่ากับใครหลายคนที่มองเขาอยู่อาจเป็นมากกว่าชัยชนะของคนผิวสีเพราะหมายถึงการได้เห็นจุดยืนความพยายามที่สู้จนวินาทีสุดท้ายโดยไม่มีคำว่าล้มหรือแพ้ทั้งสิ้น