Rocky IV (1985) ร็อคกี้ 4

Rocky IV (1985) | ร็อคกี้ 4 | B-
Director: Sylvester Stallone
Genres: Drama | Sport
 
ตามตรงภาคนี้มีความเอนเตอร์เทนผู้ชมสูงมากจนกลายเป็นอีกภาคที่ชอบไม่ด้อยไปกว่าสามภาคก่อนทั้งที่เนื้อเรื่องแทบจะไม่มีอะไรเลยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการเดิมของ Sylvester Stallone ที่ตอนแรกตั้งใจทำเป็นภาคแรกภาคเดียวก่อน พอประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัลจึงสามารถสานต่อเรื่องราวทำเป็นไตรภาค แต่ด้วยความที่ตัวหนังยังรักษามาตรฐานความสนุกอยู่จึงต้องมีภาคต่อออกมาและครั้งนี้โยงนัยยะไปไกลจากคนธรรมดาสู้ชีวิตกลายเป็นการต่อสู้เพื่อชาติที่เดิมพันด้วยศักดิ์ศรี ในความรู้สึกก่อนจะมาถึงเรื่องราวในภาคนี้ยังคงคิดเสมอว่าการต่อสู้นั้นไม่ได้มีแค่บนสังเวียนเพียงอย่างเดียว ในชีวิตบนถนนหนทาง การกินอยู่อาศัย และดำเนินชีวิตยังคงเป็นความลำบากที่มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะรวยหรือจนแม้แต่การมีคนรอบข้างมากน้อยเพียงใดก็ไม่อาจชดเชยความทรหดอดทนที่ตัวเองต้องฟันฝ่า สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวเองที่เลือก ไม่ใช่กับคนอื่นที่มาชี้ทางให้เพราะสุดท้ายคนที่มีสิทธิ์สูงที่สุดคือเราเอง ต้องยอมรับอย่างหนึ่งถึงข้อคิดมากมายของการใช้ชีวิตคือวิ่งเข้าหาปัญหาและเผชิญกับสิ่งนั้นพร้อมกับแก้ไขไปด้วย ไม่ใช่วิ่งเข้าปัญหาเพื่อก่อสร้างขึ้นหรือวิ่งหนีปล่อยมันไปจนสักวันหนึ่งปัญหาก็ไล่ตามทัน สำหรับปัญหาเสมือนโอกาสที่เกิดมาทดสอบว่ามีวิธีจัดการยังไง บางทีปัญหาทำให้เราชนะ บางทีทำให้เราแพ้ นั้นก็แล้วแต่ความใจสู้ที่จะยืนหยัดจนวินาทีสุดท้ายยังไง ผลลัพธ์อาจออกมาแพ้แต่ไม่เสมอไปเลยที่จะไม่มีคำว่าชนะอยู่ในนั้น


ร็อคกี้ บัลบัวร์ (Sylvester Stallone) กับอพอลโล (Carl Weathers) จากศัตรูคู่ชกที่ครั้งแรกต่างคนไม่อาจน็อกอีกฝ่ายลงได้และตัดสินกันด้วยคะแนนที่ดูแล้วไม่สมกับความต้องการเท่าไร และหนสองที่ชกกันด้วยความจริงจังยิ่งกว่าจนรู้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ พอในเวลาต่อมาได้เป็นเทรนเนอร์คู่ฝึกซ้อมจนที่สุดคือเพื่อนไปโดยปริยาย จากศัตรูคู่ชกที่เดิมพันด้วยตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกกลับลงเอยด้วยความสัมพันธ์เพื่อนสนิทที่มีเพียงตำแหน่งของมิตรภาพแก่กัน ในช่วงแรกของหนังได้เล่าถึงความเป็นคู่หูในเชิงเพื่อนสนิทประหนึ่งนักมวยที่รู้ใจด้วยการย้อนฉากอดีตในภาคก่อนๆทำให้ไม่ต้องอธิบายที่มาของตัวละครให้เหนื่อยเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าการดูมาถึงภาคนี้ไม่ต่างกับเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวร็อคกี้ที่ผ่านอุปสรรคมามากมาย ด้านเนื้อเรื่องในภาคนี้ถ้าดูจากชีวิตของร็อคกี้จะเห็นว่ามีฐานะที่ร่ำรวยและมีการใช้ชีวิตที่สุขสบายเนื่องจากเป็นความพยายามของตัวเขาเองที่เลือกจะสู้ชีวิตต่อไปในสิ่งที่ชอบ ดั้งเดิมร็อคกี้ชอบกีฬามวยแต่ไร้โอกาส เมื่อได้รับโอกาสถึงได้พิสูจน์ตัวเองด้วยความอดทนไม่ท้อถอยของตัวเอง ไล่ตั้งแต่การใช้ชีวิตคู่กับเอเดรียน (Talia Shire) ที่กว่าจะจีบได้ไม่ใช่เรื่องง่าย จนมาถึงการได้เป็นแชมป์อันดับหนึ่งที่ต้องผ่านความเจ็บปวดมานักต่อนักก่อนจะแขวนนวมอย่างสมเกียรติเพื่อให้รุ่นหลังได้มีโอกาสคว้ารับตำแหน่งต่อไป ทว่าชีวิตหลังเกษียญยังไม่จบลงง่ายๆเพราะยังมีคนมองว่าร็อคกี้คือจุดสูงสุดและเพื่อก้าวข้ามจุดนั้นต้องโค้นร็อคกี้ให้ได้เสียก่อน นั้นเป็นเหตุให้อิวาน ดราโก้ (Dolph Lundgren) นักมวยรัสเซียมาขอท้าชกโดยเดิมพันชื่อเสียงของชาติเข้าแลก


เรื่องราวจริงๆตามที่วางเอาไว้คือจบตรงที่ร็อคกี้กับอพอลโลกลายเป็นมิตรภาพเพื่อนรักกันเพราะหลังจากนี้ก็ไม่รู้จะเล่าอะไรอีกแล้วในเมื่อการต่อสู้บนสังเวียนได้จบลง พร้อมกับสื่ออ้อมๆเกี่ยวกับเวลาที่ล่วงเลยที่ส่งผลให้ทุกคนต้องแก่ตัวแบบที่การเป็นนักมวยต้องถึงคราวหมดยกสิ้นสุดการแข่งขัน สิ่งสำคัญที่ภาคนี้จะบอกมากกว่าชีวิตหลังความยากลำบากที่มีความสุขคือความต้องการสู้ที่ยังไม่หมดลง ทั้งร็อคกี้และอพอลโลต่างกลายเป็นอดีตที่มีชื่อเสียงด้วยกันทั้งคู่ แม้ในด้านขวัญประชาชนร็อคกี้จะได้ใจมากกว่าแต่เรื่องใจสู้นั้นอพอลโลย่อมไม่เป็นรอง เมื่อมีนักชกหน้าใหม่มาประกาศตัวออกสื่อก็นึกอยากพิสูจน์ตัวเองว่าถึงแก่แต่ยังเก๋า เดิมดราโก้ต้องการท้าชกกับร็อคกี้เพื่อโค่นอันดับหนึ่งตลอดกาลเพราะเชื่อว่าตัวเองมีความก้าวหน้าที่ล้ำกว่าทางวิทยาศาสตร์ ประเด็นที่น่าสนใจคือรัสเซียไม่ใช่ประเทศที่เสรีขนาดจะมีโอกาสอะไรมากนักและจะยอมเข้าร่วมกับประเทศอื่นได้เพราะความเป็นมหาอำนาจของตัวเอง ฉะนั้นสิ่งที่เห็นได้ชัดคือความน่าเกรงขามคล้ายตัวเองมากับความยิ่งใหญ่ที่ล้มคู่ต่อสู้ได้อย่างง่ายดาย ซึ่ง Dolph Lundgren เป็นนักแสดงที่ร่างกายสูงใหญ่ขนาดที่ทำให้  Sylvester Stallone กลายเป็นคนแคระไปเลย นั้นเองที่เหมือนการเลือกนักแสดงกลายเป็นความน่าดึงดูดใจเมื่อความแตกต่างมาปะทะกัน คล้ายกับอีกคนมากับภาระที่ประเทศฝากความหวังอันยิ่งใหญ่ ขณะที่อีกคนมีเพียงจุดมุ่งหมายเดียวที่เล็กกว่าคือการชนะ


สหภาพโซเวียตเป็นชื่อเดิมของประเทศรัสเซียที่ใช้ในสงครามโลกก่อนจะได้รับความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นความอัปยศที่ทำให้ประเทศนี้ต้องการเอาชนะด้วยความเหนือกว่า อย่างแรกคือการทำลายขวัญกำลังใจประชาชนด้วยการท้าร็อคกี้เพราะถ้าสามารถชนะได้สำเร็จจะถูกมองเป็นประเทศที่ไม่ได้เข้มแข็งแต่เปลือกอีกต่อไป ดังนั้นการสะท้อนมุมมองของแต่ประเทศจะเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้ เรื่องประเด็นของโอกาสการสู้ชีวิตจะไม่ใช่จุดสำคัญของภาคนี้อีกต่อไป แต่จะเป็นการต่อสู้ด้วยภาระของคนทั้งประเทศ อีกนัยหนึ่งตามตรงมันคือการแก้แค้นของร็อคกี้ให้อพอลโลผู้เป็นถึงเพื่อนที่หาได้ยากเพราะเคยช่วยให้เขากลับมามีใจสู้อีกครั้ง สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการเติบโตของร็อคกี้ที่มาถึงจุดตัดสินด้วยตัวเอง ถ้าไล่ลำดับตั้งแต่ภาคแรกจะเห็นถึงการให้กำลังใจแก่ร็อคกี้ที่ท้อต่ออุปสรรคและมักจะสูญเสียกำลังใจทุกครั้งที่มีแต่เรื่องหดหู่เศร้าใจ เมื่อเสียอพอลโลไปก็มีแต่ความอ้างว้าง ไม่มีคนรู้ใจเรื่องการชกมวยที่คุยกันอย่างสนุกสนาน ฉากเศร้าของร็อคกี้ในภาคนี้ไม่ได้แสดงออกมาในเชิงท้อถอยสิ้นกำลังใจ แต่เป็นฉากร็อคกี้ออกจากบ้านเพื่อขับรถไปตามเส้นทางรำลึกความหลังต่างๆเกี่ยวอพอลโล ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นความสัมพันธ์ตั้งแต่แรกเริ่มที่รู้จักกันตอนเป็นแค่คู่ชกก่อนจะไล่เหตุการณ์มาเรื่อยๆเป็นการทบทวนว่าจะเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำไม่ลืมเลือนแม้จะกลายเป็นอดีตแล้วก็ตาม อีกทั้งยังเสมือนการต่อสู้ด้วยตัวเองว่าด้วยการยอมรับจริงและสู้กับสิ่งนั้นให้ถึงที่สุด


Rocky IV มีพล็อตเรื่องไม่เท่าไรและเรื่องราวค่อนข้างกระซับจนเป็นภาคที่สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับภาคก่อนๆด้วยความยาวไม่ต่ำกว่า 90 นาที สาเหตุเพราะลดความดราม่าออกไปเนื่องจากตัวละครที่อยู่ในเรื่องล้วนเป็นตัวละครเดิมๆมีปมและมิติของตัวเองชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นโทนหลักของภาคนี้จึงไม่ต่างกับการปลดปล่อยอารมณ์ที่จริงจังกับตึงเครียดของชีวิตออกไปและแทนที่การต่อสู้บนเวทีเป็นหลัก นอกจากอัดแน่นด้วยคิวบู๊ของการชกมวยแล้วยังอัดแน่นด้วยการปลุกเร้าอารมณ์ผู้ชมด้วยการสื่อด้วยเพลงกับท่าทางตัวละครโดยไม่ต้องเอ่ยปากบอกให้ยุ่งยากราวกับดูมิวสิควีดีโอที่เต็มไปด้วยเพลงโดนใจ น่าเสียดายที่นักประพันธ์เพลงอย่าง  Bill Conti ที่ผูกติดมาทุกภาคไม่ได้เข้ามาแต่งเพลงให้ภาคนี้เพราะติดงาน The Karate Kid (1984) และ The Karate Kid, Part II (1986) จึงไม่แปลกใจที่ดนตรีประกอบจะเปลี่ยนแนวไปบ้างเพราะผู้ประพันธ์คือ Vince DiCola ที่อารมณ์อาจไม่ตราตรึงเท่าของเดิมแต่ได้ยังมีพลังพอตัว แต่ที่น่าประทับใจคือเพลงประกอบ Heart's On Fire ของ John Cafferty กับ Burning Heart ของวง Survivor และ No Easy Way Out ของ Robert Tepper จะบอกว่าเพลงประกอบค่อนข้างเยอะและใช้แทนเล่าเนื้อเรื่องได้ดีอีกด้วย ทำให้ภาคนี้แทบไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้อารมณ์ท่วมท้นกันเลยทีเดียว


ฉากฝึกซ้อมก่อนขึ้นชกอารมณ์จะต่างกว่าเดิมทุกภาคตรงที่สถานที่ฝึกจะไม่ได้เกิดในเมืองแต่จะเป็นในประเทศรัสเซีย มีเพียงบ้านในดงหิมะกับสภาพแวดล้อมที่แสนลำบาก แต่ร็อคกี้สู้กับธรรมชาติออกไปวิ่งบนหิมะเผชิญความเยือกเย็น จุดเด่นทุกภาคของ Rocky คือฉากฝึกซ้อมที่เล่าความมานะอดทนไม่ยอมแพ้ต่อความเหนื่อยล้าง่ายๆ ซึ่งทุกภาคต่างมีจุดเด่นของตัวเองจากความเด็ดเดี่ยวกลายเป็นขวัญประชาชน ส่วนภาคนี้จะกลับมาเด็ดเดี่ยวอีกครั้งราวกับต้องรับผิดชอบบางสิ่งบางอย่าง กระนั้นยังถ่ายทอดไม่หนักแน่นเท่าไรเหมือนยังปล่อยอารมณ์ได้ไม่สุดแม้จะมีความลำบากมากที่สุดขนาดวิ่งลงหิมะตลอดจนวิ่งขึ้นเขาก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือมีการเล่าในส่วนของดราโก้ให้เห็นวิธีการฝึกซ้อมที่หนักแน่นและทรหดไม่ต่างกัน แต่โดยส่วนตัวถ้าเทียบความยากลำบากอาจต้องยกให้ร็อคกี้ที่ฝึกหนักกว่าเพราะต้องฟื้นความฟิตของตัวเองและดราโก้เองก็แข็งแกร่งกว่าจึงต้องฝึกซ้อมจากทุกอย่างตั้งแต่ยกหิน ตัดฟืน เลื้อยไม้ไม่เว้นแม้แต่การประยุกต์ท่าโยคะให้ร่างกายทนทานต่อความเจ็บป่วยจากความล้า น่าจะเป็นภาคที่สนุกที่สุดถ้ามองในแง่ของแอ็คชั่นเพราะจัดอารมณ์ได้ครบเครื่อง ฉากไคล์แม็กซ์ชกกันระหว่างร็อคกี้กับดราโก้ทำได้ดุเดือดแทบจะกินกันไม่ลง(ขนาดที่ว่า Sylvester Stallone ไปหาหมอแล้วถูกวินิจฉัยว่าโดนรถชน ก็ไม่รู้ว่า Dolph Lundgren อินกับบทหรือแค้นที่แทบไม่มีบทพูดก็ไม่รู้) น่าประทับใจในฉากสุดท้ายคือร็อคกี้พูดเปิดใจให้กับคนรัสเซียที่มาเชียร์ดราโก้และทุกคนที่กำลังดูการชกได้ฟังการชกไม่ได้มีแค่เรื่องของชนะกับแพ้แต่ยังมีความหมายมากกว่านั้นและเชื่อว่าทุกคนต่างมีอคติของตัวเองแต่มันจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไปเพราะถ้าเขาเปลี่ยนได้ ทุกคนย่อมเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน คล้ายกับความท้อที่เปลี่ยนเป็นโอกาสแล้วมันจะเป็นความอดทนสู้กับอุปสรรคได้

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)