Terminator Genisys (2015) ฅนเหล็ก มหาวิบัติจักรกลยึดโลก

Terminator Genisys (2015) | ฅนเหล็ก มหาวิบัติจักรกลยึดโลก
Director: Alan Taylor
Genres: Action | Adventure | Sci-Fi | Thriller
Grade: B-
 
ถ้าตามเนื้อผ้าหรือเนื้อเรื่องคงจะหาอะไรมาสานต่อไม่ได้อีกแล้วเพราะเรื่องราวของคนกับเครื่องจักรได้เห็นกันครบทั้ง 4 ภาค ตั้งแต่การไล่กระบวนการโกงอดีตของฝ่ายเครื่องจักรที่ไม่อาจยื้อทำสงครามในอนาคตจนต้องส่งหุ่นยนต์มาพิฆาตบุคคลสำคัญที่จะเป็นปรปักภายภาคหน้าได้ ซึ่ง The Terminator (1984) มีเนื้อเรื่องที่มองเพียงผิวเผินไม่ต่างกับหนังแอ็คชั่นทุนต่ำที่บรรเลงอย่างมันส์ระห่ำ แต่ได้แฝงความคิดที่ล้ำสมัยเกี่ยวกับเครื่องจักรที่ไม่ได้ถูกควบคุมจากมือมนุษย์แล้วเรียกตัวเองว่าสกายเน็ตด้วยอุดมการณ์ล้างเผ่าพันธุ์ให้หมดสิ้นไปเนื่องจากมองว่าเป็นภัยคุกคามที่แท้จริง โดยเรื่องราวในภาคแรกจะเห็นว่ามีการย้อนเวลาจากอนาคตมาอดีตเพื่อสังหารผู้ให้กำเนิดผู้นำต่อต้านเครื่องจักร ซึ่งเรื่องราวก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของหุ่นสังหารและกลายเป็นการวนลูปข้ามเวลาเกี่ยวกับการให้กำเนิดผู้นำต่อต้านในอนาคต เนื่องจากคนที่ถูกส่งมาช่วยจากอนาคตคือพ่ออย่างไม่ต้องสงสัย แม้เรื่องราวจะจบลงไปแล้วส่วนนึงของการตัดไฟแต่ต้นลมแต่ไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่เป็นการยืดเวลาออกไปจนกระทั่งใน Terminator 2: Judgment Day (1991) ที่ยังได้ผู้กำกับ James Cameron ผู้ให้กำเนิดคนเหล็กจากฝันร้ายมาสร้างเป็นหนังได้สานเรื่องราวหลังเหตุการณ์ภาคแรกด้วยการให้ฝ่ายเครื่องจักรส่งหุ่นสังหารมากำจัดเช่นเดิม ทว่าที่แตกต่างจากเหตุการณ์ครั้งก่อนคือมีหุ่นสังหารมากกว่าหนึ่งตัวโดยแบ่งเป็นสองฝ่ายระหว่างสกายเน็ตที่พัฒนาหุ่นยนต์มีความสามารถกลายเป็นโลหะเหลวได้กับฝ่ายต่อต้านเครื่องจักรที่ได้ลงโปรแกรมหุ่นสังหารรุ่นเดียวกับภาคแรกมาเพื่อปกป้อง แม้จุดเริ่มต้นจะคล้ายกันในส่วนของการข้ามเวลามาเพื่อเปลี่ยนแปลงอดีตแต่มีหลายสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการเริ่มต้นของสกายเน็ตในช่วงพัฒนา ซึ่งภารกิจของภาคนี้จะไม่ใช่แค่รักษาชีวิตแต่รวมถึงขจัดต้นตอไปอีกด้วย จนมาถึงภาค Terminator 3: Rise of the Machines (2003) ที่เป็นภาคสุดท้ายและมีพล็อตเรื่องไม่แตกต่างจากสองภาคก่อนแต่เลือกจบลงด้วยการเกิดวิกฤตินิวเคลียร์ถล่มโลกและสกายเน็ตเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งเผ่าพันธุ์มนุษย์เกือบสูญสิ้นแต่ยังเหลือผู้นำต่อต้านเครื่องจักรที่รอดมาได้ แม้จะพยายามหลีกเลี่ยงวันสิ้นมนุษยชาติมาหลายต่อหลายครั้งแต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือต่อให้แก้ไขอดีตสำเร็จไม่ได้แปลว่าอนาคตจะเปลี่ยนไปเสียทั้งหมดแต่เป็นการซื้อเวลาต่อรองซึ่งท้ายที่สุดก็ตกลงมาเป็นดังภาคแรกที่เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของคนกับเครื่องจักรโดยมีการวนลูปที่ชัดเจน


ถ้าให้กล่าวถึงภาคที่มีหรือไม่มีก็ได้อย่าง Terminator Salvation (2009) ที่เหมือนไม่สำคัญแต่เมื่อมองเนื้อเรื่องแล้วกับมีความสำคัญไม่แพ้ไตรภาคที่สื่อนัยยะระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรที่พยายามจะขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยวิทยาการความก้าวหน้า แม้การพัฒนาเทคโนโลยีจะช่วยให้ทำงานสะดวกขึ้นแต่ไม่มากพอที่จะหยุดแค่นั้นและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆจนเกิดสกายเน็ตที่มีความคิดของตัวเองและวิเคราะห์ว่ามนุษย์คือภัยที่ทำให้โลกย่ำแย่ลงทุกทีเพราะความเห็นแก่ตัว ต่อให้ภาคสี่จะมีความมันส์เป็นของหลักเสียมากแต่ช่วยโฟกัสหน้าตาอนาคตหลังมนุษยชาติที่เกือบสิ้นเผ่าพันธุ์ได้อย่างดีพร้อมแสดงให้เห็นว่ายามวิกฤติเกิดขึ้นนั้นทุกคนจะร่วมใจเป็นหนึ่งเพื่อก้าวข้ามอันตรายไปด้วยกัน ซึ่งใช่ว่าจะเป็นการแสดงถึงแรงสามัคคีเสียทีเดียวเพราะอาจเป็นเพียงความอยู่รอด ถ้าขจัดภัยตรงหน้าไม่ให้สิ้นซากจะกลายเป็นตัวเองต้องถูกกำจัด ในภาคนี้มีการเล่าเรื่องที่แตกต่างจากภาคก่อนคือการเข้าสู่สงครามของจริงแทนที่เหมือนกับภาคก่อนที่มาแค่ปกป้องและยุติหรือชะลอวิกฤติสงครามในอนาคต ซึ่งที่น่าแปลกประหลาดใจคือการตีความเครื่องจักรในมุมมองที่เพิ่มเข้ามาคือการมีหัวใจ ไม่ใช่นัยยะหรือเชิงเปรียบเทียบแต่เป็นก้อนเนื้อหัวใจที่ผสานเข้ากับเครื่องจักรเป็นครึ่งคนครึ่งเครื่องจักรของจริงที่ไม่ใช่มีเพียงเนื้อหนังหุ้มเครื่องจักรอย่างที่รู้จัก ส่วนการมาของหุ่นลูกครึ่งตัวนี้ตัวหนังไม่ได้ระบุชัดเจนจนตอนสุดท้ายมาเพื่อสอดแนมแต่เกิดเป็นข้อขัดแย้งอีกว่าสติของความเป็นคนกับเครื่องจักรสิ่งไหนคือสิ่งที่ถูกต้องมากที่สุด การที่หุ่นยนต์จะมีหัวใจและความเป็นมนุษย์นั้นไม่ได้แปลว่าจะเป็นมิตรซะทีเดียวเพราะถึงยังไงในโลกที่ล่มสลายเพราะฝ่ายสกายเน็ตหรือเครื่องจักรย่อมถูกมองเป็นข้าศึกอยู่ดี การสอดแทรกมิตรภาพของคนกับเครื่องจักลูกครึ่งทำให้ผู้ชมมองเห็นอย่างหนึ่งคือความไว้ใจ ตอนแรกอาจจะไม่ไว้ใจเพราะร่างกายเป็นเครื่องจักรแต่ยิ่งรับรู้และผ่านอุปสรรคมาหลายครั้งก็ยิ่งเกิดไว้ใจซึ่งกันและกัน นั้นเองที่ทำให้ไคล์แม็กซ์ของเรื่องจบลงด้วยความหวังของชัยชนะ ทว่าถ้าสังเกตไล่ตั้งแต่ภาคแรกจนภาคสี่นี้จะมีอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของคำว่าชัยชนะคือต้องมีการสูญเสีย แม้จะจบลงด้วยการอยู่รอดต่อไปหรือกำจัดหุ่นสังหารได้สำเร็จแต่ไม่ได้หมายความว่าจะจบลงอย่างสวยงาม การสูญเสียเพื่อกำชัยชนะอาจจะดูเศร้าเกินไปจะดีใจแต่แสดงออกถึงความหวังครั้งใหม่ที่ยังอยู่รอดต่อไป


ที่น่าประหลาดใจคือในเมื่อเรื่องราวได้วนลูปอย่างครบเครื่องแล้วจะเป็นอย่างไงต่อไป แน่นอนว่าจะต้องมีอะไรใหม่ๆเข้ามาซึ่งภาคนี้เนื้อเรื่องเป็นการผสมผสานระหว่างภาคแรกกับภาคสองจนเป็นเรื่องราวเดียวกันจนน่าฉงน มองย้อนกลับไปภาคแรกจะว่าด้วยการย้อนเวลาจากอนาคตเพื่อมาปกป้องอดีตที่ทำนองเช่นเดียวกับภาคนี้ที่เริ่มเรื่องสงครามระหว่างคนกับเครื่องจักรและมีทีท่าฝ่ายสกายเน็ตจะเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด เป็นไปได้ว่าในอนาคตฝ่ายเครื่องจักรอาจจะแพ้เลยส่งแผนสำรองมากำจัดต้นตอแบบภาคแรกเพื่อฆ่าจอห์น คอนเนอร์ (Jason Clarke) แต่ด้วยความที่รู้แผนของสกายเน็ตจึงส่งไคล์รีส (Jai Courtney) ทหารมือขวาของจอห์นมายับยั้งก่อนที่ซาร่าห์ คอนเนอร์ (Emilia Clarke) แม่ของขาจะถูกสังหารโดยสังหารของหุ่น T-800 (Arnold Schwarzenegger) ในแง่การเล่าเรื่องจะเห็นว่าไม่แตกต่างกับภาคแรกที่ว่าซ้ำก็ยังได้ ทว่าจุดหักมุมอยู่ที่การมีตัวตนของหุ่น T-1000 (Byung-hun Lee) ที่มาดักรอไคล์รีส ความเป็นจริงในลูปเดิมควรโผล่มาในภาคสองและเป็นช่วงเวลาหลังซาร่าห์ให้กำเนิดจอห์น ที่น่าแปลกประหลาดไปกว่านั้นคือการปรากฎของ T-800 ในลูปปัจจุบันที่มาดักรอ T-800 จากอนาคตสดๆร้อนๆ กลายเป็นว่าเกิดหุ่นสังหารปริศนาถึงสองตัวที่ปรากฎในภาคนี้ทั้งที่ความจริงในต้นฉบับภาคแรกมีเพียงหุ่น T-800 ตัวเดียวทั้งเรื่องเท่านั้นขณะที่ภาคสองถึงจะเป็นการปรากฎตัวของ T-1000 ฝ่ายสกายเน็ตและ T-800 ฝ่ายจอห์น คอนเนอร์ การจับรวมช่วงเวลาของสองภาคแรกเป็นการบีบอัดข้ามเหตุการณ์ที่น่าสนใจ แต่ความน่าสนใจที่จะปรับเปลี่ยนลูปดูจะเป็นแค่ผลเกินกว่าเหตุเพราะเมื่อหาคำอธิบายต้องพบความบอบบางและเลื่อนลอย สิ่งที่ได้คือการปรับเหตุการณ์ใหม่โดยไร้การอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ น่าเสียดายที่ตัวหนังดำเนินเรื่องแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรนอกจากกำจัดสกายเน็ตก่อนกำเนิดเต็มรูปแบบ นี่เองทำให้ความไซไฟภาคนี้จึงเป็นเพียงของเล่นที่เอาแอ็คชั่นเสียอย่างเดียว


การหาคำอธิบายหรือหลักวิทยาศาสตร์ใดๆก็แล้วแต่ที่จะช่วยให้มีน้ำหนักคงไม่ต่างกับการเข้าข้างตัวเองมากเกินไปจนลืมใส่ใจรายละเอียดทั้งที่ภาคนี้มีความซับซ้อนมากกว่าภาคก่อนค่อนข้างมากและสร้างความงงกันตั้งแต่ช่วงแรกของการเล่าเรื่องที่หาคำตอบเพียงลมปากของตัวละคร ความเข้าใจง่ายๆที่รับรู้ได้จากปากของตัวละครกับฉากหลังไม่กี่วินาทีเพื่อรองรับผลที่เกิดแต่หาเหตุไม่ได้ไม่ต่างกับการหาข้ออ้างที่เลื่อนลอยเพราะคิดว่าตัวเองถูกต้อง ต้องเข้าใจว่าของเดิม 4 ภาคนั้นได้สรุปเรื่องราวให้เข้าใจกันหมดแล้วและอาจไม่มีอะไรไปมากกว่าการไล่ล่าของคนกับเครื่องจักรที่วนเวียนอยู่แค่อดีตกับอนาคต ในส่วนของอดีตคือการตามฆ่าซาร่าห์เพื่อตัดอนาคต แต่เมื่อไม่สามารถฆ่าซาร่าห์ได้ก็ต้องเปลี่ยนมาฆ่าจอห์นที่ยังไม่ประสีประสาตัดผู้นำต่อต้านในภายภาคหน้า พอไม่สามารถฆ่าได้ก็ต้องมาเริ่มที่การจุดชนวนสงครามด้วยนิวเคลียร์ที่มนุษย์สร้างขึ้นให้สิ้นซาก จะเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนไปเรื่อยๆก่อนจะจบที่การสูญสิ้นอารยธรรมเดิมกลายเป็นความว่างเปล่าที่เหลือผู้รอดไม่กี่หยิบมือ สำหรับใน Terminator Genisys พยายามสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการสรุปเนื้อเรื่องทั้งหมดแล้วมาขยี้อย่างสนุกมือด้วยแนวคิดสมัยใหม่ที่ต้องการบุกเบิกเรื่องราวของตัวเองผนวกกับความเห็นที่ว่าไม่ควรมีเนื้อเรื่องที่เชยมีมิติแค่การไล่ล่าแต่ควรจะล้ำสมัยกว่านั้นทั้งมิติตัวละครและความไซไฟ แน่นอนว่าการประยุกต์เนื้อเรื่องเก่าๆที่เคยเกิดขึ้นและผู้ชมรู้จักทำนองนั้นกันดีจะต้องแปลกประหลาดใจอย่างมากโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนที่แทบจะเปลี่ยนเป็นหนังคนละม้วนคือ"จอห์น คอนเนอร์" เนื่องจากเป็นตัวละครที่ผู้ชมต่างเห็นมาตลอดว่าคือผู้นำต่อต้านเครื่องจักรและพร้อมสู้เพื่อมนุษย์ชาติและเรื่องราวก็มักจะเล่าในรูปแบบนี้มาตลอดตั้งแต่ภาคแรกจนภาคสี่ ทว่าการเปลี่ยนบทจากพระเอกเป็นผู้ร้ายค่อนข้างจะเซอร์ไพรส์เกินไป เซอร์ไพรส์มากพอที่เกิดประเด็นที่ว่าแล้วเรื่องราวจากนี้จะเป็นยังไง แน่นอนว่าการเล่าเรื่องได้หลุดจากไทม์ไลน์เก่าตั้งแต่มาช่วยซาร่าห์ คอนเนอร์แต่สถานการณ์พลิกเป็นไคล์รีสถูกช่วยเสียแทนซึ่งได้สร้างความสับสนอีกว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ได้ แล้วไหนจะ T-800 ที่เดิมถูกส่งมาฆ่าดันกลายเป็นเสมือนผู้ปกครองที่มาช่วยซาร่าห์ตอน 9 ขวบและซึมซับเรื่องราวอนาคตในลูปเดิมเพื่อรอวันที่หุ่นพิฆาตกับไคล์รีสมาถึง พอมาคิดๆก็มีหลายประเด็นอย่างมากที่ตัวหนังได้สร้างปมเอาไว้และไม่มีท่าทีจะคลายคำตอบออกมา แต่ถ้าคิดก็คงกลายเป็นไทม์ไลน์ใหม่ที่เกิดขึ้นเพียงเพราะรู้อนาคตมากเกินไปนี่แหละ


หลายอย่างเปลี่ยนไปมากโดยเฉพาะการเล่าเรื่องที่เหมือนจะรวบรัดให้เข้ารูปแต่ก็ผิดใจเหลือเกินที่มีเนื้อเรื่องหยาบๆเช่นนี้ ถ้าย้อนกลับไปถึงภาคเก่าก่อนหน้านี้ทั้งสี่ภาคก็ล้วนมีเนื้อเรื่องไม่ได้ซับซ้อนแต่สนุกได้ด้วยการแทรกประเด็นของคนกับเครื่องจักรที่มีจุดละเอียดอ่อน ผิดถนัดกับภาคนี้ที่นอกจากบทจะวกวนไม่เข้าทางออกทางก็บอกไม่ได้ว่ามีอะไรที่น่าจดจำบ้างนอกจากการหักมุมตัวละครสำคัญๆแบบไม่ใส่ใจใยดีของดั้งเดิม ถึงบทจะออกทะเลเกินกว่ากลับมาที่เดิมแต่อย่างน้อยการดูเอามันส์ยังถือว่าประสบความสำเร็จอยู่บ้างจากผู้กำกับ  Alan Taylor ที่ก่อนหน้านี้ได้กำกับหนังสายซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Thor: The Dark World (2013) จนไม่แปลกใจถ้าคอแอ็คชั่นยังดูสนุกกับการระเบิดหรือฉากวินาสสันตะโรของคนเหล็กที่สู้กันแบบเว่อร์เกินมนุษย์ ทว่าสิ่งที่น่าจดจำไม่เปลี่ยนแปลงคือลุง Arnold Schwarzenegger ที่รับบทคนเหล็กตั้งแต่ภาคแรกจวบจนภาคนี้ที่ไม่ว่ายังไงก็เข้ากับบทมากที่สุดแม้ว่าที่สุดด้วยความชราจะเข้ามาจนไม่มีฉากโชว์กล้ามหรือความเท่แบบแกร่งๆแต่ก็มีความเท่ตามประสาคนแก่ที่เผ็ดยิ่งขึ้นและน่ารักยิ่งขึ้น คงจะแปลกถ้าบอกว่าภาคนี้มันตลกกว่าภาคก่อนเพราะเกิดจากบทที่ลุง Arnold Schwarzenegger เล่นดันเป็นหุ่นยนต์ที่มาปกป้องซาร่าห์ประหนึ่งคนรับใช้ที่สามารถบอกหรือยิงมุขเสียดสีภาคแรกกันอย่างตรงๆ และแน่นอนว่าที่ทำให้ภาคนี้แตกต่างคือการพยายามสอดแทรกระหว่างโลกในหนังกับโลกความจริงเกี่ยวกับกาลเวลาที่แม้จะเป็นคนเหล็กแกร่งแค่ไหนก็ไม่อาจต้านทานเวลาที่เดินไม่หยุดหย่อนและจะต้องมีบางอย่างเสื่อมไปเวลา นั้นเองที่ทำให้ทั้งในหนังและตัวจริงแทบไม่มีความแตกต่างกันเลยถ้ามองในแง่ของวัย ในขณะที่นักแสดง Jai Courtney เล่นได้ดีแต่ยังไม่มีจุดเด่นอะไรเท่าไรแต่เวลาเข้าฉากแอ็คชั่นกลับดูเข้าทางอยู่ไม่น้อย แต่กับคนที่เล่นดีได้ร้ายไม่เสียต้องยกให้นักแสดง Jason Clarke ในบทจอห์น คอนเนอร์ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยในช่วงแรกที่เข้ากับบทผู้นำต่อต้านเครื่องจักรแต่เกิดมาเป็นตัวร้ายขนาดที่ความโหดของ T-800 กลายเป็นหุ่นกระป๋องได้ แต่ในจำนวนนี้คนที่เหมาะกับมากที่สุดทั้งหน้าตาที่คล้ายคลึงและความห้าวคือ Emilia Clarke ที่ดังมาจากซีรี่ย์ Game of Thrones จนแทบจะถอดหน้าตามาจากนักแสดง Linda Hamilton ที่เล่นบทซาร่าห์ คอนเนอร์คนเก่า แม้ว่าด้านรูปร่างจะดูเล็กไปหน่อยและหน้าเด็กไปนิดจนไม่เข้ากับบทเป็นบางตอนแต่ความน่ารักต้องยกให้กันเลยทีเดียว


เอาจริงๆ Terminator Genisys แทบไม่ได้อยู่ในสารระบบเดิมของภาคก่อนเลยสักนิดแถมดัดแปลงจนจบแบบเชื่อมของเก่าไม่ได้เลย ดังนั้นอาจจะเรียกว่าเป็นไทม์ไลน์ใหม่ภายใต้เค้าโครงบทเก่าเปลี่ยนยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีบทบาทกับชีวิตประจำจนไม่ต่างกับควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เอาแต่จดๆจ้องๆนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการตีความนี้เองที่ถูกมองเปลี่ยนไปจากของเก่าที่เทคโนโลยีพึ่งเข้ามาในชีวิตประจำวันและกลายเป็นของอันตรายในทันทีผิดกับภาคนี้ที่เกิดจากซึมซับและไว้ใจเครื่องจักรก่อนจะลงเอยด้วยการหักหลังล้างชีวิตมนุษย์ให้สูญสิ้นจากโลก บางทีการที่หนังมองข้ามในหลายๆประเด็นอาจเพื่อต้องการเร่งรัดเนื้อเรื่องให้กระชับเข้าใจง่าย(แม้ในความเป็นจริงจะละเลยเกินไปมากก็ตามที)แลกกับการมีฉากแอ็คชั่นมันส์ๆกระแทกใจคนดู แต่สุดท้ายความสนุกที่ได้ยังคงเป็นอารมณ์ที่ก่ำกึ่งเกินกว่าจะบอกว่าจบแล้วรึ? ถ้ามองในความสนุกด้วยฉากแอ็คชั่นอาจตอบว่าสนุกจริง ขณะที่เนื้อเรื่องเล่าได้น่าสนใจ แต่ตกม้าตายเต็มๆคือการไม่ใส่ใจในคำถามที่ปล่อยให้คำถามไม่สัมพันกับคำตอบเป็นช่องว่างที่ทิ้งห่างเกินไป บางทีอาจเป็นความสนุกตามประสาหนังไซไฟแต่กระนั้นกับดูมั่วเกินกว่าจะบอกนี่คือเหตุผลของเรื่องราวทั้งหมด ถ้าไม่ติดว่าหนังมีบทที่เหมือนพัฒนาไม่เสร็จบางทีอาจจะสนุกไม่แพ้ภาคเก่าๆก็เป็นได้(แต่จะให้เทียบเคียงภาคแรกกับภาคสองที่ขึ้นหิ้งคงนับว่ายาก)

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)