The Martian (2015)
เดอะ มาร์เชียน กู้ตาย 140 ล้านไมล์
Director: Ridley Scott
Genres: Adventure | Drama | Sci-Fi
Grade: A
"อย่างแรกจะทำอะไรเมื่อถูกปล่อยให้อยู่บนดาวอังคารคนเดียว"
สร้างจากนิยายขายดีติดอันดับ New York Time Bestseller กว่า 100 สัปดาห์ โดย Andy Weir วิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่ไม่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ระดับอวกาศแต่ด้วยความขยันทำให้ออกไอเดียการเอาตัวรอดบนดาวอังคารได้ตรงหลักวิทยาศาสตร์ที่หาได้ในคาบเรียน ความพยายามที่จะซื่อสัตย์ต่อโลกความเป็นจริงให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงบนดาวอังคารจากที่น่าเหลือเชื่อกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่คาดไม่ถึงว่าจะสามารถประยุกต์ข้าวของที่เหลืออยู่ในการประทังชีวิต นั้นเองที่ทำให้การเอาตัวรอดที่ว่ายากในดาวที่ไร้ชีวิตสามารถอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเรื่องราวการเอาตัวรอดไม่ได้ถูกมองเพียงแค่ด้านเดียวจากดาวอังคาร แต่รวมถึงโลกที่ค้นหาหนทางในการช่วย คงไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการช่วยเหลือแม้จะใช้ทุนมหาศาลกับการหาวิธีผิดถูกเพื่อช่วยเหลือให้เร็วที่สุดแต่ยังคำนึงถึงคุณธรรมมากกว่าผลประโยชน์ที่ปล่อยทิ้งอ้างว้าง เรื่องราวเกิดขึ้นเพียงชั่ววูบเดียวเมื่อทีมนักสำรวจดาวอังคารต้องเจอพายุและพยายาเดินกลับไปที่จรวด ซึ่งคนที่ไม่อาจไปถึงจรวดได้คือมาร์ค แวทนีย์ (Matt Damon) เพราะถูกพายุพัดหายไปโดยถูกคิดว่าไม่น่ารอดกลับมาได้ และด้วยสถานการณ์ที่ไม่อาจยื้อเวลาเสี่ยงดูรอจึงตัดสินขับจรวดออกจากดาวอังคารก่อนที่พายุจะพัดกระหน่ำหนักกว่าเดิม ซึ่งนั้นเองที่ทำให้ทีมสำรวจดาวอังคารที่นำโดยเมลิสซา ลิวอิส (Jessica Chastain) กับสมาชิกอีก 4 คน ได้แก่ ริค มาร์ติเนซ (Michael Pena),เบธ โจแฮนส์เซน (Kate Mara),คริส เบ็ค (Sebastian Stan) และอเล็กซ์ โวเกล (Aksel Hennie) สะเทือนใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวและทำได้เพียงกลับโลกอย่างช้าๆจากเส้นทางที่ห่างไกล แต่หารู้ไม่ว่าการเสียสละที่น่าจะเสียใครไปกลับเป็นการปล่อยให้อยู่คนเดียวเมื่อมาร์ครอดชีวิตจากพายุบนดาวอังคารและหาหนทางใช้ชีวิตประจำวันให้อยู่ยาวที่สุดเพื่อหาวิธีกลับบ้าน ซึ่งฝ่ายที่รู้เรื่องว่ามาร์คยังไม่ตายคือกลุ่มองค์กรนาซ่าที่นำโดยเท็ดดี แซนเดอส์ (Jeff Daniels) และพยายามติดต่อสื่อสารด้วยวิธีที่ง่ายและเข้าใจถึงกันมากที่สุด เนื่องจากมาร์คที่อยู่ไกลถึงดาวอังคารไม่สามารถส่งข้อมูลใดๆได้จากอุปกรณ์ที่เหลือไม่กี่อย่าง สิ่งที่ทำได้คือการคิดและคำนวณความเป็นไปได้ทุกอย่างจากทรัพยากรที่มีอยู่ข้างตัว
สิ่งที่สังเกตได้ในช่วงแรกคือจุดที่พักอาศัยบนดาวอังคารเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากรูปภาพถ่ายระยะไกลจนเกิดเป็นข้อสันนิษฐานว่าอาจไม่ได้เกิดจากพายุนอกจากฝีมือสิ่งมีชีวิต ซึ่งสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารที่ยังเหลืออยู่คือมนุษย์ที่มาสำรวจก่อนจะถูกเข้าใจว่าตายไปแล้วและกำลังปรับเปลี่ยนบางอย่างโดยมีเพียงเขาเท่านั้นที่เข้าใจว่ากำลังทำอะไร สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้แสดงศักยภาพออกมาคือความเปลี่ยวเหงาของมาร์คผ่านการกระทำทั้งหมด อารมณ์ของหนังอาจไม่ได้เหงาจากโทนหรือบรรยากาศสุดแสนหดหู่ซ้ำกลับถ่ายทอดสิ่งรอบๆดาวอังคารด้วยความสวยงามพร้อมกับความสุขมากกมายผ่านตัวละครมาร์คที่ไม่ทำให้ตัวเองต้องรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียว การจะทำอะไรสักอย่างอาจต้องมีใครช่วยคิดเพื่อให้ออกมาสำเร็จ ทว่ากับมาร์คที่ไม่สามารถพึ่งใครที่ไหนช่วยได้ต้องเผชิญสิ่งเกินกว่าคนธรรมดาสามัญทำได้และมาร์คคือคนพิเศษที่ซ่อนความอัจฉริยะเอาไว้ เนื่องจากสิ่งมาร์คทำนั้นต้องผ่านคุณสมบัติคือความรู้กับจินตนาการ บางแนวจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ แต่กับเรื่องนี้ต้องการสื่อให้เห็นว่าจะสิ่งไหนก็ล้วนสำคัญทั้งสองอย่างและไม่ควรทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งแต่จงใช้ประโยชน์จากทั้งสองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การยกประเด็นการเอาตัวรอดด้วยตัวเองมากกว่าความโชคดีที่ไม่มีทางเป็นไปได้ดูจะเข้าท่าอย่างมากเพราะอย่างแรกทำให้เห็นว่าควรทำอะไรก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งก็คือการตั้งสติ ถ้าไม่ตั้งสติว่าตัวเองกำลังเจอเหตุการณ์อะไรสิ่งที่ต้องเจอคือคำถามว่าทำไมๆและกลายเป็นความบั่นทอนจิตใจ มาร์คคือตัวละครแบบอย่างมองโลกในแง่ดีในยามเลวร้ายเพราะไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ตัวเองประสบจะแก้ไขไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีทางออกเสมอเพียงเราได้คิดแล้วหรือยัง
บทเพลงยุค 80 ที่มีกลิ่นอายความเป็นดิสโก้ สร้างอารมณ์ขันได้อย่างแนบเนียนจนรู้สึกว่าความหดหู่ของเรื่องนี้ได้มลายหายไปอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นข้อแตกต่างเมื่อเทียบเคียง Gravity (2013) ที่มีพล็อตเรื่องการเอาตัวรอดบนอวกาศเหมือนกันแต่ต่างกันที่เรื่องนี้ต้องเคว้งคว้างในอวกาศและพยายามเอาตัวรอดด้วยการใช้ดาวเทียมในการโยกย้ายไปตามตำแหน่งต่างๆก่อนจะลงโลกสำเร็จ ทว่ากับ The Martian ไม่ได้เคว้งคว้างลอยในอวกาศแต่ติดบนดาวอังคารที่ไม่รู้จะออกจากดาวไปโลกได้ยังไงในเมื่อระยะทางไกลเกินกว่าที่คนๆเดียวจะสามารถทำได้ เมื่อเทียบความยากลำบากอาจจะมองเป็นเรื่องหลังที่หนักหนาสาหัสเพราะเต็มไปด้วยความเปล่าเปลี่ยว แต่เนื้อแท้กลายเป็นหนังที่มีอารมณ์ด้านบวกไม่ต่ำกว่า 70% ของเรื่อง ในขณะที่อีก 30% เกือบๆทั้งหมดมากจากฝั่งนาซ่าที่คิดแผนกันอย่างเคร่งเครียดและรัดกุมถึงผลที่ตามมา กลายเป็นข้อเปรียบเทียบระหว่างคนบนดาวอังคารกับคนบนโลกที่ต่างมีอารมณ์กันคนละแบบทั้งที่ตามสถานการณ์ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าฝ่ายไหนมีภาวะกดดันมากกว่ากัน การเปรียบเทียบระหว่างคนที่อยู่คนละดาวทำให้เห็นสิ่งสำคัญคือข้อแตกต่างระหว่างการใช้ชีวิตหนึ่งคนกับอีกหลายคน ความแตกต่างนี่เองที่ทำให้เกิดประเด็นหลายอย่างมากมายแต่โดยสรุปแล้วคือเรื่องเวลา จากการเล่าเรื่องนอกจากการใช้ชีวิตให้รอดด้วยข้อจำกัดมากมายแล้วจะสังเกตเห็นว่ามีการระบุวันอย่างชัดเจนตั้งแต่เหลือเท่าไร อยู่ได้กี่วัน การคำนวณด้วยฟิสิกส์ แม้ข้อมูลตัวเลขไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรนักแต่ก็บอกได้ถึงความจริงจังของเรื่องที่ไม่ได้เลือนลอยแต่มีกำหนดทิศทางทีละขั้น สิ่งที่น่าสนใจคือเวลาบนดาวอังคารกับบนโลกแตกต่างหรือเหมือนกัน การใช้ชีวิตคนเดียวบนดาวอังคารนำพามาซึ่งความอิสระเสรีแต่แลกด้วยความเหงาในหมู่พื้นดินแห้งๆ ประทังชีวิตด้วยการรีไซเคิลและดัดแปลง เวลาที่ใช้ไปแตกต่างจากคนบนโลกที่ใช้ชีวิตกันอย่างเพียบพร้อมและไม่มีคำว่าห่วง
ลูกเรือบนยานแอเรสที่กำลังกลับไปยังโลกนั้นคือกลุ่มตัวละครที่โผล่มาในช่วงแรกก่อนจะค่อยๆมีบทบาทมากขึ้นในช่วงท้ายเรื่องพร้อมกับความดีใจเมื่อรู้ว่าคนที่คิดว่าตายไปแล้วยังคงอยู่และรอดราวกับปฏิหาริย์ช่วย แน่นอนว่าการรอดของมาร์คส่วนนึงมาจากไอเดียที่ชาญฉลาดแต่นั้นแค่สมองเพราะว่าการที่ยังใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆคือกำลังใจ การสำรวจจิตใจตัวละครอาจค่อนข้างเปราะบางเนื่องจากไม่มีการเกริ่นตัวละครในภูมิหลังเป็นคนยังไงมาก่อน จะแตกต่างกับ Cast Away (2000) ที่แนวการเอาชีวิตเหมือนกันแต่กว่าจะติดเกาะตัวคนเดียวได้นั้นมีการเริ่มเรื่องราวถึงชีวิตคู่และชีวิตงานก่อนที่สุดท้ายจะต้องอยู่คนเดียว นับเป็นการเปรียบเทียบชีวิตสังคมอย่างหนึ่ง แม้จะไม่ได้หนักแน่นเท่าไรในประเด็นนี้เพราะมุ่งเน้นไซไฟการรอดชีวิตเป็นหลัก ดังนั้นการเห็นมาร์คทำอะไรหลายอย่างจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ขณะเดียวกันการที่มาร์คทำอะไรหลายอย่างไม่ได้แปลว่าเกิดขึ้นจากเขาเพียงคนเดียวเพราะยังมีนาซ่าคอยช่วยเหลือแสดงความเห็นในการรอดชีวิตและหนทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย ในส่วนของพล็อตเรื่องไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนนอกจากความสนใจตรงที่ติดบนดาวอังคาร ประเด็นต่อมาคือแล้วถ้าติดอยู่บนดาวอังคารเพียงคนเดียวควรจะทำอะไร จากในเรื่องมาร์คพยายามยื้อชีวิตให้ยาวนานที่สุดด้วยหลักปัจจัยสี่ เริ่มจากอาหารในการประทังชีวิตให้นานพอต่อการได้กลับโลก ซึ่งการหาอาหารของมาร์คคือความฉลาดที่หาได้จากของใกล้ตัวและสิ่งนั้นเป็นไอเดียที่เข้าท่าแบบวิทยาศาสตร์อย่างมาก นั้นคือการปลูกมันด้วยส่วนผสมของมูลกับพื้นดินบนอังคาร ไม่ใช่แค่พืชที่ใช้ประทังชีวิตจากเมล็ดที่ติดมาแต่ยังรวมถึงการหาน้ำที่มีจำกัดได้ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์เช่นกัน นี่จึงเป็นหนังที่เหมือนจะเว่อร์แต่ไม่ได้เว่อร์เพราะมีวิทยาศาสตร์รองรับความเป็นไปได้
ฝั่งนาซ่าที่พยายามแล้วพยายามอีกในการคำนวณไปให้ทันก่อนมาร์คไม่มีอะไรให้ประทังชีวิตเป็นฝ่ายที่ซีเรียสที่สุดเพราะต้องแข่งกับเวลา ไม่ว่าจะสื่อหรืองบที่กลายเป็นอุปสรรคที่ไม่ต่างกับการเร่งรัดการไปนอกโลกทั้งที่ต้องใช้เวลาคำนวณและสร้างกันหลายเดือนหลายปีจึงมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ในความลุ้นว่าจะสำเร็จหรือไม่ มีมากครั้งที่หนังพยายามทำให้ดูง่ายและก็ยากขึ้นในตอนที่ไม่ทันระวัง ข้อสังเกตคือข้อผิดพลาดล้วนมาจากความประมาทเสมอและนั้นหมายถึงจะต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ความยากง่ายไม่ใช่ประเด็นของหนังเพราะสิ่งสำคัญคือความรู้ท่วมหัวเอาตัวรอดได้เสมอเสริมข้อคิดอีกอย่างคือหลายหัวดีกว่าหัวเดียว การทำงานเป็นระบบเป็นจุดเด่นที่เล่าเรื่องแต่ละหน้าที่ได้ดีแม้จะเต็มไปด้วยตัวละครมากหน้าหลายตา แต่ไม่รู้ทำไมกลับรู้สึกว่าบาบาทแต่ละคนอยู่ในช่วงกำลังพอเหมาะ อีกคนรับช่วงต่อ อีกคนแสดงหน้าที่ตนเอง อีกคนเข้าสนับสนุน การเชื่อมโยงเรื่องราวทำได้ไม่สับสนหรือชวนดูให้งงในแต่ละบทบาทของตัวละคร ด้วยการเล่าเรื่องที่กระชับและรวดเร็วประหนึ่งมีความเป็นทริลเลอร์อยู่เบื้องหลังทำให้ไซไฟเรื่องนี้เข้มข้นทุกครั้งที่มีแผนการอะไรเข้ามาอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันมีการผ่อนอารมณ์อย่างนิ่มนวลไปกับมาร์คทำให้การติดบนดาวอังคารไม่ใช่เรื่องวิตกกังวลเพราะมีคนบนโลกให้กำลังใจและสนับสนุนอยู่เสมอ การกระตือรือร้นของมาร์คทำให้มีชีวิตรอดได้แต่จะกลับโลกได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับลูกเรือบนยานแอเรส เนื่องจากแผนสุดท้ายของนาซ่าคือการให้ลูกเรือบนยานแอเรสย้อนกลับไปรับมาร์คที่ดาวอังคารหลังจากลองมาหมดทุกวิธีทาง นั้นหมายความว่าต้องย้อนกลับไปรับมาร์คด้วยเวลาที่อยู่อวกาศนานขึ้นทั้งที่ใกล้ถึงโลกจวนได้กลับบ้านแล้ว
The Martian ที่หน้าหนังมีพล็อตเรื่องสุดจะซีเรียสของชายหนึ่งคนที่ติดบนดาวอังคารเพียงลำพังและไร้ทางกลับบ้านกลับกลายเป็นว่าความเครียดที่น่าจะเป็นเช่นนั้นของเรื่องต้องแปรผันตรงกันข้ามเพราะผู้กำกับ Ridley Scott ที่นึกอยากลองเปลี่ยนแนวตัวเองดูบ้าง แน่นอนว่าถ้าได้สัมผัสผลงานก่อนๆมักจะมีแต่ประเภททริลเลอร์ สงคราม และไซไฟ ซึ่งมักจะมีพล็อตเรื่องให้เคร่งเครียดและจริงจังอยู่เสมอ พอมาเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นว่าความเครียดไม่ใช่ทางออกให้หนังเข้มข้นเสมอไปหากบีบตัวละครมากเกินไปเพราะการอยู่คนเดียวจะไม่ต่างกับหนังสยองขวัญที่เจอความวิตกกังวลของตัวเองและถ้าเป็นแบบนั้นคงผิดฟอร์มเนื้อเรื่องทั้งหมด ฉะนั้นตัวละครมาร์คที่เป็นตัวหลักบนดาวอังคารจึงมีนิสัยกล้าทดลองและมีจินตนาการ การจินตนาการของมาร์คได้สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงหลายชิ้นโดยแต่ละชิ้นคือความจำเป็นสูงสุดของชีวิต แม้ว่าหลายอย่างจะไม่เกินคำว่าคาดเดาแต่การเล่าเรื่องทำได้ไม่หวือหวาจนเกินไปคล้ายมีความละมุนในตัวจนรู้สึกว่าบรรยากาศของหนังไม่ได้ออกนอลู่นอกทางแต่เหยียบอยู่กับที่ให้สิ่งที่เผชิญกระจ่างมากที่สุด หลายอย่างในเรื่องทำได้ดีตั้งแต่การเล่าเรื่องที่รวดเร็ว การสรรหาคำอธิบายวิทยาศาสตร์แบบไม่ต้องงงจนเกินไป เอฟเฟคที่มีวิชวลสวยงามจากความแห้งแล้ง การโชว์เดียวของนักแสดง Matt Damon ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดแต่สยบลงได้ด้วยความมองโลกในแง่ดี จัดว่ามีองค์ประกอบค่อนข้างลงตัวอยู่หลายอย่างจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์ จะมีเสียตรงที่ทุกอย่างเป็นไปตามเดิมคือไม่มีอะไรที่แปลกใหม่หรือหักมุมจนน่าตื่นเต้นตลอดเรื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยกนิ้วให้กับความฟีลกู้ดในด้านอารมณ์ขันที่ใส่ได้ผิดที่ผิดทางแต่แนบเนียนจนเวลาซีเรียสเป็นเวลายิ้มได้