The Shining (1980)
เดอะไชนิง โรงแรมผีนรก
Director: Stanley Kubrick
Genres: Drama | Horror
Grade: S
"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"
แม้จะยังไม่เคยอ่านฉบับนิยายของ Stephen King แต่การันตีได้อย่างหนึ่งคือความยอดเยี่ยมที่หาไม่ได้อีกแล้วกับแนวสยองขวัญที่มากกว่าสยองขวัญธรรมดาทั่วๆไปเพราะส่วนใหญ่แรงบันดาลใจการเขียนแต่ละเรื่องมาจากชีวิตจริงของเจ้าตัวและเนื้อหาก็พยายามมุ่งไปที่ตัวเองมากกว่าสิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นเพียงตัวเลือกให้ตัดสินกระทำว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงก็ล้วนมาจากตัวเองเสมอ ซึ่งบางครั้งก็บวกด้วยปัจจัยมากมายเช่นสังคมตามหนังสือชื่อ Carrie จนกลายเป็นหนังเรื่องแรกที่สร้างชื่อให้กับ Stephen King เพราะความละเอียดทางด้านเนื้อหาที่เข้าถึงตัวละครที่เปราะบางทั้งที่ตัวละครหลักคือผู้หญิงแต่เข้าใจความหนาลึกจิตใจของผู้หญิงได้อย่างดี ที่สำคัญยังเสียดสีอีกหลายอย่างทั้งศาสนา ความสัมพันธ์แม่ลูก เพื่อนดีและเพื่อนที่คอยกลั่นแกล้ง สุดท้ายกลายเป็นเรื่องเก็บกดของวัยรุ่นผู้หญิงที่พึ่งก้าวพ้นวัยแต่ไร้คนรับฟังและให้ความหวังจนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมในท้ายเรื่องเพียงเพราะรับไม่ไหวต่อสังคมที่รุมทำร้ายข้างเดียว แน่นอนว่าสิ่งที่แตกต่างไม่ใช่แค่สังคมในหมู่เพื่อนเท่านั้นแต่ยังรวมถึงครอบครัวที่มีแม่เสียสติคลั่งศาสนาเป็นบ้าเป็นหลังกลายเป็นความเก็บกดที่หนักแน่นลงกว่าเดิม ที่แตกต่างคือแครี่ที่ถูกรังแกมีพลังจิตที่สั่งการได้ตามที่เธอต้องการซึ่งพลังเหล่านี้มักถูกขับมาในทางลบซะทุกครั้งโดยเฉพาะเมื่อโกรธ แม้ช่วงแรกจะพยายามเก็บพลังและไม่มีใครสังเกตแต่ยิ่งถูกกลั่นแกล้งมากขึ้นเท่าไรยิ่งต้องการปลดปล่อยมากขึ้น จนที่สุดก็จบลงที่ต้นเหตุทั้งหมดไม่มีอะไรเหลือ ฉบับนิยายถือว่าโด่งดังพอตัวแต่จะได้ชื่อเสียงมากขึ้นเมื่อถูกสร้างมาเป็นหนังชื่อ Carrie (1976) ที่กลายเป็นหนังดีมีคุณภาพสะท้อนสังคมวัยรุ่นได้อย่างดี
พอมาถึง The Shining ก็ไม่แตกต่างกันที่มีจุดสร้างชื่อจาก Stephen King นักเขียนสยองขวัญที่ไม่ว่าออกเล่มไหนก็ล้วนระทึกขวัญทุกเล่ม ทว่าต้องมาถึงจุดต่างเมื่อผู้กำกับ Stanley Kubrick นำมาสร้างฉบับหนังที่เหมือนจะไปได้ดีกับคุณภาพและขึ้นหิ้งในฐานะหนังสยองขวัญแต่ไม่เป็นที่พอใจเจ้าของบทประพันธ์เดิมเพราะถูกดัดแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งความแตกต่างของทั้งคู่มากจากความเชื่อเรื่องของพระเจ้าด้วยอย่างหนึ่งเพราะทั้งคู่เคยคุยกันมาก่อนถึงการมีอยู่ของพระเจ้าว่ามีอยู่จริงหรือไม่ในขณะสร้างเรื่องนี้ สำหรับ Stephen King เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริงและให้อภัยได้เสมอกับคนที่สำนึกในบาปพร้อมกับให้พลังพวกเขาเข้าสู้ ทว่า Stanley Kubrick เห็นต่างออกไปและมองพระเจ้าไม่น่ามีอยู่จริงเพราะไม่มีอะไรมาบังคับตัวเราได้นอกจากตัวเราเป็นคนบังคับเสียเอง ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องมีเรื่องที่สมหวังเสมอไปเนื่องจากทุกอย่างเปลี่ยนแปลงกันได้ สิ่งที่ทำให้ฉบับนิยายกับฉบับหนังแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือตอนจบ ที่รู้มาคือฉบับนิยายจบลงอย่างที่ควรจะเป็นด้วยการเอาชนะอุปสรรคตรงหน้ากลับไปหาครอบครัวอย่างมีความสุข ผิดกับฉบับหนังที่ต่างไปแล้วไปเลยไม่คำนึงถึงตอนจบอย่างสวยงามแต่ควรเล่นกันให้สุดเหวี่ยงความสยองไปเลย ความแตกต่างที่มาจากเรื่องเดียวกันแต่ถูกตีความไปคนละด้านจากความเชื่อทำให้เห็นเรื่องราวต่างทะศนคติจากอีกฝั่งมาจากประสบการณ์และเชื่อพระเจ้ากับอีกฝั่งที่ได้จากการอ่านซึมซับและไม่เชื่อพระเจ้า กับ Stephen King การเขียนเรื่องนี้มาจากแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของครอบครัวเพื่อให้กลับมาคืนดีกัน กับ Stanley Kubrick ไม่ต้องการให้ครอบครัวหันหน้ามาคืนดีแต่ต้องการให้เห็นความจริงว่าไม่ใช่ทุกครั้งจะคืนดีกันได้ทุกครอบครัว
ครอบครัวทอร์เรนซ์อันประกอบไปด้วยแจ๊ค (Jack Nicholson), เวนดี้ (Shelley Duvall) และแดนนี่ (Danny Lloyd) ได้รับงานไปเฝ้าโรงแรมโอเวอร์ลุคจากสจ๊วต อุลล์แมน (Barry Nelson) ที่กำลังปิดตัวลงในช่วงฤดูหนาว โดยได้รับการชี้แนะจากฮัลโลแรน (Scatman Crothers) พนักงานโรงแรมผิวดำถึงสถานที่ต่างๆให้อยู่อย่างสุขสบายเสมือนบ้านของตัวเองทั้งอาหารการกิน ห้องนอน ห้องนั่งเล่น แน่นอนว่าภายในโรงแรมจะไม่เหลือใครเลยนอกจากพ่อแม่ลูก 3 คนที่รับงานเฝ้าตลอดฤดูหนาวกันอย่างสุขสบายพร้อมทุกอย่าง แจ๊คเองก็ได้เวลาส่วนตัวมากขึ้นจากการเฝ้าโรงแรมกับการเขียนหนังสืออีกทั้งยังเป็นการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งเวนดี้และแดนนี่ แต่แล้วยิ่งอยู่โรงแรมโอเวอร์ลุคนานวันเท่าไรก็ยิ่งเริ่มไม่ปกติมากขึ้นเพราะเริ่มเจอเรื่องหลอนมากมายทีละเล็กทีละน้อยโดยเฉพาะกับแดนนี่ที่ถูกฮัลโลแรนเตือนเรื่องต้องห้ามหมายเลข 237 ห้ามเปิดเด็ดขาด แต่แดนนี่ก็เปิดห้องนั้นจนได้และเกิดเรื่องสยองขวัญเกิดขึ้นหนักกว่าเดิมและหนักขึ้นเรื่อยๆจนแม้แต่แจ๊คยังถูกผีวิญญาณในโรงแรมปั่นหัวจนกลายเป็นเรื่องสยองขวัญในเวลาต่อมา ทั้งหมดนี้คือพล็อตเรื่องสั้นๆของ The Shining ที่ไม่แตกต่างจากบ้านผีสิงทั่วๆไปแค่เปลี่ยนมาเป็นโรงแรมยกระดับความอลังการและเลิศหรู ทว่าข้อแตกต่างไม่ใช่แค่นั้นเพราะผีในเรื่องได้สร้างความหลอนได้อย่างน่าขนหัวลุกทั้งที่มีอยู่ไม่กี่ตอน อีกทั้งยังแฝงนัยยะเรื่องครอบครัว การงาน แสดงถึงอารมณ์ความเครียดของคนเราอีกด้วย ความไม่ธรรมดาไม่หยุดแค่นั้นเพราะความสยองขวัญที่มีไม่กี่ฉากแต่ทนนานติดตาทั้งเรื่องคือความละเอียดอ่อนของงานภาพและลำดับภาพที่ยกระดับหนังสยองขวัญเน้นตกใจและน่ากลัวกลายเป็นระทึกขวัญชวนให้ขวัญผวาได้ทุกเมื่อ
สิ่งที่น่าสนใจและแปลกอยู่บ้างคือแดนนี่เด็กน้อยผู้ไม่ใช่คนปกติสามัญเพราะแตกต่างที่มีสัมผัสพิเศษจนพ่อกับแม่หรือผู้ใหญ่บางคนมองเป็นเรื่องจินตนาการของเด็กซึ่งแท้จริงมันไม่ใช่และแดนนี่เองก็รู้ว่ามันคือพรสวรรค์ ด้วยความพิเศษนี้เองทำให้รับรู้ถึงสิ่งไม่ธรรมดาที่แฝงตัวอยู่ในโรงแรมแห่งนี้ตามที่ฮัลโลแรนได้คุยกับแดนนี่เอาไว้ทางโทรจิตซึ่งฮัลโลแรนก็มีสัมผัสที่หกนี้เช่นกัน แม้ฟังดูเกินจริงไปบ้างทว่าการนำเสนอกับดูน่าเชื่อถือและเรียบง่ายตามงานภาพของ Stanley Kubrick ที่มุ่งไปที่นักแสดงและการแสดงอารมณ์เป็นหลัก ตัวละครแดนนี่ไม่ใช่เด็กน้อยน่ารักขี้ซนแต่มีปมในใจเกี่ยวกับครอบครัวเพราะเคยถูกพ่อทำร้ายมาก่อนเพราะไปยุ่งเรื่องงานจนแขนหัก สภาพจิตใจจึงไม่ต่างกับเด็กที่ขาดคนที่ไว้ใจและเพื่อนที่เล่นสนุกได้ ดังนั้นแอนนี่จึงสร้างตัวละครสมมติขึ้นมาเพื่อเอาไว้ใช้ระบายอารมณ์และเล่นสนุกได้โดยไม่คาดว่าโทนี่คือสัมผัสที่หกของแดนนี่ทำให้เวลาเกิดคำถามจึงเรียกโทนี่มาให้คำตอบ กระทั่งก่อนวันไปโรงแรมได้ยืนอยู่หน้ากระจกแล้วถามตัวเองหรืออีกนัยคือโทนี่ด้วยความไม่อยากไปและถามว่าทำไม คำตอบที่ได้จากโทนี่ไม่ใช่คำพูดของตัวเองในกระจกหรือท่าทางกระดกนิ้วเวลาโทนี่พูดแต่เป็นนิมิตรที่เข้ามาในหัวของแดนนี่เป็นภาพโรงแรมนองเลือด เห็นเด็กผู้หญิงฝาแฝดจับมือกันและมองมาที่เขาก่อนที่ภาพแวบนึงจะเห็นคู่แฝดนอนกองกับพื้นตายอย่างน่าสยดสยอง ความสะพรึงนี้ทำให้แดนนี่ถึงกับช็อกและรู้สึกไม่เต็มใจเท่าไรในการไปโรงแรมครั้งนี้ ผิดกับแจ๊คที่มองงานนี้คือของวัญล้ำค่าเพราะจะช่วยให้ครอบครัวกลับมาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและถือเป็นการไถ่โทษที่ตัวเองเคยเป็นคนติดเหล้าถึงขึ้นโยนแดนนี่ไปกองกับพื้นจนแขนหักมาก่อน แม้แดนนี่จะไม่เต็มใจแต่เขาก็ไม่รู้ว่าสัมผัสที่หกมันคืออะไรจนได้คำอธิบายจากฮัลโลแรนว่าเป็นสิ่งพิเศษที่มีได้แค่บางคนเท่านั้นและจะเป็นความลับต่อไประหว่างแดนนี่กับฮัลโลแรน
คดีฆาตกรรมครอบครัวเกรดี้ที่นองเลือดไปทั่วโรงแรมและสร้างความสยดสยองคือเรื่องเล่าว่าเคยเกิดขึ้นมาก่อน มีเรื่องอยู่ว่าคนเป็นพ่อได้ฆ่าครอบครัวของตัวเองทั้งลูกทั้งภรรยาตายยกครอบครัวก่อนจะลงเอยด้วยการฆ่าตัวตายในท้ายที่สุด แม้แจ๊คจะได้ยินเรื่องเช่นนั้นแต่ไม่คิดหนักหนาเพราะเป็นแค่เรื่องเล่าและที่สำคัญการมาเฝ้าโรงแรมไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวลอะไรในเมื่อมีทุกอย่างพร้อมจะอยู่ได้ตลอดช่วงฤดู จะเสียแค่อยู่กันเพียงสามคนที่อาจจะดูเหงาไปบ้างแต่ก็ได้เวลาในส่วนครอบครัวอย่างเต็มที่ เป็นการมาพักผ่อนของครอบครัวที่ไม่มีใครมารบกวนหรือปัญหาจากภายนอกเข้ามาเพราะอยู่แค่ในโรงแรมเท่านั้น อีกอย่างแจ๊คจะได้พื้นที่สงบนั่งเขียนงานอย่างอิสระตามใจชอบทั้งฤดู ในขณะที่เวนดี้เองก็ดีใจที่ได้ไปพักผ่อนในโรงแรมแม้ไม่ใช่การไปเที่ยวโรงแรวมแต่เป็นการเฝ้าโรงแรมก็ตาม ส่วนแดนนี่ทำตามประสาเด็กนั่งปั่นจักรยานเด็กสามล้อสำรวจโรงแรมตามจุดต่างๆอย่างเพลิดเพลิน ช่วงแแรกของหนังจะได้เห็นการใช้ชีวิตครอบครัวอย่างสังคมปกติพาไปเที่ยวหาความสนุกนอกบ้านปลดปล่อยอารมณ์จากวิถีคนหาเช้ากินค่ำ โดยรวมถ้าตัดเรื่องสยองขวัญออกไปนี้อาจไม่ใช่แค่การถูกผีปั่นหัวแต่เป็นความเครียดจากการขาดความคิดใหม่และเหยียบซ้ำที่เดิมเป็นเวลานานๆแบบที่แจ๊คออกอาการให้เวนดี้เห็นในงานที่พิมพ์ไปด้วยถ้อยคำซ้ำซากหยุดแค่ประโยคเดียวทั้งหน้าหลายร้อยแผ่นซึ่งคนปกติไม่ทำกันแต่แจ๊คทำเนื่องจากไม่สามารถระบายอารมณ์ที่ไหนนอกจากพิมพ์ดีดซ้ำๆ พิมพ์ประโยคว่า "All work and no play makes Jack dull boy" แปลความหมายสั้นๆคือให้พักผ่อนจากงานหาอะไรเล่นบ้าง แจ๊คทำแต่งานตลอดเวลาและแอบไปกินเหล้าโดยไม่มีใครรู้ สุดท้ายความเครียดยิ่งสะสมก็ถึงคราวเกินควบคุมตัวเอง
ประเด็นครอบครัวอาจจะไม่กระจ่างชัดมากเท่าไรและความสัมพันธ์พ่อลูกไม่ถึงกับลงรายละเอียดแค่ให้รู้ว่าแจ๊คสำนึกผิดที่เคยทำแดนนี่แขนหัก ที่สำคัญแจ๊คเคยเป็นคนติดเหล้าและเลิกได้สำเร็จหลังจากเหตุการณ์ที่ทำให้แดนนี่เสียใจ ทว่าการมายังโรงแรมแห่งนี้ทำให้แจ๊คกลายเป็นอีกคนและสิ่งนั้นค่อยๆกัดกินแจ๊คจากภายใน ถ้ามองในแง่การถูกผีปั่นหัวก็ไม่ต่างกับเรื่องเล่าครอบครัวเกรดี้ที่ตายยกครอบครัวและประวัติก็เกิดซ้ำกับคนที่มีภาระกับความเครียด การเปิดห้อง 237 ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ในห้องหากเป็นการเชื้อเชิญให้เข้าห้องเสียมากกว่าและคนที่เปิดคือแดนนี่ในขณะที่แจ๊คเป็นคนเข้าไปในห้องเพราะเวนดี้บอกว่าแดนนี่ถูกผู้หญิงปริศนาทำร้าย แจ๊คจึงตัดสินเข้าไปในห้องดังกล่าวและพบผู้หญิงเปลือยกายออกจากอ่างน้ำมาหาเขา ผู้หญิงเปลือยกายที่ไม่รู้ที่มาเข้าหาแจ๊คและสวมกอดจูบอย่างห้ามไม่ได้ก่อนที่สักพักผู้หญิงที่หน้าตาสวยจะกลายเป็นหญิงชราแผลเต็มตัวคล้ายเนื้อเน่าจนแจ๊คช็อกและถอยห่างล็อคห้องนั้นเอาไว้ บางทีการกระทำของผีอาจไม่มีอะไรไปมากกว่าการแกล้งผู้อาศัยเพราะที่นี้ไม่มีใครอื่นนอกจากครอบครัวทอร์เรนซ์สามคน ซึ่งคนที่โดนหลอกง่ายสุดคือแจ๊คที่สับสนอันไหนจริงอันไหนปลอมแต่เขาไม่เคยบอกเวนดี้ถึงปัญหานี้และเลือกเก็บไว้คนเดียว การกระทำของแจ๊คเริ่มทำตัวเหินห่างครอบครัวมากขึ้นจากที่เดิมต้องการให้ครอบครัวสนิทแน่นแฟ้นกลายเป็นเขาที่สนิทกับผีเสียแทนจนถึงขั้นแยกไม่ออกถึงความจริงตรงหน้าว่านั้นคือผีไม่ใช่บริการเสิร์ฟน้ำที่คอยเติมเหล้าให้แจ๊คทุกครั้งที่มาดื่ม แน่นอนว่ายิ่งแจ๊คมามากเท่าไรยิ่งเจอกับผีมากขึ้นจนตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมราวสมาชิกแขกคนสำคัญไปโดยปริยาย การจัดเรื่องราวแบบค่อยทีค่อยไปทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละครอย่างชัดเจนและเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนจนอดคิดถึงเรื่องก่อนหน้านี้ของผู้กำกับ Stanley Kubrick อย่าง 2001: A Space Odyssey (1968) หรือ A Clockwork Orange (1971) ที่ล้วนมีนัยยะของความแปลกแยกและต่อต้านในตัว กับเรื่องแรกการจะตีความไปทางใดทางหนึ่งคงหาบทสรุปที่หนังจะสื่อมาคงไม่พอแต่อย่างหนึ่งที่เห็นคือเครื่องจักรสมองจักรกลมีความคิดของตัวเองและมองมนุษย์คือความล้มเหลวที่ก่อให้เกิดผลทางลบ เครื่องจักรต่อต้านผู้ออกคำสั่ง มนุษย์ตกอยู่ในภาวะไม่ไว้ใจ เรื่องที่สองกับการเพาะบ่มสำนึกด้วยความรุนแรงจากผู้กระทำเป็นผู้ดูเพียงอย่างเดียวซึ่งนั้นทำให้เกิดการต่อต้านไม่อาจใช้ความรุนแรงได้อีกเนื่องจากสำนึกเกิดขัดขืนและหวาดกลัวแม้จะอยากกระทำก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการเปลี่ยนแปลงของตัวละครอย่างช้าที่สุดจนกลายเป็นอีกอย่างในท้ายเรื่อง การต่อต้าน ความรุนแรง ความสับสน อาการเครียด หลงผิดขาดสำนึก เสียสติ ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งจะไม่ต่างกับคนที่ถูกผีปั่นหัวเช่นเดียวกับแจ๊คที่ไม่หลงเหลือสติอีกต่อไป
อาจจะมีไม่กี่ฉากและน้อยมากๆแต่กับติดตามากที่สุดคือพี่น้องฝาแฝดชุดสีฟ้ายืนจับมือที่มองตรงมาเหมือนมาดักรออยู่ก่อน ซึ่งประจวบเป็นฉากที่เหมาะเจาะกับตอนที่แดนนี่ปั่นจักรยานเลี้ยวเข้ามาเจอพอดี แม้จะไม่ได้แสดงอะไรมากและนิ่งทั้งเรื่องก็ตามแต่องค์ประกอบหลายอย่างช่วยให้ความปกติกลายเป็นไม่ปกติและสร้างความสะพรึงกลัวได้อย่างน่าแปลกใจ ไม่รู้จะว่ายังไงแต่การได้ Lisa Burns และ Louise Burns มาแสดงเป็นผีแฝดถือว่าน่าจดจำมิใช่น้อยเลยทีเดียว เห็นเป็นแบบนี้ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเพราะช่วงแรกที่หนังออกฉายได้เสียงวิจารณ์ก้ำกึ่งถึงเรื่ององค์ประกอบศิลป์ทั้งฉาก มุมกล้อง ที่ออกมามากเกินไป แต่ทว่าท้ายที่สุดกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าเรื่องนี้มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์
โดยเฉพาะการสร้างความกดดันและบรรยากาศที่น่ากลัวทั้งที่แต่ละฉากล้วนดูสะอาดตา ถึงอย่างงั้นยังอุตส่าห์ติดชิงรางวัลราซซี่มาถึง 2 รางวัลคือผู้กำกับยอดแย่กับนักแสดงนำหญิงยอดแย่หรือ Shelley Duvall ส่วนตัวไม่เห็นด้วยสักรางวัลเดียวที่ต้องไปชิงเพราะยังไม่เห็นจุดไหนที่เรื่องนี้จะมีข้อเสียไปมากกว่าการไม่ซื่อตรงกับฉบับนิยายกับปมประเด็นที่ไม่ค่อยสานต่อเท่าไร การจะวัดว่าเรื่องนี้มีความสมบูรณ์มากแค่ไหนไม่ใช่แค่องค์ประกอบเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการแสดงของ Jack Nicholson ที่สามารถเอาอยู่ได้ทั้งเรื่องและสมจริงสมจังเกินความคาดหมายจนเรียกว่าเหนือขึ้นไปอีก ที่น่าสนใจเห็นจะเป็น Danny Lloyd เด็กน้อยที่รับบทเป็นแดนนี่ซึ่งกับหนังเรื่องอื่นอาจเป็นแค่เด็กธรรมดา ทว่าเรื่องนี้ทำให้แสดงออกมาเกินเด็กหลายอย่างทั้งฉากตกใจ คุยกับโทนี่ในกระจก หรือจะการละเมอพูด "REDLUM" อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยจนผู้ชมเองก็ตามไม่ทันและตกใจตามเวนดี้ที่มองกระจกสะท้อนเป็นคำ "MURDER" หมายถึงฆาตกรรม
The Shining จัดว่าเป็นหนังผีที่นิ่งแต่สง่ามากที่สุดเรื่องหนึ่งและเป็นที่น่าจดจำในฉากขวานจามประตูที่เหมือนจะไม่มีอะไรไปมากกว่าการดูประตูพังแต่ยิ่งขวานจามมากเท่าไรยิ่งสร้างความหวาดกลัวมากขึ้นเรื่อยๆประกอบการแสดง Jack Nicholson ที่โชว์สปิริตได้อย่างเฉียบขาด สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือเสียงดนตรีอันเป็นพลังขุมใหญ่ที่ช่วยให้แต่ฉากดูมีพลัง น่ากลัว ไม่ไว้ใจ และอันตราย ขนาดที่ว่าไม่น่ามีอะไรยังสร้างความเซอร์ไพรส์ได้ด้วยเสียงจนผู้ชมบางหลายอาจกลัวไปก่อนหนังแล้วก็มี ดังนั้นถ้าอยากได้หนังสยองขวัญสักเรื่องต้องอย่าลืมหยิบเรื่องนี้มาดูเป็นอันขาด ต่อให้ฉากสยองขวัญมีน้อยและมองว่าองค์ประกอบดูเยอะไปบ้างแต่ความน่ากลัวคือการทำให้ผู้ชมกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังได้สนิทกับตัวละครและการเปลี่ยนแปลงทีละขั้นเหมือนค่อยๆสะสมความกลัวจนถึง ณ จุดหนึ่งจะกลายเป็นเรื่องสยองขวัญสั่นประสาทกันเลยทีเดียว งานนี้ต้องยอมรับว่าผู้กำกับ Stanley Kubrick ทำได้คุ่มค่าอย่างมากเพราะให้แสดงกันเป็นร้อยเทคในฉากเดียวแล้วมาคัดฉากที่สมบูรณ์ที่สุดก่อนมาตัดต่อ ในฉบับทั่วไปจะมีความยาวประมาณ 119 นาที ส่วนตัวเต็มจะมีความยาวเพิ่มมาหน่อยเป็น 146 นาที ถ้าใครอยากเสพความหลอนและน่ากลัวกันอย่างครบเครื่องแนะนำหาฉบับเต็มมาดูเพราะจะได้เห็นอะไรกันอย่างเต็มๆสยองกันอย่างไม่หยุด และไม่ต้องกลัวว่าการดำเนินจะอืดยาวเพราะจะมีเซอร์ไพรส์ชวนไม่ให้วางใจอยู่เสมอ