Sympathy for Lady Vengeance (2005) | เธอฆ่าแบบชาติหน้าไม่ต้องเกิด
Director: Chan-wook Park
Genres: Crime | Drama | Thriller
Grade: A-
"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"
นี่คือไตรภาคชุดแก้แค้นของผู้กำกับ Chan-wook Park ที่เริ่มต้นกันที่ Sympathy for Mr. Vengeance (2002) และสานต่อใน Oldboy (2003) โดยยึดแกนหลักสำคัญของเนื้อหาคือการแก้แค้น ในส่วนของเรื่องราวจะไม่ต่อเนื่องหรือประติดประต่อกลายเป็นหนังคนละเรื่องที่มีเนื้อหาทับซ้อนแค่การล้างแค้นเท่านั้น ฉะนั้นการจะหยิบภาคใดภาคหนึ่งมาดูก่อนหรือหลังย่อมไม่ส่งผลกระทบใดๆทั้งสิ้น ยกเว้นในเรื่องของการแฝงนัยยะตัวละครที่พบว่ามีการใช้นักแสดงคนเดิม และเมื่อใช้นักแสดงคนเดิมจะทำให้เห็นนัยยะแฝงที่พยายามอิงความสัมพันธ์บางอย่างจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เคยเป็นตัวละครในหนังเรื่องนั้น บางคนเคยเป็นคู่แค้นได้กลายเป็นเพื่อน บางคนคือผู้ล้างแค้นกลายเป็นผู้ถูกกระทำ บางคนคือผู้พรากชีวิตของใครสักคนได้ถูกพรากคนสำคัญไป บางคนคือเหยื่อของความแค้นที่กลายเป็นต้นเหตุ สิ่งเหล่านี้เสมือนวัฏจักรที่วนเวียนราวกับกรรมที่สนองในสิ่งที่กระทำ จะเกิดก่อนหรือเกิดหลังก็ได้ แต่สุดท้ายยังเป็นเรื่องที่วนเวียนไม่จบสิ้น
ลี กึมจา (Yeong-ae Lee) ผู้หญิงวัย 19 ปี ที่มีใบหน้าสวยงาม มีความอ่อนโยน จนหลายคนแทบไม่เชื่อสายตาว่าจะเป็นคนที่ฆ่าเด็กชาย 5 ขวบ ซึ่งนั้นทำให้เธอต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา 13 ปี จนกระทั่งเวลาได้ล่วงเลยไปถึงวันที่ได้อิสระพ้นโทษทำให้แผนที่วางเอาไว้ได้ดำเนินต่อทันที แต่ก่อนจะครบกำหนดโทษเคยได้รับฉายา"แม่มด" ที่มาของชื่อมาจากความมหัศจรรย์ที่ช่วยจัดการนักโทษหญิงคนหนึ่งที่ระรานคนอื่นไปทั่วจนเป็นที่น่าหวาดกลัวสำหรับนักโทษหญิงคนอื่น ความอึดอัดนี้ได้ส่งผลต่อนักโทษทุกคนจากการเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ไม่อาจปฏิเสธแม้ต้องถูกใช้งานราวทาส ทว่าในขณะที่ทุกคนต้องทรมานกับการถูกกดขี่มีเพียงกึมจาเท่านั้นที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยเป็นเบื้องล่างใครแต่อย่างใด ทุกครั้งที่ใครถูกรังแกจะมีกึมจาที่คอยเอาคืนให้โดยไม่มีใครรู้แม้กับคนโดนเองก็ตาม แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือฆ่าที่แสนนิ่มนวล เป็นการเอาคืนที่ใช้เวลาสะสมถึง 3 ปีอย่างไม่รีบร้อน จนที่สุดปัญหาได้หมดไปไม่หลงเหลือความกวนใจแก่ใครได้อีก ทุกคนเสมือนได้รับพรที่อยากได้มานาน ซึ่งนั้นเองที่ทำให้รับฉายาเพิ่มอีกอย่างเป็น"กึมจาผู้แสนใจดี"
สาเหตุที่ใครๆเรียกกึมจาผู้แสนใจดีเพราะความอารีดังแม่พระที่ช่วยเหลือทุกคนอย่างไม่สนว่าจะหนักหนาหรือลำบากแค่ไหน การเป็นคนใจบุญอุทิศตนเพื่อความดีกลายเป็นความแปลกที่ผิดกับตอนตัวเองที่เข้าคุกเป็นคนละคน แต่รู้ไหมว่าการตัดต่อหนังเลือกจะเล่าได้อย่างสับสนสลับไปมาจนเดาใจกึมจาได้ยาก ในตอนต้นเรื่องได้กล่าวถึงกึมจาในวันพ้นโทษที่มีการฉลองสำหรับนักโทษเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่สิ่งที่ลงรายละเอียดไปนั้นคือความต้องการของหลวงพ่อ (Byeong-ok Kim) ที่มองกึมจาคือนางฟ้าและอยากช่วยให้กลับมาเป็นสิ่งที่สวยงามด้วยความดี กึมจาได้ทำทุกอย่างที่หลายคนยอมรับดังผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้รับการเชิดชูจากโลกที่สดใส กึมจาเปิดใจที่จะยอมรับศาสนาเข้าสู่วิถีชีวิตและปฏิบัติตามอย่างไม่ขัดขืน การอยู่ในคุกทำให้กึมจาเป็นผู้หญิงที่เปล่งประกายกว่าทุกคน นี่จึงเป็นฉายาที่บ่งบอกถึงความดีที่แสนงดงามของเธอ
คำว่าเปล่งประกายหมายถึงความโดดเด่น อีกแง่คือความงดงามของความดีที่มุ่งสู่แสงสว่างจนสมคำเรียกเปล่งประกาย ทว่าสิ่งที่แฝงมากับความดีเป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นจากฉากหน้าเพื่อให้เลื่อมใสศรัทธา สำหรับเบื้องลึกในตัวกึมจายังคงเป็นกึมจาที่เต็มไปด้วยความแค้นที่รอวันนั้นมาถึง ในวันปล่อยตัวจะมีประเพณีเกี่ยวกับนักโทษที่ได้รับเต้าหู้สีขาวที่ต้องกินก่อนจะไปใช้ชีวิตอย่างอิสระ ด้วยความเชื่อมั่นว่ากึมจาคือผู้หญิงที่งดงามกลับเนื้อกลับตัวจะต้องรับเต้าหู้ที่สะอาดนั้นด้วยความปลื้มปิติ แต่กึมจาไม่ได้กินเต้าหู้ก่อนนั้นแต่อย่างใดและไม่สนใจด้วยซ้ำว่าจะเป็นของที่มีค่าแค่ไหน เธอเลือกปัดเต้าหู้ตัวแทนแห่งความบริสุทธิ์ลงพื้นอย่างไม่แคร์สายตาใครสักคนเดียว กึมจาไม่รับความขาวสะอาดให้แก่ตัวเองเพื่อหลอกลวงอีกต่อไป นับวันที่ก้าวออกจากคุกทำให้กึมจากลับมาเป็นตัวของตัวเองที่จมปลักกับการล้างแค้นที่ไม่มีหมดไปแม้จะยาวนานถึง 13 ปี
รู้สึกได้อารมณ์เหมือนถูกตบหน้าเข้าอย่างจังเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะกึมจาที่มีความโดดเดี่ยวและเด็ดเดี่ยวในการใช้ชีวิต ยิ่งช่วงแรกของหนังที่เล่าชีวิตตอนตัวเองอยู่ในคุกเหมือนได้พลังปลุกใจสมกับฉายาที่ถูกตั้งขึ้น แต่ฉายาทั้งสองไม่ได้เกิดเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเนื่องจากต่างเป็นขั้วคนละด้านที่ต่างกัน ฉายากึมจาผู้แสนใจดีมาจากด้านดีที่แสดงให้ทุกคนเห็น แต่ความดีที่ทำไม่ได้แปลว่าจะดีจริงๆเพราะหมายถึงทำให้ทุกคนรู้สึกดีรู้สึกพอใจ ขณะที่ฉายาแม่มดมาจากความแปลกประหลาดที่เหมือนควบคุมให้เป็นตามต้องการได้อย่างไม่ระแคะระคาย ด้วยเหตุนี้เมื่อกึมจาออกจากคุกและดำเนินแผนล้างแค้นจึงมีแต่คนให้การสนับสนุนช่วยเหลือเป็นการทดแทนบุญคุณที่เคยให้คุกที่แสนอึดอัดกลายเป็นสวรรค์ได้ แผนที่ดำเนินมาตลอดหลายปีได้เป็นรูปเป็นร่างจนรู้ว่าต้องทำยังไงต่อไป แผนจะจบที่กึมจาได้ล้างแค้นอย่างสำเร็จดังฝันที่ลากเอาไว้ในดินแดนหิมะ
ในฉากกึมจาลากเกวียนลุยแดนหิมะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในความฝัน เป็นความฝันที่ได้ชำระแค้นด้วยปืนโบราณกระบอกหนึ่งที่ได้ลั่นไกใส่หัวของคนที่เธอแค้นที่อยู่มีสภาพไม่ต่างกับหมาตัวหนึ่งที่ผูกติดกับไม้จนรวมตัวเป็นเกวียนที่ขยับไปไหนไม่ได้นอกจากหางกับหัวที่ยื่นออกมา ความรุนแรงที่แสนสุขคือความปรารถนาของกึมจาที่ได้ชดใช้ความเจ็บปวดที่ตัวเองทนมานาน แต่นั้นเป็นเพียงความฝันที่ได้ลงมือด้วยตัวเองเพราะในชีวิตจริงไม่ได้ง่ายหรือตัวคนเดียวอย่างที่คาดเอาไว้ เพราะว่าเธอมีเจนนี่ (Yea-young Kwon) ลูกสาวที่พบว่ายังมีชีวิตอยู่ ลูกของกึมจาที่เกิดโดยไม่รู้ว่าแม่ที่แท้จริงคือใครหรืออยู่ไหน ลูกที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับแม่ที่แท้จริงว่าเพราะอะไรถึงทิ้งหนูไป แน่นอนว่าเมื่อรู้ตัวตนของลูกสาวอยู่ที่ไหนจึงได้ตามไปที่แห่งนั้น ซึ่งลูกสาวของกึมจาได้รับการเลี้ยงดูโดยคนต่างชาติที่กลายเป็นครอบครัวอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว แต่กึมจาไม่ได้ร้องขอทวงคืนลูกสาวตนแต่อย่างใดนอกจากขอพบเพียงเท่านั้น ด้วยเหตุที่ดีใจและอยากเจอลูกสาวตัวเองแม้จะกลายเป็นคนในครอบครัวอื่นก็ไม่หวั่นว่าจะถูกรังเกียจหรือทำให้ตนเองเสียใจ สิ่งที่ทำนั้นเป็นการชดเชยเวลาที่เสียไปกับความสุขที่ได้อยู่กับลูกสาวตัวเอง เวลาที่งดงามของแม่กับลูกก่อนจะจมปลักสู่ความทุกข์ระทมด้วยความแค้น
พอมาถึงจุดที่กึมจามีลูกสาวกับแค้นที่ต้องชำระทำให้รู้สึกว่าพล็อตเรื่องไม่ได้ซับซ้อนหรือชวนให้อึ้งในเนื้อเรื่องแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ต้องยกนิ้วให้คือการตัดต่อที่ให้เรื่องราวออกมาให้เข้มข้นและเต็มไปด้วยความแค้นที่แสนเจ็บปวด กระนั้นเชื่อหรือไม่ว่าในช่วงที่มีความสุขกับลูกสาวคือช่วงเวลาที่น่าเจ็บใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน การมาพบลูกสาวเท่ากับการมาพบปัญหาอย่างหนึ่งที่กลายเป็นสิ่งที่คั่นความสัมพันธ์แม่ลูกที่ไม่รู้ว่าจริงมากน้อยแค่ไหน สำหรับกึมจาได้แสดงให้เห็นถึงความรักจากควาพยายามหาข้อมูลของลูกตัวเองจนเจอ ในทางตรงกันข้ามสำหรับลูกสาวที่ใช้ชีวิตกับครอบครัวตัวปลอมจะรู้สึกถึงความรักได้อย่างไร ครอบครัวที่ไม่ได้ให้กำเนิดหรือมีเชื้อสายเดียวกันกลายเป็นสิ่งที่อยู่นอกเรื่องราวทั้งหมดเพราะคำถามที่ว่าตัวเองมีแม่หรือไม่มีแม่กันแน่ แต่พอรู้ว่ามีแม่และมาหาเอาดื้อๆทั้งที่ไร้ข่าวสารมาตลอดหลายปีจึงกลายเป็นบ่อสะสมความแค้นที่เติบโตไปตามวัย แค้นแม่ตัวเองที่ทิ้งกันไปโดยไม่รู้จะกลับไปรักได้อีกหรือไม่
เบ็ก (Min-sik Choi) ตัวการของความแค้นกึมจาที่มีฉากหน้าเป็นครูสอนเด็กเล็กแต่เบื้องหลังคือครูจอมโฉดที่ฆ่าเด็กมาแล้วหลายรายอย่างเลือดเย็น ถ้าจะเสียดายจุดไหนก็ต้องเป็นเรื่องของมิติตัวละครที่ไม่ได้กล่าวลึกซึ้งอะไรมากนอกจากเป็นการตัวการของเรื่องทั้งหมด สิ่งที่เห็นเป็นเพียงด้านมืดด้านเดียว เราเริ่มรู้จากสิ่งที่นี้จากกึมจาที่เล่าย้อนอดีตให้กึนชิก (Shi-hoo Kim) ได้ฟัง เริ่มตั้งแต่สมัยอายุ 18 ปียังอยู่มัธยมปลายที่โทรมาครูว่าตัวเองท้อง จากบทสนทนาไม่รู้ว่าคุยกับใครเพราะเป็นการคุยผ่านโทรศัพท์สาธารณะที่อยู่ข้างตู้กระจกปลา ความร่มเย็นสีฟ้าภายใต้ดินแดนจำกัดด้วยกระจกหนาเป็นสื่อถึงหนทางที่ไร้ทางตันไม่เหลือว่าจะพึ่งใครได้นอกจากตัวเอง ซึ่งกึมจาในขณะนั้นได้บอกครูว่าท้องแต่ไม่เลือกจะเล่าให้พ่อหรือแม่ฟังเพราะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม สำหรับหัวอกผู้หญิงย่อมหนีไม่พ้นการไปหาคนที่เธอยอมเสียสละมอบร่างกายให้ เดาไม่ยากหรอกว่าใครทำให้กึมจาท้องเพราะคนนั้นคือครูเบ็ก หนทางจะไปต่อคือการไปขออยู่กับคนที่ทำเธอท้อง ทว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นไม่อาจรู้ได้ชัดเจนเพราะไม่นานจากนั้นถึงได้กลายเป็นฆาตกรฆ่าเด็ก
เป็นได้หรือไม่ที่ช่วงเวลาของกึมจาที่ต้องทำหน้าที่ดูแลลูกเพราะความเป็นแม่จะฆ่าเด็กคนอื่นได้ลงคอ คำตอบไม่รู้แน่ชัดแต่รู้ชัดเจนว่าคนที่มีเอี่ยวด้วยคือเบ็ก สำหรับกึมจากับเด็ก 5 ขวบคือความเศร้าที่สะเทือนใจของเธอและกลายเป็นตราบาปติดตัว บาปนั้นจะหายไปเมื่อได้แก้แค้นตามที่ต้องการ ไม่แปลกใจที่เต้าหู้คือของส่วนเกินที่ไม่มีทางกินได้ลง การเข้าคุกของกึมจาคือช่วงเวลาปรับตัวให้ตัวเองเป็นดั่งแม่พระ ไม่มีใครคิดสงสัยว่าเธอคือความชั่วร้ายมาก่อน หลังจากออกจากคุกมีหลายสิ่งที่ต้องทำมากมาย โดยเฉพาะการไปขอโทษพ่อแม่ของเด็กที่เข้าใจว่าเธอคือคนฆ่าอย่างเลือดเย็น การขอโทษที่ลงทุนลงแรงขนาดตัดนิ้วของตัวเองเพื่อพิสูจน์ว่ายอมรับในความบาปของตัวเองและให้เชื่อมั่นว่าเรื่องนี้มีใครสักคนต้องรับผิดชอบ หลังจากนั้นคือหางานทำด้วยการเป็นเซฟทำเค้ก จากความเชื่อที่ว่ารสชาติต้องแย่เพราะเป็นคนเลวติดคุกกลายเป็นว่าเกิดรสชาติที่เหนือความคาดหมาย ซึ่งนั้นทำให้กึมจาได้งานนี้อย่างไม่มีข้อสงสัย
จากส่วนผสมของความเลวที่เชื่อว่ารสชาติแย่ไม่ต่างกับค่านิยมความเชื่อเกี่ยวกับคนที่มีประวัติก่ออาชญากรรมจะต้องเป็นคนไม่ดีอยู่ร่ำไปทำให้เกิดความหักล้างที่น่าตะลึงใจเพราะเค้กที่ทำขึ้นมีความอร่อยจนน่าจะเป็นของดีเกินกว่าคนเลวจะสร้างรสชาติแบบนี้ขึ้นมาได้ การดูคนต้องดูลึกถึงก้นบึ้งคงมีเพียงชอย (Il-woo Nam) นักสืบที่ทำคดีของกึมจาที่รู้ว่าเธอเป็นเพียงแพะรับบาปเท่านั้น แต่ด้วยหลักฐานที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทำให้กึมจาตัดสินยอมรับโชคชะตาของตัวเอง ในวันทำแผนการฆ่าให้นักข่าวและตำรวจได้ดูจะเห็นว่าถึงความไม่รู้ของกึมจาที่จะยังไงต่อไป ซึ่งชอยที่ยืนอยู่ห่างๆได้บอกใบ้บางอย่างให้เห็นด้วยการเอานิ้วไปถูที่นาฬิกาที่มีสีน้ำตาล กึมจาที่เห็นจึงรู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไปในการเลือกหมอนใบสีไหน ทว่าในความตกใจที่หลายคนเห็นกึมจาลงมือทำแผนการฆ่าด้วยการใช้หมอนปิดหน้ามีเพียงชอยที่มองเห็นต่างออกไป ทุกคนเห็นการกระทำที่โหดเหี้ยมในการฆ่าเด็ก แต่ชอยเห็นความทุกข์ทรมานที่ล้นออกมาจนเป็นการระบายขนาดที่ว่าเขาเองยังต้องยอมรับในความเจ็บปวดนี้
นับตั้งแต่ทุกคนรู้จักกึมจาในคุกและได้อิสระไปใช้ชีวิตของตัวเองก็ไม่ลืมว่าใครคือกึมจา หลังจากกึมจาออกจากเรือนจำก็ได้ไปเยือนอดีตเพื่อนคุกต่างๆเพื่อขอความช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆเสมือนการขอน้ำใจที่เคยให้ไว้ สิ่งนี้เหหมือนแผนที่วางไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องได้อะไรบ้างจากใครเพราะทุกคนต่างให้ความร่วมมืออย่างดี สาเหตุที่ให้ความร่วมมือมีส่วนร่วมในการแก้แค้นไม่ใช่เพราะสิ่งที่กึมจาเจอมาแต่เป็นเรื่องที่พวกเขาได้รับขณะอยู่ในคุก จะสังเกตว่าแม้กึมจาจะเป็นความเด็ดเดี่ยวที่ไม่มีใครแต่ทุกคนต่างอยู่เคียงข้างเธอเสมอ ไม่มีใครปฏิเสธเธอได้เมื่อต้องการขอให้ช่วย และเมื่อทุกอย่างพร้อมก็นำไปสู่การให้ความเจ็บปวดที่สาสม การแก้แค้นที่ตั้งใจว่าจะจบลงที่ตัวเธอแต่ไม่นึกคิดว่าจะมีคนที่แค้นเช่นเดียวกัน จะต่างแค่ไม่รู้จะไปแค้นใครเพราะบอกไม่ได้ว่าใครคือคนที่ตัวเองแค้น
หลังจากดำเนินตามแผนจับตัวเบ็กมาได้อย่าง่ายดายทำให้รู้ว่าเด็กชายที่เคยเป็นเหยื่อให้กึมจาเป็นแพะรับบาปไม่ได้มีแค่คนเดียว ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ต้องเป็นเหยื่อให้กับครูโฉดคนนี้ นั้นเองที่ทำให้กึมจารู้สึกอึดอัดที่ไม่ได้ระบายออกหมดตามที่หวังไว้ ในทางกลับกันความแค้นที่เกาะกินจิตใจดูจะไม่หนักแน่นสมัยตอนตัวคนเดียว ในตอนนี้กึมจามีลูกสาวที่คอยตามเธออยู่เบื้องหลัง เป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในโลกที่โหดร้าย การตัดสินใจของกึมจาเหมือนล่อเหยื่อที่เข้าหาลูกสาวตัวเองโดยลืมความรู้สึกของลูกจะคิดแบบไหน นึกว่าเจอหน้าได้ใช้ชีวิตร่วมกันสั้นๆคงเพียงพอให้ตัวเองเข้าโลกที่ดำมืดได้อย่างเข้มแข็ง ฉากที่น่าตกใจคงไม่พ้นการเถียงกันของสองแม่ลูก โดยเจนนี่ได้กลิ้งลูกโลกมาหาแม่แล้วบอกอยากไปเกาหลี แน่นอนว่ากึนจาที่รู้ว่าจะเป็นยังไงหากพาลูกไปด้วยจึงปฏิเสธคำขอนั้นแม้จะถูกย้ำถามหลายรอบ ฉากถัดมาคือความตกใจเมื่อเจนนี่ใช้มีดจ่อไปที่ลำคอโดยที่พ่อ (Tony Barry) แม่ (Anne Cordiner) ชาวออสเตรเลียไม่สามารถทำอะไรเพราะตกตะลึง ขณะเดียวกันกึมจาได้แต่ทรุกเข่าลงกับพื้นราวกับเป็นความผิดพลาดที่มาหาลูก สุดท้ายความปรารถนาของเจนนี่ได้เป็นจริงที่ได้อยู่กับแม่แท้ๆโดยไม่มีคำถามคาใจเกี่ยวกับมีหรือไม่มีแม่อีกต่อไป
การได้รู้ความจริงในสิ่งที่เบ็กทำนั้นทำให้กึนจาไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากขอความช่วยเหลือจากชอยให้ตรวจค้นบ้านของเบ็กเพื่อหาหลักฐานเกี่ยวกับเหยื่อรายอื่น ในตรงนี้มีประเด็นที่ซ่อนอยู่เกี่ยวกับอดีตของกึนจาที่รู้สึกผิดในการตายของเด็กชายวัย 5 ขวบที่ตัวเองมีส่วนจบชีวิต ความซึมเศร้าที่ยังอยู่ในจิตใจทำให้เลือกเก็บลูกแก้วสีแดงจากสายห้อยพวงกุญแจที่โทรศัพท์ของเบ็กเอาไว้เป็นการส่วนตัว ซึ่งจำนวนสิ่งที่ห้อยมีความนัยคือจำนวนเด็กที่ถูกฆ่า ซึ่งนี้เองที่ทำให้มั่นใจว่ายังมีเหยื่อรายอื่นอีกที่ถูกเบ็กฆ่าอย่างลอยหน้าลอยนวลไปได้ทุกครั้ง ทั้งนี้แผนฆ่าเด็กไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่เกิดขึ้นเพราะเป็นเรื่องการลักพาตัว เบ็กลักพาตัวเด็กมาแล้วฆ่าขณะอัดวีดีโอไปด้วย การลักพาตัวเพื่อจะได้เงินแต่ไม่สนว่าเด็กจะเป็นหรือตาย ประเด็นคือจะเอาเงินไปทำไมมากมาย ประเด็นที่สงสัยและได้คำตอบว่านำไปซื้อเรือยอร์ช อะไรคือการซื้อเรือยอร์ช เบ็กจะใช้ในการหลบหนีด่วยการท่องทะเลอย่างงั้นหรือ? หรือจะไม่ใช่เพราะเบ็กไม่เคยหลบหนีซุกซ่อนเลยสักครั้ง การกระทำของเขาไม่ได้เป็นที่น่าสงสัยเพราะเด็กที่เลือกมาจากเด็กที่อยู่คนละห้องกับที่ตัวเองสอน เมื่อพอใจแล้วก็ย้ายโรงเรียนไปที่อื่นหาเหยื่อรายต่อไปและเรียกค่าไถ่แบบนี้ไปเรื่อยๆ สำหรับเรือยอร์ช ไม่รู้หรอกว่าจริงหรือเท็จเพราะคนที่บอกคือกึมจา
เมื่อพบหลักฐานที่อัดวีดีโอของเหยื่อเอาไว้ทำให้กึมจาใช้วิธีกระจายความแค้นออกไปแก่ครอบครัวที่ลูกตัวเองตกเป็นเหยื่อด้วยการนัดนั่งประชุม โดยอยู่ภายใต้การดูแลและเป็นความลับจากชอยและกึมจาที่เห็นด้วยกับการทำแบบนี้ อย่างแรกคือการทำให้เชื่อในสิ่งที่เกิดขึนกับลูกของตัวเองด้วยการดูวีดีโอทั้ง 4 เทป ซึ่งเท่ากับเหยื่อเด็ก 4 รายที่ถูกเบ็กฆ่าอย่างเลือดเย็น หลังจากจบการดูวีดีโอของลูกตัวเองจบทำให้เห็นว่าความเลวร้ายที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นเรื่องสะเทือนอารมณ์แทงเข้าถึงหัวใจที่ผ่านไปนานแต่ไหนยังรักลูกและเครียดแค้นตัวการไม่เปลี่ยนแปลง เหตุนี้จึงเกิดประชุมจะทำอะไรต่อไป จะปล่อยให้เป็นเรื่องของตำรวจกับศาลลงโทษหรือจะจบทุกอย่างลงตอนนี้เวลานี้ด้วยการตัดสินโทษเอง
ฉากนั่งประชุมครอบครัวที่ตกเป็นเหยื่อกลายเป็นความขลังที่ดูหนักแน่นสมจริงจนเกิดอาการแค้นไปตามๆกัน ที่เด็ดคือการถกเถียงจะทำอะไรดีกับวายร้ายที่พรากลูกและชีวิตแสนสุขของครอบครัว แน่นอนว่ากับความแค้นระดับนี้ต้องเลือกจบทุกอย่างลงตอนนี้เลยเสียดีกว่า บางทีการปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมายก็ใช่จะจบลงอย่างเหมาะสม เมื่อถึงเวลาก็รอดกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งและอาจก่อเหตุการณ์แบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าก็เป็นได้ การเสียดสีความถูกต้องที่อ้างอิงตามกฎหมายและศีลธรรมคือบทสนทนาที่ยิ่งฟังยิ่งรู้สึกความโหดร้ายคือความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คำว่าจบลงตรงนี้หมายถึงการปลิดชีวิตฆาตกรโรคจิตที่ฆ่าลูกตัวเอง เมื่อได้คำตอบเป็นเสียงเอกฉันท์ก็ถึงคราวลงมือ ทว่าการถกเถียงที่เหมือนจะเข้าใจกันแล้วกลายเป็นความไม่ลงรอยต่อกัน การแก้แค้นที่หมายถึงการเอาชีวิตคนๆเดียวจากหลายคนควรทำอย่างไรให้สาแก่ใจ จะเข้าไปพร้อมกันทีเดียวหรือแยกเป็นครอบครัวทีละชุด แต่จะยังไงเสียเรื่องจบลงที่การตายอยู่ดี
เราจะไม่ได้เห็นครอบครัวทำอะไรกับคนที่ฆ่าลูกตัวเองนอกจากการเตรียมความพร้อมเรื่องอาวุธที่ใช้กับเสื้อกันฝนที่นำมากันเลือดที่สาดกระเด็นแทน ความน่ากลัวของเรื่องนี้มีทิศทางที่ตรงกันข้ามระหว่างคนสร้างต้นเหตุกับคนจบเรื่องราวที่ให้ความโหดที่น่าสยดสยองกันคนละแบบ กระนั้นในแง่ของจิตใจการฆ่าเด็กย่อมมีความโหดเหี้ยมมากกว่าเป็นเท่าตัวอยู่แล้ว การจะฆ่าใครสักคนถือเป็นเรื่องเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับชีวิตเด็กที่เสียไปถึง 5 คน(รวมเด็กที่กึมจามีส่วนเอี่ยวด้วยคนหนึ่ง) ในฉากนี้จะได้เห็นการนั่งเรียงต่อคิวเพื่อเข้าไปชำระแค้นทีละครอบครัวซึ่งผ่านการสุ่มจับสลากเป็นที่เรียบร้อย แต่ความตลกได้เกิดขึ้นเพราะคนที่ไม่อยากลงมือทำดันได้ก่อนเป็นชุดแรกเหมือนแกล้งให้ต้องทำเท่านั้น หลังจากเข้าไปและออกมาคือความสยองที่หลายคนยังต้องอึ้งเพราะสภาพก่อนเข้าไปกับหลังจากกลับมาเต็มไปด้วยเลือดจากอารมณ์ความแค้นที่ระบายออกมา ยิ่งเข้าไปมากยิ่งเต็มไปด้วยเลือดที่สาดนอง ทั้งนี้การแก้แค้นด้วยการทรมานจากครอบครัวของเหยื่อที่ถูกฆ่ามีข้อบังคับตรงที่อย่าให้ตายเสียก่อนเนื่องจากยังมีคิวที่รอระบายความแค้นอีกหลายคน
เป็นการล้างแค้นที่มีความสามัคคีจนน่าจกใจไม่น้อย อีกทั้งยังแสดงเห็นว่าคนเรายอมทำได้ทุกอย่างเพื่อให้สาสมแก่ใจตัวเอง แต่หนึ่งในความเจ็บปวดที่อยากระบายไม่ได้แสดงออกเต็มที่อย่างกึมจาทำให้รู้สึกเหมือนมีความค้างคาใจ ฉากฝังศพหลังจากลงมือช่วยกันทรมานและปิดท้ายด้วยการฆ่าจากนั้นทำความสะอาดฝังหลักฐานได้แสดงบางอย่างเกี่ยวกับกึนจาที่ขอเวลาเอาคืนเพียงไม่กี่วินาทีกับการใช้ปืนที่ตัวเองสั่งทำขึ้นยิงที่ใบหน้าของคนที่ทำให้เธอทรมานยาวนานหลายปี ความแค้นที่แสนหนักแน่น ความเจ็บปวดที่ทนทุกข์มานานจะจบลงง่ายเพียงนี้เชียวหรือ? คำตอบนี้อาจจะใช่ในมุมมองของผู้ชมที่ไม่ได้รู้สึกว่าจะมีการไล่ล่าที่แสนเข้มข้นหรือชิงไหวพริบแต่ประการใด หนำซ้ำแผนที่วางเอาไว้ไม่ได้ดูซับซ้อนขนาดต้องรู้สึกหักมุมแต่อย่างใด ในมุมมองของกึนจาก็เช่นเดียวกันหลังจากจบความแค้นที่ตัวเองเก็บมานานได้กลายเป็นความว่างเปล่าเพราะไม่หลงเหลืออะไรเลย สิ่งที่เธอคิดทบทวนคือบาปของตัวเองเกี่ยวกับเด็กชายที่มีส่วนเอี่ยวในการฆ่า เด็กที่เติบโตในใจของกึนจาที่อยากให้การอภัยแต่ทำยังไงก็ไม่อาจได้สิ่งนั้นมา
ลูกแก้วสีแดงที่เก็บมากับตัวคือของเล่นตัวแทนของเด็กชาย 5 ขวบที่ทำให้เธอรู้สึกละอายตัวเองในสิ่งที่เกิดขึ้น ความรู้สึกผิดในสิ่งที่ทำและอยากขอโทษ การสำนึกบาปเปรียบเสมือนการยอมรับตัวตนในด้านไม่ดีเพื่อสิ่งที่ดีกว่า คล้ายศาสนาคริสต์ที่พ้นจากบาปที่ตัวเองก่อขึ้นด้วยการสารภาพบาป กึนจามี 2 ด้านในตัวเอง โดยด้านแรกคือความใสสะอาดและปล่อยวาง ส่วนด้านที่สองเป็นความแค้นและยึดติด กึนจาเลือกด้านความแค้นมาตลอดเพื่อให้ตัวเองเข้มแข็งต่อโลกที่โหดร้ายและเพื่อการเอาคืนอีกด้วย เช่นเดียวกันด้านแรกยังมีหลงเหลือในจิตใจอยู่บ้างทุกครั้งที่ได้อยู่กับลูก มีความสำนึกอยากขอโทษลูกที่ไม่ได้ดูแล อยากจะใช้เวลากันแต่เรื่องดีๆ ดังนั้นไม่แปลกใจที่ฉากสุดท้ายจะลงเอยแบบเดียวกันกับตอนเปิดเรื่องที่มีความสัมพันธ์อยู่ที่เต้าหู้สีขาวก้อนหนึ่ง ครั้งแรกเคยปัดทิ้งลงพื้นเพราะตัวเองความไม่สนใจ ในใจของกึนจาเต็มไปด้วยด้านมืดที่หวังต่อการแก้แค้นอย่างสาสม พอมาครั้งที่สองมีความต่างกันเล็กน้อยที่เธอเป็นคนซื้อด้วยตัวเองผิดจากที่เคยเป็นผู้ได้รับ ครั้งนี้ได้มอบให้เจนนี่ลูกสาวของตัวเองที่มีความเกลียดแม่อยู่ที่ก้นบึ้งจิตใจ เจนนี่ได้ชิมเต้าหู้ก้อนนั้นด้วยความตั้งใจเพราะเวลานี้ไม่มีความแค้นอะไรต่อแม่ที่ทิ้งลูกเนื่องจากเข้าใจหัวอกของแม่
ทุกอย่างจบลงอย่างไม่เป็นความฝันทั้งที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงสร้างปืนเพื่อหวังจ่อยิงด้วยความตั้งใจรอ แม้จะสำเร็จตามรูปแบบนั้นทว่าก็เมื่อจบจากความแค้นของผู้อื่นเสียแล้ว แบบนี้แค้นของกึนจาที่เก็บเอาไว้จะคู่ควรต่อสิ่งที่เธอทำหรือไม่ คำตอบคือไม่อย่างแน่นอน ความแค้นไม่ใช่หนทางที่ทำแล้วสบายใจขึ้นมาเลย ยังวนเวียนซ้ำซากเป็นความทุกข์ใจตลอดเวลา ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งเดียวที่ยุติความแค้นได้คือการให้อภัย กึนจาก็เช่นกันกับเจนนี่ที่ชิมเต้าหู้ แต่ต่างที่หลังจากนั้นได้เอาหน้าลงเต้าหู้ด้วยการละเลงเหมือนปลดปล่อยอารมณ์ ร้องไห้เพราะเสียใจ ร้องไห้เพราะดีใจ ร้องไห้ต่อเรื่องที่ผ่านพ้นมา จะร้องไห้แบบไหนไม่อาจทัดเทียบได้กับร้องไห้เพื่อตัวเองที่สำนึกการสูญเสียเวลา 13 ปีว่าเนื้อแท้ของเวลาดังกล่าวคือการให้อภัยไม่ใช่งมงามกับการแก้แค้น ด้วยเหตุนี้วัฏจักรของกรรมจึงได้จบลงอย่างสวยงามและปิดไตรภาคได้อย่างสมบูรณ์เพราะกึนจาสำนึกและเข้าใจผลของการให้อภัยแล้วแม้จะมีความเจ็บอยู่บ้างก็ตาม
หลังจากนี้จะเป็นการสปอยด์ที่มากขึ้นโดยนำไตรภาคมาผูกเป็นเนื้อเดียวกัน ฉะนั้นหากยังดูไม่ครบไตรภาคแนะนำข้ามไปอ่านต่อที่สองย่อหน้าสุดท้ายไปได้เลย
Sympathy for Mr. Vengeance = จุดเริ่มต้นการของแก้แค้น/ประมาท,ไม่ให้อภัย
Oldboy = ต้นตอความแค้น/ไม่ได้ตั้งใจ,ไม่ให้อภัย
Sympathy for Lady Vengeance = ชำระการแก้แค้น/ไม่ให้อภัย,ให้อภัย
ไตรภาคแก้แค้นที่มีเนื้อเรื่องไม่เกี่ยวกันแต่สามารถเชื่อมโยงต่อกันดังกระจกสะท้อนที่กระทบไปมาทั้ง 3 บาน แต่ละบานจะเป็นตัวแทนของเรื่องราวนั้นและส่งผลต่ออีกบานโดยจะได้ทั้งเรื่องตรงข้ามและผลลัพธ์ต่อมา เริ่มจากเรื่องแรกที่เกี่ยวโยงถึงการแก้แค้นอย่างเป็นลูกโซ่จากความประมาทของตัวเองที่เชื่อใจมากเกินไปจนเป็นการทำร้ายตัวเอง ซึ่งเรื่องได้พัวพันถึงการลักพาตัวเด็กของริวเพื่อนำเงินค่าไถ่ไปใช้ในการผ่าตัด แต่พลาดที่ทำให้เด็กตายจนเป็นควา สะเทือนใจของดองจินที่ตามแก้แค้นและได้ฆ่าแฟนของริว หลังจากนั้นทำให้ริวแค้นดองจินและดองจินแค้นริว จากประเด็นของทั้งสองคือศัตรูคู่อาฆาตที่ไม่มีวันยกโทษให้ไม่ว่ายังไงก็ตาม ซึ่งปมที่ให้ไว้ชัดเจนจนน่าตลกหรือตลกร้ายคงไม่ผิดเพราะใน Sympathy for Lady Vengeance ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนร่วมงานที่ท่าทางจะสนิทสนมกันดี ดังที่ว่าเกลียดสิ่งไหนย่อมได้สิ่งนั้น ทว่าชีวิตทั้งสองไม่ยั่งยืนเพราะต้องจบชีวิตลงด้วยฝีมือของกึนจาที่ดูไม่ต่างกันเท่าไรใน Sympathy for Mr. Vengeance ที่ดองจินต้องตายด้วยฝีมือกลุ่มปฏิวัติของแฟนริว ขณะที่ริวตายเพราะจมน้ำเนื่องจากฝีมือของดองจิน ทว่าริวที่กลับมาเกิดเพื่อรับจ้างลักพาตัวกึนจาต่างออกไปที่ไม่ได้จบชีวิตลงจริงๆ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะปืนที่กึนจาใช้สามารถยิงได้เพียงสองครั้ง ครั้งแรกใส่ยิงหัวดองจินหรืออีกรูปลักษณ์อวตารในบทรับจ้างลักพาตัว ครั้งสองยิงใส่มือริวจนขาด แต่บอกไม่ได้ว่ามียังมีชีวิตอยู่หรือนอกจากมือที่กระเด็นตามอนุภาคความรุนแรงของปืน
ข้อสังเกตทำไมถึงรู้ว่าใครเป็นใครจากคนละเรื่องคนละราว ข้อนั้นดูได้จากนักแสดงที่ใช้ซ้ำคนไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ใครคือตัวเด่นตัวหลักจะไปโผล่ได้อีกเรื่องหนึ่ง บางทีตัวประกอบยังมีผลส่งต่อได้อีกเรื่องหนึ่ง เช่น ครอบครัวใน Sympathy for Mr. Vengeance ที่ลูกตัวเองถูกฆ่า ถ้าย้อนกลับดู Sympathy for Lady Vengeance กับ Oldboy จะเห็นว่านักแสดงดังกล่าวล้วนทำหน้าที่ตัดช่วงเวลาของคนอื่นให้สูญเปล่าหรือถึงแก้ความตาย ดังนั้นการทำกับคนอื่นย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเองด้วยการทำให้เสียคนที่สำคัญไปบ้าง แต่การทำให้ใครต้องเสียใจหรือทรมานกลายเป็นความแค้นที่ไม่มีวันยกโทษให้ ซึ่งใจความสำคัญยังส่งผลต่อไปอีกคือการแก้แค้นที่สุดท้ายไม่มีวันจบสิ้น เป็นวัฏจักรแก้แค้นที่มีคนเจ็บจะต้องมีเจ็บยิ่งกว่า
Oldboy เป็นเรื่องของโอแดซูที่แค้นใครสักคนที่ตัวเองไม่รู้ว่าเป็นใครเพราะทำให้ตัวเองต้องทรมานในห้องดังคุกที่ถูกจำกัดขอบเขตอิสระทุกอย่างเป็นเวลายาวนานถึง 13 ปี แต่เมื่อรู้ความจริงว่าเป็นลีวูจินจึงได้ตามล้างแค้น ทว่าสิ่งที่น่าเจ็บปวดคือเหตุผลของเรื่องมาจากตัวเขาเองที่ได้สร้างความสะเทือนใจแก่คนอื่นถึงการสูญเสียสิ่งที่รัก ซึ่งหลังจากนั้นทำให้โอแดซูต้องเจ็บปวดยิ่งกว่าเดิมเพราะผู้หญิงที่ตัวเองร่วมหลับนอนด้วยคือลูกสาวแท้ๆ สาเหตุที่ไม่มีใครรู้มาจากการถูกสะกดครั้งแล้วครั้งเล่าจนเหมือนมีบางอย่างให้ทั้งสองถูกคอกันด้วยความรัก ความรักที่น่าจะเป็นของพ่อลูกแต่กลายเป็นรักต้องห้ามที่บั่นทอนช่วงเวลาที่งดงามเสื่อมสลายไป เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับ Sympathy for Lady Vengeance ในแง่การเอาคืนของโอแดซูหรืออีกอวตารหนึ่งคือเบ็ก สิ่งที่เบ็กทำคือการฆ่าเด็กโดยหนึ่งในนั้นคือลีวูจิน ฉะนั้นเหมือนกับว่าโอแดซูฆ่าลีวูจินเนื่องจากปางก่อนมีความแค้นต่อกันและไม่เคยให้อภัยกันและกันเลย ส่วนจะรู้ได้ยังไงว่าเด็กคือตัวแทนลีวูจิน ส่วนนี้ดูได้จากกึนจาที่อยากจะพูดอะไรสักอย่างตอนที่เห็นภาพนิมิตรจากตอนแรกคือเด็กได้กลายเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งยังคงใช้นักแสดงคนเดียวกันนั้นเองคือ Ji-tae Yu
จุดเล็กจุดน้อยอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเพื่อนกึนจาที่เล่นโดยนักแสดง Seung-shin Lee คือเคยเป็นนักสะกดจิตมาก่อนใน Oldboy แต่อาจไม่เป็นที่สังเกตอะไรนักเพราะไม่ค่อยมีบทบาทมากเท่าไร กระนั้นความสำคัญของเพื่อนกึนจาคนนี้คือจุดพลิกพันของชีวิตคน ตั้งแต่การสะกดจิตคนทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้เพื่อนำไปสู่หนทางที่เจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งใน Sympathy for Lady Vengeance ต้องรับความทรมานจากการถูกใช้เพราะใช้คนอื่นให้ทำตามมากเกินไป แน่นอนว่ารวมถึงการเป็นทาสรับใช้ให้กับเบ็กเป็นที่ระบายความใคร่ ถ้าว่ากันตามตรงเบ็กคือโอแดซู โอแดซูคือเบ็ก คนเดียวกันที่อีกด้านหนึ่งเคยถูกสะกดจิตอีกด้านหนึ่งคือโรคจิตฆ่าเด็ก สภาพจิตใจที่ถูกบั่นทอนจนเสื่อมสลายเป็นฝุ่นผงยากต่อการฟื้นฟูจึงไม่แปลกใจหากจะกลายเป็นสิ่งน่าชิงชังไร้ความรู้สึกเมตตา แต่คนที่ดูจะดีขึ้นมาหน่อยคือหลวงพ่อที่แต่เดิมคือลูกน้องลีวูจินใน Oldboy ส่วนจะดียังไงเรื่องนี้บอกแค่เป็นคนชักจูงกึมจาไปเป็นแม่พระเป็นศาสดารับใช้พระเจ้า ถึงอย่างงั้นส่วนร้ายก็มีเพราะเป็นคนที่เบ็กจ้างตามเก็บถ่ายรูปกึนจาและสืบข้อมูลเล็กๆน้อยๆ การกระทำที่ดูดีแต่แอบร้ายจึงเป็นได้แค่เบื้องล่างที่ถูกใช้ประโยชน์จนหมดก็ถูกลืมไป
ความแค้นของกึมจาไม่ได้ถูกมองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองเสมอไปเพราะมีบางคนช่วยส่งเสริมให้มีความหนักหน่วงมากขึ้น คนนั้นคือหญิงแก่สายลับเกาหลีเหนือที่ติดคุกเช่นเดียวกับกึมจาแต่มีปัญหาโรคอัลไซเมอร์ ความตลกร้ายที่เสียดสีล้อศาสนาอันเป็นที่พึ่งทางใจด้วยการที่หญิงแก่สายลับคนนั้นมอบหนังสือธรรมะแก่กึมจาพร้อมประโยคว่ากึมจามีแค้นที่ต้องชำระ หนังสือธรรมะเล่มนั้นมีแก่นหลักสำคัญที่ไม่ได้พูดถึงความดีความชั่วแต่อย่างใดนอกจากว่าเป็นพิมพ์เขียวสำหรับสร้างปืนโบราณกระบอกหนึ่ง ปืนที่กึมจาสัญญากับตัวเองว่าจะใช้จบชีวิตคนที่เธอแค้นมาตลอด 13 ปีให้สิ้นซาก ทั้งนี้ทั้งนั้นสายลับเกาหลีเหนือมีความสอดคล้องในแง่การเมืองหรือการปกครองบ้านเมืองเพราะมีส่วนความมั่นคงของชาติ ซึ่งในไตรภาคมีภาค Sympathy for Mr. Vengeance ที่มีการพูดถึงเรื่องการเมืองอยู่ด้วยและคนนั้นคือแฟนของริวหรือยองมิที่เชิดชูลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อเห็นจุดนี้จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสายลับเกาหลีเหนือกับลัทธิคอมมิวนิสต์มีการเกี่ยวโยงกันอย่างไร
และนี่คือทั้งหมดจากความคิดเห็นโดยส่วนตัวที่พยายามมองไตรภาคนี้ไม่ต่างกับกรรมของชาติปางก่อนที่มีความเข้ากันและไม่เข้ากัน บางทีอาจมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่านั้นก็เป็นได้ ทว่าในแง่ภาคเดียวของแต่ละเรื่องจัดว่าเด็ดขาดมากกับในการแก้แค้นที่โหดเหี้ยม ต่อให้ไม่เห็นอะไรที่น่าสยดสยองเลือดนองหรือวัยวะฉีดขาดผิดรูปก็เพียงพอว่าความน่ากลัวที่แท้จริงควรมีลักษณะรูปแบบไหน ถ้าให้เรียงลำดับความชอบคงไม่แตกต่างกับการเรียงลำดับภาคที่ชอบมากที่สุดคือภาคแรก กระนั้นถ้าให้เรียงลำดับความคมคายจริงๆต้องนับใหม่จากหลังไปหน้าเป็น Sympathy for Mr. Vengeance < Oldboy < Sympathy for Lady Vengeance
เหตุที่เป็นเช่นนั้นต้องยกให้กับการเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ทั้งสามภาคให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ แม้ในแง่การเล่าเรื่องจะสู้ภาคก่อนไม่ได้ในบางช่วงแต่จังหวะทุกอย่างทำได้เหนือความคาดหมาย ยิ่งการใช้ความเหนือจริงยิ่งเป็นความแปลกใจอย่างสูง ความเหนือจริงที่ว่าคือการใช้เอฟเฟค CGI ตกแต่ง เช่น ใบหน้าที่เปล่งประกายของกึมจาที่เปล่งประกายระยิบระยับจริงๆ หรือความสงสัยของเจนนี่ที่มองฟ้าแล้วก้อนเมฆเปลี่ยนรูปเป็นประโยคคำถามมีแม่กับไม่มีแม่ ฉากทำนองพึ่งจะมีให้เห็นก็ภาคนี้แหละที่ผสมแฟนตาซีทำให้ความจริงจังที่เคยทำไว้ในสองภาคก่อนดูขัดแย้งชอบกล แต่ยังไงเสียนับเป็นอีกหนังแก้แค้นที่ดูคุ้มค่าเรื่องหนึ่งและจบไตรภาคได้สมบูรณ์ที่สุดแล้ว