Dirty Harry (1971)
มือปราบปืนโหด
Director: Don Siegel
Genres: Action | Crime | Thriller
Grade: A+
มีตำรวจที่ไหนที่ควักปืนประจำตัวออกมาจากร้านอาหารแล้วเดินบนถนนอย่างไม่รีบร้อนไปหาคนร้ายที่กำลังหนีจากธนาคารที่ตัวเองปล้นโดยไม่สนใจว่าใครจะเป็นใครตายนอกจากจัดการคนร้ายเหล่านั้นที่พกอาวุธและกำลังหนีเสียก่อน แต่นั้นยังไม่เด็ดเท่าเป็นปืนแม็กนั่มจุด 44 ให้อยู่ในมือของตำรวจที่ถูกใช้ได้อย่างร้ายกาจและเท่เกินบรรยายกับคนร้ายพวกนั้นซะอยู่หมัด แค่นั้นยังไม่พอเมื่อเทียบกับลีลาจัดการคนร้ายที่พยายามขัดขืนด้วยแล้วยิ่งบอกถึงความร้ายกาจที่มากขึ้นไปอีก ด้วยประโยคง่ายๆที่ใช้วัดดวงกันไปเลยว่าใครแน่กว่าใคร ประโยคที่กล่าวถึงอย่างมีเล่ห์นัยและคมคาย บอกเลยถ้าไม่ใช่ Clint Eastwood รับบทนี้จะดูไม่ขลังและน่าจดจำขนาดนี้แน่นอน
"ฉันรู้ว่าแกกำลังคิดอะไร แกกำลังคิดว่าเขายิงไปหกนัดหรือว่าแค่ห้า บอกตามตรงฉันเองก็ลืมเหมือนกันในเหตุการณ์ตื่นเต้นอย่างนี้ แต่นี่คือปืนแม็กนั่มจุด 44 ปืนที่ทรงอานุภาพที่สุด ยิงหัวแกกระเด็นได้สบาย แกต้องถามตัวเองข้อหนึ่ง ฉันจะโชคดีหรือเปล่าวะนี่ จริงมั้ยไอพั้งค์!"
ประโยคเด็ดที่ใช้ปืนจ่อคนร้ายที่หมดหนทางสู้แล้วแหย่ตลกให้เกิดลังเลใจ คือวิธีแกล้งคนร้ายด้วยการวัดดวงไม่แตกต่างกับรัสเซียนรูเล็ต ถ้าคนร้ายคิดขัดขืนหมายถึงรอดหรือตายได้เท่ากัน แต่เชื่อไหมว่าการตัดสินใจเล่นเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกลายเป็นปัญหาของตำรวจที่นัยยะหนึ่งคือความตั้งใจกำจัดคนร้ายอย่างรวบรัดที่มีปืนจ่ออยู่ใกล้ๆพร้อมลั่นไกออกไปโดยจะมีกระสุนหรือไม่มีก็ได้ สำหรับแฮร์รี่ คัลลาแฮน (Clint Eastwood) เป็นการตัดสินใจที่ใช้วัดดวงคนร้ายที่อาจมีแค่เขาเท่านั้นที่รู้คำตอบ แต่ที่เลือกใช้ก็เพื่อหาความแน่ใจว่าคนร้ายจะยินยอมให้ถูกจับหรือยังอยากถูกวิสามัญมากกว่ากัน ซึ่งนั้นทำให้ได้สมญานามตำรวจสกปรกที่ไม่ได้หมายถึงตำรวจเลว แต่เป็นตำรวจที่ทำงานง่ายๆไม่พิธีรีตองอะไรให้ยุ่งยาก ขอรู้ว่าคือคนร้ายที่สมควรรับโทษแบบไหนก็ว่าตามนั้นไปเลย
สกอร์ปิโอ (Andrew Robinson) คนร้ายลักพาตัวเด็กที่ส่งจดหมายข่มขู่ให้รีบมอบเงินตามที่ต้องการโดยเร็วก่อนที่เหยื่อจะตายเพราะฝังดินเอาไว้ ทีแรกยังหลงนึกว่าเป็นตัวร้ายกระจอกตัวหนึ่งที่ไม่ทำอะไรนอกจากตามใจตัวเองเพราะมีส่วนของโรคจิต แต่ยิ่งเล่าเรื่องมากขึ้นก็ยิ่งเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสกอร์ปิโอที่แม้จะโรคจิตแค่ไหนก็ยังรู้ตัวทำยังไงให้ตัวเองรอดจากเงื้อมมือตำรวจ ซึ่งนั้นกลายเป็นประเด็นระหว่างจรรยาบรรณของตำรวจที่มีต่อผู้ร้ายและเรื่องของกฎหมายที่มีช่องว่างไม่มีเพียงพอจะเติมเต็มความยุติธรรมลงไปได้หมด ทว่าเรื่องสกอร์ปิโอไม่ได้บอกอะไรมากเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ที่มีปมอะไรหรือเปล่าถึงได้ทำเรื่องเลวร้ายแบบนี้ กระนั้นฉากเปิดเรื่องด้วยสกอร์ปิโอก็นับว่าตราตรึงใจไม่น้อย ไม่ว่าจะมุมกล้องหรือภาพก็ล้วนดูมีเสน่ห์ในการสังหารเหยื่อจากตึกสูงที่เล็งลำกล้องมาข้างล่างอย่างไม่พลาดสายตา
จากนักฆ่าที่ใช้ปืนไรเฟิลจบชีวิตคนเป็นที่ตามล่าของตำรวจขนาดที่วางเวรยามตามตึกเพราะคำขู่ของสกอร์ปิโอที่มีแผนจะยิงคนผิวดำหรือนักบวชอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสอง แน่นอนว่าการทำงานของตำรวจทำให้สกอร์ปิโอต้องหนีจากสายตาตำรวจที่สอดส่องไปทั่ว ซึ่งระหว่างที่ไม่รู้หนีไปไหนจะได้เห็นการทำงานของแฮร์รี่ที่วางตัวเป็นกลางในฐานะตำรวจที่รับได้ทุกงานเพื่อประชาชน ปกติหนังตำรวจมักจะให้คดีมาแล้วรับไปทำคดีนั้นโดยไม่ได้มองไปที่ปัญหาอย่างอื่นเลย แต่เรื่องนี้จะได้เห็นการทำงานของตำรวจที่สมจริงและรับได้ทุกสถานการณ์ ในฉากที่ตามสืบล่าตัวสกอร์ปิโอจะพบว่ามีเหตุฉุกเฉินคนคิดโดดตึก ซึ่งช่วงเวลานั้นเองแฮร์รี่ได้อาสาเข้าไปทำหน้าที่เจรจาเองโดยไม่รอตำรวจเฉพาะด้านเรื่องนี้มาถึง การเจรจาของแฮร์รี่เองใช่จะธรรมดาอย่างที่คิด เพราะไม่ได้ใช้คำปลอบใจหรือพยายามห้ามแต่อย่างใด จะพูดทำนองอยากโดดก็โดดแต่ผลลัพธ์ออกมาจะเลวร้ายกว่าคิด แถมยังพูดดูถูกจนคนที่คิดฆ่าตัวตายเปลี่ยนใจอยากฆ่าแฮร์รี่เสียเอง เป็นตลกร้ายที่เฉียบคมมาก
หลังจากแผนฆ่าคนของสกอร์ปิโอไม่เป็นผลเพราะตำรวจตามเฝ้าระวังตลอดเวลาทำให้เปลี่ยนเป็นแผนลักพาตัวแลกกับเงิน งานนี้แฮร์รี่อาสาเป็นคนส่งเงินให้เองเพื่อจะได้จับคนร้ายให้อยู่หมัด แต่งานคนส่งของดูจะไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะสกอร์ปิโอวางแผนดักเล่นงานอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งแผนนั้นทำให้แฮร์รี่ต้องวิ่งพล่านไปทั่วกว่าจะถึงจุดนัดพบ ในฉากนี้นึกว่าจะมีเล่ห์เหลี่ยมให้ลุ้น แต่แท้จริงคือการถ่ายทอดอารมณ์ความน่าเบื่อของตำรวจที่วิ่งไปหาตู้โทรศัพท์เพื่อรอฟังที่อยู่ที่ให้ไปเรื่อยๆแบบนี้อยู่พักหนึ่ง และด้วยความน่าเบื่อที่เนิบนาบเล่าเรื่องช้าจึงมีความรู้สึกเสียเวลา ผิดกับวิธีของแฮรี่ที่ลุยไปข้างหน้ามากกว่ามาทำตามใจคนร้าย แต่นั้นแหละที่ส่งผลต่อไคล์แม็กซ์ทำให้รู้เราเข้าใจคำว่าช้ากับเร็วต่างกันอย่างไร อะไรคือวิธีจัดการกับคนร้ายที่ดีที่สุดกับคนร้ายลักษณะแบบนี้ ในช่วงสุดท้ายจะเข้าใจหักอกของแฮรี่ที่เลือกทำตามแบบของตัวเองเพราะไม่ใช่ใจอยาก แค่ที่ทำไปนั้นเพื่อไม่ให้ยืดเยื้อกับคนร้ายที่ตอนสุดท้ายรู้กันดีว่าจะต้องรอดจากกฎหมายที่มีช่องว่างอยู่ดี
Dirty Harry มีความเป็นธรรมชาติกับงานตำรวจที่จะเจออะไรก็ได้ไม่มีความแน่นอนเสมอไป เฉกเช่นกับกฎหมายที่เขียนให้ตายตัวยังไงก็ยังมีช่องว่างให้หลุดพ้นออกมาได้ อีกทั้งตำรวจเองใช่ว่าจะถูกมองเป็นผู้รักษาความสงบบ้านเมืองเสมอเพราะการกระทำของแฮรี่มีความบกพร่องเรื่องความรุนแรงที่สมควรหรือไม่ที่ต้องใช้ปืนหรือการจัดการคนร้ายด้วยการปะทะที่ส่งผลให้คนร้ายบาดเจ็บเกินความจำเป็น ในเรื่องจะเห็นว่ามีคนที่ชอบแฮรี่อยู่ไม่มากและเกลียดอยู่ไม่น้อย ถึงจะอย่างงั้นจะปฏิเสธได้หรือไม่ว่าสิ่งที่แฮรี่ทำเป็นเรื่องที่ผิดในเมื่อคือความถูกต้อง หลายคนอาจไม่ชอบใจที่แฮรี่เป็นคนหัวรั้นไม่รอคำปรึกษาก็ไม่เชื่อเรื่องแปลก แต่นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อทุกคนไม่ทำอะไรเลยต่างหาก
แฮรี่คือฮีโร่ที่ไม่ได้เป็นคนดีเลิศเสมอต้นเสมอปลาย บางครั้งเขาสามารถทำเรื่องเลวๆได้เหมือนกันกับคนร้ายที่กฎหมายเอาไม่อยู่อย่างเรื่องการใช้อาวุธหรือกำลังแทนที่จะเป็นการเจรจาต่อรอง ความรุนแรงเป็นของขึ้นชื่อกับแฮรี่ กระนั้นสิ่งที่ทำเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลจริงหรือไม่ นั้นจึงเป็นนัยยะความถูกต้องของตำรวจที่สกอร์ปิโอมาใช้ประโยชน์เพื่อหาข้อกล่าวหาให้แฮรี่ที่ซ้อมเขาจนยับเยินทั้งที่ความจริงเป็นการแสร้งทำ นับเป็นตัวร้ายที่เหมือนจะธรรมดาแต่รู้แกวลึกซึ้งอย่างดีเกี่ยวกับตำรวจที่หากได้รับผลกระทบจากสังคมจะกลายเป็นปัญหาที่ตำรวจอาจถูกสอบสวนเสียเอง ที่สำคัญจะกลายเป็นว่าตำรวจคือผู้พิทักษ์รักษากฎหมายหรือคนที่กฎหมายทำอะไรไม่ได้กันแน่ มุมมองตำรวจดีจะเปลี่ยนเป็นร้ายทันที
จัดเป็นหนังตำรวจที่สนุกและเพลิดเพลินไปความสมจริงของตำรวจที่ต้องรับคดีและสู้กับคนร้ายอย่างระมัดระวัง แม้จะมีข้อเสียที่การเล่าเรื่องจะไม่กระชับรวดเร็วเท่าไรแต่อารมณ์ความหนักแน่นมาเต็มอย่างมาก ยิ่งฉากไล่ล่ากันที่สนามฟุตบอลยิ่งรู้สึกถึงความกดดัน เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้มาจากแฮรี่แต่เป็นสกอร์ปิโอที่หมดหนทางสู้และร้องขอสิทธิ์ในเรียกทนาย ส่วนแฮรี่ทำได้แค่เอาปืนจ่อด้วยอารมณ์โมโหที่ถามที่ซ่อนเด็กที่ลักพาตัวเท่าไรก็ไม่ยอมพูดสักคำนอกจากจะเอาทนายท่าเดียว เป็นความกดดันที่มาถึงผลสรุปแล้วแต่ไม่ได้อะไรที่นำพาไปสู่หนทางที่น่ายินดีเลยสักนิด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ดูท่าจะเก่งเรื่องสิทธิ์ตัวเองกับกฎหมายพอสมควรทำให้รอดจากเงื้อมมือของแฮรี่หน้าตาเฉยอย่างน่าเจ็บใจ จะว่าดูเอาเข้มข้นนับว่าใช้ได้พอตัวเลยทีเดียวกับตัวละครที่มีไหวพริบ
และที่โดนใจสุดคือ Clint Eastwood เข้ากับคาแรกเตอร์ตำรวจมากๆจนทีแรกยังหลงคิดว่าจะสลัดตัวตนที่เล่นหนังคาวบอยได้หรือไม่ ส่วน Andrew Robinson ก็ใช่ย่อยที่เล่นร้ายได้สมใจ อย่างเห็นว่าเรื่องนี้มีดีแทบทุกอย่างโดยเฉพาะองค์ประกอบที่ครบเครื่อง จะมีเสียบ้างที่เล่าเรื่องช้าไปหน่อยตามสไตล์หนังรุ่นเก่าที่ให้ความสำคัญเรื่องรายละเอียด มองอีกแง่ถือว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำเพราะช่วยให้เรื่องราวมีมิติ เนื้อหาชัดเจน นัยยะที่ต้องการสื่อก็ช่วยให้ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด อีกอย่างคือตัวละครแฮรี่ที่เป็นตำรวจไม่ใช่คนที่ทำดีตามตำราเสมอไป เมื่อเทียบความเป็นฮีโร่อาจจะใช่ แต่แง่ของความจริงไม่ต่างกับศาลเตี้ยถือตราตำรวจด้วยซ้ำ ในตอนจบจะได้เห็นการตัดสินใจของแฮรี่ที่บอกว่าพอแล้วกับงานแผนกฆาตกรรม ฉากนั้นทำให้เราเข้าใจหัวอกของการเป็นตำรวจที่ยึดมั่นในคุณธรรมมาถึงจุดอิ่มตัวมีลักษณะเช่นไร และเป็นคำถามแก่ผู้ชมเช่นกันว่าความยุติธรรมตัดสินกันที่กฎหมายอย่างเดียวใช่หรือเปล่า ถ้าใช่ ทำไมยังปล่อยให้คนร้ายลอยนวล ถ้าไม่ ทำอย่างไรถึงจะยุติธรรม