Money Monster (2016)
เกมการเงิน นรกออนแอร์
Director: Jodie Foster
Genres: Crime | Drama | Mystery | Thriller
Grade: B+
ค่อนข้างแปลกใจกับเรื่องนี้ที่ไม่ค่อยได้คะแนนจากเสียงนักวิจารณ์หรือผู้ชมสักเท่าไร เรียกว่าครึ่งต่อครึ่งเลยก็ว่าได้ แต่โดยส่วนตัวเอนเอียงไปทางชอบมากซะมากกว่าเพราะเล่าเรื่องสนุกและมีหลายอย่างให้ฉุกคิดเกี่ยวกับการลงทุนที่มักจะมีคำต่อท้ายเสมอว่า"อาจมีความเสี่ยง" ซึ่งเรื่องราวไม่ได้ไปไหนไกลจนต้องต้องกุมขมับในเรื่องการเงินหรือเศรษฐศาสตร์ที่ต้องศึกษาก่อนดู แม้กระทั่งเรื่องหุ้นที่หลายคนบอกยากกลัวดูแล้วตามเนื้อเรื่องไม่ทันก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะเรื่องนี้มีวิธีการย่อยเนื้อหาให้ออกมาง่ายแสนง่ายและดูเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการตลาด ถึงจะไม่ระดับรู้ลึกก็เพียงพอมาอธิบายให้คนดูอย่างเราๆเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นและส่งผลกระทบอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นจะสนุกยิ่งขึ้นหากศึกษาเรื่องหุ้นสักเล็กน้อยเพื่อจะได้เข้าใจการทำงานของระบบหุ้นที่นำพาไปสู่ฉากสำคัญบางช่วงบางตอนให้เข้าถึงอารมณ์และการเซอร์ไพรส์ที่แสนจะหักหน้าอย่างจัง
เหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดกับรายการ Money Monster ที่กำลังถ่ายทอดสดผ่านพิธีกรรายการนามว่า ลี เกตส์ (George Clooney) นักวิเคราะห์หุ้นที่ไม่ได้มาพูดหรือเล่าสถานการณ์ของหุ้นที่แสนน่าเบื่อให้ฟัง รูปแบบการนำเสนอจะเป็นข่าวที่แน่นด้วยเนื้อหาเสียดสีผ่านการเอนเตอร์เทนมากประโยคที่ใครดูจะต้องสนใจกับตัวเลขที่น่าเบื่อให้ออกมาสนุกสนานได้ แต่ระหว่างที่พูดเปิดรายการได้ไม่กี่อึดใจก็มีชายแปลกหน้าชื่อไคล์ บูร์สวิลล์ (Jack O'Connell) โผล่เข้าร่วมฉากซะดื้อๆ ชายแปลกหน้าที่ทำให้ทุกคนทั้งสตูดิโอแปลกใจเพราะไม่ได้อยู่ในสคริปท์และคิดว่าเป็นเซอร์ไพรส์บางอย่างจนไม่คาดว่าจะชักปืนออกมาจ่อหัวลีเข้าอย่างจัง จากนั้นตามด้วยเสื้อกั๊กติดระเบิดที่บังคับให้ลีใส่ในขณะที่ตัวเองกดชนวนเอาไว้ เมื่อนิ้วปล่อยจากปุ่มเท่ากับระเบิด ฉะนั้นแล้วรายการหุ้นมันส์ฮาจึงเปลี่ยนไปเพราะการความเซอร์ไพรส์ที่หลายคนต่างตั้งตัวไม่ติดเลยสักคน
ถือว่าเดินเรื่องไปไวกับเวลาที่คุ้มค่าเพียงชั่วโมงครึ่งกว่าๆก็จบแล้ว เริ่มแรกจะได้เห็นการทำงานของลีหรือพิธีกรโชว์เดี่ยวที่พูดถึงหุ้นแบบกระจ่างและเข้าใจง่ายโดยไม่ต้องลงลึกซึ้งให้ปวดหัวด้วยหลักการอธิบายง่ายๆแค่ทุนกับกำไรก็ทำให้หลายคนเชื่อและสนใจในทันที การเล่นหุ้นคล้ายกับการหลงเชื่อคำโฆษณาอย่างหนึ่งเพียงขอแค่ทำให้เชื่อและกล้ายอมลงทุนไปด้วยกันด้วยผลตอบแทนที่คุ้มค่าแบบที่ซื้อของแล้วใช้ดีสมราคาที่ยอมแลก ทว่าในจำนวนสินค้ามากยี่ห้อและหลายหน้าตาก็มีความแตกต่างกันไปในเรื่องของคุณภาพ บางอันดีบางอันถึงขั้นเลวร้าย เช่นเดียวกับชีวิตของไคล์ที่ยอมลงทุนไปกับจำนวนเงิน $6 หมื่นเพื่อหวังผลกำไรจากหุ้น IBIS ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนน่าเป็นวิธีหาเงินโดยง่าย ทว่าวันดีคืนดีเกิดระบบบริษัทของหุ้น IBIS มีปัญหาจนต้องสูญเสียเงินไปทั้งสิ้น $800 ล้าน นั้นเท่ากับจำนวนเงินที่ไคล์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นต้องหายไปด้วย การที่เงินหายไปกับบางคนอาจเป็นเงินที่พร้อมเสี่ยงที่จะเสียหรือไม่เสียก็ได้ แต่กับไคล์คือทั้งหมดที่มีในชีวิตของเขา จะบอกว่าเป็นความผิดของใครได้ในเมื่อการลงทุนมีความเสี่ยง มันอาจจะดีแต่ก็ร้ายได้เช่นกัน
หลังจากนี้จะเป็นการสปอยล์เนื้อหาส่วนสำคัญของหนัง ถ้ายังไม่เคยดูหรือยังไม่อยากรู้รายละเอียดตอนนี้ขอแนะนำให้ข้ามไปอ่านย่อหน้าสุดท้ายกันเลยดีกว่า
สำหรับ Money Monster เป็นหนังที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับหุ้นเพียงหยิบมือเท่านั้น เนื่องจากประเด็นหลักไม่ใช่ระบบของหุ้นแต่เป็นจำนวนเงินจากหุ้นที่สร้างความฉงนใจแก่ผู้ซื้อหุ้น IBIS ว่ามันหายไปไหนและผู้เคราะห์ร้ายที่อยากระบายในที่นี่คือไคล์ที่เป็นผู้ซื้อหุ้นจนหมดตัว เรื่องของเรื่องอาจผ่านไปแบบไม่มีข้อสงสัยถ้าไม่ใช่ไคล์มาเรียกร้องความเป็นธรรมที่อยากได้คำอธิบายที่สมเหตุสมผลกว่าการนั่งฟังเพราะเป็นปัญหาจากระบบล่ม ซึ่งไคล์เองไม่เชื่อว่าจะล่มได้จริงและถึงจะล่มได้ก็ไม่ควรที่เงินจะหายไปเลยแบบไร้ตัวตน ดังนั้นไคล์จึงออกมาประท้วงในรายการโดยมีลีเป็นต้นเหตุเพราะทำให้เชื่อว่าหุ้น IBIS น่าลงทุนอย่างมาก แน่นอนว่าลีไม่ได้ต้องการให้ใครเชื่อแล้วต้องทำตามจริงๆ เพราะสิ่งที่ตัวเองทำคือการโน้มน้าวเท่านั้น การตัดสินใจลงทุนเสี่ยงนั้นมาจากตัวผู้ประกอบการเอง เหมือนกับโฆษณาที่โน้นน้าวให้น่าใช้น่าหลงใหลแต่ไม่ได้บังคับจะต้องเชื่อตามโฆษณาเพราะอยู่ที่เราจะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ ซึ่งไคล์เลือกซื้อด้วยเงินที่มีก่อนจะหายไปทั้งหมดอย่างหมดตัว
ความน่าสงสัยของเงินที่หายไปเพราะคำตอบของระบบที่มีปัญหาไม่ช่วยให้ใครกระจ่างในข้อสงสัยนี้เลย ซึ่งกับไคล์ยิ่งแล้วใหญ่ที่ฟังกี่ทีก็ไม่เข้าใจว่าหายไปเลยได้อย่างไร แน่นอนว่าประเด็นนี้ได้ทำให้ใครหลายคนเริ่มจะตระหงิดใจในจำนวนเงินที่มากโขที่ควรมีที่มาที่ไปชัดเจน อะไรทำให้เงินหายอย่างไร้ร่องรอยเป็นคำถามที่ยิ่งดูยิ่งเผยคำตอบเกี่ยวกับระบบเจ้าปัญหาที่เนื้อแท้ไม่ได้อยู่ที่ตัวระบบหรือคนสร้าง แต่เป็นคนใช้ต่างหากที่ทำอะไรกับระบบ จากจุดนี้ทำให้เห็นความรับผิดชอบของตัวบริษัทที่ควรหาคำอธิบายที่ดีกว่านี้และจริงจังกว่าการปล่อยปละละเลย ซึ่งช่วงแรกไม่มีใครรู้หรือคาดคิดอะไรเกี่ยวกับตัวบริษัท IBIS จนกระทั่งความลับค่อยๆเปิดเผยขึ้นทีละก้าวจากปริศนาเงินหายแล้วไปไหน โดยเงินนั้นไม่ได้ไปไหนแต่ยังอยู่กับตัวบริษัทฐานะอีกนามหนึ่งหรือก็คือคนเราๆนี่แหละ ไม่ใครรู้หรือคาดคิดเพราะมองเป็นที่ระบบ แต่หารู้ไหมว่าเงินทั้งหมดตกอยู่ในมือของวอลท์ แคมบี้ (Dominic West) เจ้าของบริษัทหุ้นที่ต้องการเงินมหาศาลใช้เป็นทุนกอบโกยในประเทศที่ยากจนอีกต่อหนึ่ง
การเฉลยความจริงของเรื่องนี้เป็นอะไรที่น่าเสียดายตรงที่จะทำให้หักมุมหรือเป็นใครก็แล้วแต่ก็ไม่รู้สึกต้องตื่นเต้นในความจริงนั้น สิ่งที่ช่วยทำให้เรื่องนี้เล่าสนุกคือการทำให้ทุกอย่างแย่ลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเล่นเกมจิตวิทยาต่อรองระหว่างคนที่ดูรายการกับคนในรายการ ลีพยายามปั่นหุ้นเพื่อดึงความสนใจจากไคล์ให้มีคนซื้อหุ้น IBIS มากขึ้นเพื่อเป็นการยืนยันชีวิตของเขาที่มีความสำคัญเท่ากับหนึ่งชีวิตแลกกับหุ้นที่สูงขึ้น ข้อเสนอที่ดูแล้วเกิดอาการฮึกเหิมน่าขนลุกและน่าเอาใจช่วย ถ้ากับเรื่องอื่นอาจเติมเต็มความหวังได้อย่างดี ทว่าเรื่องนี้ให้ความแตกต่างตรงที่ทำไปก็เปล่าประโยชน์เพราะสุดท้ายหุ้น IBIS ไม่มีใครสนใจและซ้ำเติมด้วยการขายทิ้งเสียด้วย ชีวิตของลีไร้ความหมายเมื่อเทียบกับการแปรผันหุ้น ซึ่งเป็นบทเรียนค่าของคนหนึ่งคนบางทีเทียบไม่ได้กับความต้องการของคนทั้งหมด
แต่ฉากที่เรียกว่ามาผิดที่ผิดเวลาแต่ถูกใจคือเรื่องครอบครัวไคล์ที่ควรมีนัยยะช่วยเหลือเพื่อให้สถานการณ์เบาลง กระนั้นสถานการณ์ดูแย่ยิ่งขึ้นเพราะไคล์ถูกจี้ใจดำจนไม่มีอะไรต่อในชีวิตแม้กระทั่งคนรักยังทิ้งกันไปต่อหน้าต่อตาและทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ การสร้างสถานการณ์ที่ยิ่งไปต่อยิ่งแย่หนักขึ้นคือข้อดีของเรื่องนี้ที่เหมือนจะกดดันตลอดเวลา ทั้งนี้ฝ่ายใต้ความกดดันที่เข้มข้นยังแฝงอารมณ์ขันเล็กน้อยจนเป็นกรณีที่น่าสงสัยเกี่ยวกับผู้ชมที่กำลังดูรายการ Money Monster ว่ามันเกิดขึ้นจริงหรืออำกันเล่น แน่นอนว่ารายการจะไปต่อไม่ได้หากขาดแพทตี้ เฟนน์ (Julia Roberts) ที่รับหน้าที่กำกับรายการและจัดการให้ทุกอย่างราบรื่นเท่าที่จะทำได้ ที่น่าชื่นชมคือความสามารถของตัวละครนี้ที่สังเกตให้ดีจะเป็นคนคุมสถานการณ์ให้อยู่ฝ่ายใต้กรอบทั้งหมด ไม่ว่าจะหาข้อมูลการลำดับเรื่องราวก็ล้วนมาจากฝีมือเธอทั้งสิ้น ฉะนั้นอย่าแปลกใจถ้าตำรวจในเรื่องนี้เหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย
Money Monster มีลักษณะการเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงจนไม่มีอะไรสอดแทรกระหว่างเรื่องเท่าไรนัก จะเน้นไปที่การหาความจริงซะเป็นส่วนใหญ่และความจริงที่ว่าค่อนข้างกำกวมอยู่พักใหญ่ก่อนจะลงเอยด้วยความง่ายอย่างน่าเหลือเชื่อ ความง่ายที่เกิดจากการร่วมมือหลายๆฝ่ายจนรู้สึกจะมาก็มาอย่างไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากการคลี่คลายหาต้นตอถ้าว่ากันด้วยระยะเวลาอาจต้องสืบสาวกันพักใหญ่ ทว่าเรื่องนี้หาหลักฐานมัดตัวอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่แน่ว่าทำแบบนี้แต่แรกก็จบเรื่องแล้ว การขอความช่วยเหลือจากแฮ็กเกอร์ช่วยค้นหาข้อมูลเป็นช่วงที่รีบเร่งและไม่เข้าเนื้อเรื่องแม้จะเกริ่นบ้างเกี่ยวกับตัวตนแฮ็กเกอร์ที่กำลังเล่นวีดีโอเกม แต่จะมาช่วยพร้อมหาข้อมูลให้เสร็จก็ฟังดูใจดีเกินไปหน่อยกระมั้ง
บางช่วงบางตอนอาจดูแล้วขัดความรู้สึกอยู่บ้าง แต่โดยรวมยังทำหน้าที่การเล่าเรื่องให้ลื่นไหลได้อย่างดี ทั้งช่วงหลังยังเป็นการพลิกบทบาทจากผู้ที่ตกในฐานะจำยอมมาเป็นลุกขึ้นสู้หาความจริงไปด้วยกันเพื่อความถูกต้อง สำหรับช่วงหลังยังคงแฝงด้วยตลกร้ายที่ไม่ดูแล้วขำ ทว่าจะดูแล้วซีเรียสหนักขึ้นกว่าเก่าซะมากกว่าเพราะไคล์เป็นตัวแทนของความจริงและการโกหก ซึ่งก็เหมือนคำโฆษณาเกินจริงที่ใช้แล้วไม่ได้เว่อร์วังอย่างที่บอกเอาไว้ แน่นอนว่าระเบิดที่ลีติดตัวคือของปลอมที่ตำรวจยังมองว่าเป็นของจริง จุดนี้เรียกว่าหลอกกันมาตั้งแต่ต้นและทำให้สถานการณ์แทบพลิกในตอนท้ายเพราะลีใช้ระเบิดปลอมที่หลายคนมองเป็นของจริงในการชิงไหวพริบเพื่อไปหาต้นตอที่ทำเงินหาย $800 ล้าน ฉากนี้เป็นการพลิกความสัมพันธ์ของตัวละครจากขัดแย้งมาเป็นร่วมมือ โดยเป้าหมายคือวอลท์ตัวการของเรื่องทั้งหมดและได้รับการร่วมมือจากสตูดิโอ Money Monster ที่พร้อมเพรียงปฏิบัติหน้าที่ถ่ายทอดสดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ข้างในถึงข้างนอกแบบไม่กลัวการออกสื่อต่อสายตาประชาชนเพราะคือความจริงที่ทุกคนควรรับรู้
ที่เสียดายจริงๆคือ Julia Roberts ที่ไม่ได้โชว์ฝีมือการแสดงเท่าที่ควรทำให้เดี๋ยวเน้นไม่เน้นเหมือนยังปล่อยมาไม่หมด ซึ่งไม่แปลกใจเพราะปมระหว่างแพทตี้กับลียังบอบบางในเรื่องความสัมพันธ์ที่ควรเพิ่มเติมมากกว่านี้ แต่ทั้งนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับ George Clooney ที่แม้ไม่ได้แสดงฝีมือจนสุดยอดก็ยังสามารถเป็นพิธีกรที่น่าเชื่อถือได้ไม่ยากและชวนน่าติดตาม ส่วน Jack O'Connell ที่มาปลดปล่อยระบายอารมณ์ผ่านรายการก็นับว่าทำได้ไม่เลว สิ่งที่ชอบคือความต่อเนื่องที่ดูแล้วไม่มีเบื่อต่อให้คุยกันทั้งเรื่องก็ยังสนุก ยิ่งการโยงเนื้อเรื่องเข้าออกเรื่องนั้นเรื่องนี้ทำได้เข้าใจง่ายและไม่ชวนให้สับสน อะไรที่หนังได้วางประเด็นเอาไว้ถือว่ามาได้สุดทางของปัญหานั้นๆ จะมีติแค่ความสมเหตุสมผลที่ยังเหมือนตั้งใจรวบรัดไปหน่อย ซึ่งนั้นทำให้ตอนจบมันจบแบบค้างคาต่อให้ไม่มีอะไรจะเล่าแล้วก็ตาม สรุปว่าเป็นหนังหุ้นที่ไม่ต้องหาความรู้เสริมก็ดูเข้าใจได้ทันทีและสนุกกับบทสนทนาที่ส่งต่ออย่างฉับไว ที่โดดเด่นคือสถานการณ์ที่ไม่เอื้อในทางที่ดีขึ้นเพราะมีแต่เลวร้ายยิ่งขึ้น แต่ภายใต้ความเลวร้ายจะพบว่าหนทางที่ทำให้ดีขึ้นคือการร่วมมือและสติในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า