The Quick and the Dead (1995) เพลิงเจ็บกระหน่ำแหลก

The Quick and the Dead (1995)
เพลิงเจ็บกระหน่ำแหลก
Director: Sam Raimi
Genres: Action | Romance | Thriller | Western
Grade: B-

เป็นไปได้ให้ลืมหนังคาวบอยแบบเดิมได้เลย จะไม่เนิบๆเล่าเรื่องช้าแล้วไปบรรจงในตอนไคล์แม็กซ์อีกต่อไป สำหรับเรื่องนี้จะแตกต่างกว่าหนังคาวบอยหลายๆเรื่องที่ผ่านมาตรงที่ได้อารมณ์เร้าใจตลอดเวลา โดยเฉพาะมุมกล้องที่รู้สึกมันโดนจังหวะเข้าออกได้แปลกผิดฟอร์มหนังคาวบอยไว้มาก มีการซูมเข้า-ซูมออกหรือเล่นมุมกล้องจนเรียกว่าแปลกตาจนต่อให้ไม่ใช่หนังคาวบอยก็ยังจัดว่าแปลกอยู่ดี แต่ทั้งนี้การเล่นจังหวะหรือมุมกล้องได้แสดงความคุ้นเคยกันมาอยู่บ้างแล้วใน The Evil Dead (1981) หรือที่คิดว่าเกือบเหมือนใน Evil Dead II (1987) แน่นอนว่าทั้งสองเรื่องเป็นหนังสยองขวัญระดับตำนานขึ้นหิ้งที่โดดเด่นเกินคำว่าสยองอย่างเดียว เพราะมีความสนุกได้อารมณ์ขันตลกร้ายจนบางทีไม่รู้จะสยองหรือฮาดี(ภาคแรกหนักที่สยองเพียวๆ ส่วนภาคสองเพิ่มความตลกได้อย่างกลมกลืน)


ผู้กำกับ Sam Raimi ยังทิ้งลายเซ็นอันเป็นจุดเด่นของตัวเองไว้ไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะเป็นหนังคาวบอยแล้วก็ตาม ซึ่งลายเซ็นดังกล่าวยังแฝงมาด้วยฉากบางฉากที่ให้อารมณ์สยองขวัญ(แต่ไม่รู้ทำไมกับรู้สึกตรงกันข้ามเสียแทน) และด้วยความผิดที่ผิดทางนี่เองจึงเป็นความแปลกในหนังคาวบอยที่ควรจะเรื่อยๆเอื่อยๆกลายเป็นบันเทิงเอามันส์ที่ไม่รอช้าก็ยิงแล้วยิงอีก แต่ก่อนจะเข้าถึงความมันส์ต้องบอกก่อนว่าเนื้อเรื่องแทบจะไม่มีอะไรเลยสักนิดเดียว พล็อตเรื่องตายตัวและเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงทั้งเรื่อง โดยเรื่องราวเริ่มต้นที่เอลเลน (Sharon Stone) หญิงคาวบอยที่มาเยือนเมืองแห่งหนึ่งในช่วงเวลาเทศกาลแข่งดวลปืน และได้ลงแข่งขันเพื่อคว้าเงินรางวัล แต่การลงดวลปืนไม่ใช่เป้าหมายหลักเนื่องจากเอลเลนมีความแค้นส่วนตัวเพื่อมาคิดบัญชีใครบางคนที่อยู่ในเมืองนี้และลงแข่งดวลปืนด้วยเช่นกัน

ตัวละครหลักจัดว่าแปลกตรงที่เป็นผู้หญิงที่น้อยจะเห็นได้จากหนังคาวบอย และคาแรกเตอร์ลึกลับในช่วงต้นเรื่องทำให้เป็นหญิงแกร่งมีเสน่ห์ขึ้นมาทันที แน่นอนว่า Sharon Stone ทำได้ดีมากทีเดียวสำหรับบทหญิงคาวบอยแกร่งที่ไม่ต้องสวยมากก็เอาอยู่ (ชวนให้นึกถึงความสวยแบบปล่อยหมดแม็กใน Basic Instinct (1992)) แต่สิ่งที่ทำให้ The Quick and the Dead มาเหนือเมฆตรงที่เป็นหนังรวมแสดงมากฝีมือเอาไว้หลายคนจนคุ้นหน้าคุ้นตาทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะ Gene Hackman ในบทเฮโรด ผู้คุ้มเมืองให้อยู่ภายใต้การควบคุมทุกอย่าง และเป็นตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเอลเลน ที่คุ้นหน้ามาอีกคือ Russell Crowe ในบทคอร์ท เป็นเชลยของเฮโรดที่วางมือเป็นบาทหลวง และ Leonardo DiCaprio ที่น่าจะคุ้นหน้ากันดีกับลีลาการแสดงวางมาดกวน บทรับเป็นเดอะคิด(เข้ากับคาแรกเตอร์ทั้งชื่อและหน้าตาที่วัยละอ่อน)


นอกจากดาราชั้นนำที่เอ่ยถึงแล้วยังมี Tobin Bell,Keith David และ Lance Henriksen มาร่วมแสดงในเรื่องอีกด้วย ซึ่งแต่คนต่างมีคาแรกเตอร์แตกต่างกันออกไปจนเรียกว่ามากหน้าหลายตาเลยทีเดียว ด้วยคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นไม่ซ้ำกันเลยทำให้เรื่องนี้มีเสน่ห์เรื่องตัวละครที่พยายามงัดของเด็ดออกมาไม่สิ้นสุด แต่น่าเสียดายที่ตัวละครต่างพาแบนราบด้วยพล็อตง่ายตายตัวตามสูตร ฉะนั้นแล้วการดูเรื่องนี้จึงไม่ต่างกับกินของอร่อยที่ข้างในไม่มีไส้อะไรเลย

ด้วยข้อเสียเรื่องตัวละครที่มิติตายตัวและย้อนปมได้ขัดใจทำให้การสรุปเรื่องราวไม่ชวนให้รู้สึกตามไปด้วยได้นอกจากดูเอามันส์จากฉากดวลปืนกันเสียมากกว่า(เอาจริงไม่ได้มันส์หรือลุ้นอะไรนักหรอก อาศัยจังหวะพามันส์เท่านั้นเอง) แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือความไม่แน่นอน มันเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่หาไม่ได้ในหนังคาวบอยเรื่องอื่นๆที่มักจะตายตัวด้วยอารมณ์สไตล์เดิมๆของหนังคาวบอยที่มักโยนตัวละครปริศนาให้พระเอกหลงถิ่นมาแดนที่ผู้ร้ายครอบครอง ซึ่งเสน่ห์อยู่ที่ว่าความสันโดษของพระเอกนั้นมีความเข้มแข็งอยู่เสมอ อีกแง่จะมีปูมหลังที่น้อยเหมือนให้มองภาพลักษณ์แค่ปัจจุบันพอว่ามาเพื่ออะไร และวัตถุประสงค์ไม่พ้นเรื่องแก้แค้นหรือความเป็นพระเอกคุณธรรมสูงต่อกรกับผู้ร้ายในตอนจบ


The Quick and the Dead มอบบทบาทนางเอกเป็นพระเอกเสียแทน ขณะที่พระเอกตกอยู่ในฐานะก้ำกึ่งเหมือนนางเอกจากการถูกกดขี่ของตัวร้ายจนไม่อาจต่อรองอะไรได้ ความผันผวนตำแหน่งตัวละครทำได้น่าสนใจแต่ขาดมิติรองรับ ทำให้หลายอย่างเกี่ยวกับเนื้อเรื่องค่อนข้างเลื่อนลอยไร้น้ำหนัก สิ่งที่จับใจความได้มีเพียง 3 เรื่องราวจาก 4 ตัวละครภายใต้การแข่งดวลปืน อย่างเรื่องของเอลเลนที่มาเพื่อแก้แค้นให้พ่อของตัวเอง โดยมีความแค้นกับเฮโรดและรอปิดบัญชีอย่างสมศักดิ์ศรีด้วยการดวลปืน คอร์ทหรือบาทหลวงที่ถูกเฮโรดจับมาเป็นเชลยร่วมเล่นเกมดวลปืนเพื่อพิสูจน์ฝีมือความเป็นหนึ่งของเฮโรดที่เหนือกว่าคอร์ท และเดอะคิดที่พยายามเอาชนะเฮโรดหรือพ่อของตัวเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสายตาของพ่อ(ประเด็นนี้พูดอยู่เรื่อยๆแต่ไม่ได้ใช้อย่างจริงจังสักครั้ง)

แม้เนื้อเรื่องจะบางเบาจับใจความได้ไม่มากไปกว่าการดวลปืนชิงรางวัลที่ถึงจะวางมิติตัวละครถึงเหตุผลร้อยแปดในการเข้าร่วมแข่งขันก็ยังไม่เพียงพอให้น่าเชื่อถือหรือหนักแน่นได้ สิ่งที่ Sam Raimi ให้ได้คือความสนุกจากความแปลกเรื่องตัดต่อและเทคนิคพิเศษต่างๆ ยิ่งฉากดวลปืนจะมีมุมกล้องท่าทางแปลกๆเข้ามาจนเหมือนจะลุ้นไม่ลุ้นแล ที่คิดว่าชอบสุดคือการแทรกตลกร้ายจากโทนซีเรียสเป็นขำได้อย่างกลมกลืนไม่ทำให้อารมณ์ของหนังหลุดไปจากเดิม น่าเสียดายที่อุตส่าห์มาครบทั้งนักแสดงและผู้กำกับ แต่ขาดเนื้อหากับมิติตัวละครที่มีเพียงน้ำเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นดูเอามันส์หรือหาความแปลกใหม่จากหนังคาวบอยยุคเก่าๆน่าจะเข้าท่ากว่า เรื่องจังหวะอารมณ์หรือมุมกล้องเป็นอะไรที่สร้างสรรค์เหมาะแก่การดูเพื่อความบันเทิงล้วนๆ

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)