47 Meters Down (2017)
ดิ่งลึกเฉียดนรก
Director: Johannes Roberts
Genres: Adventure | Drama | Horror | Thriller
Grade: B-
ตรงตัวตามชื่อหนังที่กำลังบอกบางอย่างในระดับความลึก 47 เมตร กระนั้นเดิมนั้นชื่อหนังไม่ได้บอกระดับความลึกแต่อย่างใดด้วยชื่อ In the Deep ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อที่เห็นในปัจจุบันที่ชวนให้สงสัยว่าอะไรคือระดับความลึกดังกล่าว แน่นอนว่าตัวเลขนี้ไม่ได้มีอะไรพิเศษกับคนที่รู้แค่เป็นระดับความลึกของพื้นทะเลที่ตัวละครประสบวิกฤต ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วตัวเลขที่บอกคือขีดจำกัดการดำน้ำที่ไม่ควรเกินไปกว่านั้น ทั้งนี้ประเด็นความน่ากลัวไม่อยู่ที่ตื้นลึกแค่ไหนหากเป็นฉลามที่รอขย้ำทุกเมตรที่คิดจะกลับขึ้นไป
เป็นพล็อตเนื้อเรื่องน้อยที่พยายามเล่นให้หนักกับความเป็นความตายของตัวละครด้วยเรื่องของสาวทั้งสอง นั้นคือ ลิซ่า (Mandy Moore) และ เคท (Claire Holt) ที่มาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจริมทะเล แล้วบังเอิญได้คำแนะนำเที่ยวใต้น้ำชมฉลาม ซึ่งทั้งสองตกลงนั่งเรือไปกลางทะเลเพื่อดูปลาฉลามที่ดุร้าย แต่การนั่งดูบนเรือไม่เร้าใจจึงชวนดูจากใต้น้ำผ่านกรงเหล็กที่หย่อนลงน้ำให้เห็นฉลามทั้งตัวแบบชัดๆและใกล้จนน่าหวาดเสียว ทว่าเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อกรงเหล็กเกิดร่วงดิ่งลงใต้ทะเลที่ระดับ 47 เมตร และการกลับขึ้นไปไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อฉลามกำลังรอพวกเธอทั้งสองจากข้างนอกกรง
ด้วยความที่หนังเน้นระทึกเล่นความเป็นความตายของตัวละครมากเกินไปทำให้ความสมจริงเกี่ยวกับเรื่องใต้น้ำถูกมองข้ามไปหลายอย่าง บางอย่างจงใจใส่มาเนียนๆอย่างไม่มีใครสังเกตเห็นจนใครที่ไปเห็นเข้าต้องออกอาการตลกไม่ใช่น้อยอย่างเรื่องการสื่อสารด้วยวิทยุที่แม้จะเป็นหน้ากากครอบทั้งหน้าแล้วมีเครื่องสื่อสารข้างในก็ไม่ได้แปลว่าจะคุยตอบโต้กันได้รู้เรื่องในเมื่อไม่มีหูฟัง(ประเด็นนี้ อันเดียวทำเอาความสมจริงหายไปทันที) นอกจากนี้ไม่ควรรอให้ออกซิเจนเหลือน้อยแล้วส่งถังมาใหม่เพราะเสี่ยงอันตรายต่อการเปลี่ยนถังออกซิเจนที่อาจหมดก่อน แต่ประเด็นนี้ถือซะว่าทำเพื่อขายความตื่นเต้นที่ลุ้นกันอยู่ไม่น้อย
ต่อมาคือการส่งถังออกซิเจนสำรองที่ไม่ใช่ปล่อยลงไปในน้ำเฉยๆแม้จะมีไฟกระพริบให้เห็นเพราะกระแสน้ำอาจพลัดไปตกที่อื่นได้(แบบที่เห็นไฟฉายไปตกที่อื่น ซึ่งไม่รู้ว่าไฟฉายนี้มาได้ยังไงเพราะตัวหนังไม่กล่าวถึงที่มา) และรายละเอียดยิบย่อยหลายอย่างที่หาความสมจริงได้ค่อนข้างน้อย ยกเว้นเรื่องหนึ่งที่ให้ความสำคัญคือเรื่องความปลอดภัยจากการดำน้ำ จะมีการพูดถึง"การพักน้ำ"ที่ขึ้นสู่ผิวน้ำทันทีไม่ได้เพื่อให้แก๊สไนโตรเจนคลายออกจากเนื้อเยื่อ ฉะนั้นความพยายามที่จะขึ้นเหนือผิวน้ำเพื่อหนีฉลามทันทีจึงเป็นเรื่องอันตรายเพราะต้องพักอย่างน้อย 3 นาที ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการ Decompression sickness (DCS) หรือ Bend หรือ"โรคน้ำหนีบ"
47 Meters Down เล่นกับความระทึกขวัญได้ถึงอารมณ์พอสมควร แต่อาจต้องรอจังหวะกันสักหน่อยเพราะช่วงแรกเหมือนจงใจให้หวาดเสียวกันเล่นๆ ไม่ว่าจะมุมกล้องหรือสิ่งที่ตัวละครทำล้วนเสี่ยงอันตรายเกือบหมด แต่พอจังหวะได้ที่กับฉลามที่มีบทบาทมากขึ้นก็เริ่มรู้สึกถึงอันตรายจากทุกหนทุกแห่ง ขณะเดียวกันเป็นการบีบตัวละครเรื่องอากาศที่ใกล้หมดลงเรื่อยๆและต้องหาทางติดต่อคนบนเรือเพื่อหาทางช่วยก่อนจะตายเพราะอากาศหมด อีกทั้งต้องแข่งกับสภาพจิตใจที่เริ่มแย่ลงเรื่อยๆจากสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีราวกับถูกทิ้งให้ตายทั้งเป็น ถ้าคาดหวังเรื่องลุ้นระทึกก็พอให้ใจกระสับกระส่ายพอตัว แต่เมื่อไรที่หนังจบจะรู้สึกห่อเหี่ยวจิตใจขึ้นมาแทนเพราะจบได้เหนือความคาดหมาย
เสียดายที่ระทึกขวัญเสียวไส้มากเกินไปจนบางครั้งการกระทำของตัวละครค่อนข้างเสี่ยงและประมาทเกินกว่าจะรอดกลับมาได้ บางครั้งถึงขั้นขัดใจอยู่บ่อยครั้งเพราะความไม่คิดหน้าคิดหลังทั้งที่มีคำเตือนตลอดทั้งเรื่องให้กลับไปอยู่ในกรง ส่วนข้อดีที่คิดว่าเป็นจุดเด่นเลยคือความเป็นพี่น้องที่พยายามช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเรื่องจิตใจหรือการหาหนทางเอาตัวรอดล้วนรู้สึกมีความผูกพันให้เอาใจช่วย เวลาตัวละครคิดจะทำอะไรหรือไปไหนคนเดียวแทบไม่อยากให้ทิ้งห่างจากกันเพราะความเป็นห่วงเป็นใย เรื่องมิติตัวละครจึงทำค่อนข้างดีแม้จะไม่ดีมากก็เพียงพอสำหรับตอนจบที่ทำเอาใจหายใจคว่ำลุ้นกับการแหวกว่ายหนีฝูงฉลามยังไงให้รอดตาย ซึ่งเป็นอะไรที่หยุดไม่อยู่แล้วจริง