Death Note (2017) เดธโน็ต

Death Note (2017) | เดธโน็ต
Director: Adam Wingard
Genres: Crime | Drama | Fantasy | Horror | Thriller
Grade: B-

จะฉบับมังงะหรือต้นฉบับเมื่อปี 2006 ล้วนแสดงศักยภาพของมันสมองด้วยการวางแผนซ้ำแล้วซ้ำเล่าชวนให้ขบคิดตลอดเวลา ซึ่งการเป็นเช่นนั้นก็มาจากตัวละครที่พกความฉลาดทำให้เต็มไปด้วยการชิงไหวพริบมากมาย สิ่งที่เรียกว่าเดธโน้ตที่สามารถเอาชีวิตคนได้ไม่ใช่ประเด็นหลักเพราะเป็นอุปกรณ์เสริมไว้ปิดเกม แต่ของจริงอยู่ที่ความเหนือของแผนการต่างๆว่าใครจะอยู่เป็นคนสุดท้าย ดังนั้นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือสติปัญญาอันเฉียบแหลม ด้วยเหตุนี้ทำให้ Death Note ยังคงเป็นสุดยอดความเข้มข้นหาใครเทียบ


ตามฟอร์มต้นฉบับที่เดี๋ยวจะมีสมุดตกลงมาจากฟ้าแล้วจะต้องมีคนหยิบไปใช้โดยบังเอิญ แล้วจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ ไลท์ เทอร์เนอร์ (Nat Wolff) แล้วต้องพบกับยมฑูตเจ้าของสมุดที่พยายามหลอกล้อให้ทำตามเงื่อนไขสมุด เป็นเงื่อนไขการเขียนชื่อใครก็ได้แต่ต้องเป็นคนที่ตัวเองจำใบหน้าได้ดีแล้วจะสัมฤทธิ์ผลแก่เจ้าของชื่อนั้นด้วยความตายภายในไม่กี่วินาที ด้วยความที่ไลท์มีปมในใจเกี่ยวกับคนร้ายไม่รับกรรมที่สาสมจึงมองเป็นเรื่องที่สมควรใช้ ดังนั้นจึงใช้สมุดของยมฑูตเขียนชื่ออาชญากรรมทั่วโลกเพื่อปลิดชีวิตคนชั่วในฐานะ"คิระ"หรือเทพเจ้า

พล็อตเรื่องยังเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนสถานการณ์รวมถึงคาแรคเตอร์ตัวละครไปเกือบหมด ความหล่อเท่เด็กอัจฉริยะที่เห็นในต้นฉบับแทบจะหายไปเกือบหมดสิ้น กลายเป็นวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตในแบบวัยหัวเลี้ยวหัวตอ ต้องการแรงขับดันอะไรสักอย่างเป็นเป้าหมายชีวิต กระทั่งเจอสมุดมรณะปลิดชีพใครก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการด้วยชื่อและใบหน้าจริงและด้วยสายสัมพันธ์(ในแบบวัยรุ่น)ทำให้พบ มิอา ซัตตัน (Margaret Qualley) อีกทั้งยังบอกเรื่องสมุดยมฑูตฆ่าคนให้ฟังจนเชื่อเพราะทำได้จริงกับตากลายเป็นแฟนกัน


มิอา หรือ มิสะ ในต้นฉบับคาแรคเตอร์ดั้งเดิมมีความเป็นเด็กสูงและหัวคิดหัวอ่านไม่ซับซ้อนอะไรมากนอกจากอยากเจอคิระเพราะตกหลุมรักจึงยอมทำได้ทุกอย่าง ดังนั้นบ่อยครั้งที่ถูกหลอกใช้ด้วยความรักเป็นของอ้าง แต่ฉบับนี้ต่างออกไปพอสมควรในเรื่องมิติตัวละครเพราะอยู่ช่วงเดียวกับไลท์ อีกทั้งยังคบหากันอย่างเปิดเผย ไม่มีเรื่องการหลอกใช้กันและกันอย่างที่ต้นฉบับมองมิสะคือเครื่องมือ ที่สำคัญเป็นด้านตรงข้ามกับไลท์เรื่องสมุด ในเรื่องไลท์ชอบวิธีการใช้งานก็จริงแต่ไม่นึกอยากจะใช้เพราะอำนาจที่อาจหลงระเริงได้ ขณะที่มิอาเริ่มชอบวิธีการใช้งานสมุทดเล่มนี้มากขึ้นจนอยากครอบครองเสียเอง

Nat Wolff เป็นไลท์ฉบับวัยรุ่นที่น่าพอใจระดับหนึ่งตรงที่ไม่ต้องทำตัวอัจฉริยะ เป็นเพียงวัยรุ่นคนหนึ่งที่จู่ๆได้อำนาจจากยมฑูตแล้วใช้ตามใจตัวเอง เป็นวัยรุ่นที่พลาดพลั้งได้และอ่อนแอเป็น ส่วน Margaret Qualley ใครจะไม่บอกว่าไม่น่ารักคงไม่ได้เพราะเล่นเป็น มิสะ ที่เปลี่ยนชื่อให้เข้ากับภาษาเป็น มิอา แน่นอนว่าเล่นเป็นคู่รักของไลท์ที่เข้ากันได้ดีจนอารมณ์และบรรยากาศชวนให้เป็นหนังรักในหนองเลือด ชอบสไตล์ตรงไม่น่ารักแบบใสๆ จะมีความเห็นแก่ตัวและใช้อารมณ์เรื่องสมุด ผิดกับต้นฉบับพอสมควรในเรื่องมิติตัวละครจนบางครั้งแอบคิดว่าเป็นการพลิกผันเรื่องตัวละครให้ออกมาเป็นด้านตรงข้าม


ซึ่งน่าจะจริงโดยเฉพาะคู่ปรับของ ไลท์ คือ แอล (Lakeith Stanfield) ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเรื่องคาแรคเตอร์ด้วยนักแสดงผิวสีกับนิสัยให้ออกมาตรงกันข้ามกับต้นฉบับ ถ้ามองให้ดีจะพบว่าตัวละครหลักที่รู้จักในของเดิมจะไม่เหมือนเดิมเสมอไปและค่อนข้างแตกต่างราวกับว่ามีเพียงชื่อกับบทบาทเท่านั้นที่ยังเหมือนกันอยู่ เมื่อตัวละครที่รู้จักเปลี่ยนไปก็ย่อมส่งผลเนื้อเรื่องให้ออกมาแตกต่างด้วยเช่นกันการปรับเนื้อเรื่องที่มีเพียงเดธโน้ตเล่มเดิมกับตัวละครที่ได้แค่ชื่อทำให้จุดพีคทั้งหลายหายไปหมด ที่เห็นเป็นเพียงหนังรักโรแมนติกที่พยายามดึงเดธโน้ตมาผสมผสานให้หลงตัว(แม้จะไม่ก็ตาม)

ชอบ Willem Dafoe ในบทยมฑูตที่แม้จะแต่งเติม CGI มากแค่ไหนยังคงเห็นสีหน้าที่แท้จนน่ากลัวสมกับยมฑูตที่คร่าชีวิตได้ตลอดเวลา น่าเสียดายที่บทบาทไม่ได้มากหรือน่าจดจำอย่างที่ต้นฉบับสร้างเอาไว้ ส่วนหนึ่งคงมาจากการปรับนิสัยจากขี้เล่นชอบชวนคุยกลายเป็นด้านตรงข้ามที่จริงจังอยู่เงียบๆมาเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น นั้นรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงกฎเดธโน้ตเรื่องการปรากฏกายที่มีเพียงคนครอบครองสมุดเท่านั้นที่เห็นยมฑูตได้ โดยเดิมทีขอแค่ไปจับหรือแตะส่วนใดส่วนหนึ่งของเดธโน้ตจะเห็นยมฑูต บางทีอาจง่ายไปถ้าใครจะเห็นยมฑูตก็ได้จึงเลือกเฉพาะคนที่ครอบครองหรือยมฑูตเลือกให้ใช้เดธโน้ตดีกว่า


หลายอย่างแทบจะพลิกตาลปัตรไปกันหมดเรื่องบทบาท ที่เสียดายคือการที่หนังเลือกเดินเรื่องกันแบบง่ายๆขอแค่มีคนตายเพราะเดธโน้ตก็เพียงพอ ซึ่งการตายแต่ละครั้งน่าจะถูกใจคนรักหนังสยองขวัญที่จัดเต็มเลือดเนื้อกระจาย(จนบางครั้งก็ดูเกินพอดี) ขณะที่การประชันในส่วนสืบสวนแทบจะติดศูนย์เพราะไม่มีเนื้อหาสาระหรือการเชื่อมเรื่องราวที่เข้มข้น ทั้งนี้ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการใส่รายละเอียดที่มากมายนั้นไม่อาจเกิดขึ้นในเวลาชั่วโมงครึ่ง(ขณะที่ต้นฉบับต้องทำทั้งสองภาคจบ) ถือว่าน่าเสียดายอย่างมากทั้งที่เป็นจุดขายของเรื่องแต่ขาดความเข้มข้นเรื่องการวางแผนชิงไหวพริบจึงเป็นแค่สมุดฆ่าคนธรรมดาๆเท่านั้น

Death Note ฉบับนี้ต้องทำใจยิ่งถ้าเป็นแฟนของเรื่องนี้คงไม่พอใจเพราะการสร้างใหม่เหมือนทำลายตัวตนและเอกลักษณ์ไปเกือบหมด กระนั้นย้อนกลับไปที่ Dragonball: Evolution (2009) ที่สร้างจากมังงะและอนิเมะเหมือนกันต้องถือว่าดีกว่าเรื่องนี้มากในแง่ดัดแปลงเป็นภาพยนต์ อย่างน้อยที่เห็นคือการตีความใหม่เปลี่ยนบทบาทให้ดูเข้าถึงได้ง่ายตามประสาชีวิตเด็กวัยรุ่นที่มีปมในใจ จะไม่อัจฉริยะเกินหน้าเกินตาให้ออกมาเกินจริง แน่นอนว่าจุดนี้ทำลายความเข้มข้นไปพอสมควร การได้เห็นไลท์กับแอลประชันความคิดคือทีเด็ดที่ขาดไม่ได้แต่เรื่องนี้ไม่มีจุดนี้ ที่เน้นไปมากคือเรื่องความรักระหว่างไลท์กับมิอากับเดธโน้ตที่เป็นตัวกลางของทั้งสอง อนึ่งมองว่าวัยรุ่นก็คือวัยรุ่น การจะมีความคิดเป็นผู้ใหญ่และซับซ้อนขนาดนั้นอาจเกินจริงไปบ้าง


โดยรวมไม่ชอบหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะเนื้อเรื่องที่ธรรมดากับตัวละครที่ขัดใจ กระนั้นสิ่งที่ส่งเสริมให้รู้สึกชอบคือสไตล์การเล่าเรื่องให้เกิดอารมณ์คล้อยตามด้วยมุมกล้องบ้าง บรรยากาศบ้าง และที่ชอบมากคือเพลงประกอบ แต่ละเพลงคัดสรรด้วยอารมณ์เก่าๆตามยุค 80s-90s เช่น Reckless ของ Australian Crawl,The Power Of Love (You Are My Lady) ของ Air Supply,I Don't Wanna Live Without Your Love  ของ Chicago เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ความธรรมดาดูมีของขึ้นมาทันที(ฟังๆนึกว่าหนังรักที่ไหนเสียอีก) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับผู้ชมแล้วว่าจะชอบหรือไม่ชอบ บางคนอาจก้ำกึ่งเพราะมีทั้งดีและเสีย บางคนอาจเกลียดไปเลย(โดนเฉพาะเมื่อเทียบต้นฉบับ) แต่ถ้าลองเปิดใจสักนิดจะพบว่าไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น จะต้องมีสักจุดต้องชอบกันบ้างล่ะ

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)