Conquest of the Planet of the Apes (1972)
มนุษย์วานรตลุยพิภพ
Director: J. Lee Thompson
Genres: Action | Sci-Fi
Grade: B
ไวรัสที่พูดถึงในภาคที่แล้วใน Escape from the Planet of the Apes (1971) เกิดขึ้นจนได้และฆ่าสัตว์เลี้ยงหมาแมวจนหมด เมื่อไม่มีสัตว์เลี้ยงเคียงข้างก็ต้องหาสัตว์ชนิดอื่นแทน ซึ่งก็เป็นวานรอย่างที่เกริ่นเอาไว้ในภาคก่อน ทว่าคำว่าสัตว์เลี้ยงดูจะบานปลายเกินขอบเขต ถ้าเป็นหมาหรือแมวเสมือนเพื่อนคู่ใจเอาไว้คลายเหงา มีใช้งานบ้างเล็กน้อยแต่ยังคงความเป็นสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ แต่วานรที่นำมาทดแทนนั้นไม่ได้มาเพื่อคลายเหงาหากมาเป็นทาสรับใช้เสียแทน
เรื่องราวเกิดขึ้น 20 ปีต่อมา มีเพียง อาร์มันโด้ (Ricardo Montalban) ที่รู้เรื่องราววานรเดินทางจากอนาคตและกุมความลับอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถเปิดเผยได้เด็ดขาด นั้นคือ ซีซ่าร์ (Roddy McDowall) ลูกชายของคอร์นีเลียสและซีร่าที่จบชีวิตลงในภาคก่อนเพราะความหวาดกลัวต่ออนาคตของมนุษย์ที่อาจถูกวานรยึดครองโลกตามคำเล่าที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ดังนั้นซีซ่าร์จึงต้องทำตัวเหมือนทาสตามคำแนะนำของอาร์มันโด้เพื่อไม่ให้เป็นเป้าสายตาเพราะวานรยังพูดไม่ได้
ภาษาเสมือนจุดเริ่มอารยธรรมอย่างหนึ่ง ทำยังไงถึงสื่อสารกันเข้าใจ ทำยังไงถึงถึงรู้ว่าอีกฝ่ายบอกอะไร ทำยังไงถึงอยู่เป็นสังคมในทิศทางเดียวกันไม่แตกแยก ก็ล้วนมาจากภาษาทั้งหมด ถ้าไม่มีภาษาก็ไม่มีการสื่อสาร การอยู่ร่วมกันย่อมไม่เข้าใจและแตกแยกในที่สุด เช่นกันเรื่องการพูดที่เด็กเกิดมาไม่สามารถบอกเป็นประโยคได้แต่เมื่อร่างกายพัฒนาจะพูดและเข้าใจอะไรหลายอย่างมากขึ้น เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่บ่งบอกถึงการเติบโต แล้วกับวานรที่พูดได้ย่อมเป็นเรื่องปกติ แต่กับภาษาที่มนุษย์ใช้ล่ะ นั้นเป็นเรื่องผิดปกติ
ด้วยความที่วานรยังพูดภาษามนุษย์ไม่ได้และมีเพียงซีซ่าร์เท่านั้นที่ทำได้ อีกทั้งยังเป็นลูกวานรที่มาจากอนาคต ความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะตกต่ำแล้ววานรครองโลกแทนจึงค่อนข้างแน่นอน ความกลัวที่มีต่ออนาคตเพราะรับไม่ได้ที่เผ่าพันธุ์ตัวเองล่มสลายทำให้ซีซ่าร์ถูกตามล่า ขณะเดียวกันการนำวานรมาเป็นทาสรับใช้ก็ดูจะโหดร้ายทารุณ ไม่มีการสั่งสอนที่เรียบง่ายหรือเอาอกเอาใจ ทำเพียงใช้กำลังขู่เข็ญให้ทำตาม คำว่าสัตว์เลี้ยงที่น่ารักกลายเป็นนักโทษจากเผ่าพันธุ์ที่ภูมิปัญญากว่า แม้มนุษย์จะฉลาดและเจริญกว่าแต่คุณค่าชีวิตยังคงตกต่ำเช่นเคย
หลายฉากแสดงถึงความโหดร้ายทารุณอย่างป่าเถื่อนของมนุษย์ที่กระทำกับวานรเพื่อให้เชื่อในคำสั่ง ทำให้เชื่องและเรียนรู้ด้วยกำลังที่เหนือกว่าเพราะกลัวถูกทำโทษ เมื่อซีซ่าร์เห็นเผ่าพันธุ์ตัวเองเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต่างกับถูกเหยียดหยามคุณค่าชีวิต แม้เผ่าพันธุ์จะแตกต่างก็ไม่ควรถูกกระทำด้วยความรุนแรงเช่นนี้ ซึ่งนั้นนำไปสู่หนทางที่ซีซ่าร์เลือกว่าสมควรและเหมาะสมที่สุด นั้นคือการปฏิวัติ ส่วนที่ซีซ่าร์ต้องเลือกหนทางเช่นนี้มีเหตุผลเดียวคืออำนาจ ถึงจะไม่ปฏิวัติและหนีไปยังไงก็ไม่อาจช่วยให้ดีขึ้นเพราะไม่มีสิทธิ์มีเสียงควบคุมได้หากไม่มีอำนาจที่สูงกว่า
นอกจากการนำวานรมาฝึกในลักษณะโหดร้ายทารุณก็ยังแสดงถึงคุณค่าชีวิตที่แลกด้วยเงิน อาจเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าการจะได้อะไรมาสักอย่างต้องแลกด้วยเงิน กับวานรไม่ต่างกันเพราะหลังฝึกเสร็จผ่านประเมินว่าทำงานได้ก็ส่งไปประมูล เอาเงินมาซื้อขายราวกับสิ่งของ ในแง่ของสัตว์เลี้ยงหมาแมวอาจจะมองเป็นเรื่องปกติ ทว่าวานรนั้นแตกต่างออกไปตรงเป็นบรรพบุรุษของชาติมนุษย์ ถึงสติปัญญาจะด้อยกว่าเพราะพึ่งสัญชาตญาณการเอาตัวรอด แต่คุณค่าของชีวิตยังมี ยิ่งมุมมองซีซ่าร์ที่ต้องเห็นเรื่องราวโหดร้ายเช่นนี้มีแต่จะเพิ่มอคติต่อมนุษย์เรื่อยๆ
แมลคัม แม็คโดนัลด์ (Hari Rhodes) เป็นผู้ช่วยผู้ว่า ไม่เห็นด้วยหลายอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวานร ซึ่งในเรื่องจะเห็นว่าพยายามแก้ข้อต่างเกี่ยวกับวานร เช่น การที่เจ้าของถูกวานรทำร้าย ขณะเดียวกันวานรเต็มไปด้วยบาดแผลจากการถูกทำร้ายทุบตีจึงควรโทษที่เจ้าของ กระนั้นการช่วยเหลือวานรด้วยเหตุผลแค่ไหนก็ไม่อาจห้ามผู้ว่าเบร็ค (Don Murray) ที่มองเป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่งเท่านั้น มิหนำซ้ำยังอคติต่อวานรเพราะจะเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติในอนาคต ฉะนั้นต่อให้มีคนดีคอยแนะนำเพียงใดก็ไม่อาจห้ามความคิดของคนที่อยู่สูงกว่าได้เพราะนั้นคืออำนาจ
Natalie Trundy กลับมาแสดงอีกครั้งในบทวานรสาวชื่อ ลิซ่า แต่บทเหมือนจะเด่นแต่สุดท้ายไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเท่าไรนัก มาเป็นตัวประกอบให้เห็นว่าวานรยังมีเพศเมียอยู่(ส่วนใหญ่มีแต่วานรเพศผู้) แต่คนที่เด่นสุดคงไม่พ้น Roddy McDowall เพราะแสดงเป็นวานรมาตั้งแต่ภาคแรกใน Planet of the Apes (1968) ในบท คอร์นีเลียส ยกเว้นภาคสองหรือ Beneath the Planet of the Apes (1970) เพราะติดงานอื่น สำหรับครั้งนี้จะเล่นเป็นบทลูกหรือซีซ่าร์แทน(ทั้งนี้ยังเคยรับบทซีซ่าร์มาก่อนในเรื่อง Cleopatra (1963))
ตามสคริปต์เดิมจะเปิดเรื่องกันที่วานรกำลังหลบหนีแล้วถูกยิง จากนั้นแสดงให้เห็นบาดแผลเลือดไหลนอง แต่ฉากนี้ถูกตัดเพราะดูรุนแรงเกินไป ทั้งนี้ฉากวานรถูกยิงก็มีให้เห็นในฉากปฏิวัติพร้อมกับเลือดค่อนข้างเยอะพอสมควร เป็นการบอกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างวานรที่ต้องการคืนศักดิ์ศรีและอิสระภาพกับมนุษย์ที่ต้องการควบคุมสถานการณ์ด้วยการยิงถึงตาย ส่วนฝ่ายไหนจะเหนือกว่าไม่สำคัญเท่ากับการสูญเสียจากความรุนแรง แมลคัมในฉากท้ายเรื่องพยายามเตือนสติซีซ่าร์ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ซึ่งซีซ่าร์เหมือนจะรู้แต่ห้ามไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นที่ตัวเขาแต่เป็นเพราะมนุษย์เองนั้นแหละ
Conquest of the Planet of the Apes ยังคงกัดจิกสังคมได้อย่างดุเดือดและเห็นภาพมากขึ้นจากกระทำของฝ่ายมนุษย์ด้วยความรุนแรงกับเหล่าวานร เสียดายบางประเด็นไม่หนักแน่หรือน่าคิดกว่าภาคก่อน สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ดูรุนแรงคือตัวตนของซีซ่าร์อีกด้านหนึ่งที่มีอคติต่อมนุษย์ แน่นอนว่ามีคนดีมีเมตตาแต่นั้นแค่หยิบมือเท่านั้น ฉากสุดท้ายเสมือนตัวตัดสินว่าจะเดินทางไหนต่อในอนาคต จะหยุดแค่นี้หรือไปต่อบนความเสี่ยง แม้ตัวหนังจะเรื่อยๆแต่ฉากระบายความอัดอั้นในใจของซีซ่าร์ในตอนจบคือความจริงที่รุนแรงที่สุดของเรื่อง แม้เป็นเพียงคำพูดก็สามารถทำลายได้ทุกอย่าง เสียดสีจนไม่รู้จะว่ายังไงกันแล้ว