15+ ไอคิวกระฉูด (2017)
Director: อัศวนัยน์ กลิ่นเอี่ยม, ณภัทร จิตวีรภัทร
Genres: Comedy
Grade: C
หนังประสาเด็กวัยรุ่นที่ใส่เนื้อหาทางเพศเพื่อเป็นกรณีศึกษา แต่ดูไปดูมาเหมือนยังตอบโจทย์วัยรุ่นไม่ดีพอและค่อนข้างห้วนๆให้คำตอบง่ายเกินกว่าจะเทียบกับชีวิตจริง แต่ให้พูดถึงความสนุกคงเป็นการล้อเลียนวัยอยากรู้อยากเห็นที่ตรงตัวไม่อ้อมค้อม อย่างเช่น การเห็นหรือแอบดูกางเกงในสีขาวจั๊วะในแบบไม่ตั้งใจและตั้งใจ การที่ตัวละครถือดิลโด (dildo) ทั้งใหญ่สั้นและเล็กยาวราวกับอาวุธไลท์เซเบอร์แล้วบอกนี่แหละขนาดมาตรฐานชายไทย การดู VR เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ การจับต้องอวัยวะเพศตรงข้ามเพื่อการทดลอง และอีกหลายฉากที่ทะเล้นทะลึ่งปะปนไปกับเสียงหัวเราะ
เรื่องราวหลักจะเป็นของ ฉลาดเลิศ (ยงศิลป์ วงศ์พนิตนนท์) เด็กชายที่เต็มไปด้วยความสงสัย(แต่เอาเข้าจริงคาเรกเตอร์นี้แทบไม่มีในเรื่องยกเว้นช่วงต้น) และแอบชอบ เชอร์รี่ (ลิตา จันทร์วราภา) แต่กลายเป็นว่าเชอร์รี่มีคนที่ชอบอยู่แล้ว นั้นคือพี่ท็อป(ตัวละครปริศนาที่ไม่หันหน้าให้เห็นว่าใคร) ขณะเดียวกันที่โรงเรียนมีจัดแข่งขันโครงการวิทยาศาสตร์ ฉลาดเลิศจึงพยายามทำข้อตกลงกับเชอร์รี่หากชนะโครงการนี้ได้ให้พิจารณาเขาใหม่ แต่ก็ต้องท้อใจเพราะเชอร์รี่อยู่กล่มเดียวกับ สุดารัตน์ (พลอย ศรนรินทร์) เด็กเรียนดีเรียนเก่งเป็นที่หนึ่งไปซะทุกเรื่อง
ถ้าไม่ใส่เรื่องเพศคงเป็นหนังวัยรุ่นในวัยเรียนที่ต้องการพิสูจน์ความรัก แต่เมื่อใส่เรื่องเพศเข้ามาแล้วก็ดูจะล้นๆจับจังหวะของหนังให้ลงตัวได้ยาก ขนาดที่ว่าบางครั้งไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ซึ่งก็คิดซะว่าอาจเพราะเป็นเด็ก พลังจินตนาการจึงสูงเหมือนหนังการ์ตูนที่เกิดอะไรขึ้นก็ได้ แต่ฉลาดเลิศไม่ใช่ตัวละครที่จะปลุกปั้นพลังเพศหรือจินตนาการดังกล่าวถ้าไม่ใช่เพราะเพื่อนของเขาอย่าง โอหยอง (ธนเศรษฐ์ สุริยะพรชัยกุล) และ โอบื้อ (จิรกิตติ์ วงศ์ศรีเพ็ง) ที่พยายามวางแผนต่างๆนาๆจนเป็นจุดขายความตลกที่โผล่มายามใดต้องมีมุขตลกเมื่อนั้น
ด้วยความที่มีความเนิร์ดในตัวละครเด็กๆจึงรู้สึกดูห่างไกลคำว่าทั่วไป โดยเฉพาะบทสนาที่โชว์ความเก่งด้วยคำอธิบายเชิงวิทชาการ(เชื่อว่าต้องมีคนไม่เข้าใจ) ยิ่งกับสุดารัตน์ยิ่งต้องแสดงให้เห็นว่าเธอเก่งแท้เก่งจริง แต่เพราะเก่งเรื่องเรียนจึงไม่สันทัดเรื่องความรักหรือเรื่องเพศเลย สาเหตุนี้มาจากพ่อแม่ที่หย่าจากกันทำให้ไม่เชื่อความสัมพันธ์ความรักและมองเป็นเพียงการทดลองของวิทยาศาสตร์ เป็นประเด็นที่ทำให้เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นคนนิ่งและสนแค่เรียนอย่างเดียว
ส่วนตัวละครอื่นๆแทบไม่มีอะไรให้น่าจดจำนอกจากความฮากับความน่ารัก แม้แต่ฉลาดเลิศที่น่าจะมีปมกับความสงสัยก็ถูกทิ้งไปพร้อมกับการรู้สึกชอบเชอร์รี่เพราะเล่าเรื่องให้อยู่กับสุดารัตน์ จึงไม่แปลกใจถ้าความสัมพันธ์ทั้งสองจะเพิ่มขึ้นจนมาถึงจุดเปลี่ยนของเรื่องทั้งหมดในช่วงหลังพร้อมกับจริงจังมากขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมในวัยเรียน ซึ่งนี่ก็เป็นกรณีเพศศึกษากับวุฒิภาวะแบบไม่คิดหน้าคิดหลังที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้
อดิเรก วัฏลีลา หรือ อังเคิล แสดงเป็น อากงของฉลาดเลิศ ที่ไม่ค่อยมีประโยชน์กับเนื้อเรื่องแม้จะมาช่วยในช่วงท้ายด้วยคำพูดที่เหมือนให้ข้อคิดที่ดีแก่ฉลาดเลิศ เช่นเดียวกับ พินทุ์สุดา ตันไพเราะห์ หรือ บอลลูน เป็นน้าของฉลาดเลิศ ที่เคยเป็นขวัญใจชายไทยยุค 90s ก็ไม่มีบทบาทอะไรเกินไปกว่ามายั่วน้ำลายให้คนที่รู้จักหายคิดถึงหลังจากหายหน้าหายตาไปนาน(แล้วเด็กหรือคนที่ไม่รู้จักมาก่อนจะรู้สึกเซอร์ไพรส์กันไหมล่ะ) ส่วนคนอื่นเล่นได้ดีสนุกตามหนังกันไป แต่คนที่อยากติดเอาไว้ก่อนคือ พลอย ศรนรินทร์ ที่นิ่งเข้มแค่ไหนก็น่ารัก เผลอๆใครชอบสาวแว่นอาจชอบมากเป็นพิเศษ โดยส่วนตัวไม่ว่าจะลักษณะท่าทางการพูดการจาชวนให้นึก จินตหรา สุขพัฒน์ สมัยละอ่อน
15+ ไอคิวกระฉูด กำลังพูดถึงวัยเปลี่ยนแปลงด้วยเรื่องเพศ ฉะนั้นประเด็นอยู่ที่การเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ การจะทำอะไรหรือคิดยังไงจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แต่บางครั้งก็ติดอยู่กับอารมณ์จนไม่อาจควบคุมชั่งใจได้ทัน อีกประเด็นคือเรื่องครอบครัวที่ตัวหนังไม่ค่อยบอกเลยรู้สึกเสียดายตรงนี้ เนื่องจากฉลาดเลิศกับสุดารัตน์ล้วนไม่มีครอบครัวที่สมบูรณ์ อีกคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่แต่อยู่กับคนอื่นในฐานะผู้ปกครองแต่ไม่สามารถสั่งสอนได้ดีพอ อีกคนพ่อแม่ไม่อยู่ด้วยกันจึงไม่เชื่อความผูกพัน ถ้าเล่นประเด็นนี้ให้จริงจังอาจช่วยให้ตอนจบดูสมจริงกว่านี้
เซอร์ไพรส์ตรงที่มีการหยิบหนังคลาสสิคเรื่อง 2001: A Space Odyssey (1968) มาพูดถึงด้วย แล้วตั้งข้อสงสัยว่าแท่งดำๆที่จู่โผล่มาคืออะไรก่อนจะล้อเลียนว่าสิ่งแปลกใหม่ไม่เคยพบเคยสัมผัสมาก่อน จะว่าฮาก็ฮาพอตัว แต่อย่าคาดหวังจะให้สนุกแบบดูได้ทุกวัยเพราะมุขค่อนไปข้างเด็กวัยเดียวกันมากกว่า บางครั้งก็จืดสนิทเพราะอยากเอาฮาแต่ดูพลาดมากกว่า พอดูเพลินๆเบาสมองและพอมีสาระให้ข้อคิดอยู่บ้าง แต่จะดีกว่านี้ถ้าเรียบเรียงเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่จะจบก็สรุปกันง่ายๆ ยิ่งคำถามที่ว่า"สิ่งประดิษฐตอนอายุ 30 คืออะไร"มาใช้อธิบายตอนจบเพื่อเคลียร์ประเด็นที่วางไว้ให้ดูมีความหมายและกำลังใจออกจะง่ายไปหน่อย นี่อาจเป็นปัญหาทำยังไงให้จบในเชิงบวกทั้งที่เรื่องราวเผชิญอยู่ในทางลบก็เป็นได้