สมศรี 422 อาร์ (1992)
Director: ณรงค์ จารุจินดา
Genres: Comedy | Family
Grade: B
เป็นหนังไทยอีกเรื่องที่น่าจดจำในแง่ความคิดสร้างสรรค์ที่แม้จะซ้ำซากไปหน่อยแต่ด้วยระยะเวลายุคสมัยนั้นถือว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่น้อยนักจะมีให้เห็นเพราะฟังดูแลต้องใช้ทุนสร้างมากมายอย่างแน่นอน ฉะนั้นการจะเสี่ยงสร้างหนังไซไฟที่มีหุ่นยนต์จึงเป็นเรื่องได้ยาก ทว่ากับเรื่องนี้แทบไม่ใช้ทุนสร้างอะไรมากเลย แทบจะหาคำว่าสเปลเชียลเอฟเฟคจากมือทำหรือคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ยิ่งกับตัวหุ่นยนต์ยิ่งบอกเลยว่าใช้คนแสดงเพียวๆ ไม่ต้องไปไกลถึงระดับตำนานหนังแอ็คชั่นคนเหล็กอย่าง The Terminator (1984) กับเทคนิคต่างๆที่ดูล้ำยุค เรื่องนี้ขอแค่จำกัดความที่ความสนุกด้วยรอยยิ้มโดยมีหุ่นยนต์เป็นองค์ประกอบก็เพียงพอแล้ว ซึ่งนั้นเองที่ทำให้ทุกคนจำชื่อสมศรีได้อยู่เสมอในฐานะหุ่นยนต์คนไทย
"ฉันใช่มีเพียงรูปกาย เคลื่อนไหวไปตามลีลา ไม่ใช่กลไกมายา แค่ทำอะไรตามใจ แต่ฉันก็มีหัวใจ มีความรู้สึกข้างใน มีความต้องการเหมือนใครใคร ใช่เพียงเครื่องกลธรรมดา สมศรีคือหุ่นยนต์ สี่ สอง สอง อาร์ ขอได้โปรดรู้ว่า ฉันก็มีใจเหมือนคุณ เขาสร้างฉันมาเพื่อใช้งาน ฉันทำอะไรได้ทุกอย่าง ตรงไปตรงมาไม่อู้งาน และไม่ยึกยักหลอกใคร แต่ฉันก็มีหัวใจ มีความรู้สึกข้างใน ต้องการความรักเหมือนใครใคร ใช่เพียงเครื่องกลธรรมดา สมศรีคือหุ่นยนต์ สี่ สอง สอง อาร์ ขอได้โปรดรู้ว่า ฉันก็มีใจเหมือนคุณ"
ถ้าเคยดูหรือเคยได้ยินเพลงนี้คงคุ้นหูกันบ้างเพราะเป็นเพลงประจำตัวของเรื่องนี้ที่ใช้เปิดตัวกับปิดจบของหนังที่บ่งบอกถึงตัวตนของหุ่นยนต์ที่มองเป็นเพียงเครื่องจักรที่สร้างมาใช้งานต่างๆ แต่ความจริงในตัวหุ่นยนต์นั้นมีจิตใจไม่ต่างกันกับคนที่รู้สึกได้คิดได้ว่าคืออะไรอย่างไรแบบไหน ถ้างั้นจะเป็นการเปิดเผยเนื้อเรื่องเลยหรือเปล่าถ้าเนื้อเพลงจะบอกเป็นนัยขนาดนั้น อันนี้บอกว่าไม่เป็นเช่นนั้นแน่นอน เนื่องจากเพลงเป็นการสื่อนัยยะอย่างหนึ่งเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่สร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวก สร้างมาให้รับความลำบากจากสิ่งที่คนเราทำอยู่เสมอ แล้วจะเป็นยังไงถ้าความลำบากถูกถ่ายเทไปที่หุ่นยนต์ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องน่าสนใจเพราะหุ่นยนต์คือเครื่องจักรไม่มีวันเหน็ดเหนื่อย ไม่มีร่างกายเหมือนคนที่รู้จักคำว่าเหนื่อยล้าได้ ในทางกลับกันความลำบากที่หายไปเพราะหุ่นยนต์รับแทนนั้นถ้าเกิดมีความรู้สึกนึกคิดได้จะเป็นยังไงแทน คงจะบ่นว่าตัวเองถูกใช้งานหนักไปหรือเปล่า ถึงจะมีหน้าที่รับใช้อำนวยความสะดวกสบายแต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือขอบเขต บางทีอาจรู้สึกเบื่อหรือเกลียดตัวเองที่กลายเป็นสิ่งที่ถูกใช้อย่างเดียว ไม่มีคุณค่าอย่างอื่นนอกจากทำงาน นั้นแหละที่คิดว่าหุ่นยนต์ก็มีหัวใจ
ช่วงแรกของหนังเหมือนจะไม่ค่อยสนุกเท่าไรเพราะดูแล้วไม่มีความน่าสนใจมากนักในการเล่าเรื่อง ที่แปลกตาหน่อยอาจะเป็นหุ่นยนต์หรือหุ่นกระป๋องในบ้านที่ดูจะใช้งานแบบเอาจริงเอาจังไม่ได้จนกระทั่งเจ้าหุ่นยนต์ดังกล่าวต้องพังลงเนื่องจากไม่สามารถทำงานได้ดีหรือดูจะเป็นประโยชน์ นั้นเองที่ทำให้เต๋อ (ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง) นักประดิษฐ์ต้องทบทวนความรู้ของตัวเองเสียใหม่ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์อีกครั้ง โดยตั้งความหวังไว้สูงสุดว่าจะต้องออกมาเป็นผลงานระดับโบว์แดง ซึ่งกว่าเจ้าสิ่งประดิษฐ์จะปรากฎกายได้เล่าเรื่องในส่วนครอบครัวที่มีสมาชิกกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาไม่มีปัญหาภายในอะไร จะมีเป็นเฉพาะคนไปอย่างแป้ม (ธิศวรรณ สุวรรณโพธิ์) ที่มีนิสัยเอาแต่ใจตัวเองบ้างไปหน่อยและมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายเพราะเรื่องการเรียนที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งในเรื่องจะเป็นคนโตสุดและขาดความอบอุ่นเพราะไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไรนัก จึงเหมือนกับว่าเป็นคนมีภาระตลอดเวลา
นอกจากคนในครอบครัวแล้วยังคนข้างบ้านที่เหมือนจะยุ่งไปทุกเรื่องคืออุดม (กลศ อัทธเสรี) กับอี๊ด (ผอูน จันทรศิริ) สองสามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันอย่างไม่เป็นสุข(หมายถึงไม่อยู่เฉยๆ) โดยเฉพาะกับอี๊ดที่มักสอดส่องเรื่องชาวบ้านตลอดเวลาและยิ่งกับคนข้างบ้านที่มีเต๋อเป็นนักประดิษฐ์ยิ่งอยากรู้อยากเห็นเข้าไปใหญ่ และนั้นเองที่ทำให้ไปเห็นผู้หญิงแปลกหน้าภายในบ้านจนสงสัยคิดไปเองว่าคือชู้ของเต๋อที่แอบพาเข้าบ้าน เมื่อเป็นเช่นนั้นเรื่องจึงได้แดงไปถึงหูของ (ดวงดาว จารุจินดา) ภรรยาของเต๋อที่พึ่งกลับมาบ้าน ทว่าเรื่องได้พลิกเมื่อผู้หญิงน่ารักน่าใสคนนั้นคือสมศรี 422 อาร์ (จินตรา สุขพัฒน์) หรือหุ่นยนต์ที่เต๋อประดิษฐ์ขึ้นมาจากความพยายามอันสูงสุดให้เหนือล้ำยุคล้ำสมัยไม่มีใครเทียบได้ โดยวัตถุประสงค์ในการสร้างสมศรีมาจากการอยากแบ่งเบาภาระช่วยงานบ้าน ครอบครัวจะได้อยู่อย่างสบายมีเวลาไปทำอย่างอื่น หลังจากนั้นไม่ว่าใครก็เรียกใช้สมศรีเสมอ
ในมุมมองของสมศรีไม่แตกต่างกับคนรับใช้ที่ถูกใช้แล้วใช้อีกจนคนในบ้านสบายกันถ้วนหน้า แต่เพราะเป็นหุ่นยนต์ทำให้บางครั้งทำอะไรที่ซื่อต่อคำสั่งเสมือนเด็กพึ่งเกิดที่ยังคิดอะไรเองไม่ได้และต้องเรียนรู้จากการดู ด้วยเหตุนี้จึงเป็นมุขตลกที่ให้แง่คิดตลกดีและตลกร้ายอย่างปฏิเสธไม่ได้ ที่ชัดเจนคือช่วงเวลาเรียนรู้ของสมศรีมาจากการดูโทรทัศน์กับอ่านหนังสือ อย่างหลังไม่มีปัญหาเพราะเป็นเนื้อหาที่ผ่านกลั่นกรองมาดี ทว่ากับสิ่งแรกคือการนั่งดูรายการต่างๆในโทรทัศน์ที่บอกไม่ได้ว่าคือสิ่งที่ดีหรือไม่ หนำซ้ำการไม่มีใครแนะนำว่าถูกต้องหรือผิดจึงกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ตัวอย่างเรื่องสมศรีดูรายการตลกที่พบว่ามุขดังกล่าวเป็นการล้อปมด้อยเรื่องหัวล้าน เมื่อสมศรีเจอพ่อตา (สุประวัติ ปัทมสูต) ที่มีลักษณะหัวล้านจึงได้ทำตามอย่างไม่ลังเลที่จะลูบหัวแล้วบอกว่า"ไปที่ชอบๆเถอะนะไอ้หัวล้าน" จะว่าตลกก็ตลก จะว่าเป็นเรื่องไม่ควรก็ไม่ผิด แต่ผลลัพธ์ออกมาคือฮาซะอย่างงั้น และยังมีอีกหลายพฤติกรรมที่เลียนแบบจากโทรทัศน์แต่ดีหน่อยตรงที่ไม่มีเรื่องความรุนแรง
ไม่ใช่แค่เลียนแบบรายการโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังเลียนแบบกิริยาท่าทางจากคนรอบข้างที่มักจะเอาที่เด่นๆ เช่น เสียงกรี๊ดร้องที่จะร้องตามเมื่อมีคนร้อง คำอุทานอย่างว้ายหรือเบื่อ และที่แน่นอนเป็นความตรงของคำพูดที่ไม่ได้วิเคราะห์ใดๆทั้งสิ้นจนแอบคิดว่าเป็นศรีธนชัยเวอร์ชั่นหุ่นยนต์หรือเปล่า ถ้าไม่ติดว่าคิดเองไม่เป็นอาจมองเป็นแบบนั้นก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นความตรงนี่แหละที่เป็นจุดข่ยแก่สมศรีที่มอบเสียงหัวเราะเวลาถูกใช้งาน นอกจากจะมีความตลกที่เหมาะดูกันทั้งครอบครัวแล้วยังมีเรื่องความรักมาเกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งความรักไม่ได้เกิดขึ้นกับเลยยกเว้นหนุ่มมอเตอร์ไซด์ชื่อกริช (สันติสุข พรหมศิริ) ที่บังเอิญไปเห็นสมศรีเดินไปซื้อของจนเกิดอาการตกหลุมรักจนถึงขั้นตามจีบให้เห็นหน้าอยู่เสมอ ซึ่งกริซไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสมศรีไม่ใช่คน น่าเสียดายที่ประเด็นความรักไม่ได้หนักแน่นในบทสรุปเท่าไรจึงไม่ค่อยรู้สึกว่ากริชเสียใจ แต่เหมือนเรื่องนี้จะสอนเกี่ยวกับความรักที่ไม่สมหวังตรงที่ผู้ชมรู้อยู่แล้วว่าบทสรุปจะเป็นแบบไหน จะเหลือแค่การทำใจของกริชที่จะรับได้หรือเปล่า
ที่ชอบคือไคล์แม็กซ์ของเรื่องได้แสดงให้เห็นว่ากริชเป็นคนยังไงและรักสมศรีแค่ไหน ด้วยความที่ใช้นักแสดงคู่บุญระหว่างสันติสุขกับจินตราทำให้อดคิดถึงหนังเรื่องบุญชูไม่ได้ที่ค่อยพัฒนาตัวละครจากเพื่อนมาเป็นคนรู้ใจก่อนจะเป็นระดับที่ไว้ใจเป็นครอบครัวเดียวกัน เรื่องนี้ก็เช่นกันที่พยายามสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสองแม้จะผิดตรงที่อีกคนคือหุ่นยนต์ก็ตามที ส่วนปมประเด็นในบ้านที่เห็นชัดคือแป้มที่ตอนท้ายจะเห็นว่ามีปมในใจแค่ไหนเพราะขณะที่ทุกคนให้ความสนใจสมศรีแต่แป้มกลายเป็นสิ่งที่ไร้ตัวตน กระนั้นใช่ว่าแป้มจะเกลียดสมศรีที่เหมือนมาแย่งตัวตนของบ้านเสมอไป สมศรียังเคยช่วยแป้มทำการบ้านที่แม้จะปฏิเสธการช่วยเหลือก็ทำให้อย่างเต็มที่จนได้รับคำชื่นชม การวางปมประเด็นหรือการเสียดสีสังคมผ่านสื่อโดยใช้สมศรีเป็นตัวกลางของเรื่องจัดว่าทำได้ดีและแนบเนียนกับบท
จุดขายหลักของเรื่องนอกจากสมศรีแล้วยังมีอุดมกับอี๊ดที่มักจะก่อสร้างปัญหาอย่างไม่จำเป็นจนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้สมศรีในตอนท้ายเกิดอาการคลุ้มคลั่งนำไปสู่ความชุลมุนวุ่นวายที่แฝงด้วยความอันตรายและความฮาไปพร้อมกัน ถ้าสังเกตให้ดีในจะมีแขกที่ไม่ได้รับเชิญเข้าฉากด้วยในจังหวะที่สมศรีเดินกองถ่ายหนัง ซึ่งหนังดังกล่าวไม่บอกก็รู้ว่าคือบ้านผีปอบที่ได้รับแขกรับเชิญอย่างณัฐนี สิทธิสมานหรือที่จดจำกันในบทปอบหยิบนั้นเอง แม้จะมาแค่ไม่กี่วินาทีแต่เป็นช่วงแซวหนังไทยกันเองได้อย่างมีกึ๋นเลยทีเดียว และยังมีอีกนักแสดงที่เหลืออย่างวศิน มีปรีชากับตะวัน จารุจินดาที่เล่นเป็นลูกชายจอมซุกซนที่เหมือนบทจะแจกได้ไม่ดีเท่าไร โดยเฉพาะหลายอย่างที่มีหรือไม่มีก็ได้ ก็นับว่าเป็นหนังไทยสไตล์ไซไฟงบน้อยเล่นง่ายแต่สนุกกว่าที่คิด ยิ่งการแสดงของจินตรายิ่งการันตีว่าเล่นดีถึงดีมาก ยอมทำได้ทุกบทบาทเหมือนหุ่นยนต์ที่พร้อมรับใช้สมชื่อสมศรีจริงๆ สรุปว่าเป็นหนังที่ดูสนุกครบอรรถรสทั้งเนื้อเรื่องและความฮาที่ดูกี่ทียังฮาไม่เคยเปลี่ยน ยิ่งความน่ารักของหุ่นยนต์ชื่อสมศรี 422 อาร์ ยิ่งต้องบอกว่าทุกคนจะต้องหลงรักเธออย่างแน่นอน