บุญชู 5 เนื้อหอม (1990)

บุญชู 5 เนื้อหอม (2533)
Director: บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
Genres: Comedy
Grade: A

"อยากรู้จริงๆหรือเปล่า เล่ายาวนะ"

สองภาคก่อนคือภาคก่อนการศึกษาหรือก่อนได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่กะลุ้นกับแทบดิ้นตายว่าจะได้ติดคณะในฝันหรือไม่ ซึ่งดูเหมือนเวลาที่รอคอยมาแสนนานก็มาถึงเสียที สำหรับภาคนี้กับบางคนอาจถึงขั้นบ่นหรือกระวนกระวายตามหาภาค 3-4 ที่หาให้ตายยังไงก็หาไม่เจอ เนื่องจากภาคที่หายไปนั้นเสมือนหนังสั้นนี้เองและได้ใส่เข้าไปในภาคนี้โดยเปิดเรื่องที่บุญชู 3 จำจากแม่เล่าเรื่องถึงแม่บุญล้อม (จุรี โอศิริ) ที่กำลังเดินไปกับบุญชู (สันติสุข พรหมศิริ) เพื่อส่งขึ้นรถประจำทางไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ จากนั้นมาต่อด้วยบุญชู 4 ปีหนึ่งที่เกริ่นมาแบบเชิงหนังสั้นอีกครั้งที่เล่าถึงการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่มีการรับน้องโดยมุ่งเน้นไปที่คณะที่บุญชูเรียน แน่นอนว่าต้องเป็นคณะเกษตรและหนึ่งในฉากนั้นเองที่มีวิธีการรับน้องให้ลงไปในนาโดยไปกลิ้งหมักตัวในนั้นเพื่อทำความคุ้นเคยกับความเป็นชนบท จัดเป็นฉากที่สั้นแต่สะท้อนได้ดีเพราะอย่างแรกคือจะเป็นยังไงถ้าคนเมืองเหยียบถนนมองตึกมาเป็นเปื้อนโคลนเงยหน้ามีแต่แดดร้อนๆ นี้คือข้อแตกต่างเล็กๆระหว่างคนเมืองกับบ้านนอกที่เกิดมามีภูมิลำเนาต่างกัน กระนั้นยังไงเสียคนที่เรียนเกษตรย่อมต้องรู้จักมากกว่าแค่ในตำราเพราะต้องเน้นปฏิบัติเห็นผลเห็นดอกมากกว่า ก็ยอมรับอย่างหนึ่งว่าคนบ้านกรุงกับบ้านนอกนั้นแตกต่างกันในด้านความเจริญ ถ้าให้เลือกความเจริญทางวัตถุคงได้แต่ตอบปฏิเสธเพราะเอาเข้าจริงความเจริญไม่ใช่การพัฒนาทางด้านสิ่งของ สิ่งที่พัฒนาคือจิตใจของคนดังถาคนี้ที่มุ่งเน้นการหาความยุติธรรมที่่ถูกต้อง อีกคนได้ดีแต่ใช้อย่างสิ้นเปลืองอีกคนอดได้จึงต้องลำบาก สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างไปกับการเข้าเรียนเมื่อเจอสิ่งที่เหมาะสมถึงไม่ถนัดบ้างแต่ด้วยใจรักก็ผ่านไปด้วยดีเพราะมุ่งมั่น บุญชูใช่จะเป็นคนเก่งต้องสอบเข้าหลายรอบมีตกรอบเป็นเรื่องธรรมดา ทว่าบุญชูมรคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่หาได้ยากคือความซื่อสัตย์และมานะจนเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จด้วยความเพียรของตนเอง


ถามว่าภาค 3-4 ไปไหน คำตอบที่ได้อาจหมายถึงไปหัวลำโพง-รังสิต(อย่าพึ่งงงเพราะหมายถึงสายรถเมล์ 34 นั้นเอง) เข้าเรื่องกันในภาคที่ 5 ที่เหมือนจะมาไกลแล้วกับบุญชูบ้านนา(เอาเข้าจริงมันคือที่ 3 กลายๆอ่ะนะ) ตอนนี้ได้เรียนมหาวิทยาลัยกับคณะในฝันเสียทีและตอนนี้ก็ร่ำเรียนจนมาถึงปีที่ 3 มีเพื่อนฝูงรู้จักมากมายแถมเป็นคนดังที่รู้จักกันทั่วคณะเพราะสไตล์เอกลักษณ์บ้านนอกซื่อตรงและเสียงเหน่อเกินใครเหมือน โดยเนื้อเรื่องจะไม่ได้มุ่งไปที่บุญชูอย่างภาคก่อนแต่จะเป็นการขยายเรื่องราวมากขึ้นเมื่อบุญชูไปรู้จักอำภาวรรณ (คุณสมรัชนี เกษร) นักศึกษารุ่นน้องคณะเดียวกันที่มีปัญหาทางการเงินขนาดยังไม่มีไปซื้อข้าวกินต้องใช้ชีวิตแบบอดอยากไปวันๆ จึงพยายามขอทุนการศึกษาแต่ก็ไม่เคยได้ คนที่ได้ไปก็คือสายันห์ (ซานโตส กลิ่นสี) ที่เกิดเอาเงินทุนไปใช้ในทางไม่ควรนำไปเที่ยวกินเหล้าเลี้ยงเพื่อนขนบุญชูเห็นว่ามันไม่ควรเลยที่นำเงินมาใช้สิ้นเปลืองแบบนี้จึงตัดสินเข้าช่วยอำภาวรรณด้วยการขอร้องบรรดาคณะครูอาจารย์ถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของสายันห์ที่ใช้เงินไปกับเรื่องไร้สาระและอยากให้มีการตรวจสอบการใช้เงินที่ได้จากทุนว่านำไปใช้อย่างถูกต้อง ทว่ากลับถูกปฏิเสธเพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและเกินความจำเป็น ดังนั้นทางเลือกที่จะทำให้ทุนการศึกษาใช้ได้ถูกคนคือการลงเลือกตั้งประธานสโมสรเพื่อจะได้ลงระเบียบกฎเกี่ยวกับทุนการศึกษา แต่เหมือนบุญชูต้องพบอุปสรรคเพราะขาดทักษะทางด้านนี้ ไม่สามารถเรียกร้องความสนใจได้เท่ากับกลุ่มอื่นที่มุ่งเน้นวิชาการกับทางด้านนันทนาการ กระนั้นไม่ใช่ปัญหาเมื่อบุญชูยังมีเพื่อนมาช่วยให้ครบทั้งหยอย (เกียรติ กิจเจริญ) ,คำมูล (กฤษณ์ ศุกระมงคล) ,นรา (อรุณ ภาวิไล) ,ไวยากรณ์ (วัชระ ปานเอี่ยม) ,เฉื่อย (นฤพนธ์ ไชยยศ) ,ประพันธ์ (เกรียงไกร อมาตยกุล) และโมลี (จินตหรา สุขพัฒน์) 


สำหรับภาคนี้ยังคงอัดแน่นด้วยความเป็นกันเองเต็มไปด้วยอรรถรสแห่งความสนุกที่ไม่ด้อยไปกว่าภาคก่อนๆ แต่กับภาคนี้จะมีอารมณ์ที่แตกต่างกว่าภาคก่อนคือเริ่มแสดงความมีประสบการณ์มากขึ้น ดูได้จากบุญชูที่กล้าคิดกล้าทำไม่ลังเลแบบบ้านนอกคนหนึ่งเพราะสามารถปรับตัวเข้ากับคนเมืองใช้ชีวิตท่ามกลางคนมากมายโดยไม่ต้องพึ่งพาใครอีกต่อไป ถ้ายังจำกันได้ในภาคแรกแม้แต่ข้ามถนนบุญชูยังลังเลที่จะข้ามเพราะไม่เคยเจอรถเยอะขนาดนี้มาก่อนแถมยังนั่งรถเมล์เลยป้ายอีกด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเซ่อซ่าไปบ้างแต่ในฐานะบ้านนอกเข้ากรุงคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสาหัสอะไรนัก การเริ่มต้นจะมีอุปสรรคบ้างเป็นเรื่องธรรมดาแบบที่บุญชูพยายามทำความฝันให้แม่เป็นจริง หลังจากภาคก่อนการศึกษาจบลงก็คราวภาคการศึกษาที่เริ่มแสดงถึงการรู้จักคิดอย่างที่บุญชูได้ทำว่าควรจะสร้างความยุติธรรมที่ดีกว่านี้ แต่คำเรียกร้องของบุญชูด้วยปากเปล่าไม่อาจพิสูจน์ได้จึงต้องเสียสละลงทุนลงเลือกตั้งนายกสโมสรซึ่งเดิมทีบุญชูไม่อยากมีส่วนในทางนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วซ้ำยังถูกชวนจากกลุ่มที่ลงเลือกตั้งอยู่ก่อนให้มาช่วยเหลือเพราะมองว่าบุญชูคือคนสำคัญต่อคะแนนเสียง อะไรทำให้บุญชูคือคนสำคัญมีค่าขนาดนั้นอาจไม่จำเป็นต้องอธิบายให้มากความเพราะกับตัวผู้ชมคงรู้อยู่ก่อนว่าบุญชูมีนิสัยใจคอแบบไหน สำหรับภาคนี้มีการจัดบทบาทได้อย่างลงตัวอีกครั้งกับตัวละครที่น่าจะเยอะแต่ไม่ทำให้แยะได้ โดยเฉพาะจันทร์เพ็ญ (ชาญณรงค์ ขันทีท้าว) ที่ลงสมัครเบอร์ 2 แต่ความไม่ธรรมดาคือลงมุ่งเน้นด้านกิจกรรมเป็นหลักจนกลายเป็นที่สะดุดตาเสมอในตอนประการชวนให้เลือกตั้ง แน่นอนว่าความพยายามในการออกเสียงเป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งถึงความซื่อสัตย์เช่นเดียวกับเรวัติ (ไม่ทราบชื่อ) เบอร์ 1 กับนโยบายมุ่งการเรียนเน้นทางทฤษฎี ทั้งคู่ล้วนใช้วิธีที่เป็นธรรมและซื่อสัตย์ในการหาเสียงทำให้ตระหนักได้ดีถึงเรื่องยุติธรรมซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์เนื้อหาของภาคนี้ที่ต้องการเล่าถึงความเป็นธรรมในสังคม


สิ่งชวนคิดคือคุณค่าของเงินที่ใช่ว่าจะหาได้ง่ายและเสียไปได้ไม่ยาก สายันห์คือคนที่ได้ทุนเรียนแต่กับไม่ใช่เรียนเพราะมองว่าเงินที่ได้เสมือนถูกหวยไม่ได้มีค่าต่อการใช้ศึกษานอกจากนำไปหาความสำราญ จึงทำให้คิดได้ว่าแล้วกับอำภาวรรณที่ต้องการเงินจริงๆทำไมไม่ได้ทั้งที่ตั้งหน้าตั้งตารอ สิ่งเหล่านี้ถ้าให้เทียบก็ไม่ต่างกับการได้เงินจากพ่อแม่ที่ต้องการส่งเสียลูกตัวเองหวังให้อยู่สุขสบายมีกินมีใช้ไม่ต้องเดือดร้อนไปพึ่งอาศัยใครแต่เอาเข้าจริงหารู้ไม่ลูกตัวเองนำไปใช้กับเรื่องผิดๆพอเงินหมดก็ขอเนื่องจากกลายเป็นของง่ายที่ได้ไม่ยาก สิ่งเหล่านี้กระทบสังคมมานานจากความไม่รู้ถึงคุณค่าของเงินที่กว่าจะได้นั้นต้องแลกมาด้วยความลำบากแสนเข็ญแต่พอเวลาใช้ดันง่าย เมื่อมองไม่เห็นค่าของเงินสิ่งที่ตามมาคือจะทำยังไงให้เงินคู่ควรกับคนี่ต้องการจริงๆ บุญชูรู้ซึ้งในจุดนี้และสงสารอำภาวรรณจึงพยายามลงสมัคร ประเด็นคือบุญชูจะหาเสียงยังไงให้คนมาสนใจเลือก กฎระเบียบสิ่งที่ต้องการแก้ไขน่าดึงดูดมากแค่ไหน และเมื่อเป็นประธานสโมรสรจะทำได้อย่างที่บอกหรือเปล่า แม้ประเด็นอย่างหลังอาจต้องรอพิสูจน์ผลเลือกตั้งแต่ประเด็นสองข้อแรกบุญชูจะปรับเปลี่ยนให้คนมาสนใจได้อย่างไร คำตอบในที่นี่อาจทำไม่ได้ถ้าขาดเพื่อนเพราะบุญชูเดี่ยวๆคงไม่ใช่งานถนัด ดังนั้นเพื่อนเก่านี่แหละที่ช่วยได้และมาออกความคิดเห็นต่างๆให้ได้มาซึ่งชัยชนะ สิ่งที่ขาดไม่ได้จริงกับเรื่องนี้คือเพื่อนไม่ทิ้งกันเมื่อขาดไปก็ใช่เราจะทำเองได้ทุกเรื่อง หากต้องความสำเร็จควรจะต้องมีเพื่อนไว้ช่วยเหลืออันเป็นข้อคิดจากหนังเรื่องบุญชูทุกภาคที่มองเพื่อนคือสิ่งสำคัญ แต่อะไรไม่เท่ากับเพื่อนแท้ที่แม้จะเรียนกันคนละคณะคนละสถานที่ต่อให้ห่างไกลก็ไม่ลืมกันดังฉากนัดกินเลี้ยงยังมารวมตัวกันได้ บางทีนอกจากข้อคิดในแต่ละภาคแล้วสิ่งที่เห็นจะเหมือนกันหมดทุกภาคคือแง่คิดจากการมีเพื่อนนี่แหละ ตัวอย่างอำภาวรรณในเรื่องไม่มีเพื่อนใกล้ตัวเลยนอกจากบุญชูที่เข้าถึงเท่านั้นที่ยังค่อยช่วย บางทีถ้าอำภาวรรณไม่ทำตัวห่างผู้คนอาจได้เพื่อนแบบบุญชูบ้างก็ได้


หลายคนอาจจะตะหงิดใจเล็กน้อยเกี่ยวกับตัวละครมานีที่เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตานักแสดงจากเดิมคือ ญาณี จงวิสุทธิ์ เปลี่ยนเป็น ปรารถนา สัชฌุกร ส่วนหนึ่งต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นการปรับภาพลัษณ์มานีได้เข้าบทบาทเพราะภาคนี้จะไม่เข้มดุเครียดแบบภาคก่อนแต่จะเป็นอารมณ์ดียิ้มหวาน(แต่ไม่หวายมีดุบ้างเพียงไม่เท่าของเก่า) ทั้งนี้เพื่อนำมาเล่นจับคู่กับ เกรียงไกร อุณหะนันทน์ ในบท อ.สุโต โดยเฉพาะเนื่องจากช่วงนี้จะเป็นการแบ่งพาร์ทเรื่องราวของบุญช่วยที่แสดงโดย สุเทพ ประยูรพิทักษ์ เจ้าเก่าที่ดูจะเหมาะกับบทนี้แล้วจริงๆ(ก็นึกไม่ออกถ้า นิรุตติ์ ศิริจรรยา ที่เคยแสดงเป็นบุญช่วยในภาคแรกมาทำท่าทางแบบภาคหลังๆคงแปลกตาค่อนข้างมากแถมจะขัดๆด้วย)

ทางเนื้อเรื่องยังคงเหมือนเดิมระหว่างบุญช่วยกับมานีที่ยังตามจีบไม่ลดละแสดงให้เห็นได้ตั้งแต่เปิดเรื่องโชว์เรือแล่นบนแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อหวังเอาใจมานีก่อนจะกลายเป็นเรื่องวุ่นวายตลกร้ายกันตั้งแต่ต้นเรื่อง ทั้งที่เริ่มเรื่องได้ไม่นานก็เอาฮากันเสียแล้ว ขณะที่ทาง อ.สุโต คือคนที่มาขัดใจบุญช่วยเพราะกำลังตามจีบมานีเช่นกันเพียงแตกต่างกันที่มานีไม่รู้ว่า อ.สุโต ก็มีแฟนแล้วด้วยนี่สิ งานนี้บุญช่วยรู้เข้าจึงพยายามเอาใจมานีกันสุดๆแต่จะเป็นเช่นไรให้ลุ้นกันต่อเพราะชวงเวลานี้เองทำได้สนุกและฮาเอาเรื่องเหมือนกัน กระนั้นทีเดียวของภาคนี้ยังจัดเต็มได้อีกไม่รู้หมดไม่ว่าจะเป็นการจิกคนขายล็อตเตอรี่ ช่วงพักเรื่องกับร้านอาหารสไตล์ปากต่อปากระหว่างพี่ปอง (สมเกียรติ คุณานิธิพงศ์) เจ้าของร้านกับหงอยผู้ไม่ยอมแพ้ที่หนนี้มีมหาแจ่ม (ส.อาสนจินดา) ร่วมวงด้วย และปิดท้ายด้วยความชุลมุนสุดใหญ่ในงานเกษตรแฟร์ที่เรียกเสียงฮากันยกชุด


บุญชู 5 เนื้อหอมยังคงรักษามาตราฐานตัวหนังได้อย่างดีเยี่ยมไม่ตกบกพร่องความสนุกไปเลย อีกทั้งยังสอดแทรกสาระได้ทุกครั้งจนนับเป็นหนังสะท้อนสังคมที่นอกจากจะทำให้เห็นแล้วยังทำให้รู้ถึงปัญหากับวิธีแก้ไขอีกด้วย ฉะนั้นนอกจากได้เสียงฮาจากมุขเป็นกันเองที่ไม่ซ้ำยุคซ้ำสมัยแล้วยังมีปมประเด็นต่างๆที่สอดแทรกสาระได้อย่างพอดีคำไม่มีคำว่าล้นจนเกินไป อีกอย่างสำหรับท้ายเรื่องจะแตกต่างกว่าภาคก่อนนิดนึงตรงที่จะควายตัวเป็นกับควายเข้ามาแจ่มซึ่งก็สร้างความอลหม่านได้ถึงใจจริงๆแม้คอนเซ็ปต์ยังคงซ้ำเหมือนเดิมคือไล่กวดกันแค่นั้นแต่การลำดับตัดต่อทำได้สนุกไม่มีเบื่อเลยแม้แต่นาทีเดียว ที่น่าสนใจอีกอย่างตั้งแต่ภาคแรกคือถึงจะมองเป็นเรื่องของความรุนแรงมีชกต่อยแค่ไหน ทว่ากับเรื่องนี้ทำให้อารมณ์กลายเป็นอีกอย่างได้และนี้คือสิ่งที่เรื่องบุญชูทำได้ไม่เหมือนใคร อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือความสัมพันธ์ของบุญชูกับโมลีที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น สังเกตได้จากฉากบุญชูเดินไปส่งอำภาวรรณเกิดเป็นว่าโมลีหึงบุญชูมาซะงั้น พอมารู้ว่าเป็นรุ่นน้องที่ประสบปัญหาเรื่องเงินจึงเข้าใจที่หลังว่าทำไปเพราะช่วยเหลือไม่ได้คิดเปลี่ยนใจจากโมลีเลย แม้ประเด็นความรักเรื่องนี้จะน้อยแต่การได้เห็นฉากนี้พอจะอธิบายได้เลยว่าบุญชูอาจมีหวังอยู่ ที่ขาดไม่ได้เพียงมาแค่เป็นตัวประกอบท้ายเรื่องคือบุญมา (ธงชัย ประสงค์สันติ) ที่มากับแม่บุญล้อมและบุญช่วยในงานเกษตรแฟร์ แม้บุญมาจะติดคุกในภาคที่แล้วแต่ด้วยความไม่ตั้งใจจริงจะขโมยเงินก็ยังสามารถกลับเนื้อกลับมาได้ เห็นได้ว่าไม่มีใครรังเกียจบุญมาเลยสักคนเพราะเข้าใจในปัญหาความยากลำบากการหาเงิน ซึ่งนี้แหละคุณค่าของเงินที่สานต่อในภาคนี้ให้เข้าใจว่าถึงจะได้มาง่ายก็จริงแต่กับคนที่ได้ใช้อย่างไร้ประโยชน์จะมีแต่สร้างความลำบากให้คนที่หาเงินได้ยากและเมื่อหาเงินไม่ได้สิ่งสุดท้ายที่ทำได้คือขโมยแม้จะไม่ตั้งใจก็ตามที สิ่งเหล่าบ่งบอกถึงลูกโซ่ของคนที่อยู่อย่างยากไร้ ถ้าคนเรามองเห็นคุณค่าของเงินและใช้ได้อย่างถูกต้องบางทีปัญหาความยากจนอาจกลายเป็นเรื่องขี้ประติ๋วไปก็ได้

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)