Avengers: Infinity War (2018) | มหาสงครามล้างจักรวาล
Director: Anthony Russo ,Joe Russo
Genres: Action | Adventure | Sci-Fi
Grade: A
การได้เห็นหนังของแต่ละเรื่องมารวมเป็น The Avengers (2012) ถือว่าไปถึงที่สุดของตอนนั้น แต่เมื่อทุกอย่างไม่มีคำว่าถอยก็ต้องขึ้นไปเรื่อยๆให้ยิ่งกว่าใหญ่กว่า ซึ่งใน Avengers: Age of Ultron (2015) ได้พยายามก้าวระดับไปอีกขั้นแม้ผลจะไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไร กระนั้นยังรักษามาตรฐานของตัวเองให้เป็นหนังมาร์เวลที่ดีอีกเรื่องได้อย่างสบายๆ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคนี้มีความแตกต่างกว่าทุกที โดยเฉพาะสเกลของหนังที่ยกระดับเกินนอกโลกไปถึงระดับจักรวาลที่พร้อมเป็นได้ทุกอย่าง
นับตั้งแต่ Iron Man (2008) สร้างปรากฏการณ์หนังมาร์เวลที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งก็กลายเป็นใบเบิกทางสานต่ออีกหลายเรื่องให้กลายเป็นจริง ซึ่งกว่าจะมาถึงภาคนี้ก็ร่วม 10 ปีในการเก็บเล็กผสมน้อย ไม่ว่าจะ End-Credit หรือ Easter egg จนทุกอย่างเริ่มประกอบชิ้นส่วนต่างๆให้เข้าที่มาเป็นเรื่องราวของตัวร้ายสุดโหดที่มีชื่อเสียงอย่างมากในฉบับคอมมิคหรือ ธานอส (Josh Brolin) ผู้รวบรวมอินฟินิตี้สโตน (Infinity Stones) อัญมณีทั้ง 6 เม็ดที่ไม่มีใครเทียบเทียมได้
ในส่วนของเนื้อเรื่องจะต่อเนื่องแทบจะทันทีใน End-Credit ของ Thor: Ragnarok (2017) ที่จู่ๆมียานใหญ่ยักษ์มาโผล่ตรงหน้า ธอร์ (Chris Hemsworth) กับ โลกิ (Tom Hiddleston) ซึ่งยานลำนั้นไม่ใช่ของใครแต่เป็นของธานอสที่มาตามอัญมณีที่เหลือเพื่อดำเนินแผนการตามอุดมการณ์อันแน่วแน่ของตัวเอง โดยเนื้อเรื่องจะแบ่งตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกและในอวกาศก่อนจะมารวมเป็นเนื้อเดียวกันในไคล์แม็กซ์ ถ้าดูจากทรงพอจะเดาสิ่งที่เกิดขึ้นได้คร่าวๆ แต่พอเอาเข้าใจมีหลายอย่างเหนือความคาดหมายไม่น้อย
แน่นอนว่าการใส่ตัวละครจากเรื่องนั้นเรื่องนี้มามากขนาดนี้ย่อมมีปัญหาการแจกจ่ายบทตัวละครที่อาจจะหละหลวมไร้มิติ ซึ่งมีผลบ้างในบางตัวเท่านั้น เนื่องจากมีส่วนน้อยที่รู้สึกตัวละครเบาบางเพราะผ่านการทำความรู้จักมาก่อนแล้วในหนังของตัวเอง ฉะนั้นในส่วนของอุปนิสัยเรื่องราวล้วนเป็นสิ่งที่พอบอกได้ว่ามีลักษณะอย่างไร ด้วยเหตุนี้แทนที่เหล่าซูเปอร์ฮีโร่จะออกมาเด่นก็กลายเป็นธานอสในบทตัวร้ายที่ทำเอาหลายคนนึกว่าเป็นหนังของตัวเองเลยทีเดียว ซึ่งใครจะไปคิดว่าตัวร้ายตัวนี้จะสร้างความแตกต่างกว่าตัวร้ายเรื่องอื่นๆของมาร์เวลที่ให้มิติที่เกินกว่าทำลายล้างจักรวาลหรือยึดครอง แต่ทำไปเพื่อรักษาสมดุลเพื่อความคงอยู่ของทุกชีวิต
อุดมการณ์อันแรงกล้าของธานอสไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่เพราะเห็นมานักต่อนักจากหนังหลายอย่างที่พยายามอ้างอิงถึงประชากรล้นโลกกับทรัพยากรที่น้อยลง การสวนทางระหว่างผู้ใช้และผู้ผลิตจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างที่ดาวของธานอสล้มสลายมาก่อน ทว่าข้อเสนอของธานอสที่ลดประชากรลงครึ่งหนึ่งไม่เป็นที่ยอมรับเพราะขัดแย้งต่อศีลธรรมอันดี การตัดสินใจจบชีวิตคนอื่นเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือสมควรหรือไม่ ทำแล้วจะดีขึ้นจริงอย่างไร แล้วการแก้ปัญหานี้จะช่วยแบ่งเบาทรัพยากรให้หมดช้าลงได้มากแค่ไหน เมื่อเทียบกับดาวบ้านเกิดตัวเองอาจเกิดขึ้นซ้ำในดาวหรือจักรวาลอื่นๆ ฉะนั้นการออกมาเข่นฆ่าเพื่อยืดเวลาล้มสลายให้ช้าลง ซึ่งคงมีแค่ธานอสเท่านั้นที่คิดเรื่องแบบนี้ได้
ธานอสในคอมมิคคือตัวร้ายที่ไร้หลักการใดๆนอกจากตัวเอง ทว่าฉบับหนังแสดงถึงหลักการอันเข้มข้นเพื่อกอบกู้จักรวาลที่อาจต้องจบลงเพราะการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ซึ่งวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นคือการประหยัด แต่นั้นเป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุ สำหรับการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆนั้นต้องเริ่มจากตัวผู้ใช้ ถ้าให้เปรียบเทียบคงไม่ต่างจากไร้สวนคือทรัพยากร ขณะที่หนอนแมลงคือตัวกัดกินหรือประชากร และธานอสคือยาฆ่าแมลงที่ได้ส่วนผสมสารเคมีหรืออัญมณีมาจัดการส่วนเกินนี้ให้สิ้นซาก แต่ต้องคงเหลือแมลงไว้บางส่วนหรือครึ่งหนึ่งเพื่อไม่ให้วัฏจักรชีวิตเสื่อมสลาย กระนั้นประชากรที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจะต้องจำกัดอีกกี่ครั้งถึงจะหยุดการใช้ทรัพยากรเกินกำหนดนี้ได้ หรือต้องเวียนว่ายวนลูปกำจัดทีละครึ่งอย่างนี้เรื่อยไป
ในมุมมองของธานอสค่อนข้างเด็ดขาดและยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่ทำนั้นขัดแย้งต่อความดีเพราะทุกคนมองเป็นเรื่องชั่วช้า ซึ่งจากนั้นแทบไม่มีช่วงไหนเลยที่มองธานอสคือตัวร้ายที่สมควรถูกเหล่าซูเปอร์ฮีโร่รุมจัดการเพราะก้ำกึ่งที่เห็นด้วยว่าคือเรื่องจริงที่สมควรและไม่สมควร การกำจัดประชากรครึ่งหนึ่งเป็นแบบสุ่ม จะคนดีหรือเลว เด็กหรือผู้ใหญ่ ตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญเพียงใด สุดท้ายต้องโดนกันหมดเพราะทุกคนมีสิทธ์เท่าเทียม นั่นคือคนละหนึ่งชีวิต
"นี่ก็คิดว่าธานอสคือตัวละครหลัก
ขณะที่ซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆคือตัวรอง"
คงไม่ปฏิเสธถ้าคิดว่านี่คือหนังของธานอสเพราะมีเรื่องราวมากกว่าใครเป็นพิเศษ ผิดกับเหล่าซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆที่ผ่านการปูพื้นจากหนังของตัวเองจนมาสู่ภาคนี้ที่่ค่อนข้างตายตัวไม่มีมิติทางอื่นเท่าไรนัก โดยมีเพียงธานอสเท่านั้นที่ผลุบๆโผล่ๆจากหนังหลายเรื่อง ทำให้ไม่รู้เป็นมายังไงที่ชัดเจน ฉะนั้นจึงหนักไปที่การเล่าเส้นทางตัวร้ายตัวนี้ที่มีเรื่องราวซับซ้อนยิ่งกว่าตัวร้ายทุกตัวของมาร์เวลที่ผ่านมา ธานอสจึงเป็นตัวละครที่แข็งแกร่งทั้งในหนังและตัวบท แต่ต้องแลกมากับบทบาทของซูเปอร์ฮีโร่ตัวอื่นๆที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับเนื้อเรื่องแบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายชัดเจนระหว่างบนโลกและในอวกาศ แต่ด้วยเวลากำจัดเพียง 2 ชม.ครึ่งทำให้ตัวละครที่มากมายย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกระจายบท ซึ่งจะว่าไปก็เหมือนจะไม่ใช่ปัญหาเท่าไรนักหากมองเป็นเรื่องปกป้องพิทักษ์โลกและจักรวาล เมื่อมีคนร้ายก็เป็นหน้าที่ของฮีโร่เข้าไปจัดการแค่นั้น แต่ประเด็นคือจะทำยังไงไม่ให้ตัวละครเหล่านั้นถูกลืมเพราะจะไม่เป็นการเซอร์ไพรส์ในตอนจบ แน่นอนว่าปัญหานี้เกิดขึ้นในบางตัวละคร โดยเฉพาะตัวรองที่เดิมไม่เด่นอยู่แล้วก็ยิ่งเงียบเข้าไปอีก แต่อย่างน้อยยังมีโอกาสโชว์ฉากเด่นของตัวเองที่แม้จะเพียงคนฉากสองฉากก็ตามที
ตอนที่ผู้กำกับ Anthony Russo,Joe Russo ทำ Captain America: The Winter Soldier (2014) เป็นอะไรที่สนุกแล้วเข้ากับเส้นเรื่องของกัปตันอเมริกา (Chris Evans) ที่มีความซีเรียสทางการเมืองจนหลายอย่างดูเป็นมากกว่าหนังที่สร้างจากคอมมิค ยิ่งนั้นทำให้ Captain America: Civil War (2016) ไปได้ไกลอีกขั้นจากเนื้อเรื่องและการคุมตัวละครที่มากมาย ซึ่งไม่แปลกหากต้องทำหน้าที่กำกับ Avengers: Infinity War เพราะอย่างน้อยก็ผ่านประสบการณ์จัดการเกลี่ยบทและเน้นสมจริงสมจังมาอย่างดี
สำหรับ Avengers ภาคนี้จะประกอบไปด้วย Captain America: Civil War (2016),Doctor Strange (2016),Guardians of the Galaxy Vol. 2 (2017),Spider-Man: Homecoming (2017),Thor: Ragnarok (2017) และ Black Panther (2018) โดยทั้งหมดจะอยู่ Phase 3 และเรื่องยังไม่จบแค่นี้เพราะ Avengers: Infinity War ถูกแบ่งเป็น 2 ภาค ซึ่งต้องตั้งตารอกันต่อไปว่าจะขยายเรื่องราวยังไงต่อเพราะตอนจบที่เดาทางยากเหลือเกิน
อยากให้มีเวลาที่มากกว่านี้ในการเล่าเรื่องเพราะทุกอย่างดูไปไวไปหมด ปัญหาจะเกิดกับคนที่ไม่ใช่แฟนมาร์เวลหรือติดตามกันมาเป็นอย่างดีเพราะจะไม่เข้าใจว่าพูดถึงอะไรรวมถึงปมตัวละครที่อาจมีงงกันบ้าง ส่วนคนที่ติดตามนั้นน่าจะพอใจกันไม่น้อยที่ได้เห็นความฝันเป็นจริงจากแผ่นกระดาษมาสู่ฉบับคนแสดง ไม่ว่าจะการดำเนินเรื่องหรือฉากแอ็คชั่นหรือ CGI ก็ล้วนทำมาดีทั้งสิ้น แต่อาจจะติในเรื่องความพยายามทำให้ดูสมจริงมากไปหน่อยจนดึงความอลังการได้ไม่สุด กระนั้นรู้สึกได้ถึงความเข้มข้นและความหดหู่เข้ามาแทน
ธอร์กลายเป็นตัวละครที่น่าเศร้าที่สุดจากการสูญเสียไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร แต่ยังยืนหยัดและยิ้มให้กับโชคชะตาของตัวเองได้ นับเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่มากกว่าคนอื่นๆและยังเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่เท่ที่สุดในเรื่องอีกด้วย นอกจากธอร์ที่มีปมในใจก็คือบรูซ แบนเนอร์ หรือฮัลค์ (Mark Ruffalo) ที่ติดปัญหาการแปลงร่างและต้องสู้กับจิตใจของตัวเอง แล้วยังมีเรื่องความรักระหว่าง วันด้า แม็กซิมอฟฟ์ หรือสการ์เล็ต วิทช์ (Scarlett Johansson) กับ วิชั่น (Paul Bettany) ที่พยายามเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างสงบ ทว่าต้องเจอปัญหาถูกลูกสมุนธานอสตามไล่ล่า
ส่วนตัวละครอื่น เช่น ดร.สเตรนจ์ (Benedict Cumberbatch),ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ หรือสไปเดอร์แมน (Tom Holland),นาตาชา โรแมนนอฟฟ์ หรือแบล็ควิโดว์ (Scarlett Johansson),ทีชัลล่า หรือแบล็ค แพนเธอร์ (Chadwick Boseman) และอื่นๆอีกหลายตัวละครล้วนเป็นองค์ประกอบแต่งเสริมเข้ามา มีความสำคัญระดับหนึ่งแต่ไม่ถึงกับเรียกความสนใจอะไรมากในแง่ปมประเด็น จะไม่เหมือนกับ โทนี่ สตาร์ค (Robert Downey Jr.) กับการเป็นไอรอนแมนไปผจญความเสี่ยงด้วยตัวเองเพื่อลดการสูญเสียจากคนที่ตัวเองรัก หรือจะ กาโมรา (Zoe Saldana) ลูกสาวบุญธรรมที่มีอดีตแค้นใจกับธานอส
ถ้านับตัวหลักจริงๆมีไม่กี่ตัว นอกนั้นมาเสริมฉากแอ็คชั่นกับเรียกร้องกลุ่มแฟนมาร์เวล แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งจะเห็นถึงความพยายามแบ่งบทให้ออกมาเฉพาะฉากสำคัญเท่าที่จะทำได้ อย่างฉากแอ็คชั่นที่วากานด้าจะได้เห็นถึงการปล่อยของแต่ละตัวที่ไม่มีบทให้เด่นมากขึ้นเพื่อกันลืม(ฮา) แต่ถึงฉากแอ็คชั่นบนโลกจะยิ่งใหญ่และหลากหลายแค่ไหนก็รู้สึกนอกโลกบนดาวไททันจะสนุกกว่า ลุ้นกว่า และกดดันมากกว่าเพราะเป็นการสู้กับธานอสตรงๆ ถือว่าทำออกมาลงตัวหลายอย่างสำหรับหนังที่มีสเกลใหญ่โตเรื่องตัวละครที่มากมายกายกองขนาดนี้ ถึงจะไม่ที่สุดแต่การคุมไม่ให้หลุดไปกว่านี้ก็นับว่าคุ้มค่าที่สะสมถึง 10 ปีเพื่อโอกาสนี้