The Poseidon Adventure (1972) เรือนรก

The Poseidon Adventure (1972) | เรือนรก
Director: Ronald Neame
Genres: Action | Adventure | Drama | Thriller
Grade: B+

สิ่งที่ชอบมากคือการจัดฉาก แต่ละฉากเหมือนจะทำง่ายแค่ให้ดูเหมือนเกิดความวินาศสั่นตะโร แต่จริงๆแล้วต้องทำให้ทุกอย่างดูกลับหัวกลับหาง ไม่มีอะไรแน่นอนและคงที่เหมือนเดิม ซึ่งเข้ากับสถานการณ์เรือล้ม ที่ไม่ใช่แค่เอียง แต่เป็นคว่ำบนลงล่าง เท่ากับว่าใต้ท้องเรือจะขึ้นมาอยู่ข้างบนเสียแทน การไปจากเรือจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและออกได้ตามปกติ เมื่อหนทางรอดถูกปิดตายอยู่ใต้ทะเล


เรือสำราญโพไซดอนต้องเผชิญคลื่นยักษ์จนพลิกคว่ำพาใต้ท้องเรือขึ้นมาอยู่ข้างบน ทำให้หนทางรอดมีเพียงหนึ่งเดียวคือการไปท้องเรือที่ตอนนี้ลอยเหนือน้ำ ซึ่งบาทหลวงสก็อตต์ (Gene Hackman) เชื่อว่านั้นคือทางรอดทางเดียวในตอนนี้ ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเชื่อและเห็นด้วยในความคิดนี้ ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างคนที่รอเพราะเชื่อว่าอยู่เฉยๆก็มีกู้ภัยมาช่วย แต่ตรงกันข้ามกับคนที่ดิ้นรนที่ไม่อาจรออยู่เฉย เนื่องจากจุดที่บอบบางอยู่ใต้น้ำที่พร้อมจะทะลักเข้ามาได้ตลอดเวลา

The Poseidon Adventure มาพร้อมกับประเด็นความเชื่อที่แตกต่าง ไม่มีใครถูกและผิดซะทีเดียว แต่ละคนต่างมีความคิดที่สมเหตุสมผล โดยแบ่งออกเป็นสองฝั่งที่เด่นชัด


1.กลุ่มบาทหลวงสก็อตต์เลือกจะหาทางออก เนื่องจากไม่อาจรออยู่เสี่ยงความตายจากน้ำทะเลที่เข้ามาเมื่อไรก็ได้ แล้วต้องรออีกนานแค่ไหนถึงหน่วยกู้ภัยจะมาช่วย ซึ่งเป็นไปได้ที่มาไม่ทันเพราะเรือคว่ำ ความพยายามหาทางรอดมีความเป็นไปได้ที่ช่วยให้พ้นวิกฤติ แน่นอนว่าเป็นความคิดที่น่าเห็นด้วย อย่างน้อยดีกว่านั่งอยู่เฉยๆเพราะอาจมีวิธีรอดโดยไม่ต้องรอหน่วยกู้ภัย กระนั้นการทำอะไรแบบนี้ไม่ต่างกับเข้าหาความเสี่ยง ไม่รู้ว่าการไปต่อจะเจออะไรบ้าง ซึ่งอาจเลวร้ายยิ่งกว่าเก่า

2.กลุ่มคนที่รอหน่วยกู้ภัย เลือกที่จะอยู่เฉยๆไม่หาหนทางรอดทางอื่น เพราะคิดว่าจะทำให้เลวร้ายยิ่งกว่าเก่า การนั่งรอให้หน่วยกู้ภัยที่มีเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาจัดการเรื่องนี้คือวิธีที่ดีที่สุด ถ้าไม่ติดการเล่าเรื่องที่มีหนทางชัดเจน นี่อาจเป็นความคิดที่ดีที่สุดข้อหนึ่ง เนื่องจากการหาหนทางรอดด้วยตัวเองเป็นการนำตัวเองไปเสี่ยงจากสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ในหนทางข้างหน้า ทว่าการไม่ทำอะไรเลยภายใต้สถานการณ์ที่รู้ว่ายิ่งอยู่นานยิ่งอันตรายอาจเป็นความคิดที่แย่


ประเด็นทางความคิดที่แตกต่างและความเชื่อคนละมุมมอง ทำให้เห็นถึงความหนักแน่นของตัวละครที่มีมาตั้งแต่ต้นเรื่อง ความแตกต่างไม่ใช่ความผิดปกติหรือข้อคิดที่ทำลายธรรมเนียมเดิม แต่เป็นความจริงที่บางครั้งเราไม่ตระหนัก ฉากบาทหลวงสก็อตต์แสดงความคิดที่โลดแล่นในต้นเรื่องจนไม่เหมือนหลวงพ่อผู้ศรัทธาในพระเจ้า ฉากนี้เสมือนเสียดสีตัวเองที่แม้เป็นผู้รับใช้พระเจ้าก็ใช่จะเชื่อในพระเจ้าเสมอไป ดังเช่นการหาหนทางรอดชีวิตล้วนเกิดจากความพยายามของตัวเอง พระเจ้าไม่ได้ปรากฏกายเข้าช่วยเหลือแต่อย่างใด ความพยายามสู้ชีวิตต่างหากคือพระเจ้า เมื่อเช่นนั้นพระเจ้าจะเข้าข้างเรา

แม้จะแบ่งกลุ่มกันแบ่งฝ่ายชัดเจนก็ใช่ทุกคนจะคล้อยตามความคิดของบาทหลวงสก็อตต์ซะทุกคน โดยเฉพาะมิค โลโก้ (Ernest Borgnine) ที่เสมือนคู่กัดไม่ยอมรับและเห็นด้วยไปเกือบทุกข้อ กระนั้นยังคงตามไปด้วยเหตุผลที่อาจเป็นไปที่จะรอด ถึงจะชวนให้ย้อนแย้งในตัวเองหลายครั้ง ทว่าห้วงวินาทีสุดท้ายได้เผยธาตุแท้ในใจของเขาว่าลึกๆเชื่อมั่นไม่ต่างกัน แค่วิธีการแสดงออกและนิสัยดูตรงข้ามก็เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นตัวละครที่เกลียดและรักมากที่สุด ยิ่งมองในหลายๆมุมมองจะเห็นถึงความสำคัญของตัวละครนี้มาก


การเดินผจญภัยในเรือที่พลิกคว่ำและอุปสรรคมากมายล้วนเนรมิตรฉากได้ตื่นตาและสมจริง ความยากลำบากกลายเป็นประเด็นหลักสำคัญของความอยู่รอด สิ่งสำคัญคือกำลังใจที่ต่างช่วยส่งเสริมกันและกัน การอยู่เป็นกลุ่มไม่ทิ้งกันทำให้ตลอดทั้งเรื่องไม่ต่างกับดูหนังครอบครัว มีทะเลาะเบาะแว้ง มีความรักความอบอุ่น การดูแลซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สิ่งเหล่านี้จากความผูกพันของคนแปลกหน้าที่เชื่อใจไปด้วยกัน นับเป็นหนังที่ให้อารมณ์ที่มีความสุขและโศกเศร้าในเวลาเดียวกันจากมิติตัวละครที่เข้าถึงในความรู้สึก

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)