รับน้องสยองขวัญ (2005)
Director: ภาคภูมิ วงษ์จินดา
Genres: Horror
Grade: C-
พอจะเข้าใจคอนเซ็ปต์การรับน้องที่มักเป็นข่าวอยู่ประจำ โดยเฉพาะการกระทำในสิ่งไม่ควร เช่น ความรุนแรง การคุกคามทางเพศ และพฤติกรรมต่างๆที่แสดงถึงความไม่เหมาะสม ทำให้กิจกรรมสานสัมพันธ์พี่น้องในสายตาใครหลายคนมีแต่อคติ ทำแล้วได้อะไร มีประโยชน์ยังไง กิจกรรมนี้ช่วยเรื่องอะไรในเมื่อไม่ก่อให้เกิดความถูกต้อง ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมาตลอดจนต้องสร้างกฎที่เข้มงวดเพื่อควบคุมกิจกรรมรับน้องไม่ให้เลยเถิด
กิจกรรมรับน้องเสมือนการทำให้รุ่นพี่และรุ่นน้องได้รู้จักกันง่ายขึ้น เพราะเวลาเรียนจะต่างคนต่างไป การหาคำปรึกษาที่ง่ายที่สุดคือได้รับจากคนที่ผ่านมาก่อน นั่นคือรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มากกว่า อีกทั้งเป็นการทำความรู้จักภายในรุ่นของตัวเอง เนื่องจากในรั้วมหาวิทยาลัยล้วนมาจากคนละทิศคนละทาง แตกต่างกับตอนเรียนมัธยมที่ส่วนใหญ่มาจากคนในพื้นที่ ฉะนั้นการทำความรู้จักจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทว่าปัญหาของกิจกรรมรับน้องที่ควรเป็นไปอย่างคนสนิทชิดใกล้ได้กลายเป็นคนไกลตัว เนื่องจากเต็มไปด้วยการบังคับที่ไม่เต็มใจทำตามจะโดน"ว้าก"
ช่วงแรกเป็นการแสดงภาพกิจกรรมรับน้องที่มีทั้งสุขและทุกข์ปะปนกันไป แน่นอนว่าความสุขเป็นเรื่องที่ปกติ แต่ประเด็นความทุกข์เกิดจากความกดขี่ให้รุ่นน้องทำตามคำสั่ง ถ้าทำได้ก็ไม่เป็นอะไร กระนั้นไม่ใช่ทุกคนจะยินยอมเสมอไป ทำให้มีฉากทะเลาะเบาะแว้งแสดงถึงปัญหาระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ทว่าประเด็นที่วางเอาไว้ในต้นเรื่องเป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น หลังจากนั้นได้ลอยหายไปกลายเป็นปมที่ผูกไว้และไม่แก้อีกเลย
จากปัญหาสังคมที่น่าติดตามได้กลายสภาพเป็นหนังสยองขวัญ เมื่อการรับน้องไม่ได้จบแค่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ไปต่อนอกสถานที่ที่คล้ายมาเที่ยว ทว่าต้องพบเรื่องราวไม่คาดฝันเมื่อการเดินทางต้องประสบอุบัติเหตุและถูกไล่ฆ่า แน่นอนว่าเรื่องการรับน้องที่แสนจริงจังได้เปลี่ยนเป็นความบันเทิงหฤโหด มีเพียงการหนีเอาตัวรอดที่มาพร้อมกับคำถามใหม่ว่าทำไมต้องฆ่า เด็กมหาวิทยลัยเกี่ยวข้องยังไง คนที่ไล่ฆ่าคือใคร
เดินเรื่องไวยังไม่รวดเร็วเท่าการตายที่มาเป็นใบไม้ร่วง ซึ่งตรงตามจำนวนตัวละครที่มากก็ตายกันมาก อีกทั้งตั้งใจทำให้ดูโหดที่สุดเท่าที่จะทำได้ จัดว่าหนักและอุดมด้วยเลือดและเนื้อพอสมควร ไม่ว่าจะไม้เสียบทะลุตัวหรือหน้า นิ้วขาดคอขาด รถทับร่าง แต่ละอย่างเป็นงานทำมือล้วนๆ(ใช้ CGI บ้างนิดหน่อย) ฉะนั้นต่อให้นักแสดงจะหน้าหล่อหรือสวยน่ารักแค่ไหนต้องมีจุดจบที่น่าสยดสยองทั้งสิ้น
ในส่วนของนักแสดงเป็นการรวมตัวดาราวัยรุ่นในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ บางคนดังบางคนไม่ค่อยดัง เช่น สุมนต์รัตน์ วัฒนาเศลารัตน์ ,กัญญา รัตนเพชร์ ,ณปภา ตันตระกูล ,ชิดจันทร์ รุจิพรรณ ,เคนตะ ซึทจิยะ ,สิริลภัส กองตระการ ,บวรพจน์ ใจกันทา และอีกหลายคนที่พอจะคุ้นหน้าคุ้นตา แน่นอนว่าหน้าตาชวนให้น่าดูในแบบหนังวัยรุ่น แต่พอถึงเวลาต้องแสดงอารมณ์ประกอบกับคาแรคเตอร์ตัวละครจะมีแต่ความล้น มีฉากให้ร้องกรี๊ดกับวิ่งหนีซะส่วนใหญ่ มิหนำซ้ำยังน่าหงุดหงิดในความไม่ฉลาดอยู่บ่อยครั้ง ใครจะตายใครจะอยู่แทบไม่นึกสงสารเลย
"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"
ระหว่างที่ดูไปเรื่อยๆจะเกิดคำถามที่มาที่ไปของการไล่ฆ่า ซึ่งตลอดการเล่าเรื่องไม่ยอมบอกหรือเกริ่นที่นอกเหนือไปจากหนีเอาตัวรอด กระทั่งตอนจบได้เฉลยว่าทั้งหมดเป็นเพียงเกมถ่ายทอดสดเท่านั้น แต่ภายใต้การหักมุมที่เหมือนดูหนังซ่อนรายการทีวีก็ปรากฏว่าความสยองเกิดจากการโหวต ใครจะรอดไม่รอดให้ผู้ชมเป็นคนตัดสินใจร่วมโหวตเหยื่อรายต่อไป ถือเป็นการเสียดสีรายการต่างๆที่ใช้วิธีนี้ตัดสิน แทนที่จะใช้กรรมการก็กลายเป็นคนทางบ้าน ความเหมาะสมจึงดูไม่เป็นกลางเพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจ
ส่วนประเด็นรับน้องเป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น ทั้งหมดทั้งมวลมีให้เห็นไม่กี่นาทีตอนเริ่มเรื่อง ไม่รู้ว่าการหักมุมเป็นความตั้งใจหรือหาเหตุผลอย่างอื่นไม่ได้ เพราะสิ่งที่ได้ในตอนจบกับเนื้อหาที่คาดหวังไปคนละทิศทาง อยากให้เชื่อมโยงกันสักหน่อยก็ไม่มี แต่อย่างน้อยเป็นความกล้าของหนังไทยในขณะนั้น ทั้งโหดถึงเลือดถึงเนื้อ ทั้งการหักมุมแสนคนละเรื่อง ทั้งหมดคือของแปลกที่น้อยครั้งจะสร้างหนังแบบนี้ออกมา