Godzilla: King of the Monsters (2019) | ก็อดซิลล่า 2: ราชันแห่งมอนสเตอร์
Director: Michael Dougherty
Genres: Action | Adventure | Fantasy | Sci-Fi
Grade: B+
"เสมือนได้ดูภาคเก่าๆของโกจิร่าที่รวมไว้ที่ภาคนี้ที่เดียว"
ตอนดู Godzilla (2014) ค่อนข้างประทับใจอยู่หลายส่วน โดยเฉพาะการทำให้ก็อดซิลล่าเป็นที่น่าจดจำด้วยรูปลักษณ์และความหมายที่ต่างจากเดิม เดิมทีก็อดซิลล่าคือสิ่งมีชีวิตที่โดนลูกหลงจากระเบิดนิวเคลียร์ ประหนึ่งสัญลักษณ์ที่น่ากลัวของชาวญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ครั้งนี้ทำให้ดูผิดจากเดิมเพราะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่มาก่อนในอดีตกาล ระเบิดนิวเคลียร์จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อฆ่าก็อดซิลล่า แม้ในความเป็นไปได้จะชอบฉบับญี่ปุ่นมากกว่า แต่อย่างน้อยก็หลุดจากเค้าโครงเดิมๆสักที
เสียงบ่นในภาคแรกเกี่ยวกับก็อดซิลล่าที่ปรากฏตัวน้อยเหลือเกิน มีไม่กี่วินาทีก็จากไปแบบนี้หลายฉาก แต่มองในแง่การเผชิญหน้าเป็นครั้งแรกเป็นสิ่งที่น่ากลัว ราวกับฝันร้ายได้เกิดขึ้นจริงต่อหน้าต่อตา ซึ่งหลังจากนั้นจะเป็นยังไงไม่อยากเห็นอีก ดังนั้นทุกฉากจะจบลงด้วยสภาพบ้านเมืองเสียหาย ทุกอย่างพังพินาศเพราะการปรากฏตัวไม่กี่อึดใจ เห็นได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะยังร้ายแรงขนาดนี้ ถ้าอยู่นานกว่านั้นจะขนาดไหน คำถามนี้จึงเสมือนสร้างมาเพื่อให้ภาคนี้ให้คำตอบ
เทียบกับภาคแรกที่เห็นชัดคือการที่ทั้งโลกไม่ได้มีเพียงสัตว์ประหลาดร่างยักษ์เพียงแค่ตัวหรือสองตัว หากมีมากกว่านั้นนับสิบๆตัว ซึ่งทุกตัวอยู่ในสภาพจำศีลและได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่ชื่อ"โมนาร์ช" ทว่าการดูแลก็ไม่อาจมั่นคงได้เสมอไป เมื่อ โจนาห์ อลัน (Charles Dance) หัวหน้าผู้ก่อการร้ายเข้ามายึดอุปกรณ์ที่ชื่อ"ออการ์" ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถปรับคลื่นความถี่เพื่อใช้สื่อสารกับสัตว์ประหลาด อีกทั้งจับตัว ดร.เอ็มมา (Vera Farmiga) กับ เมดิสัน (Millie Bobby Brown) ลูกสาวไปด้วย
พล็อตเรื่องดูไม่ยากและพยายามใส่ความเข้มข้นตลอดทั้งเรื่อง จับประเด็นตีโจทย์มากมายให้มีสาระ พยายามเชื่อมทุกอย่างที่ภาคแรกพูดเพียงน้อยนิดให้มากขึ้นอีกหลายระดับ โดยเฉพาะเรื่องของก็อดซิลล่าที่เริ่มจะมีต้นกำเนิด รวมไปถึงการตีความและให้ความหมายกับสัตว์ประหลาดตัวอื่นๆ เช่น คิงกิโดร่า ม็อธร่า และโรดัน ฉะนั้นทั้งชื่อและประวัติจะไม่ใช่สิ่งที่ตั้งกันมาลอยๆ แต่มีตำนานที่อ้างอิงถึงอยู่จริง ประเด็นเหล่านี้เองทำให้เรื่องราวดูยิ่งใหญ่และไปไกลมากขึ้น
มีหลายอย่างทำได้ผิดคาดอยู่ไม่น้อย ซึ่งคำว่าผิดคาดอย่างแรกคือความเพลิดเพลินของแฟนๆที่ติดตามหนังก็อดซิลล่าตั้งแต่ภาคแรกฉบับญี่ปุ่นปี 1954 ตลอดจนเรื่อยมา ซึ่งคนทั่วไปดูไปจะมองไม่เห็นรายละเอียดที่หนังใส่ หรือเห็นก็มองเป็นส่วนหนึ่งของภาคนี้เท่านั้น แต่แท้จริงอัดแน่นไปด้วยการระลึกถึงภาคก่อนๆเอาไว้มากมาย ในที่นี่ขอเน้นคิงกิโดร่า เนื่องจากเป็นตัวร้ายหลักและแข็งแกร่งที่สุดของเรื่อง
คิงกิโดร่าในภาคนี้ถูกปูทางให้เป็นสัตว์ประหลาดถูกจำศีลในน้ำแข็งแถบขั้วโลก อีกทั้งก่อนจะมีชื่อของตัวเองก็มีนามแฝงว่า"ซีโร่" จากชื่อนี้เองทำให้นึกถึง Godzilla vs. Monster Zero (1965) อีกทั้งความแปลกของคิงกิโดร่าที่ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลก ทำให้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่อาจมาจากนอกโลก ซึ่งดั้งเดิมตัวละครนี้ส่วนใหญ่อยู่คู่กับกลุ่มเอเลี่ยนที่หมายยึดครองโลกตามภาคต่างๆ เช่นเดียวกับการปรากฏตัวครั้งแรกใน Ghidorah, the Three-Headed Monster (1964)
นอกจากนี้ความร้ายกาจของคิงกิโดร่าที่หลายคนบอกว่าคือกระสอบทราย(แพ้บ่อย) อันที่จริงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ก็อดซิลล่าจะสู้แบบตัวต่อตัวแล้วชนะ ไม่ว่าภาคไหนก็ตามต้องมีมากกว่าหนึ่งอยู่เสมอถึงจะพอเอาชัยได้ ทำให้นึกถึง Destroy All Monsters (1968) ที่ต้องช่วยกันรุมต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายกว่าจะคว่ำคิงกิโดร่าลงได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังเป็นภาคที่รวมเหล่าสัตว์ประหลาดเอาไว้มากที่สุดอีกด้วย
แต่คิงกิโดร่าไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไปทุกภาค แต่จะมีอยู่ภาคหนึ่งที่มาพร้อมกับการตีความที่ต่างไปจากเดิม นั้นคือ Godzilla, Mothra and King Ghidorah: Giant Monsters All-Out Attack (2001) โดยเนื้อเรื่องจะเป็นภาคต่อของก็อดซิลล่าภาคแรกปี 1954 ที่พูดถึงก็อดซิลล่าอีกตัวที่ปรากฏตัวขึ้นมาพร้อมความอาฆาตแค้นที่เชื่อว่าเกิดจากเหล่าทหารที่ตายในสงคราม ดังนั้นสถานะของก็อดซิลล่าจึงเป็นตัวร้ายโดยสมบูรณ์ ขณะที่คิงกิโดร่าคือเทพที่หลับใหลที่ออกมาปกป้องการทำลายบ้านเมือง
นอกจากนี้ยังมี Godzilla vs. King Ghidorah (1991) และ Godzilla: Final Wars (2004) ที่คิงกิโดร่าปรากฏตัวและเป็นคู่ปรับให้กับก็อดซิลล่า ซึ่งทั้งสองต่างมีพล็อตคล้ายกันและมาในลักษณะเดิมคือกลุ่มเอเลี่ยนต่างดาวที่หมายยึดครองหรือทำลายโลก
ต้องยอมรับว่า Godzilla: King of the Monsters หยิบเล็กผสมน้อยในทุกภาคที่มีมาตั้งแต่ต้นเกือบครบทุกภาค ย้ำว่าเกือบเอามาหมดจริงๆ แม้บางจังหวะจะใส่เข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัวก็ดูรู้ว่าอิงจากภาคไหน เช่น ระเบิดออกซิเจนที่เคยฆ่าก็อดซิลล่ามาแล้วใน Godzilla (1954) การแผ่รังสีนิวเคลียร์ที่เกินขีดจำกัดจนก็อดซิลล่าเปลี่ยนเป็นร่างสีแดงใน Godzilla vs. Destoroyah (1995) และภาคอื่นๆที่บอกเอาไว้ข้างต้นและอีกบางภาคที่ขอให้ค้นหากันเอาเอง(บอกหมดจะเป็นการสปอยล์)
การเข้าถึงแฟนๆก็อดซิลล่าจัดมาให้ครบจนบางครั้งก็ดูเน้นไปทางนั้นมากเกินไป ในส่วนของสัตว์ประหลาดทำได้อลังการและจัดเต็ม แต่ฝ่ายมนุษย์ที่เสมือ ลูกหลงทำอะไรไม่ได้นอกจากติดตามดูการต่อสู้ กระนั้นยังพยายามใส่บทสนทนาและปริศนาให้สถานการณ์ดูเครียดและลุ้นตลอดเวลา ที่เป็นปัญหาคือขาดมิติเรื่องครอบครัวที่พูดถึงความสัมพันธ์เพียงบอบบางและจบลงแบบง่ายๆ ฉะนั้นต่อให้นักแสดงช่วยแค่ไหนก็เป็นจุดอ่อนของหนังที่เห็นชัดเจนอยู่ดี หวังว่าใน Godzilla vs. Kong (2020) ภาคถัดไปที่หยิบคิงคองยักษ์ใน Kong: Skull Island (2017) มาร่วมในหนังจะให้ความสำคัญกับฝ่ายมนุษย์ให้มีมิติและสมเหตุสมผลมากกว่านี้