Joker (2019) | โจ๊กเกอร์ | A+
Director: Todd Phillips
Genres: Crime | Drama | Thriller
มันน่าตลกไหมเวลาเห็นใครเป็นอะไรสักอย่างแล้วเขาต้องเป็นแบบนั้นจริงๆ แบบว่าผู้กำกับ Todd Phillips ไม่ใช่คนทำหนังแนวทริลเลอร์หรือชีวิตที่ยิ่งเห็นยิ่งเศร้าเคล้าหดหู่ ถ้าย้อนกลับไปจะเห็นผลงานหนังตลกทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ส่วนใหญ่ แต่เป็นทั้งหมดที่เน้นบันเทิงสร้างเสียงหัวเราะ อย่างเช่น The Hangover ที่ทำครบไตรภาคกับเรื่องราวสุดป่วนของแก๊งคนเมาที่ตื่นมาพบกับเรื่องสุดแปลกจนต้องตามสืบว่าเมื่อคืนทำอะไรลงไปบ้าง พอนึกถึงหนังเรื่องนี้แทบมองไม่ออกเลยว่าคือคนเดียวกัน
"โจ๊กเกอร์" คือตัวละครที่พูดถึงกันบ่อยมาก อาจเพราะความเหนือปกติที่แตกต่าง (อยากบอกเหนือปกติเพราะความคิดการอ่านไม่ได้ผิดปกติเสมอไป แค่ทำในสิ่งทำกันไม่ได้หรือการไม่นิ่งเฉยในสิ่งที่สังคมเป็น) โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่โดดเด่นสะดุดตาสะดุดใจ คือคนธรรมดาที่ไม่มีพลังเหนือธรรมชาติ แค่มีความคิดที่ซับซ้อนแต่ทำอย่างตรงไปตรงมา สามารถทำได้ทุกอย่างจนกลายเป็นคู่ปรับตัวฉกาจของแบทแมน
กว่าจะมาเป็นโจ๊กเกอร์ได้นั้นมีจุดเริ่มต้นที่ไกลตัวอยู่บ้าง ฉะนั้นการตีกรอบให้แคบลงด้วยการเป็นคนกันเองทำให้สัมผัสถึงตัวตนได้อย่างใกล้ชิด ยิ่งการไม่พูดถึงซูเปอร์ฮีโร่หรือวายร้ายทำให้ใกล้เคียงกับความจริง สำหรับโจ๊กเกอร์ไม่เป็นที่พูดถึงจนช่วงท้ายของหนัง ที่แล้วมาเป็นเรื่องของ อาเธอร์ เฟล็กซ์ (Joaquin Phoenix) นักแสดงตัวตลกชีวิตแสนอาภัพ ถูกสังคมรังแกและมองเป็นตัวประหลาดเพราะโรคส่วนตัวที่น้อยคนจะรู้จัก นั้นคือภาวะ ซูโดบัลบาร์อาฟเฟ็กต์ (Pseudobulbar Affect: PBA) หรือ ไม่สามารถควบคุมการร้องไห้และการหัวเราะของตัวเองได้
หนังจะเล่าถึงชีวิตอาเธอร์ที่อยู่บนสังคมเสื่อมโทรม ทำงานเป็นตัวตลกสร้างเสียงหัวเราะแก่คนอื่น แต่เขาไม่ได้หัวเราะเพราะเขาเป็นตัวตลก น้อยครั้งที่การหัวเราะมาจากความสุขจริงๆ ตลอดทั้งเรื่องแสดงถึงความทรมานของโรค PBA ที่ไม่อยากหัวเราะก็ต้องหัวเราะ ทำให้ถูกมองเป็นคนประหลาดทั้งที่ไม่อยากเป็นเช่นนั้น ปัญหานี้ส่งผลทางจิตใจและคนรอบข้างที่ไม่อาจเข้ากับใครได้
ความน่าหดหู่ใจของชีวิตอาเธอร์คือการวางปัญหาหลายอย่างให้เขาแบกรับภาระเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งตอนแรกเป็นปัญหาที่ไม่หนักหนาสาหัสมาก จนปัญหาเริ่มถาโถมเข้ามาในชีวิตเรื่อยๆ จนที่สุดต้องตอบโต้ด้วยการระบายออกไป ทว่าการระบายกลับไปนั้นได้ส่งผลต่อจิตใจ เสมือนคนได้ลองในสิ่งที่ไม่กล้าทำหรือไม่ควร แต่ปรากฏว่าทำแล้วรู้สึกเฉยๆ การฆ่าคนเพราะถูกทำร้ายอาจเป็นการป้องกันตัว แต่การซ้ำจนตายอย่างไม่ปราณีทำให้เขารู้สึกดีอย่างไม่รู้สึกผิด เพระสังคมทำให้เขาเย็นชา
จะมองชีวิตของอาเธอร์ต่ำต้อยก็ยังได้เพราะไม่มีความสุขในชีวิต แล้วถึงจะมีอยู่บ้างก็เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ต้องในแต่ละวัน ฉากหาความจริงเกี่ยวกับที่มาที่ไปของตัวเองสร้างบาดแผลกรีดลงที่หัวใจมากกว่าเดิม การที่ชีวิตต้องเป็นแบบนี้ไม่ได้เป็นตั้งแต่เกิด ความทรงจำวัยเด็กที่จำไม่ได้มาจากการถูกทำร้ายจนมีอาการผิดปกติที่แก้ไม่หาย ไม่ว่าสังคมแบบไหนทั้งภายนอกหรือภายในล้วนเต็มไปด้วยการโกหกหลอกลวง เห็นแก่ตัว แบ่งชนชั้น ทุกอย่างที่ไร้ยุติธรรม
ตัวตนของโจ๊กเกอร์เป็นภาพสะท้อนของสังคมที่ตลกแต่ไม่ตลก หรือมีความสุขแต่จริงๆแล้วคือความทุกข์ เหมือนอาเธอร์เป็นตัวตลกแต่เขาไม่ได้หัวเราะตามไปด้วย หรือการที่เขาหัวเราะไม่ได้แปลว่าจะตลกอยู่จริง
Joaquin Phoenix คือนักแสดงที่แบกหนังเอาไว้ทั้งเรื่อง แสดงอารมณ์หดหู่และความเจ็บปวดได้อย่างถึงอารมณ์ ไม่ได้เป็นแค่ตัวตนโจ๊กเกอร์อย่างที่ Heath Ledger ใน The Dark Knight (2008) หรือ Jack Nicholson ใน Batman (1989) เคยทำเอาไว้ แต่นี่คือคนธรรมดาสามัญที่ถูกแทงที่หัวใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า แน่นอนทุกคนที่รับบทโจ๊กเกอร์ล้วนเป็นที่สุดของที่สุดและเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ใช่ตัวตลกที่น่ากลัว แต่น่าเกรงขามและยกย่อง
แน่นอนนี่ไม่ใช่โจ๊กเกอร์อย่างที่หลายคนเห็นเป็นตัวร้ายจากคอมมิคดีซี แต่เป็นส่วนหนึ่งของคนที่ใช้นามว่าโจ๊กเกอร์เท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้ผู้กำกับ Todd Phillips ได้อธิบายถึงการเป็นแรงบันดาลใจหรือแรงผลักดัน ถ้ามีโจ๊กเกอร์อีกคนไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากในหนังบอกเป็นนัยถึงทุกคนคือโจ๊กเกอร์ ชีวิตที่แสนเศร้ากับใบหน้าตัวตลกคือการกลบเกลื่อนความมัวหมองของจิตใจ ซึ่งเกิดจากสังคมที่เน่าเฟะ เยี่ยวยาเพียงใดคงยากจะกลับมาสงบสุข ดังบาดแผลเป็นที่ทิ้งร่องรอยแสนเจ็บปวดอย่างไม่มีวันหาย