The Master (2014) | เดอะ มาสเตอร์ | A-
Director: นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
Genres: Documentary
"ความรุ่งโรจน์ของนักดูหนังที่เสมือนใบเบิกทางที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว"
ถามว่าเกิดทันใช้วีดีโอไหม แน่นอนว่าทันใช้และชอบมากด้วย แต่เทียบกับอายุในช่วงนั้น (ประมาณ 5-7 ขวบ) คือยังเด็กและไม่สนใจเกี่ยวกับหนังเท่าไรนัก เวลาไปร้านเช่าวีดีโอจะพุ่งหาโซนการ์ตูนก่อนเป็นอันดับแรก พวกหนังแทบไม่สนใจหรืออยู่ในสายตา แต่พอดูมากขึ้นก็เริ่มขยับโซนเพราะคิดว่าตอนเช้ามีการ์ตูนดูในโทรทัศน์อยู่แล้ว อีกอย่างไม่ต้องเสียความรู้สึกข้ามม้วนข้ามตอนจากการที่ต่างคนต่างยืม
จากโซนการ์ตูนเปลี่ยนมาเป็นโซนหนังสยองขวัญ เมื่อเทียบกับอายุขณะนั้นจะดูหนังสยองขวัญคงต้องร้องไห้ขวัญผวาแน่ๆ แต่ไม่รู้อะไรโดนจิตโดนใจเลือกหนังประเภทนี้ก่อนและชอบแต่แนวนี้เพียงอย่างเดียว รู้สึกหนังรุนแรงแต่ไม่รุนแรง ราวกับได้ต่อเติมในสิ่งที่การ์ตูนไม่ได้ทำไว้ เช่น สัตว์ประหลาดฆ่าคน แต่ในการ์ตูนไม่เห็นในสิ่งที่ทำเท่าไรนัก ซึ่งหนังสยองขวัญจะมีฉากฆ่ากันตายหรือวิธีฆ่า รวมไปถึงเปิดโลกได้เห็นมุมมองใหม่ๆโดยไม่สนความน่ากลัวเลยสักนิด
หนังสยองขวัญเหมือนทำให้ตัวเองเห็นหลายอย่างมาก ขนาดที่มีอคติกับหนังประเภทอื่นไปเลย เพราะคิดว่าหนังแอ็คชั่นคงต่อยกันยิงกันแค่นั้นจบ หรือหนังรักที่ชวนน่าเบื่อไม่ลุ้นไม่ตื่นเต้น ต้องหนังสยองขวัญเท่านั้นจึงจะสนุก ซึ่งสาเหตุหลักคือตัวละครมีหลายแบบและน่าจดจำ เช่น เจสัน วอร์ฮีส์ ใน Friday the 13th ,เฟรดดี้ ครูเกอร์ ใน A Nightmare on Elm Street ,พินเฮด ใน Hellraiser ฯลฯ ด้วยเหตุนี้จึงชอบเพราะนัยหนึ่งแทนการ์ตูนได้เลย ต่างแค่ความรุนแรงที่ Gore มากกว่าเท่านั้นเอง
กลับเข้าเรื่องของหนังสารคดี (Documentary) เรื่องนี้ที่จับคนสำคัญๆในวงการภาพยนต์มานั่งคุยทีละคน ไล่ตั้งแต่การดูหนังด้วยวีดีโอที่พบว่ามีแต่หนังดังเป็นส่วนใหญ่ ประเทศไทยไม่มีหรือน้อยมากสำหรับหนังนอกกระแส เพราะอย่างที่รู้หนังพวกนี้ไม่เน้นทำเงิน มีความคัลท์ในตัวเองสูง ฉะนั้นกลุ่มคนที่ดูจึงมีไม่มาก แต่แล้วก็เกิดจุดเปลี่ยนเมื่อมีคนหาหนังเหล่านั้นมาขายในนาม"แว่นวีดีโอ"
แน่นอนว่าร้านแว่นวีดีโอไม่ได้ขายของถูกลิขสิทธิ์ แต่ความพยายามคัดหนังและวิธีทำผลิตภัณฑ์มีความพรีเมี่ยมยิ่งกว่าของแท้เสียอีก ซึ่งหลายอย่างแสดงความละเอียดของชิ้นงานเป็นอย่างดี ทำให้น่าซื้อน่าเก็บเหมาะแก่การหยิบมาดูอีกครั้ง นับเป็นช่วงที่ VSH ทำยอดการขายและเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง
จากการฟังปากต่อปากที่สัมภาษณ์มาหลายคนจะมีความสามัคคีอย่างหนึ่งคือช่วยปกปิด จะไม่บอกตรงๆเกี่ยวกับร้านแว่นวีดีโอคือใคร จะบอกในลักษณะ"ร้านพี่คนนั้น" ซึ่งเป็นความรู้สึกของการช่วยไม่ให้ถูกจับได้หรือเป็นที่นิยมเกินไปจนกลายเป็นไข่แดงในไข่ขาว เพราะหากร้านนี้ถูกพบง่ายหรือคนทั่วไปเข้าถึงได้เลยอาจจะเป็นที่หมายตาของกฎหมายเพราะไม่ได้ทำถูกลิขสิทธิ์ ฉะนั้นจึงปกป้องร้านนี้ต่อไปเพื่อมีหนังที่หาได้ยากดูกันแบบง่ายๆต่อไป
อาจจะฟังย้อนแย้งเพราะการ Copy เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่หากไม่ทำจะกลายเป็นกบในกะลา มีดูเท่าที่เห็นภายในประเทศ หนังเรื่องไหนเป็นยังไงจะไม่รู้เรื่องเลย ฉะนั้นจึงเป็นการเปิดโลกเปิดมุมมองที่แม้จะผิดก็ช่วยให้เกิดพัฒนาต่อไป
จังหวะการเล่าถึงร้านแว่นวีดีโอไม่รู้สึกน่าเบื่อหรือเครียดตามแบบชีวประวัติที่ต้องจริงไปซะทั้งหมด การตัดต่อการเรียบเรียงคำพูดชวนน่าค้นหา มีความตื่นเต้นประหนึ่งหนังสืบสวนที่มีโจทย์จากนั้นค่อยๆตามปัญหาไปทีละอย่าง ซึ่งบทสรุปไม่เชิงให้คำตอบที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกเรื่อง บางอย่างมีเงื่อนงำ บางอย่างมีเบื้องหลังที่บอกไม่ได้ วงการที่ให้ความบันเทิงแต่บางครั้งก็เครียดเป็นเหมือนกัน
ฟังดูหลวมๆหลายอย่าง แต่ละเอียดพอสมควรในแง่จุดเริ่มต้นและจุดจบของ"แว่นวีดีโอ"เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อนและน่าจะลึกซึ้งเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ยิ่งยุคสมัยเปลี่ยนแปลงทำให้การพึ่งพาร้านขายหนังมีน้อยลงจนไม่เหลืออีกต่อไป เนื่องจากหาดูได้ตามอินเทอร์เน็ต คลิ๊กทีสองทีหาหนังดูได้นับร้อยนับพัน ใครเก่งภาษาหน่อยจะได้เปรียบเข้าไปอีก นับเป็นกาลครั้งหนึ่งที่ไม่ธรรมดาของการหาหนังดูที่ไม่รู้จะหายังไง แต่ร้านนี้มีให้และจ๊าบที่สุดในตอนนั้น