Basket Case (1982) | มันแอบอยู่ในตะกร้า | B
Director: Frank Henenlotter
Genres: Comedy | Horror
"เพราะฉันนั้นคือเนื้องอก"
ภาพที่เห็นบางทีตัดสินใจบางเรื่องได้ไม่ตรงตามจริงเสมอไป อย่างหนังเรื่องนี้ที่ภายนอกคือหนังสยองขวัญเรื่องหนึ่ง ไม่ได้ทำองค์ประกอบให้ดูดีหรือสมจริงสักเท่าไร บางฉากไม่เนียนแล้วดูเหมือนมือสมัครเล่นด้วยซ้ำ แต่ด้วยความคัลท์เนื้อเรื่องไม่เหมือนคนอื่นหรือหาเปรียบเทียบได้ยากจึงไม่ใช่หนังธรรมดาอย่างที่เห็นเสมอไป
คงจะคุ้นเคยกันอยู่บ้างเรื่องแฝดที่เกิดมาพร้อมกันหรือหน้าตาเหมือนกัน แต่น้อยนักที่จะได้ยินเรื่องแฝดสยามที่เกิดมาตัวติดกัน สำหรับ Basket Case (1982) จะเล่าถึง ดเวน (Kevin Van Hentenryck) เด็กหนุ่มที่ถือตะกร้าของเขาติดตัวเสมอ ไม่ว่าจะไปไหนจะไม่ลืมหิ้วติดมือไปด้วย ซึ่งในตะกร้าสุดน่าสงสัยนี้มีพี่ชายของเขาอยู่ในนั้น ใช่แล้ว พี่ชายที่เกิดมาไม่สมประกอบจนดูเหมือนก้อนเนื้อมีชีวิต
ดเวน คือเด็กหนุ่มบ้านนอกที่เดินทางเข้าเมืองด้วยจุดประสงค์บางอย่าง นั้นคือการแก้แค้น โดยคนที่เขาอยากล้างแค้นคือคนที่ทำให้เขาและพี่ชายต้องแยกจากกัน ซึ่งเดิมทีมีร่างกายติดกันเหมือนแฝดสยาม ทว่าไม่อาจเรียกอีกคนเป็นคนได้เต็มปากเต็มคำ เนื่องจากเหมือนเนื้องอกบริเวณซี่โครง ปล่อยไว้มีจะดูประหลาดมากกว่าเดิม ทำให้คนในครอบครัวปรึกษาวางแผนเกี่ยวกับการผ่าตัด เพราะเชื่อว่าหากผ่าส่วนเกินนี้ออกไปจะช่วยให้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปได้
กระนั้นการผ่าตัดที่เหมือนหวังดีกลับแฝงไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่เคยคิดหรือเข้าใจอีกฝ่ายจะยินยอมหรือไม่ ได้แต่สาปแช่งเป็นตัวประหลาดที่เกาะติดสูบเลือดสูบเนื้อ ซึ่งหารู้ไม่ว่าการที่ตัวติดกันทำให้เข้าถึงกันและกัน มีความผูกพันดังพี่น้องที่แยกจากกันไม่ได้ แล้วเมื่อต้องแยกจากกันทำให้พวกเขากลับมาแก้แค้น
แรกเริ่มเป็นหนังสยองขวัญที่ไม่รู้สึกน่าสนใจ เปิดมามีคนตายพร้อมกับมือปริศนาที่ไม่เหมือนคน ซึ่งควรจะประหลาดใจกับมือรูปร่างบิดเบี้ยวนั้น ทว่าด้วยวิธีการเล่าดูเป็นการจัดฉากมากไปหน่อย ดังนั้นความสยองที่ได้รับกลายเป็นอิหยังว่ะ ไม่รู้ไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จนสักพักคลำไปได้เรื่อยๆถึงรู้ว่าใครเป็นคนลงมือฆ่า จากนั้นค่อยๆเฉลยถึงสาเหตุที่เกิดมาจากการแก้แค้นและความอึดอัดใจจากการดูถูกเหยียดหยาม
ข้อดีของหนังสยองขวัญเรื่องนี้คือการให้มิติตัวละคร การเล่าอดีตที่เจ็บปวดจากคำพูด ทำให้เกิดอาการเก็บกด เมื่อได้ระบายจึงลงมือไม่ยั้งว่าจะรุนแรงแค่ไหนหรือเสียชีวิตหรือไม่ ถ้าเป็นคนปกติคงดูธรรมดาและไร้สาเหตุที่จะจงเกลียดจงชังขนาดนี้ การทำให้ภาพลักษณ์ดูประหลาดช่วยสะท้อนความจริงใจได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการกระทำหรือจิตใจไม่ได้แตกต่างกันมากนักหรอก ถ้าดีก็ว่าดี ถ้าไม่ดีก็ว่าไม่ดี
นอกจากนี้ความสัมพันธ์พี่น้องคือเรื่องละเอียดอ่อน เมื่ออีกคนมีร่างกายที่ปกติสมบูรณ์ ขณะที่อีกเสมือนสัตว์ประหลาด หากต้องเลือกแล้วย่อมต้องเป็นคนที่ปกติมากที่สุด ดังนั้นการเข้าสังคมจึงเป็นดเวนที่จะปฏิสัมพันธ์กับใครก็ได้ นั้นรวมไปถึงการมีความรักกับผู้หญิงคนหนึ่ง ผิดกับอีกคนที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนหรือเป็นที่ยอมรับได้ ดังนั้นการปรากฏตัวทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะต้องมีคนส่งเสียงร้องด้วยความหวาดกลัว เกิดความอิจฉาริษยาที่ตัวเองไม่เหมือนคนปกติ
Basket Case (1982) มองในแง่เทคนิคยังขาดความแนบเนียน ทำให้เกิดข้อจำกัดค่อนข้างมาก แทนที่จะรู้สึกเป็นฉากสยองขวัญก็กลายเป็นฉากตลกซะอย่างงั้น ซึ่งด้วยสรีระแทบดูไม่ออกถึงความสามารถที่มีเรี่ยวแรงมหาศาลอย่างที่หนังบอก แต่ด้วยปมที่วางไว้จึงเป็นประเด็นอย่างหนึ่งของสังคม หากเกิดมาพิการหรือมีอวัยวะไม่ครบสามสิบสองยังจะเลี้ยงดูต่อไปหรือไม่ ความสำคัญของคนเราวัดที่ส่วนไหนระหว่างรูปร่างหน้าตาหรือจิตใจ ฉะนั้นคิดทบทวนกันให้ดีก่อนตัดสินใคร เพราะบางเรื่องไม่อาจกลับมาแก้ไขได้อีกแล้ว