Prey (2022) | A-
Director: Dan Trachtenberg
Genres: Action | Drama | Horror | Sci-Fi | Thriller
ตั้งแต่โดน The Predator (2018) วางยาก็เดาทิศทางเนื้อเรื่องในอนาคตได้ยาก (จบแบบไม่เกรงใจภาคก่อนๆและภาคถัดไปเลย) ดังนั้นบางทีการย้อนอดีตสัก 300 ปีก่อน อาจทำได้ง่ายกว่าและเป็นการเรียกคืนความดั้งเดิมของผู้ล่าให้เข้าที่เข้าทาง
ปฏิเสธไม่ได้จริงๆกับ Predator (1987) หรือภาคแรกที่ทำไว้สนุกมาก ซึ่งเวลานั้นได้ Arnold Schwarzenegger ร่วมแสดง มีฉากแอ็คชั่นระเบิดภูเขาเผากระท่อม มีความโหดที่น่าสยดสยอง ทำให้ทุกอย่างดูบันเทิงและหยิบดูซ้ำได้บ่อยมาก อีกทั้งเป็นความคลาสสิคเพราะทำก่อนและทำไว้ดีจนภาคต่อเทียบได้ยาก จนการมาของ Prey (2022) ที่ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าในมุมใครหลายคน
พล็อตเรื่องคอนเซ็ปต์เดิมที่ให้พรีเดเตอร์มายังโลกในฐานะผู้ล่า ซึ่งนักแสดง Amber Midthunder จะเป็น“นารู” ตัวละครหลักคนหนึ่งในเผ่าโคแมนซีที่ต้องการพิสูจน์ตัวเอง แม้จะถูกมองข้ามเพราะเป็นผู้หญิง แต่ความกล้าหาญจึงเลือกเข้าพิธีล่าสิงโตเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าตนสามารถทำได้ไม่ต่างกับผู้ชายคนอื่นๆ นั่นเองที่ทำให้ผู้ล่ากับผู้ล่าต้องมาเจอกัน
พรีเดเตอร์ยังมาลักษณะเดิมในฐานะผู้ล่าที่มีเกียรติ สู้เฉพาะที่สู้ด้วยเท่านั้น ดังนั้นการได้เห็นมนุษย์ต่างดาวต่อสู้กับสัตว์บนโลก เช่น งู หมาป่า และหมี แสดงให้เห็นความเป็นธรรมชาติในป่าที่มีอันตรายรอบด้าน ไม่ใช่แค่พรีเดเตอร์น่ากลัว แต่รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย
สิ่งที่ควบคู่กับพรีเดเตอร์คืออาวุธ จากเรื่องทำให้เห็นสารพัดอาวุธที่ใช้ตามสถานการณ์หลากหลายรูปแบบ แม้ไม่ถึงกับล้ำสมัยแบบที่คุ้นเคยอย่างปืนพลาสมา ทว่าเป็นสิ่งที่เข้ากับยุคสมัยที่เน้นอาวุธ เช่น ดาบ หอก ขวาน และธนู รวมไปถึงทักษะการต่อสู้ที่ครั้งนี้มีโล่ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างน่ากลัว ดังนั้นไม่แปลกที่พรีเดเตอร์มีความคล้ายนักรบโบราณพร้อมลุย
นอกจากพรีเดเตอร์ที่น่ากลัวคือมนุษย์นี่เอง โดยเฉพาะกลุ่มคนล่าอาณานิคมที่ไม่สนใจธรรมชาติและต้องการทุกสิ่ง การได้เห็นฝูงควายตายทำให้คิดถึงฝีมือของพรีเดเตอร์ แม้จะแปลกในตอนแรก แต่พอเห็นหนังควายนำมาเป็นเครื่องนุ่งห่มจึงรู้ใครเป็นคนทำ ถ้าคิดดูแล้วมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่สนใจแค่เอาชนะเท่านั้น
การเลือกช่วงเวลาและวางเนื้อเรื่องทำได้เหมาะเจาะ ทุกอย่างเริ่มยุคของการเปลี่ยนแปลง นั่นเองที่เรื่องราวไม่จมแค่พรีเดเตอร์กับโคแมนซี แต่มีกลุ่มอื่นเข้ามาให้มิติเพิ่มขึ้น อีกทั้งสอดแทรกการเชื่อมเรื่องราวถึง Predator 2 (1990) ด้วยของสิ่งหนึ่งที่ใครยังจำตอนจบได้อาจรู้สึกร้องว้าว
“เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ”
สิ่งที่เชื่อมโยงไปหา Predator 2 (1990) คือปืนกระบอกเดียวกับที่พรีเดเตอร์มอบให้เป็นของขวัญจากการชนะพรีเดเตอร์ในภาคนั้นได้ ประเด็นนี้ได้คลายข้อสงสัยที่ปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานถึงต้นกำเนิด (เรื่องราวมาบอกไว้ในคอมมิคชื่อ Predator 1718 แต่ไม่เคยมีการอธิบายในหนัง ทำให้คนที่ดูฉบับหนังอย่างเดียวรู้สึกสงสัยไม่น้อย)
แต่ปืนที่นารูได้มานั้นยังไม่มีการอธิบายหลังจากได้มาชัดเจนนัก ในตอนจบ Credits จะมีอนิเมชั่นเป็นภาพวาดเล่าเหตุการณ์เดียวกับหนังแบบสรุป แต่เพิ่มเติมในตอนจบด้วยยานอวกาศของพรีเดเตอร์มาเยือนถึงเผ่าโคแมนซี เหตุการณ์หลังจากนี้เกิดอะไรขึ้น? แล้วทำไมพรีเดเตอร์ใน Predator 2 (1990) ถึงมีปืนชนิดเดียวกันทั้งที่ยังไม่ได้เอาไป
เมื่อคิดทั้งสองข้อสงสัยทำให้เกิดคำถามปลายเปิดมากมาย ประเด็นนี้เหมาะกับเหล่าแฟนคลับที่ยกระดับหนังที่จบในตัวเกิดข้อถกเถียงชวนจินตนาการ และเป็นช่องว่างในอนาคตที่อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังบางเรื่องก็ได้
นอกจากเชื่อมโยงได้อย่างเนียนๆไม่เกินตัว อีกสิ่งที่ไม่เป็นการยัดเยียดคือความสัมพันธ์พี่น้อง คนน้องเป็นผู้หญิงอยากทำให้ตัวเองแกร่งขึ้น พยายามตามติดพี่ทั้งที่เป็นเรื่องของผู้ชาย แต่พี่ไม่ได้ห้ามซะทีเดียวและแอบเอาใจช่วย เมื่อไรที่น้องไม่ไหวจะช่วยพ้นอันตรายทันทีและให้เลิกยุ่ง ความรู้สึกอาจเหมือนการทำพลาดทำให้คนที่ฝากความหวังต้องผิดหวัง ถ้ามองลึกๆแล้วคือการให้น้องมาเรียนรู้และสัมผัสด้วยตัวเอง แต่พี่มีห่วงกลัวน้องมีอันตรายจึงให้เท่าที่ได้เท่านั้น โดยที่ความจริงชื่นชมทักษะน้องที่เฉลียวฉลาด
สำหรับข้อเสียคือเล่าเรื่องเรียบง่ายและเรื่อยๆในช่วงแรก แต่เป็นข้อดีที่เก็บรายละเอียดได้แจ่มชัด ไม่เน้นบ้าระห่ำคิดสู้อย่างเดียว ทุกอย่างขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไปก่อนจะพีคหนักในตอนสุดท้าย ซึ่งทุกอย่างบรรจบมิติได้อย่างครบถ้วน หากมองเป็นภาคเดี่ยวๆจะพบว่าดีอย่างที่ตัวเองเป็นและไม่แตกต่างจนเกินตัว
เมื่อเทียบความชอบส่วนตัวจะให้ Predator (1987) มาเป็นอันดับหนึ่งเรื่องความบันเทิง แต่ Prey (2022) จะเหนือกว่าเรื่องมิติตัวละครและการเล่าเรื่อง ต่อมาคือ Predator 2 (1990), Predators (2010) และ The Predator (2018) ตามลำดับ