Scream (2022) | หวีดสุดขีด | B+
Director: Matt Bettinelli-Olpin, Tyler Gillett
Genres: Horror | Mystery | Thriller
การจากไปของผู้กำกับ Wes Craven กับผลงานเรื่องสุดท้ายอย่าง Scream 4 (2011) และเวลาที่ผ่านมาหลายปีนั้น หนังประเภทต่างๆได้เริ่มใช้สูตรสำเร็จดัดแปลงให้เกิดสิ่งใหม่หรือตรงข้ามเพื่อหลุดจากกรอบธรรมเนียมเดิม น่าเสียดายที่ไม่มีหนังเรื่องไหนนำสูตรสำเร็จและการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยมาพูดคุยหรือสะท้อนเป็นหนังได้เด่นชัด จนกระทั่งการกลับมาของภาคที่ 5
Scream 4 (2011) ของผู้กำกับ Wes Craven คือผลงานสุดท้ายในฐานะผู้สร้างต้นฉบับและปิดตำนาน จนเวลาล่วงเลยมาถึง 11 ปี ภาคต่อลำดับที่ 5 ชื่อ Scream (2022) ที่ซ้ำกับภาคแรกได้กำเนิดขึ้น โดยเนื้อหามีนัยเกี่ยวกับต้นฉบับ ไม่ยุ่งเกี่ยวภาคต่อที่ผ่านมาหรือเกี่ยวข้องน้อยที่สุด ซึ่งตรงกับพล็อตหนังที่พยายามรื้อฟื้น Franchises หลายเรื่องที่สร้างมาหลายภาคจนต้องย้อนไปหาภาคแรก
พล็อตเรื่องยังคงวนเวียนในเมืองวูดส์โบโร เมื่อฆาตกรใส่หน้าผี (Ghostface) กลับมาฆ่าคนอีกครั้ง ทำให้ แซม คาร์เพนเตอร์ (Melissa Barrera) ที่ย้ายไปอยู่คนละเมืองเพราะปัญหาในอดีตต้องกลับมาช่วย ทาร่า คาร์เพนเตอร์ (Jenna Ortega) น้องสาวของตัวเองเพื่อหาฆาตกรตัวจริงคือใคร
แต่ละภาคจะพูดถึงสูตรสำเร็จหลายอย่างของหนังสยองขวัญและอีกหลายประเภท จนคิดว่าครบสมบูรณ์แล้ว ทว่าเกิดศัพท์ใหม่ขึ้นจากหนังที่มีภาคต่อแต่ไม่ต่อเนื่องซะทีเดียว นั่นคือ Requel ที่เป็นทั้งภาคต่อและการรีบูทไปในตัว
สำหรับ Scream (1996) ภาคแรกทำได้แปลกและสนุกอย่างมาก การนำสูตรสำเร็จสยองขวัญมาพูดคุยและล้อเลียนช่วยเปิดกว้างเรื่องบทที่ตายตัว ทำไมตัวละครเป็นแบบนั้น คนที่ตายมักทำอะไร ฆาตกรต้องมีความหลังที่คาดไม่ถึง และอีกหลายอย่างไม่ต่างกับหนังแซวเพื่อสะท้อนสิ่งที่หนังทำกันมาตลอด จากนั้นมีภาคต่อที่หยิบสูตรหนังมาแซวหรือมาเชือดครบ 4 ภาค
จนกระทั่งภาค 5 ที่ตั้งใจล้อตัวเองด้วยชื่อเหมือนภาคแรก (ไม่มีเลขภาคหลังชื่อ) เพื่อบอกถึงการเริ่มต้นใหม่ แต่ไม่ใช่การรีบูตหรือรีเมคเพราะอาจ Toxic Fandom หรือไม่เป็นที่ยอมรับของแฟนคลับ ดังนั้นทุกอย่างต้องคงธรรมเนียมสูตรสำเร็จเดิม มีการเชื่อมโยงภาคแรกในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ตัวละครเก่ากลับมาเพื่อทำหน้าที่ยืนยันภาคต่อ ตัวละครใหม่มีความสัมพันธ์บางอย่างกับตัวละครเก่าเพื่อความสมเหตุผล
“เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ”
ชอบมากที่การกลับมาครั้งนี้เก็บรายละเอียดตั้งแต่จุดเริ่มต้น ตัวละครใหม่มีความสอดคล้องถึงภาคแรก โดยเฉพาะ แซม คาร์เพนเตอร์ ที่ความจริงแล้วคือลูกสาวของ บิลลี่ ลูมิส (Skeet Ulrich) ต้นฉบับของฆาตกรหน้ากากผีในภาคแรก มีปัญหาทางด้านจิตใจที่เห็นพ่อของตัวเองตามหลอกหลอนเป็นระยะ การมีสายเลือดฆาตกรทำให้แยกตัวออกห่างจากเมืองวูดส์โบโร
เมื่อเมืองวูดส์โบโรเกิดปัญหาเดิมอีกครั้ง ตัวละครเก่า ได้แก่ ซิดนี่ย์ เพรสค็อตต์ (Neve Campbell), อดีตตำรวจดิวอี้ (David Arquette) และนักข่าวเกล เวเธอร์ส (Courteney Cox) ต้องออกมารับมือฆาตกรหน้ากากผีอีกครั้ง ซึ่งความเก๋าของตัวละครเดิมคือความมั่นใจและเข้าใจสูตรสำเร็จของหนังมาเป็นอย่างดี บางฉากรู้กับดักคืออันไหน มั่นใจได้อย่างไรว่าฆาตกรตายจริง ทำให้เกิดความตึงมือทั้งสองฝ่ายระหว่างรุ่นใหม่และรุ่นเก่า
ภาคนี้ไม่ได้กำกับโดย Wes Craven แต่บรรยากาศพาไปหาวันเก่าๆ ตัวละครมาพร้อมคอนเซ็ปต์เดิม มีกลุ่มวัยรุ่น มีคนรู้เรื่องหนังเป็นอย่างดี หากตัดตัวละครเก่าออกจะพบว่าทุกอย่างเหมือนภาคแรกมาก ซึ่งเข้าใจเลยว่าสิ่งที่หนังเล่าและสิ่งที่ฆาตกรทำ Requel เป็นลักษณะอย่างไร
คอนเซ็ปต์หลายอย่างมาพร้อมกับความจริงจัง พยายามดัดแปลงแต่รักษาธรรมเนียมไว้ ตัวละครเก่าเข้ามามีส่วนร่วมเล็กน้อยเพราะรู้หนาบางกันหมดแล้ว ดังนั้นความสำคัญจริงๆคือตัวละครใหม่ที่ต้องหาจุดเด่นของตัวเองเพื่อให้ใกล้เคียงหรือเหนือกว่าตัวละครเดิมให้ได้
Scream (2022) สร้างความน่ากลัวผ่านความไม่น่าไว้ใจอยู่เสมอ บางฉากซื่อตรงกับการฆ่าที่เข้ามาง่ายๆ บางฉากหักมุมฆ่าอย่างมีเล่ห์เลี่ยม อีกทั้งรักษามาตรฐานฆาตกรคือคนธรรมดา ไม่ได้เก่งและมีพลาดท่าได้เสมอ แต่ฆาตกรเหนือกว่าที่กล้าฆ่าและวางแผนมาก่อน
หนึ่งในฉากที่ชอบมากคือโทรมาบอกจะทำแบบเดียวกับหนัง Psycho (1960) ถ้าไม่เคยดูหรือลืมจะงงกันมาก แต่ใครนึกออกจะรู้ว่านี่คือการหยิบฉากอาบน้ำในตำนานที่น่ากลัวที่สุดในยุคนั้น ซึ่งเป็นภาพจำถึงปัจจุบันต่อให้บอกแค่ชื่อหนังก็ตามที และยังหักมุมฉากนี้ได้อยู่หมัด ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ตกใจและไม่ทันตั้งตัวมากๆ
ดำเนินคล้ายกันไปหมดทั้ง 5 ภาค แต่ยอมรับว่าสนุกปากและเพลิดเพลินกับการเสียดสีสูตรสำเร็จของหนัง คงไม่มีหนังเรื่องไหนจริงจังเท่านี้ที่ต้องการหาแนวทางใหม่ๆ แม้ที่สุดแล้วจะหนีคำว่าต้นฉบับดีที่สุดได้ยากสักหน่อย คล้ายตอนจบที่สูตรเดิมยังใช้ได้อยู่เสมอ แค่เปลี่ยนมุมมองเท่านั้นเอง