The Quick and the Dead (1995) เพลิงเจ็บกระหน่ำแหลก

The Quick and the Dead (1995)
เพลิงเจ็บกระหน่ำแหลก
Director: Sam Raimi
Genres: Action | Romance | Thriller | Western
Grade: B-

เป็นไปได้ให้ลืมหนังคาวบอยแบบเดิมได้เลย จะไม่เนิบๆเล่าเรื่องช้าแล้วไปบรรจงในตอนไคล์แม็กซ์อีกต่อไป สำหรับเรื่องนี้จะแตกต่างกว่าหนังคาวบอยหลายๆเรื่องที่ผ่านมาตรงที่ได้อารมณ์เร้าใจตลอดเวลา โดยเฉพาะมุมกล้องที่รู้สึกมันโดนจังหวะเข้าออกได้แปลกผิดฟอร์มหนังคาวบอยไว้มาก มีการซูมเข้า-ซูมออกหรือเล่นมุมกล้องจนเรียกว่าแปลกตาจนต่อให้ไม่ใช่หนังคาวบอยก็ยังจัดว่าแปลกอยู่ดี แต่ทั้งนี้การเล่นจังหวะหรือมุมกล้องได้แสดงความคุ้นเคยกันมาอยู่บ้างแล้วใน The Evil Dead (1981) หรือที่คิดว่าเกือบเหมือนใน Evil Dead II (1987) แน่นอนว่าทั้งสองเรื่องเป็นหนังสยองขวัญระดับตำนานขึ้นหิ้งที่โดดเด่นเกินคำว่าสยองอย่างเดียว เพราะมีความสนุกได้อารมณ์ขันตลกร้ายจนบางทีไม่รู้จะสยองหรือฮาดี(ภาคแรกหนักที่สยองเพียวๆ ส่วนภาคสองเพิ่มความตลกได้อย่างกลมกลืน)

Southbound (2015)

Southbound (2015) | B
Director: Radio Silence,Roxanne Benjamin,David Bruckner,Patrick Horvath
Genres: Horror

เป็นการรวมตัวอีกครั้งของผู้กำกับ V/H/S (2012) ที่ต่างทำหนังสั้นสยองขวัญแนว Found Footage ให้ขวัญผวาจนกลายเป็นหนังฮิตคอหนังสยองขวัญและคอหนังคัทล์จนได้สร้าง V/H/S/2 (2013) ภาคต่อที่มีดีกรีเข้มข้นยิ่งกว่าภาคแรก แน่นอนว่ากับเรื่องนี้ก็ทำนองแนวเดียวกันตรงที่เป็นเรื่องสั้นสยองขวัญ แต่จะไม่เน้นเทคนิคการถ่ายทำด้วยมุมกล้องอีกต่อไป จะโฟกัสที่ทุกเรื่องมาจากถนนตามเส้นทางของตัวเอง จะวิ่งมาจากทิศทางใดก็แล้วแต่จะสรุปที่เดียวกันคือความตาย และนี่เป็นเรื่องราว 5 เรื่องจาก 5 เส้นทางที่โยงไปสู่อีกมิติหนึ่งที่พูดไม่ได้บอกไม่ถูกว่าคืออะไร

Crying Freeman (1995) น้ำตาเพชฌฆาต

Crying Freeman (1995) | น้ำตาเพชฌฆาต | B-
Director: Christophe Gans
Genres: Action | Crime | Thriller

"จากการ์ตูนดังเรท R ในตำนาน (ชอบแก้ผ้าสู้กัน..เดี๋ยวๆ)"

แนะนำให้ไปหาฉบับหนังสือการ์ตูนมาอ่านหรือหาฉบับการ์ตูนอะนิเมด้วยก็ดี ไม่ใช่กลัวจะดูหนังไม่รู้เรื่องแต่เป็นความสนุกที่ไม่อยากให้พลาดซะมากกว่า โดยเฉพาะในหนังสือการ์ตูนจะมีเนื้อหาที่ละเอียดและสนุกที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุ้นในลายเส้นที่เกิดจากฝีมือ  Kazuo Koike ที่น่าจะรู้จักหรือเคยได้ยินเรื่อง Lone Wolf and Cub โดยมีชื่อไทยว่า"ซามูไรพ่อลูกอ่อน" ทั้งยังมีฉบับหนังมาแล้วใน Lone Wolf and Cub: Sword of Vengeance (1972) และภาคต่ออีกหลายภาค ส่วน Crying Freeman จะมีเรื่องราวแตกต่างออกไป ไม่เกี่ยวอะไรกับญี่ปุ่นสมัยยุคซามูไร จะเป็นเรื่องอีกยุคหนึ่งเกี่ยวกับนักฆ่าจำเป็นที่ลงมือฆ่าสำเร็จจะต้องหลั่งน้ำตาออกมา

The Handmaiden (2016) ล้วงเล่ห์ลวงรัก

The Handmaiden (2016) | ล้วงเล่ห์ลวงรัก | A
Director: Park Chan-wook
Genres: Drama | Romance | Thriller

อิงจากนิยายของ Sarah Waters เรื่อง Fingersmith ที่นำฉากหลังยุควิตอเรียนของอังกฤษมาดัดแปลงเล่าเรื่องยุค 1930 ในช่วงเกาหลีตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ซึ่งมองจากต้นเรื่องอาจคล้ายหนังสงครามที่เดือดร้อนไปถึงผู้คนชาวเกาหลีเพราะการยึดครองของทหารญี่ปุ่น มิหนำซ้ำยังมีส่วนของสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้วุ่นวายสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนมากมาย แต่ด้วยอะไรก็แล้วแต่เมื่อมองในแง่หนังสงครามหรือสิ่งที่เกี่ยวกับสงครามนั้นแทบไม่มีให้เห็นเลยนอกจากสัญลักษณ์ทางภาษากับวัฒนธรรมที่ผสานเข้าหากันระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น จนบางครั้งเหมือนกัดจิกกันเองอย่างแนบเนียน เดี๋ยวเพราะญี่ปุ่นบ้างล่ะ เป็นเพราะเกาหลีบ้างล่ะ แต่สุดท้ายจะฝ่ายไหนก็ล้วนไม่ใช่เรื่องที่นำมาเป็นเรื่องแพ้ชนะสงครามเพราะเรื่องหลักไม่ได้หมายถึงสงครามระหว่างประเทศ แต่เป็นสงครามระหว่างเพศจากชายและหญิง

Mississippi Burning (1988) เมืองเดือดคนดุ

Mississippi Burning (1988) | เมืองเดือดคนดุ | S
Director: Alan Parker
Genres: Crime | Drama | History | Mystery | Thriller

เป็นหนังดีที่ถูกมองข้ามและไร้ชื่อไร้เสียงจนไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างสักเท่าไร ส่วนหนึ่งอาจเพราะประเด็นสีผิวที่รุนแรงขนาดที่ว่าฆ่าล้างบางอย่างไร้ความเยื่อใยจนอาจทำให้หลายคนไม่พอใจ แต่ยังไงเสียเนื้อเรื่องก็ได้อิงจากเหตุการณ์จริงในปี 1964 ที่สร้างความทุกข์ร้อนถึงคนผิวสีจนไม่เหลือความเป็นมนุษย์ร่วมโลก เพราะอะไรทำไมถึงจงเกลียดจงชังคนผิวสีนัก เพราะผิวดำไม่ใช่ผิวขาวที่ดูบริสุทธิ์งั้นเหรอ เพราะไม่ขาวจึงไม่สมควรอยู่กัน เพราะอะไรนั้นคือคำถามที่สะเทือนใจ คนเราตัดสินใครบางคนหรือกลุ่มคนเพียงเพราะสีของผิวที่ไม่เหมือนกัน แน่นอนว่าเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ยุคสมัยไหนก็ยังเป็นอยู่เสมอไม่สามารถลบอคติเช่นนี้ได้หมดหลายครั้งคนผิวสีถูกมองในเรื่องผัวพันในสิ่งที่ผิดอยู่เสมอ ดีไม่ดีถูกเป็นผู้ต้องสงสัยเพราะเป็นคนผิวดำทั้งที่ควรให้เหตุผลอื่นเข้าท่ากว่านี้ นึกแล้วก็ไม่รู้จะว่ายังไงนอกจากเป็นความแตกต่างแค่เปลือกที่สะท้อนไปถึงก้นบึ้งของอีกคนจนถึงข้างใน ความเป็นจริงที่แสนน่ารังเกลียดที่แบ่งแยกความเป็นคนด้วยคนกันเองเพราะผิวที่ไม่เหมือนกัน


นักต่อสู้สิทธิมนุษยชนตัวจริงที่หายไปในมิสซิสซิปปี

เรื่องได้เปิดด้วยความฉงนใจจากกลุ่มวัยรุ่น 3 คนที่รู้ในภายหลังว่าคือนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่กำลังขับรถวิ่งกลางดึกอยู่ดีๆได้ถูกรถหลายคนไล่กวดแบบไม่แซงไม่ปล่อยต้องหยุดถึงยอม ซึ่งการหยุดรถเพื่อหวังเจรจากลายเป็นความผิดมหันต์เพราะนั้นทำให้เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ 2 นายคือรูเพิร์ต เอ็นเดอร์สัน (Gene Hackman) และอลัน วอร์ด (Willem Dafoe) ต้องมาเยือนแดนใต้ในรัฐมิสซิสซิปปีเพื่อสืบคดีนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ทว่าการสืบความจริงในถิ่นแปลกได้สร้างความแตกต่างระหว่างคนนอกกับคนในที่ไม่มีใครยินยอมร่วมมือกันแบบเต็มใจ จึงเป็นความปวดหัวของทั้งสองที่ยิ่งสืบยิ่งมืดแปดด้านมากยิ่งขึ้นจากความจริงที่ถูกปิดบังจากคนทั้งเมืองจนกลายเป็นตัวตลกที่หาเท่าไรก็ยิ่งสร้างความขำขันแก่ชุมชน แต่เบาะแสหนึ่งที่พบเกี่ยวกับชุมชนมิสซิสซิปปีแห่งนี้คือเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่กำลังก่อความรุนแรงมากขึ้นเพราะสีผิว มันเป็นเรื่องของคนผิวดำที่ถูกรังแกจากคนผิวขาวแบบไม่ลืมหูลืมตาจะถูกจะผิดและกฎหมายไม่ช่วยอะไร

คู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan - KKK) ถูกใช้เรียกกับลัทธิหรือกลุ่มคนที่ร่วมตัวกันต่อต้านคนผิวสีหรือนิโกรด้วยความรุนแรงแบบฆ่าได้ยิ่งดี เช่นเดียวกันกับเรื่องนี้ที่มีความรุนแรงระดับเกินเยียวยาที่ฆ่าแกงกันได้อย่างง่ายๆเพียงขอแค่ผิวดำก็เป็นเป้านิ่งให้ถูกทุบตีได้ทุกเมื่อ และที่ยิ่งกว่าคือสภาพของสังคมที่เหมือนถูกแบ่งแยกทางเพศที่มีให้เห็นจากการข่มเพศหญิงที่อ่อนแอกว่าจากเพศชายด้วยกำลัง ความไม่ประนีประนอมคือไม้เด็ดของหนังเรื่องนี้จนรู้สึกหลากหลายอารมณ์ในเวลากัน ทั้งเกลียดชัง เครียดแค้น หดหู่ และที่รู้สึกได้แน่นอนคือความไม่ยุติธรรม สำหรับ Mississippi Burning อาจจะใช้ประเด็นหลักเรื่องเหยียดสีผิวแต่โดยรวมแล้วยังมีประเด็นอีกมากมายที่สะท้อนออกมาตามที่กล่าวข้างต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้น่าสนใจคือความหวาดกลัวจากผู้ถูกกระทำจนไม่กล้าหรือท้าทายหรือมีกำลังต่อสู้จนไม่ต่างกับคนอ่อนแอที่กลัวและไม่กล้าทำอะไร


ความหนักใจของเรื่องนี้เป็นความจริงที่ผู้ชมรู้อยู่ก่อนบ้างว่าใครคือคนทำ และด้วยเหตุผลบางประการทำให้รู้อีกด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร ทว่าการรู้ไปก็เหมือนได้แค่พูดแล้วลอยไปตามอากาศ สิ่งที่บอกไม่ได้พิสูจน์ว่าจริงเท็จมากน้อยเพียงใดและไม่อาจหาคำตอบได้ภายใต้กรอบที่ยังมีอยู่ ด้วยสิ่งนี้เองทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้เต็มไปด้วยความหนักแน่นที่ยิ่งขุดคุ้ยมากเท่าไรยิ่งต้องพบความเจ็บปวดที่อยากระบายก็ไม่สามารถบอกได้เต็มปากเต็มคำ ในช่วงแรกจะไม่หนักหนาสาหัสเท่าไร แต่เมื่อยิ่งสถานการณ์ชวนบีบคั้นยิ่งขึ้นจะเห็นถึงความเป็นจริงของสังคมที่ไม่แคร์ไม่สนและไม่ช่วยเหลือ ฉากที่เห็นได้ชัดคือการสัมภาษณ์ของสื่อข่าวกับชาวบ้านในมิสซิสซิปปีเกี่ยวกับความเห็นการหายตัวไปของกลุ่มวัยรุ่น 3 คน โดยคนที่ให้สัมภาษณ์จะไม่สนความเป็นความตายเลยสักนิดและเบี่ยงเบนว่าทั้งหมดเป็นเรื่องโกหกที่สร้างขึ้นมา บางทีอาจเป็นเรื่องสนุกที่ต้องการปั่นหัวเล่นๆก็เป็นได้

การสัมภาษณ์ผ่านสื่อข่าวช่วยเปิดมุมกว้างเกี่ยวกับชุมชนมิสซิสซิปปีจนรู้สึกว่าเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่เลยสักนิด ทั้งนิสัยใจคอและยึดมั่นในถิ่นฐานเพราะมีวัฒนธรรมในแบบของตัวเอง กระนั้นการยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองเป็นก็กลายเป็นเรื่องเสียดสีของผิวสีหรือที่ได้ยินในหนังอยู่บ่อยครั้งว่า"นิโกร"ในมุมมองเห็นแก่ตัว การพูดคุยที่โยงใยจากการหายตัวของกลุ่มวัยรุ่นนักสิทธิมนุษยชนได้ไปเกี่ยวพันกับคนผิวสีในเชิงลบแบบไม่หวั่นผลกระทบในภายหลัง ทั้งว่าทั้งด่าแบบไม่หยาบแต่แรงเหลือร้ายจนไม่คิดว่าจะถูกประเมินให้ต่ำต้อยเพียงแค่ผิวสีต่างกันเท่านั้น การเชื่อมโยงเหตุการณ์จากเรื่องเล็กระดับบุคคลได้พัฒนาไปสู่ระดับชุมชนจากหนึ่งไปสิบจนถึงร้อยและหนักข้อมากขึ้น ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งที่เจ็บแสบมากสุด คำตอบนั้นคือคนอย่างเราๆที่รับการปลูกฝั่งความเชื่อแบบผิดๆ แม้ว่าความเชื่อจะเปลื่ยนแปลงกันได้แต่จะทำยังไงหากเข้าถึงระดับวัฒนธรรมหรือลัทธิไปแล้ว ผลคือทุกคนเชื่อและคิดว่านี่แหละเหมาะสมอย่างที่เรียนรู้กันมา


สิ่งที่พิเศษที่สุดของเรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องแบบละเอียดทุกฝีก้าวตั้งแต่เข้าเมืองมิสซิสซิปปี ไล่ลำดับจากเล็กไปใหญ่ด้วยการเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างแนบเนียนจนไม่คิดว่าการผูกเรื่องทั้งหมดจะบานปลายและใหญ่โตขนาดนี้ จะว่าก็ไม่แปลกหากอิงจากเหตุการณ์จริงที่ยุคนั้นยังเต็มไปด้วยการแบ่งแยกชนชั้น อะไรหลายอย่างยังโหดร้ายและเต็มไปด้วยอคติแบบเก่าจนเป็นความขัดแย้งระหว่างแนวคิดเดิมกับแนวคิดใหม่ที่ต้องการปฏิวัติเสรีภาพจากนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนจนตัวตายอย่างไม่รู้ตัว นอกจากเนื้อหาสาระที่แฝงมาให้ขึ้นสุดลงสุดแล้วยังรวมแม้กระทั่งตัวละครที่เข้าไปหยั่งลึกถึงจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่อลันกับรูเพิร์ตที่มีความเข้าขาเพียงแค่ภายนอกเท่านั้น เอาจริงๆทั้งคู่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากจากรูปลักษณ์และอุดมการณ์ความคิดชนิดคนละฝั่งคนละฝา

อลันเป็นตัวละครที่ถูกเข้าหาในช่วงแรกจนเป็นตัวเด่นของเรื่อง ไม่ว่าจะวิธีการเสาะหาข้อมูลหรือตั้งสมมุติฐานก็ล้วนมาจากความจริงที่เป็นไปได้ทั้งสิ้น สิ่งที่อลันทำแทบจะเป็นไปตามตำราที่แสนเข้มข้นและจริงจังอยู่ตลอดเวลา จริงที่ว่าจะขาดความพลิกแพลงในการไขคดีแต่ความพิเศษของเขาคือการไม่ยอมอะไรง่ายๆ เมื่อความจริงไม่สามารถถูกคายออกก็ต้องเป็นคนหาความจริงนั้นให้เจอ ฉากอลันเอาจริงนับเป็นฉากที่ทรงพลังและชวนตื่นเต้นอย่างที่สุด ประกอบกับดนตรีประกอบสนสุดแสนตื่นตัวจนรู้สึกทึ่งแม้ไม่ได้ทำอะไร แต่อะไรนั้นการเรียกเจ้าหน้าที่แบบเหมายกคณะจัดเป็นอะไรที่น่าตกใจในการรับมือไขคดี มันแสดงให้เห็นตัวตนของอลันที่ไม่ยอมใครและเล่นให้สุดเท่าที่จะทำได้ แค่นั้นยังไม่พอหากการเรียกเจ้าหน้าที่นับร้อยมาไขคดีต้องหาสถานที่ทำงาน ซึ่งช่วงแรกกลายเป็นปัญหาของชุมชนระแวกนั้นโดยเฉพาะเจ้าของที่ให้ยืมที่มองว่าเป็นปัญหาไม่มีใครเข้ามาใช้บริการโรงแรม อลันจึงแก้ปัญหาแบบหักดิบซื้อสถานที่ไว้ใช้ทำงานจะได้ไม่ต้องมีปัญหาให้ยุ่งยาก


ทว่าวิธีการของอลันเป็นไปตามกรอบมากเกินไปจนนำไปสู่สงครามภายในระหว่างคนผิวสีที่ถูกย่ำยีจากคนผิวขาวเพราะเกรงว่าจะปริปากบอกอะไรที่โยงไปหาต้นตอได้ ซึ่งนั้นทำให้สังคมถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือเจ้าหน้าที่ที่ต้องการความจริงเพื่อปิดคดีแต่ทำไม่ได้เนื่องจากไร้ซึ่งความจริงและหลักฐานที่ชัดเจน รวมถึงพยานที่ไม่มีใครบอกอะไรได้เลยสักนิด กลุ่มสองเป็นคนผิวสีที่ถูกรังแก้และพยายามออกห่างจากทุกฝ่ายเพื่อรักษาชีวิตของตัวเองเพราะคิดว่าถ้าช่วยเจ้าหน้าที่หรือยุ่งเกี่ยวจะต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือคนในมิสซิสซิปปี และกลุ่มสามเป็นคนขาวในมิสซิสซิปปีที่เห็นชัดว่ามีใครบ้างแต่บอกไม่ได้ว่าจริงมากแค่ไหน อาจจะเห็นอุดมการณ์หรือความคิดเข้าข้างตัวเองชวนโกรธแค้นจนน่าต่อยหน้า แต่ก็นั่นแหละความตั้งใจของเรื่องนี้ที่สะท้อนความชิงชังระหว่างมนุษย์กันเองจนน่าสังเวช

อลันเต็มไปด้วยความพยายามที่มุ่งมั่นตามแบบหนุ่มไฟแรงที่เอาจริงเอาจังจนลืมเรื่องพลิกแพลงกับศึกษาเรื่องสภาพสังคมให้กระจ่าง ผิดกับรูเพิร์ตที่ใจเย็นมาโดยตลอดเพื่อดูความเป็นไปของสังคมชาวเมืองมิสซิสซิปปีก่อนจะลงไม้เด็ดในช่วงท้ายของหนังด้วยกำลังไม้ป่าเมืองเถื่อนที่ดูย้อนแย้งและเสียดสีอย่างลงตัว อีกทั้งความสัมพันธ์ของทั้งสองให้มุมมองสองแง่ระหว่างตำแหน่งหน้าที่กับประสบการณ์ได้อย่างแนบเนียนระหว่างยุคสมัยการทำงานที่แตกต่าง คล้ายประเด็นความแตกต่างของสีผิวที่ไม่เหมือนกันแต่ทุกอย่างย่อมมีทางออกที่เหมือนกัน งานนี้ไม่ใช่แค่บทตัวละครที่ดูสนุกชวนน่าหลงใหลเพราะยังได้นักแสดงฝีมือดีอีกด้วย ซึ่ง Willem Dafoe และ Gene Hackman เล่นได้ดุเด็ดเผ็ดมันส์จริงๆ


สำหรับประเด็นเรื่องสีผิวค่อนข้างจะรุนแรงซะหน่อยถ้ามองในหลายอย่างๆ เช่น ฉากออกจากโบสถ์ที่มีคนผิวขาวส่วมถุงผ้าปิดบังใบหน้าพร้อมด้วยอาวุธในมือเพื่อใช้ทุบตี ฉากเข้าทำร้ายครอบครัวผิวสีแบบล้างบางไร้ที่อยู่ที่ทำกิน และฉากที่เห็นบ่อยคือการทำลายบ้านด้วยความไร้ปรานี อีกประเด็นที่ซ่อนอยู่คือการสืบทอดหรือสานต่อ ในเรื่องจะมีการพูดถึงการปลุกฝังความคิดความเชื่อจากคนรุ่นก่อนจนเหมือนเป็นความเคยชินที่เชื่อต่อกันมา เมื่อยุคสมัยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้อิสรภาพทุกสีผิวจึงเป็นความขัดแย้งไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองรับมาจากคนรุ่นก่อนจนเป็นความต่อต้านเกิดขึ้น ด้วยประเด็นน้อยใหญ่อะไรก็แล้วแต่ที่สอดแทรกเข้ามาก็ล้วนมีความนัยกันหมดทั้งสิ้นและเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างเป็นระบบระเบียบหาช่วงเวลาผ่อนคลายแทบไม่ได้ แม้กับฉากที่ไม่มีอะไรอย่างประชุมในโบสถ์หรือเดินประท้วงยังเต็ฒไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายของคนผิวสีที่พยายามต่อสู้อย่างเป็นธรรม แล้วคนผิวขาวทำอะไรอย่างเป็นธรรมบ้างนอกจากทุบตีทำร้ายเยี่ยงสัตว์ชนิดหนึ่ง

สิ่งสำคัญคือความถูกต้องที่ยังมีแต่เรื่องผิดๆที่สอนต่อกันมาโดยไม่ทำความเข้าใจหรือปรับปรุงใหม่ สิ่งที่ค้างคาเป็นทัศนคติเก่าและเห็นแก่ตัว ไม่มีใครยอมรับเพราะไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมเพราะมองเป็นเรื่องคุกคามทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย เหตุผลที่อ้างมาอย่างลอยๆว่าสีผิวต่างกันย่อมมีความชอบชั่วดีต่างกันกลายเป็นเรื่องสลดใจที่เกิดขึ้นจริงในสังคม นอกจากสีผิวที่เป็นปัญหายังมียังอ้างถึงหลายสาเหตุ เช่น ศาสนา เชื้อชาติ ตลอดจนการแสดงออกถึงความคิดเห็นที่ต่างกันก็ทำร้ายกันไม่ไว้ใจกันเสียแล้ว ความแตกต่างนำไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ทุกที่แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นด้วยความรุนแรงเสมอไป แค่หันมาพูดคุยปรับความเข้าใจและเปิดใจให้กว้างก็น่าจะเพียงพอแล้ว ใน Mississippi Burning จะมีเพลงประกอบหนึ่งชื่อว่า Walk on By Faith เสมือนเพลงปลอบใจให้แก่คนผิวสีที่ต่างร้องเพลงนี้ให้ยอมรับในเส้นทางเดินของตัวเอง ยอมรับความทุกข์ลำบากและความเลวร้ายของชีวิต แต่ไม่ได้แปลว่าจะยอมแพ้แค่รอคำว่าโอกาสที่จะเท่าเทียม

Money Monster (2016) เกมการเงิน นรกออนแอร์

Money Monster (2016) | เกมการเงิน นรกออนแอร์ | B+
Director: Jodie Foster
Genres: Crime | Drama | Mystery | Thriller

ค่อนข้างแปลกใจกับเรื่องนี้ที่ไม่ค่อยได้คะแนนจากเสียงนักวิจารณ์หรือผู้ชมสักเท่าไร เรียกว่าครึ่งต่อครึ่งเลยก็ว่าได้ แต่โดยส่วนตัวเอนเอียงไปทางชอบมากซะมากกว่าเพราะเล่าเรื่องสนุกและมีหลายอย่างให้ฉุกคิดเกี่ยวกับการลงทุนที่มักจะมีคำต่อท้ายเสมอว่า"อาจมีความเสี่ยง" ซึ่งเรื่องราวไม่ได้ไปไหนไกลจนต้องต้องกุมขมับในเรื่องการเงินหรือเศรษฐศาสตร์ที่ต้องศึกษาก่อนดู แม้กระทั่งเรื่องหุ้นที่หลายคนบอกยากกลัวดูแล้วตามเนื้อเรื่องไม่ทันก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะเรื่องนี้มีวิธีการย่อยเนื้อหาให้ออกมาง่ายแสนง่ายและดูเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการตลาด ถึงจะไม่ระดับรู้ลึกก็เพียงพอมาอธิบายให้คนดูอย่างเราๆเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นและส่งผลกระทบอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นจะสนุกยิ่งขึ้นหากศึกษาเรื่องหุ้นสักเล็กน้อยเพื่อจะได้เข้าใจการทำงานของระบบหุ้นที่นำพาไปสู่ฉากสำคัญบางช่วงบางตอนให้เข้าถึงอารมณ์และการเซอร์ไพรส์ที่แสนจะหักหน้าอย่างจัง

R-Point (2004) อาร์-พอยท์ สมรภูมิผี

R-Point (2004) | อาร์-พอยท์ สมรภูมิผี | B+
Director: Su-chang Kong
Genres: Action | Horror | War

ครึ่งแรกทั้งหลอนทั้งขนลุกไม่คิดว่าบรรยากาศจะเหมาะเจาะเข้ากับฉากหลังเป็นพื้นป่าในยุคสมัยสงครามเวียดนามได้ขนาดนี้ ต้องยอมรับว่าน่าสะพรึงไม่น้อยกับสิ่งที่ผสมผสานระหว่างจิตวิทยากับเรื่องผีให้เป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน แต่ความหลอนน่ากลัวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในหนังเท่านั้น เนื่องจากเคยเกิดขึ้นจริงกับเหล่าทหารเกาหลีใต้ที่ได้รับสัญญาณวิทยุขอความช่วยเหลือจากหน่วย Donkey 3 ซึ่งสัญญาณก็ขาดๆหายๆ จับใจความได้ไม่ชัดเจน มีคลื่นแทรกตลอดเวลา ทว่าสิ่งที่พอฟังรู้เรื่องคือประโยคที่บอกว่าตัวเองกำลังทรมานเหมือนอยู่ในนรกอยากให้ไปช่วยเหลือเร็วๆ แต่นั้นยังไม่หลอนเท่าเมื่อรู้ว่าหน่วยนี้ได้หายสาบสูญไปในพื้นที่ R-Point เป็นเวลา 6 เดือนกว่าแล้ว แน่นอนว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่หายไปนานขนาดนั้นแล้วยังติดต่อกลับมาได้ทั้งที่สันนิษฐานไปแล้วว่าหน่วยนี้เสียชีวิตกันหมดทุกคน

The Ghost and the Darkness (1996) มัจจุราชมืดโหดมฤตยู

The Ghost and the Darkness (1996) | มัจจุราชมืดโหดมฤตยู | B-
Director: Stephen Hopkins
Genres: Adventure | Drama | Thriller

เป็นการหยิบเค้าโครงจากเหตุการณ์จริงที่เขียนลงในหนังสือ The Man-Eaters of Tsavo ด้วยเนื้อหาการผจญภัยในป่าแอฟริกากับสิงโตกินคนที่ซาโว เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 1898 จักรวรรดิอังกฤษได้เริ่มสร้างสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำซาโวในประเทศเคนยา โดยเป็นหน้าที่รับผิดชอบคือผู้พันจอห์น เฮนรี่ แพ็ตเตอร์สัน (Val Kilmer) นายทหารหนุ่มชาวไอริช-อังกฤษผู้เป็นวิศวกรคุมงานการสร้างสะพานทั้งหมด แต่ระหว่างสร้างสะพานยังไม่ทันเสร็จดีเกิดคนงานชาวอินเดียถูกสิงโตลากออกจากเต้นท์และถูกกินในเวลากลางคืน เรื่องไม่ได้เกิดแค่คืนเดียวหรือวันเดียวจนทำให้จอห์นต้องวางซุ้มยิงสิงโตที่เข้ามาทำร้ายคนงาน ไม่ว่าจะวางกับดักหรือซุ้มยิงจากบนต้นไม้ก็ไม่อาจจัดการสิงโตที่มา 2 ตัวนี้ได้ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นปีศาจแห่งซาโวชื่อมาร (Ghost) กับทมิฬ (Darkness) ที่ทุกคนต่างหวาดกลัว

Sleepwalkers (1992) ดูดชีพสายพันธุ์สุดท้าย

Sleepwalkers (1992) | ดูดชีพสายพันธุ์สุดท้าย | C
Director: Mick Garris
Genres: Fantasy | Horror

"Sleepwalking หมายถึง ละเมอลุกขึ้นจากเตียงขณะหลับโดยที่ไม่รู้ตัว แต่ความหมายนี้มันคนละเรื่องคนละราวกับหนังเรื่องนี้เลยนะ เมี๊ยววว"

งานนี้ Stephen King เขียนบทให้เองเสร็จเรียบร้อย ไม่ได้ดัดแปลงจากนิยายของเขาแต่อย่างใด เป็นบทที่เขียนมาเพื่อสร้างหนังโดยเฉพาะ แล้วผลออกมาก็สนุกไม่เลวเพราะยังคงความสยองขวัญแฝงแง่คิดเอาไว้เช่นเดิม แต่สิ่งที่ต่างออกไปอาจเป็นความเข้มข้นในเนื้อหาที่ไม่ค่อยเข้มข้นอะไรนัก ซ้ำยังรู้สึกกำกวมจนน่าจะมีคำอธิบายที่กระจ่างกว่านี้เพราะมีหลายอย่างที่ดูตลกและฉงนใจมากทีเดียว เรื่องจะกล่าวถึงปิศาจเผ่าพันธุ์หนึ่งนามว่าสลีพวอล์คเกอร์ เป็นสิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งสัตว์หรืออีกนัยหนึ่งเป็นครึ่งแมว มีชีวิตอยู่ด้วยการดูดพลังชีวิตของหญิงสาวบริสุทธิ์จนเหือดแห้ง ซึ่งสลีพวอล์คเกอร์ที่ยังคงมีชีวิตเหลืออยู่คือแมรี่ เบรดี้ (Alice Krige) และชาร์ล เบรดี้ (Brian Krause) ลูกชายของเธอ และเป้าหมายเหยื่อรายต่อไปคือแทนย่า โรเบิร์ตสัน (Mädchen Amick) หญิงสาวที่กำลังถูกหลอกไปดูดความบริสุทธิ์อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

Dhoom 2 (2006) ดูม 2 เหิรฟ้าท้านรก

Dhoom 2 (2006) | ดูม 2 เหิรฟ้าท้านรก | C+
Director: Sanjay Gadhvi
Genres: Action | Crime | Thriller

"Dhoom Again"

ภาคแรกกล่มกล่อมเกือบได้รสชาติที่ลงตัว ภาคนี้ไม่ต่างกันที่ทุ่มทุนมากขึ้น โดยเฉพาะฉากเต้นที่เป็นเอกลักษณ์ของหนังอินเดียที่อลังการงานสร้างจนหลงๆไปเทียบกับหนัง Step Up เลยทีเดียว แต่เรื่องท่าเต้นอาจไม่เทียบเท่าขนาดนั้นที่ต้องมี B-Boy อะไรพวกนั้น สำหรับภาคนี้ต้องขอพูดถึงงานเต้นก่อนเพราะมาผิดกับภาคแรกที่นอกจากจะยิ่งใหญ่แล้วยังรวมถึงองค์ประกอบฉากต่างๆที่บ่งบอกถึงทุนที่มากขึ้น ทั้งการแต่งกาย จำนวนนักเต้น แสงสีเสียง สิ่งเหล่านี้แทบจะแตกต่างกับภาคแรกโดยสิ้นเชิง แต่ถามว่าโดยส่วนตัวชอบแบบไหนระหว่างทุนน้อยที่มีแค่ตัวพระและตัวนางมีองค์ประกอบนิดๆหน่อยๆกับงานใหญ่ที่มีนักเต้นมากขึ้นพร้อมฉากที่ดูอลังการเป็นงานใหญ่ อันนี้ต้องบอกว่าภาคแรกซะมากกว่า เพราะดูเป็นกันเองและใกล้ชิดตัวละคร เนื่องจากเนียนกับการเล่าเรื่องที่ไม่ได้โดดมาเป็นฉากเต้นร้องเพลงที่เล่าไปอีกอย่าง

Dhoom (2004) ดูม บิดท้านรก

Dhoom (2004 | ดูม บิดท้านรก | B
Director: Sanjay Gadhvi
Genres: Action | Crime | Drama | Thriller

"ดูม มาจาเล่ ดูม มาจาเล่ ดูม.."

ใครจำเรื่องนี้ไม่ได้ก็ต้องจำเนื้อเพลงนี้ได้กับจังหวะมันส์ๆที่ฮิตติดหูขนาดให้นักร้องชื่อดังเมืองไทยอย่างทาทายังมาร่วมร้องในเวอร์ชั่นอินเตอร์ แต่ไม่ว่าจะเวอร์ชั่นภาษาอินเดียหรือภาษาอังกฤษก็จำได้แค่"ดูมๆ"กันซะมากกว่า(ฮา) ส่วนตัวหนังนั้นเป็นเรื่องของตำรวจกับผู้ร้ายที่แข่งกันจับกับแข่งกันปล้น เป็นเรื่องของเจ ดิซิต (Abhishek Bachchan) ตำรวจมาดธรรมดาที่เวลาถอดแว่นจะกลายเป็นคนจริงจังเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าได้รับมอบหมายให้ทำคดีการปล้นที่ตำรวจทั่วไปทำไม่ได้ โดยกลุ่มโจรนี้มีจุดเด่นเรื่องมอเตอร์ไซค์ที่มีความเร็วสูงในการหลบหนีทุกครั้งทำให้ยากต่อการตามจับตัว งานนี้จึงไม่ง่ายอย่างที่คิดต้องขอแรงอาลี อักบัร ฟาเตห์ ข่าน (Uday Chopra) นักซิ่งล่าเงินรางวัลที่ใฝ่ฝันอยากได้เมียดีๆสักคนไว้สร้างครอบครัวมาช่วยอีกแรง

From Beyond (1986) คนเปลี่ยนหัวคน ภาค 2 / มิติสยองเปลี่ยนคนไม่ให้เป็นคน

From Beyond (1986) | คนเปลี่ยนหัวคน ภาค 2 | มิติสยองเปลี่ยนคนไม่ให้เป็นคน | B+
Director: Stuart Gordon
Genres: Horror | Sci-Fi

อย่างแรกต้องมาทำความเข้าใจกับชื่อไทยที่หลายคนอาจร้อง"ห๊ะ"เพราะเป็นภาคต่อ ถ้างั้นภาคแรกหายไปไหนทำไมถึงเป็นภาคสองเลย อีกด้านหนึ่งกับคนที่ตามชื่อไทยก็คงสับสนกับภาคแรกที่มีเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงตรงไหนเลย นั้นเพราะชื่อไทยเรื่องนี้ไปตั้งต่อจากเรื่อง Re-Animator (1985) ที่มีชื่อ"คนเปลี่ยนหัวคน" แน่นอนว่าเนื้อเรื่องมันคนละม้วนกันอยู่แล้ว แต่ด้วยความเข้าใจผิดที่เห็นว่าอะไรหลายอย่างคล้ายกันจึงตั้งชื่อเป็นภาคต่อ ก็ไม่แปลกใจอีกแหละว่าทำไมถึงเข้าใจผิดกันทั้งที่คนละเรื่องคนละราว เนื่องจากใช้นักแสดงคนเดียวกัน ทั้ง Jeffrey Combs และ Barbara Crampton ที่เป็นตัวหลักทั้งคู่ ส่วนผู้กำกับเป็นคนเดิมอีก แถมยังสร้างจากนิยายผู้แต่ง H.P. Lovecraft ด้วยกันทั้งคู่ ที่สำคัญมีอะไรที่เกี่ยวกับหัวเหมือนกันอีกด้วย สรุปต้องเลยตามเลยให้สับสนกันไม่น้อยทีเดียว

Robot (2010) มนุษย์โรบอท จักรกลเหนือโลก

Robot (2010) | มนุษย์โรบอท จักรกลเหนือโลก | B+
Director: S. Shankar
Genres: Action | Sci-Fi

นี่ไงล่ะหนังอินเดียที่น่าจดจำในฐานะหนังไซไฟที่มีลูกบ้าเว่อร์วังอลังการจนไม่ต้องไปหาเรื่องไหนมาเปรียบเทียบ เพราะไม่มีเรื่องไหนที่เทียบเคียงหรือเลียนแบบได้นั้นเอง ซึ่งสรรพคุณความอลังการของเรื่องนี้อยู่ที่ไอเดียความแปลกล้วนๆ ที่ว่าแปลกไม่ถึงกับแปลกใหม่จนคาดไม่ถึงแต่น่าจะเรียกว่าหาคนทำแบบนี้ไม่ได้มากกว่า แปลกในทางทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ แน่นอนว่านอกจากจะดูเหลือเชื่อที่กล้าทำแล้วยังรู้สึกได้ถึงความสดใหม่ที่ไม่ใช่ความเพ้อเจ้อไม่อยากซ้ำใคร สำหรับเรื่องนี้คือความสดใหม่ที่ดูได้ทุกคนที่นำเสนอได้อย่างมีมิติและแพรวพราวด้วยเทคนิค CGI จนเอิ่ม..ถ้าไม่คัลท์หรือกล้าจริงคงทำไม่ได้แน่นอน

Blood and Ties (2013) สายสัมพันธ์แห่งนรก

Blood and Ties (2013) | สายสัมพันธ์แห่งนรก | B
Director: Dong-Suk Kuk
Genres: Drama | Thriller

ชอบช่วงแรกของหนังมากที่เล่าความสัมพันธ์พ่อลูกได้อย่างสุดซึ้งระหว่างซุนมัน  (Kap-su Kim) และดาอึน (Ye-jin Son) ที่ชีวิตอยู่กันแบบครอบครัวธรรมดาแต่เต็มไปด้วยความทุ่มเทในการให้ โดยเฉพาะพ่อที่ทำทุกอย่างเพื่อลูกอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ทำทุกอย่างชนิดที่ดาอึนเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันหยุดของพ่อตัวเองที่บอกจะไปตกปลาแต่จริงแล้วไปรับงานเสริม เรียกได้ว่าเต็มไปด้วยความเป็นพ่อที่ปกป้องลูกอย่างเต็มที่อย่างไม่มีวันเหนื่อยหรือท้อแต่อย่างใด ขณะเดียวกันดาอึนก็รักพ่อมากที่สุดในโลกเกินจะหาใครเทียบได้ ความสัมพันธ์ทั้งสองเต็มไปด้วยความซาบซึ้งและความรักที่มีต่อกันเสมอ ถ้านี้คือหนังรักระหว่างพ่อกับลูกจะต้องประทับใจกันมากแน่ๆ ทว่าในความสัมพันธ์ที่แแน่นแฟ้นด้วยความอบอุ่นต้องสั่นคลอนเพราะหนังเรื่องหนึ่งที่ดาอึนไปดูในโรงมีส่วนที่คล้ายคลึงกับพ่อของตัวเอง หนังที่ว่านั้นสร้างจากเหตุการณ์จริงของคดีลักพาตัวเด็กจนสะเทือนทั้งประเทศ

The Bare Wench Project (2000)

The Bare Wench Project (2000) | F
Director: Jim Wynorski
Genres: Comedy | Horror

ไม่ต้องสงสัยว่าหนังเรื่องนี้ตั้งใจจะแซวเรื่องอะไร เพราะไม่ว่าจะชื่อหรือพล็อตเรื่อง แม้กระทั่งปกของหนังเองยังบ่งบอกถึงหนังต้นฉบับ The Blair Witch Project (1999) อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องหันซ้ายหันขวาว่าใช่เรื่องนี้แน่เหรอ แน่นอนว่าคือใช่ ทั้งเป็นการล้อเลียนได้อย่างกระจุยกระจายชนิดที่ว่าเสื้อผ้าหายไปทีละชิ้นสองชิ้นทุกครั้งที่ยิ่งดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ความฮาของการล้อเลียนเรื่องนี้คือความช่างกล้าที่เลือกหยิบหนังระดับขึ้นหิ้งมาใช้ได้อย่าง..เอิ่ม..แทบจะไม่มีเค้าความน่ากลัวของเดิมอยู่เลย แต่ไม่แปลกใจหรอกถ้าจะทำเพื่อล้อเลียนเพราะความคาดหวังแรกคือความฮา ซึ่งถามว่าฮาแค่ไหนอาจบอกว่าแทบหาไม่เจอ ขณะเดียวกันสิ่งที่ทนแทนมาคือเหล่านักแสดงที่รู้สึกจะเน้นเฉพาะจุดกันตั้งแต่ต้นเรื่องจนแทบทั้งเรื่องไปกับลูกกลมๆสองลูกที่มักจะเรียกลงท้ายนามว่า"เต้า"

Blue Streak (1999) หยั่งงี้ต้องปล้น

Blue Streak (1999)
หยั่งงี้ต้องปล้น
Director: Les Mayfield
Genres: Action | Comedy | Crime | Thriller
Grade: B-

อย่าได้ดูถูกความสนุกเรื่องนี้เชียวต่อให้เป็นเพียงหนังตลกที่มีเนื้อเรื่องสุดแสนง่ายดายก็เถอะ นั้นเพราะว่าการเล่าเรื่องทำได้กระชับจับจังหวะความฮาได้ลื่นไหลน่ะสิ เอาจริงๆแค่พล็อตเรื่องก็ฮาเหลือร้ายแล้วกับไมลส์ โลแกน (Martin Lawrence) ที่มีแผนโจรกรรมเพชรเม็ดโตที่มีมูลค่ามหาศาล แต่แผนที่วางไว้เกือบสำเร็จต้องพังลงเพราะถูกดีคอน (Peter Greene) เพื่อนที่ร่วมขโมยเพชรครั้งนี้หักหลัง ไมลส์จึงต้องซ่อนเพชรไว้ในช่องระบายอากาศที่อยู่ในตึกระหว่างก่อสร้าง แน่นอนว่าเมื่อแผนที่วางไว้อย่างดีต้องพังทำให้ไมลส์ถูกจับเข้าเรือนจำเป็นเวลา 2 ปี เมื่อออกจากคุกพ้นโทษก็เป็นช่วงเวลาที่แสนแฮปปี้เพราะเขาจะเอาเพชรที่ซ่อนเอาไว้ แต่เจ้ากรรมตึกก่อสร้างดังกล่าวได้เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปพร้อมกับติดป้ายชัดเจนว่าเป็นสถานีตำรวจ เพชรที่ขโมยมาอยู่ในตึกที่เต็มไปด้วยตำรวจทุกรูปแบบ แล้วไมลส์จะเข้าไปเอาเพชรที่ตัวเองซ่อนไว้ได้อย่างไร

Panic Room (2002) ห้องเช่านิรภัยท้านรก

Panic Room (2002)
ห้องเช่านิรภัยท้านรก
Director: David Fincher
Genres: Crime | Drama | Thriller
Grade: B+

การเล่าเรื่องเป็นไปอย่างรวดเร็วพอสมควรกับเรื่องนี้ที่เกริ่นตัวละครเพียงไม่กี่นาทีกับอพาร์ตเมนต์ที่พึ่งมาอยู่ใหม่ก็ต้องมีกลุ่มโจรเข้ามาในคืนวันแรกที่อาศัย จะบอกว่าเป็นความซวยของเม็ก อัลต์แมน (Jodie Foster) กับซาร่าห์ อัลต์แมน (Kristen Stewart) สองแม่ลูกคงไม่ผิด เนื่องจากพวกเธออยู่ผิดที่ผิดเวลาผิดแผนของโจรที่ตั้งใจมาแบบเงียบๆไร้คนอาศัยที่อุตส่าห์คิดล่วงหน้าตามแผนของจูเนียร์ (Jared Leto) ที่ต้องการมาขโมยเงินที่ซ่อนอยู่ในบ้านหลังนี้พร้อมกับผู้ช่วยอีกสองโจรคือราอูล (Dwight Yoakam) และเบิร์นแฮม (Forest Whitaker) แต่ที่พิเศษกว่าบ้านทุกหลังคือมีห้องนิรภัยที่ออกแบบมาอย่างดีเยี่ยมพร้อมการป้องกันเสริมด้วยเหล็กหนาที่ไม่สามารถทะลวงเข้าไปได้ง่ายๆ ทว่าเรื่องของเรื่องคือเม็กไม่ชอบห้องนิรภัยที่สำหรับเธอคือความน่ากลัวและเหมือนว่าห้องที่คิดว่าไม่จำเป็นห้องนี้ต้องถึงคราวจำเป็นซะแล้ว

Animals Are Beautiful People (1974) สัตว์โลกผู้น่ารัก

Animals Are Beautiful People (1974) | สัตว์โลกผู้น่ารัก
Director: Jamie Uys
Genres: Comedy | Documentary
Grade: A

ถ้าจะหาหนังสารคดีเกี่ยวกับสัตว์สักเรื่องที่ดูแล้วโล่งหัวสบายใจอารมณ์ดีต้องแนะนำเรื่องนี้ก่อนเลยทันที แล้วจริงหรือที่บอกเช่นนั้น ให้เริ่มจากได้รางวัลลูกโลกทองคำ สาขาสารคดียอดเยี่ยม ในงานภาพยนตร์ชื่อดัง Golden Globe Award แน่นอนว่าอย่างน้อยต้องดีในสายตานักวิจารณ์ ส่วนจะดีสำหรับผู้ชมทางบ้านมากน้อยแค่ไหนโดยส่วนบอกเลยว่าดีมาก แต่คำว่าดีไม่เพียงพอกับเรื่องนี้ที่ทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ต้องบอกว่าสารคดีเรื่องนี้มันสุดยอดเลยเสียโดยซ้ำ เพราะหลายอย่างดูเกินความคาดหมายอย่างมาก หลายอย่างได้ถ่ายทอดมุมมองที่ไม่เคยเห็นหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน ทว่าในหลายๆอย่างนี้เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ดินแดนที่แห้งแล้งจนไม่น่ามีสัตว์หรือพืชชนิดใดอยู่ได้ ซึ่งความไม่ธรรมดาที่ความแล้งแห้งนี้อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมายจนน่าแปลกใจ

The Book Thief (2013) จอมโจรขโมยหนังสือ

The Book Thief (2013)
จอมโจรขโมยหนังสือ
Director: Brian Percival
Genres: Drama | War
Grade: C+

น่าเสียดายแหะที่การเล่าเรื่องดูไม่เป็นไปตามชื่อหนังเท่าไรเลย แต่ต้องออกตัวก่อนว่าไม่เคยอ่านฉบับหนังสือเรื่องนี้มาก่อน ดังนั้นเป็นความคิดเห็นแค่ตัวหนังอย่างเดียว ถ้าจะให้เปรียบเทียบหรือหาความเหมือนคงบอกอะไรไม่ได้เกินกว่าแค่ตัวหนังที่สนุกมากน้อยเพียงใด ส่วนที่บอกว่าน่าเสียดายมาจากเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับลีเซล เมมมิงเกอร์ (Sophie Nélisse) สาวน้อยชาวเยอรมันที่ถูกส่งมาอยู่กับฮานส์ ฮิวเบอร์แมน (Geoffrey Rush) พ่อบุญธรรมและโรซ่า ฮิวเบอร์แมน (Emily Watson) แม่บุญธรรมในเมืองแห่งหนึ่งในเยอรมัน เริ่มจากลีเซลอ่านหนังสือไม่ออกแต่มีหนังสือพกติดตัวมาเล่มหนึ่ง ฮานส์จึงได้สอนการอ่านหนังสือให้จนลีเซลอ่านได้เอง พออ่านเป็นและอยากอ่านเพิ่มแต่หาหนังสือไม่ได้จึงได้แอบขโมยหนังสือมาอ่าน และนี่คือคร่าวๆเกี่ยวกับหนังสือและการขโมยหนังสือที่ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไร

Executive Decision (1996) ยุทธการดับฟ้า

Executive Decision (1996)
ยุทธการดับฟ้า
Director: Stuart Baird
Genres: Action | Adventure | Thriller
Grade: B+

"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"

จั่วหัวไว้ก่อนเลยว่าสปอยด์แน่ๆ โดยเฉพาะพระเอก Steven Seagal ที่ยุคนั้นเป็นดาราสายแอ็คชั่นที่มีชื่อเสียงพอตัว มีผลงานแจ้งเกิดอย่าง Above the Law (1988) ที่เริ่มต้นก็ไปได้สวย หลังจากนั้นมาดังไม่แพ้กันในเรื่อง Under Siege (1992) ที่เสมือนแจ้งเกิดอีกรอบ แน่นอนว่าสิ่งที่คงเป็นเอกลักษณ์ของชายคนนี้คือไม่หล่อเหลาแต่มีเสน่ห์ กระนั้นสิ่งที่ทุกคนรู้แท้แน่นอนมากกว่าการจับปืนถือมีดคือทักษะต่อสู้ด้วยมือทั้งสองข้าง แทบจะทุกเรื่องจะโชว์ลีลาฝีมือการต่อสู้มือเปล่าที่เน้นการหักกระดูกจนไม่มีหน้าไหนสู้ได้และเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนนึกไม่ออกว่าเคยแพ้ จนกระทั่งเรื่องนี้
รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)