Mississippi Burning (1988) | เมืองเดือดคนดุ | S
Director: Alan Parker
Genres: Crime | Drama | History | Mystery | Thriller
เป็นหนังดีที่ถูกมองข้ามและไร้ชื่อไร้เสียงจนไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างสักเท่าไร ส่วนหนึ่งอาจเพราะประเด็นสีผิวที่รุนแรงขนาดที่ว่าฆ่าล้างบางอย่างไร้ความเยื่อใยจนอาจทำให้หลายคนไม่พอใจ แต่ยังไงเสียเนื้อเรื่องก็ได้อิงจากเหตุการณ์จริงในปี 1964 ที่สร้างความทุกข์ร้อนถึงคนผิวสีจนไม่เหลือความเป็นมนุษย์ร่วมโลก เพราะอะไรทำไมถึงจงเกลียดจงชังคนผิวสีนัก เพราะผิวดำไม่ใช่ผิวขาวที่ดูบริสุทธิ์งั้นเหรอ เพราะไม่ขาวจึงไม่สมควรอยู่กัน เพราะอะไรนั้นคือคำถามที่สะเทือนใจ คนเราตัดสินใครบางคนหรือกลุ่มคนเพียงเพราะสีของผิวที่ไม่เหมือนกัน แน่นอนว่าเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ยุคสมัยไหนก็ยังเป็นอยู่เสมอไม่สามารถลบอคติเช่นนี้ได้หมดหลายครั้งคนผิวสีถูกมองในเรื่องผัวพันในสิ่งที่ผิดอยู่เสมอ ดีไม่ดีถูกเป็นผู้ต้องสงสัยเพราะเป็นคนผิวดำทั้งที่ควรให้เหตุผลอื่นเข้าท่ากว่านี้ นึกแล้วก็ไม่รู้จะว่ายังไงนอกจากเป็นความแตกต่างแค่เปลือกที่สะท้อนไปถึงก้นบึ้งของอีกคนจนถึงข้างใน ความเป็นจริงที่แสนน่ารังเกลียดที่แบ่งแยกความเป็นคนด้วยคนกันเองเพราะผิวที่ไม่เหมือนกัน
นักต่อสู้สิทธิมนุษยชนตัวจริงที่หายไปในมิสซิสซิปปี
เรื่องได้เปิดด้วยความฉงนใจจากกลุ่มวัยรุ่น 3 คนที่รู้ในภายหลังว่าคือนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่กำลังขับรถวิ่งกลางดึกอยู่ดีๆได้ถูกรถหลายคนไล่กวดแบบไม่แซงไม่ปล่อยต้องหยุดถึงยอม ซึ่งการหยุดรถเพื่อหวังเจรจากลายเป็นความผิดมหันต์เพราะนั้นทำให้เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ 2 นายคือรูเพิร์ต เอ็นเดอร์สัน (Gene Hackman) และอลัน วอร์ด (Willem Dafoe) ต้องมาเยือนแดนใต้ในรัฐมิสซิสซิปปีเพื่อสืบคดีนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ทว่าการสืบความจริงในถิ่นแปลกได้สร้างความแตกต่างระหว่างคนนอกกับคนในที่ไม่มีใครยินยอมร่วมมือกันแบบเต็มใจ จึงเป็นความปวดหัวของทั้งสองที่ยิ่งสืบยิ่งมืดแปดด้านมากยิ่งขึ้นจากความจริงที่ถูกปิดบังจากคนทั้งเมืองจนกลายเป็นตัวตลกที่หาเท่าไรก็ยิ่งสร้างความขำขันแก่ชุมชน แต่เบาะแสหนึ่งที่พบเกี่ยวกับชุมชนมิสซิสซิปปีแห่งนี้คือเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่กำลังก่อความรุนแรงมากขึ้นเพราะสีผิว มันเป็นเรื่องของคนผิวดำที่ถูกรังแกจากคนผิวขาวแบบไม่ลืมหูลืมตาจะถูกจะผิดและกฎหมายไม่ช่วยอะไร
คู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan - KKK) ถูกใช้เรียกกับลัทธิหรือกลุ่มคนที่ร่วมตัวกันต่อต้านคนผิวสีหรือนิโกรด้วยความรุนแรงแบบฆ่าได้ยิ่งดี เช่นเดียวกันกับเรื่องนี้ที่มีความรุนแรงระดับเกินเยียวยาที่ฆ่าแกงกันได้อย่างง่ายๆเพียงขอแค่ผิวดำก็เป็นเป้านิ่งให้ถูกทุบตีได้ทุกเมื่อ และที่ยิ่งกว่าคือสภาพของสังคมที่เหมือนถูกแบ่งแยกทางเพศที่มีให้เห็นจากการข่มเพศหญิงที่อ่อนแอกว่าจากเพศชายด้วยกำลัง ความไม่ประนีประนอมคือไม้เด็ดของหนังเรื่องนี้จนรู้สึกหลากหลายอารมณ์ในเวลากัน ทั้งเกลียดชัง เครียดแค้น หดหู่ และที่รู้สึกได้แน่นอนคือความไม่ยุติธรรม สำหรับ Mississippi Burning อาจจะใช้ประเด็นหลักเรื่องเหยียดสีผิวแต่โดยรวมแล้วยังมีประเด็นอีกมากมายที่สะท้อนออกมาตามที่กล่าวข้างต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้น่าสนใจคือความหวาดกลัวจากผู้ถูกกระทำจนไม่กล้าหรือท้าทายหรือมีกำลังต่อสู้จนไม่ต่างกับคนอ่อนแอที่กลัวและไม่กล้าทำอะไร
ความหนักใจของเรื่องนี้เป็นความจริงที่ผู้ชมรู้อยู่ก่อนบ้างว่าใครคือคนทำ และด้วยเหตุผลบางประการทำให้รู้อีกด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร ทว่าการรู้ไปก็เหมือนได้แค่พูดแล้วลอยไปตามอากาศ สิ่งที่บอกไม่ได้พิสูจน์ว่าจริงเท็จมากน้อยเพียงใดและไม่อาจหาคำตอบได้ภายใต้กรอบที่ยังมีอยู่ ด้วยสิ่งนี้เองทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้เต็มไปด้วยความหนักแน่นที่ยิ่งขุดคุ้ยมากเท่าไรยิ่งต้องพบความเจ็บปวดที่อยากระบายก็ไม่สามารถบอกได้เต็มปากเต็มคำ ในช่วงแรกจะไม่หนักหนาสาหัสเท่าไร แต่เมื่อยิ่งสถานการณ์ชวนบีบคั้นยิ่งขึ้นจะเห็นถึงความเป็นจริงของสังคมที่ไม่แคร์ไม่สนและไม่ช่วยเหลือ ฉากที่เห็นได้ชัดคือการสัมภาษณ์ของสื่อข่าวกับชาวบ้านในมิสซิสซิปปีเกี่ยวกับความเห็นการหายตัวไปของกลุ่มวัยรุ่น 3 คน โดยคนที่ให้สัมภาษณ์จะไม่สนความเป็นความตายเลยสักนิดและเบี่ยงเบนว่าทั้งหมดเป็นเรื่องโกหกที่สร้างขึ้นมา บางทีอาจเป็นเรื่องสนุกที่ต้องการปั่นหัวเล่นๆก็เป็นได้
การสัมภาษณ์ผ่านสื่อข่าวช่วยเปิดมุมกว้างเกี่ยวกับชุมชนมิสซิสซิปปีจนรู้สึกว่าเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่เลยสักนิด ทั้งนิสัยใจคอและยึดมั่นในถิ่นฐานเพราะมีวัฒนธรรมในแบบของตัวเอง กระนั้นการยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองเป็นก็กลายเป็นเรื่องเสียดสีของผิวสีหรือที่ได้ยินในหนังอยู่บ่อยครั้งว่า"นิโกร"ในมุมมองเห็นแก่ตัว การพูดคุยที่โยงใยจากการหายตัวของกลุ่มวัยรุ่นนักสิทธิมนุษยชนได้ไปเกี่ยวพันกับคนผิวสีในเชิงลบแบบไม่หวั่นผลกระทบในภายหลัง ทั้งว่าทั้งด่าแบบไม่หยาบแต่แรงเหลือร้ายจนไม่คิดว่าจะถูกประเมินให้ต่ำต้อยเพียงแค่ผิวสีต่างกันเท่านั้น การเชื่อมโยงเหตุการณ์จากเรื่องเล็กระดับบุคคลได้พัฒนาไปสู่ระดับชุมชนจากหนึ่งไปสิบจนถึงร้อยและหนักข้อมากขึ้น ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งที่เจ็บแสบมากสุด คำตอบนั้นคือคนอย่างเราๆที่รับการปลูกฝั่งความเชื่อแบบผิดๆ แม้ว่าความเชื่อจะเปลื่ยนแปลงกันได้แต่จะทำยังไงหากเข้าถึงระดับวัฒนธรรมหรือลัทธิไปแล้ว ผลคือทุกคนเชื่อและคิดว่านี่แหละเหมาะสมอย่างที่เรียนรู้กันมา
สิ่งที่พิเศษที่สุดของเรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องแบบละเอียดทุกฝีก้าวตั้งแต่เข้าเมืองมิสซิสซิปปี ไล่ลำดับจากเล็กไปใหญ่ด้วยการเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างแนบเนียนจนไม่คิดว่าการผูกเรื่องทั้งหมดจะบานปลายและใหญ่โตขนาดนี้ จะว่าก็ไม่แปลกหากอิงจากเหตุการณ์จริงที่ยุคนั้นยังเต็มไปด้วยการแบ่งแยกชนชั้น อะไรหลายอย่างยังโหดร้ายและเต็มไปด้วยอคติแบบเก่าจนเป็นความขัดแย้งระหว่างแนวคิดเดิมกับแนวคิดใหม่ที่ต้องการปฏิวัติเสรีภาพจากนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนจนตัวตายอย่างไม่รู้ตัว นอกจากเนื้อหาสาระที่แฝงมาให้ขึ้นสุดลงสุดแล้วยังรวมแม้กระทั่งตัวละครที่เข้าไปหยั่งลึกถึงจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่อลันกับรูเพิร์ตที่มีความเข้าขาเพียงแค่ภายนอกเท่านั้น เอาจริงๆทั้งคู่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากจากรูปลักษณ์และอุดมการณ์ความคิดชนิดคนละฝั่งคนละฝา
อลันเป็นตัวละครที่ถูกเข้าหาในช่วงแรกจนเป็นตัวเด่นของเรื่อง ไม่ว่าจะวิธีการเสาะหาข้อมูลหรือตั้งสมมุติฐานก็ล้วนมาจากความจริงที่เป็นไปได้ทั้งสิ้น สิ่งที่อลันทำแทบจะเป็นไปตามตำราที่แสนเข้มข้นและจริงจังอยู่ตลอดเวลา จริงที่ว่าจะขาดความพลิกแพลงในการไขคดีแต่ความพิเศษของเขาคือการไม่ยอมอะไรง่ายๆ เมื่อความจริงไม่สามารถถูกคายออกก็ต้องเป็นคนหาความจริงนั้นให้เจอ ฉากอลันเอาจริงนับเป็นฉากที่ทรงพลังและชวนตื่นเต้นอย่างที่สุด ประกอบกับดนตรีประกอบสนสุดแสนตื่นตัวจนรู้สึกทึ่งแม้ไม่ได้ทำอะไร แต่อะไรนั้นการเรียกเจ้าหน้าที่แบบเหมายกคณะจัดเป็นอะไรที่น่าตกใจในการรับมือไขคดี มันแสดงให้เห็นตัวตนของอลันที่ไม่ยอมใครและเล่นให้สุดเท่าที่จะทำได้ แค่นั้นยังไม่พอหากการเรียกเจ้าหน้าที่นับร้อยมาไขคดีต้องหาสถานที่ทำงาน ซึ่งช่วงแรกกลายเป็นปัญหาของชุมชนระแวกนั้นโดยเฉพาะเจ้าของที่ให้ยืมที่มองว่าเป็นปัญหาไม่มีใครเข้ามาใช้บริการโรงแรม อลันจึงแก้ปัญหาแบบหักดิบซื้อสถานที่ไว้ใช้ทำงานจะได้ไม่ต้องมีปัญหาให้ยุ่งยาก
ทว่าวิธีการของอลันเป็นไปตามกรอบมากเกินไปจนนำไปสู่สงครามภายในระหว่างคนผิวสีที่ถูกย่ำยีจากคนผิวขาวเพราะเกรงว่าจะปริปากบอกอะไรที่โยงไปหาต้นตอได้ ซึ่งนั้นทำให้สังคมถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือเจ้าหน้าที่ที่ต้องการความจริงเพื่อปิดคดีแต่ทำไม่ได้เนื่องจากไร้ซึ่งความจริงและหลักฐานที่ชัดเจน รวมถึงพยานที่ไม่มีใครบอกอะไรได้เลยสักนิด กลุ่มสองเป็นคนผิวสีที่ถูกรังแก้และพยายามออกห่างจากทุกฝ่ายเพื่อรักษาชีวิตของตัวเองเพราะคิดว่าถ้าช่วยเจ้าหน้าที่หรือยุ่งเกี่ยวจะต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือคนในมิสซิสซิปปี และกลุ่มสามเป็นคนขาวในมิสซิสซิปปีที่เห็นชัดว่ามีใครบ้างแต่บอกไม่ได้ว่าจริงมากแค่ไหน อาจจะเห็นอุดมการณ์หรือความคิดเข้าข้างตัวเองชวนโกรธแค้นจนน่าต่อยหน้า แต่ก็นั่นแหละความตั้งใจของเรื่องนี้ที่สะท้อนความชิงชังระหว่างมนุษย์กันเองจนน่าสังเวช
อลันเต็มไปด้วยความพยายามที่มุ่งมั่นตามแบบหนุ่มไฟแรงที่เอาจริงเอาจังจนลืมเรื่องพลิกแพลงกับศึกษาเรื่องสภาพสังคมให้กระจ่าง ผิดกับรูเพิร์ตที่ใจเย็นมาโดยตลอดเพื่อดูความเป็นไปของสังคมชาวเมืองมิสซิสซิปปีก่อนจะลงไม้เด็ดในช่วงท้ายของหนังด้วยกำลังไม้ป่าเมืองเถื่อนที่ดูย้อนแย้งและเสียดสีอย่างลงตัว อีกทั้งความสัมพันธ์ของทั้งสองให้มุมมองสองแง่ระหว่างตำแหน่งหน้าที่กับประสบการณ์ได้อย่างแนบเนียนระหว่างยุคสมัยการทำงานที่แตกต่าง คล้ายประเด็นความแตกต่างของสีผิวที่ไม่เหมือนกันแต่ทุกอย่างย่อมมีทางออกที่เหมือนกัน งานนี้ไม่ใช่แค่บทตัวละครที่ดูสนุกชวนน่าหลงใหลเพราะยังได้นักแสดงฝีมือดีอีกด้วย ซึ่ง Willem Dafoe และ Gene Hackman เล่นได้ดุเด็ดเผ็ดมันส์จริงๆ
สำหรับประเด็นเรื่องสีผิวค่อนข้างจะรุนแรงซะหน่อยถ้ามองในหลายอย่างๆ เช่น ฉากออกจากโบสถ์ที่มีคนผิวขาวส่วมถุงผ้าปิดบังใบหน้าพร้อมด้วยอาวุธในมือเพื่อใช้ทุบตี ฉากเข้าทำร้ายครอบครัวผิวสีแบบล้างบางไร้ที่อยู่ที่ทำกิน และฉากที่เห็นบ่อยคือการทำลายบ้านด้วยความไร้ปรานี อีกประเด็นที่ซ่อนอยู่คือการสืบทอดหรือสานต่อ ในเรื่องจะมีการพูดถึงการปลุกฝังความคิดความเชื่อจากคนรุ่นก่อนจนเหมือนเป็นความเคยชินที่เชื่อต่อกันมา เมื่อยุคสมัยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้อิสรภาพทุกสีผิวจึงเป็นความขัดแย้งไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองรับมาจากคนรุ่นก่อนจนเป็นความต่อต้านเกิดขึ้น ด้วยประเด็นน้อยใหญ่อะไรก็แล้วแต่ที่สอดแทรกเข้ามาก็ล้วนมีความนัยกันหมดทั้งสิ้นและเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างเป็นระบบระเบียบหาช่วงเวลาผ่อนคลายแทบไม่ได้ แม้กับฉากที่ไม่มีอะไรอย่างประชุมในโบสถ์หรือเดินประท้วงยังเต็ฒไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายของคนผิวสีที่พยายามต่อสู้อย่างเป็นธรรม แล้วคนผิวขาวทำอะไรอย่างเป็นธรรมบ้างนอกจากทุบตีทำร้ายเยี่ยงสัตว์ชนิดหนึ่ง
สิ่งสำคัญคือความถูกต้องที่ยังมีแต่เรื่องผิดๆที่สอนต่อกันมาโดยไม่ทำความเข้าใจหรือปรับปรุงใหม่ สิ่งที่ค้างคาเป็นทัศนคติเก่าและเห็นแก่ตัว ไม่มีใครยอมรับเพราะไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมเพราะมองเป็นเรื่องคุกคามทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย เหตุผลที่อ้างมาอย่างลอยๆว่าสีผิวต่างกันย่อมมีความชอบชั่วดีต่างกันกลายเป็นเรื่องสลดใจที่เกิดขึ้นจริงในสังคม นอกจากสีผิวที่เป็นปัญหายังมียังอ้างถึงหลายสาเหตุ เช่น ศาสนา เชื้อชาติ ตลอดจนการแสดงออกถึงความคิดเห็นที่ต่างกันก็ทำร้ายกันไม่ไว้ใจกันเสียแล้ว ความแตกต่างนำไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ทุกที่แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นด้วยความรุนแรงเสมอไป แค่หันมาพูดคุยปรับความเข้าใจและเปิดใจให้กว้างก็น่าจะเพียงพอแล้ว ใน Mississippi Burning จะมีเพลงประกอบหนึ่งชื่อว่า Walk on By Faith เสมือนเพลงปลอบใจให้แก่คนผิวสีที่ต่างร้องเพลงนี้ให้ยอมรับในเส้นทางเดินของตัวเอง ยอมรับความทุกข์ลำบากและความเลวร้ายของชีวิต แต่ไม่ได้แปลว่าจะยอมแพ้แค่รอคำว่าโอกาสที่จะเท่าเทียม